จิรันธนิน กิติกา อ. หัวขบถผู้ดีไซน์วิชาถาปัตย์ให้แซ่บ และพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้ต้าชชช - Urban Creature

ถ้าคิดว่าบทบาทอาจารย์ต้องขรึมเคร่งน่าเบื่อ ก็อยากให้ขยำภาพนั้นเขวี้ยงทิ้งซะให้หมด เพราะ ภูวา หรือ อ.ภู-จิรันธนิน กิติกา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังเป็นในสิ่งที่สวนทางกับอาจารย์ส่วนใหญ่

แฟชั่นเนเบิล แซ่บ สนุก ฉูดฉาด แสบสัน แบบใหม่แบบสับ และพลังล้นเหลือ นี่คือกลุ่มคำที่เราถอดออกมาจากตัวตนหลากสีเกินจำกัดความของเขา 

เฮ้ย แบบนี้ดิวะ อาจารย์ที่เราอยากให้มีในโลกวิชาการมากขึ้น เพราะเขาคือภาพแทนของคนบนพื้นที่อันหลากหลาย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เปลี่ยนให้การศึกษาน่าตื่นเต้น และทำให้วัยรุ่นได้รับความเข้าอกเข้าใจเป็นของขวัญแบบไม่มีกั๊ก

จิรันธนินเป็นคนเชียงใหม่มันๆ ขาหนึ่งรับบทเป็นอาจารย์ ที่อยากให้เด็กได้เป็นตัวเอง และเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ส่วนอีกขาเป็นนักพัฒนาเมืองเชียงใหม่ บ้านเกิดที่เขารักให้มีความต้าชชช เพื่อคนเชียงใหม่จะได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกและสบาย ไม่ใช่แค่เก๋ไก๋อย่างฉาบฉวย หรือดัดจริตไร้แก่นสาร แต่ต้องยั่งยืน เข้าใจบริบททางวัฒนธรรม และที่สำคัญ คนในชุมชนต้องมีปากเสียง และมีสิทธิดีไซน์บ้านและเมืองที่พวกเขาอยากอยู่อย่างเต็มพลัง 

จากเด็กที่เคยถูกเพื่อนล้อตัวตนว่าพิลึกและแปลกประหลาด สู่นักเรียนสถาปัตย์ที่พบว่าบ้านเมืองของเราไม่ได้เจริญไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เคยดูแคลน กระทั่งออกเดินทางไปเรียนโทจนจบดอกเตอร์ที่เมืองเกียวโต เพื่อพบว่าเมืองที่รักษาวัฒนธรรมตัวเองได้ดีมากๆ แท้จริงแล้วเป็นยังไง จนในที่สุดตัดสินใจกลับมาเป็นอาจารย์หัวขบถที่ลากวิชาสถาปัตยกรรมมารวมกับลวดลายทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม จนเด็กๆ ผู้เรียนต้องร้องว้าว ทว่าโครงสร้างหลักอาจเกลียดวิถีแหวกขนบ กล้าตั้งคำถาม ของคนประเภทนี้เข้าไส้

และต่อจากนี้ไป คือบทสนทนาบนรันเวย์ชีวิตที่สวมหมวกหลายเฉดสีของจิรันธนิน…

Handcraft Shop

01 อาจารย์สถาปัตย์นอกคอก

ด้วยบทบาทและหน้าที่อาจารย์ ภาพลักษณ์ของคุณดูจะขัดกับขนบ และสวนทางกับธรรมเนียมของอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ต้องมีความเป็นทางการ ในขณะที่สีผมและเสื้อผ้าของคุณทั้งเปรี้ยวและฉูดฉาดมากๆ 

ผมเอาเสื้อผ้าเป็นที่พึ่งทางใจ เพราะเข้าใจความสุขตัวเอง ไม่ได้เดือดร้อนใคร และไม่ได้เริ่มต้นจากความตั้งใจไม่เหมือนใคร แค่อยากสื่อสารสิ่งที่ชอบผ่านร่างกาย ผมโตมาจากการเสพรายการ MTV ใน Channel [V] ซึ่งเพลงและหนัง มีอิทธิพลต่อตัวเรามาก ทำให้เริ่มทำเสื้อใส่เอง พ่นและเขียนเอง 

พอแต่งตัวไม่เหมือนสิ่งที่ถูกไกด์ คนก็จะเฮ้ย มึงแต่งตัวเหี้ยอะไรวะ ผมเคยรู้สึกผิดนะ เพราะเพื่อนถามว่า มึงเป็นไร แต่งอย่างนี้ ไปเปลี่ยนชุดไป อ้าว กูผิดเหรอวะ แต่สิ่งที่ทำให้ผมกลับมากล้ามากขึ้นคือช่วงเรียนปีหนึ่ง ตอนนั้นได้ไปกรุงเทพฯ ครั้งแรก ถูกจับถ่ายนิตยสาร Cheeze มีคนบอกว่ามันต้องถูกเผยแพร่ ก็คิดว่ากูเนี่ยนะ ทำให้รู้สึกได้รับการยอมรับขึ้นมา ตอนนั้นอายุสิบแปดเอง ผมเรียกช่วงนั้นว่า Turning Point ของชีวิต

สำหรับคนที่รักแฟชั่นอย่างคุณ เสื้อผ้ามีความหมายและความสำคัญยังไง

ตัวเราเต็มไปด้วยการ Mix and ไม่ Match เสื้อผ้าของผมเป็นเสื้อผ้าที่พูดเรื่องตัวเอง ใส่แล้วกลายเป็นเรา ทุกคนใช้เครื่องแต่งรูปลักษณ์ บางคนใส่เพื่อไม่ให้ถูกกดดัน หรือป้องกัน และไม่ต้องต่อสู้กับอะไรมาก อาจใส่สูทผูกไทง่ายๆ แต่ถ้าใส่เพื่อต่อรอง ว่าเราคือเรา ก็แค่หยิบสิ่งที่ต้องการมาใส่ ซึ่งจะใส่ต่อรองในระดับที่มากกว่านี้ก็ได้ จะใช้พูดเรื่องเพศก็ได้ ใช้เสื้อผ้าเป็นตัวพูดได้หมด การแต่งตัวมันสื่อสาร 

ง่ายๆ เลยนะ ถ้าคุณขายอาคาร Sustainable ที่ประหยัดพลังงาน แต่คุณใส่สูทผูกไท อาจไม่น่าเชื่อถือ หรือถ้าคุณขายตึกสูง ต้องพูดกับนายทุนใหญ่ แต่คุณใส่เสื้อม่อฮ่อม เขาอาจไม่เชื่อว่าคุณทำตึกแบบนี้ได้ ดังนั้นทุกคนจึงใช้เสื้อผ้าเล่าเรื่องอยู่ แต่ทุกคนแค่ใช้เครื่องมือเดิมๆ ไม่ได้ลองแหวกกรอบออกมา

เสื้อผ้าของคุณกำลังสื่อสารอะไรกับระบบมหาวิทยาลัย

ถ้าเป็นอาจารย์แล้วต้องใส่เสื้อผ้ายุค 60 – 70’s มันเชยมากนะ ยิ่งเราอยู่ในสถาบันการดีไซน์ แต่ถ้าเราดีไซน์ความเป็นตัวเองไม่ได้เลย แสดงว่าผิดหลักแล้วล่ะ ถ้าเป็นอย่างนั้น จะมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ กันได้ยังไง ผมเข้ามาอยู่ตรงนี้ ด้วยความเข้าใจเงื่อนไขว่า มึงต้องมีวุฒิ ถึงจะมาอยู่ในสถาบันการศึกษาได้ ก็เขาไม่ได้ห้ามเราแต่งตัวนี่ ก็แค่ผมไม่ได้เหมือนกับเพื่อนร่วมงานหมู่มากเท่านั้นเอง 

คุณน่าจะเป็นนักออกแบบหรือแฟชั่นนิสต์ที่ดีได้ ทำไมเลือกกลับมาเป็นอาจารย์

ผมคิดว่าตัวเองมีความฝันที่จะกลับเข้ามาในพื้นที่ที่เรียกว่าโรงเรียน เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้ และเสียจากจุดนี้เยอะมาก สิ่งที่ได้รับคือความรู้ ซึ่งอาจเอาไปหาเงินได้ แต่สิ่งที่สูญเสียไปคือ เราถูกผลิตด้วยมาตรฐานบางชุดร่วมกัน เลยทำให้ไม่มีทางออกให้กับความหลากหลาย หรือความเป็นอื่น ทีนี้ผมเลยตัดสินใจกลับเข้ามา เพื่อให้เด็กเห็นว่าพวกเราทุกคนมีทางออกอื่นๆ ให้ชีวิตได้อีกนะ และมันอาจพาแต่ละคนไปค้นพบคุณค่าของตัวเอง ซึ่งอาจไม่ได้เหมือนกับสิ่งที่คนอื่นๆ ตั้งเป้าไว้

ฟีดแบ็กของนักศึกษาที่มีต่อการเรียนและการสอนของคุณเป็นยังไงบ้าง

จากการวัดผลในเชิงปริมาณถือว่าชอบนะ แต่ในเชิงคุณภาพ เราต้องสโคปทุกๆ ความคิดเห็น ซึ่งเด็กที่ไม่ชอบ ก็มีอยู่ อย่างผมสอนวิชาประวัติศาสตร์ ทฤษฎี และปรัชญาทางสถาปัตย์ เด็กบางคนก็บอกว่า สอนอะไรอะ ไม่เห็นเกี่ยวกันเลย เพราะผมเอาทั้งเพลง หนัง ประเด็นประวัติศาสตร์และการเมืองเข้าไปยำให้เห็นว่าสถาปัตย์มีผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งตลอดการสอนมาห้าปี มีหนึ่งคอมเมนต์ที่ไม่ชอบ คือไม่ใช่ว่าไม่มีคนไม่ชอบเลย ซึ่งเราก็ต้องยอมรับบาดแผล เพราะมันทำให้ได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นด้วย 

คุณเองก็เรียนสถาปัตย์มาด้วย ข้อดีของศาสตร์นี้ส่งผลต่อชีวิตคุณยังไง

ข้อดีของการเรียนสถาปัตย์คือ จากแต่ก่อน เราเป็นเด็กที่ค่อนข้าง Spoiled Kid ใช้ชีวิตอยู่แค่ในเชียงใหม่ แต่พอเข้าเรียนสถาปัตย์ มันทำให้เราได้ออกไปเที่ยวทุกเทอม ในหลายประเทศมาก ตอนปีสี่ ผมได้ไปฝึกงานที่สหรัฐอเมริกา เลยได้เจอสิ่งที่แปลกออกไป คนเดินผ่านเห็นเสื้อผ้าเราก็ชม ทั้งที่เขาอาจไม่เข้าใจเลยว่าเราแต่งตัวแบบนี้ไปทำไม ซึ่งวัฒนธรรมบ้านเราไม่มี

มีทริปหนึ่งต้องไปมาเลเซีย ช่วงขากลับ ผมได้แวะไปกรุงเทพฯ มันค่อนข้างสั่นคลอนเรามาก เพราะผมเข้าใจมาตลอดว่ากรุงเทพฯ คือเมืองนัมเบอร์วันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นเป็นความคิดของเด็กเชียงใหม่ที่ไม่เคยออกจากบ้านไกลๆ แต่พอเราเทียบกับกัวลาลัมเปอร์แล้วแบบ โห เมืองเขาเจริญมากๆ เลย ทั้งผังเมือง ตึกแฝดเปโตรนาส เมืองปูตราจายา เมืองเก่าและเมืองใหม่ของเขาจัดระบบระเบียบดีมาก พอมาเจอกรุงเทพฯ ปุ๊บ ช็อก สะเทือนทั้งร่างกายเลย หนึ่ง เราเคยเชื่อว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พอมาเจอของจริง ความเป็นเมืองกรุงเทพฯ ทำไมมันไม่ชัดวะ ทำไมถึงมีโฮมเลสเยอะ ในขณะที่ก็มีซูเปอร์คาร์มากมาย 

เมื่อได้เห็นสภาพกรุงเทพฯ แบบนั้น คุณหันกลับมาเห็นข้อดี หรือมองจุดที่น่าสนใจของเชียงใหม่ยังไงบ้าง

ข้อดีของเชียงใหม่คือความเป็นเมืองเล็ก คนยังรู้จักกันทั่วถึง ทำให้สังคมมีเยื่อใยต่อกัน เพราะยังไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันนัก แต่กรุงเทพฯ สเกลทั้งใหญ่และแน่นขนัดไป คนต้องต่อสู้กันสูงมาก 

อย่างคาแรกเตอร์ของคนเชียงใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผมคือ เรามีความไม่เป็นส่วนกลาง เช่น ในพื้นที่มหา’ลัยภูมิภาคอย่าง มช. ซึ่งเกิดขึ้นในยุค 60’s ถึงตอนปลาย 70’s ช่วงสงครามเย็น เรามีสามคณะแรกที่จัดตั้งขึ้นคือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ วิจิตรศิลป์ เป็นคณะที่เป็นแกนของ มช. สอนเรื่อง Liberal Arts แล้วก็ก่อตั้งด้วยแนวคิดหลังสมัยใหม่ ซึ่งมาต่อกรกับรัฐ เริ่มต้นผลิตคนที่พูดถึงปัจเจกนิยม และผลิตคนที่ไม่เอาส่วนกลาง เพื่อต่อรองอำนาจ และพยายามหาทางออกใหม่ของระบบทุน ซึ่งมันทำให้วัยรุ่นและเยาวชนเมืองเชียงใหม่มีลักษณะเฉพาะตัว 

Model

แต่ทุกวันนี้ เมื่อผ่านกระบวนการสร้างรัฐชาติขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับ มช. ในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของรัฐ อาจารย์ที่พูดถึงอำนาจในตัวคนทุกคนแบบคุณ คิดยังไงกับบริบทแบบนี้

คิดว่าไม่ใช่ทั้งหมดหรอกนะที่ยินยอมต่อรัฐ ผมไม่สามารถเป็นคนแบบนี้ได้ถ้าไม่มีใครส่งต่อไอเดียมาให้ เราถูกประกอบสร้างตัวตนจากข้อมูลต่างๆ ฉะนั้นผมจะไม่เป็นผมเลย ถ้าไม่มีอาจารย์ที่ต่อสู้เรื่องนี้กันมาก่อน และนี่คือเหตุผลที่ผมกลับมามหา’ลัยที่เคยเรียนสมัยปริญญาตรี 

สิ่งที่ผมเห็น ดูง่ายๆ จากเรื่องสถาปัตยกรรมก็ได้ สถาปัตย์ของ มช. ไม่ค่อยมีอะไรที่บ่งบอกถึงความเป็นรัฐส่วนกลาง ศาลาธรรมของเราก็เป็นศาลาแบบเมืองๆ ท้องถิ่น มีสเกลเล็กๆ มันเป็น Localism แต่เมื่อเรากลับไปดูอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกหน้าและตึกเซตแรกของอาคารมหาวิทยาลัยในตอนนี้ เขาเติมจั่วเข้ามาในภายหลัง แสดงว่ามันกำลังสะท้อนการจัดการแบบ Top-down เขาไม่ได้โง่ และรับรู้แนวคิดต่างๆ จึงมีการแก้ไขตั้งแต่กลไกสังคม จนถึงการจัดการภาพตัวแทนเชิงอาคาร 

ตอนนี้อาคาร มช. กำลังจะถูกทำให้เป็นประเพณีนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แปลว่าอาคารในยุคแรกอย่าง คณะ 01 มนุษยศาสตร์ 02 สังคมศาสตร์ 03 วิจิตรศิลป์ ไม่มีอะไรเป็นประเพณีนิยมเลย เพราะเป็นอาคารสมัยใหม่

และอาคารในยุค 04 วิทยาศาสตร์ 05 วิศวะ และ 06 แพทย์ เป็น Brutalist สร้างให้เป็นเหมือน Super Power แบบโซเวียตและอเมริกา แสดงว่าถ้าสังเกตกันจริงๆ เชียงใหม่เป็นมหา’ลัยที่มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นหลัก แต่ไม่ได้แปลว่า Big Brother หรืออะไรก็ตามรู้ไม่ทัน เขารู้ และกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงพวกเราอยู่

แสดงว่านี่คือการต่อรองทางอำนาจรูปแบบหนึ่ง

แน่นอนครับ สถาปัตยกรรมคือการต่อรองรูปแบบหนึ่ง 

Conversation

พูดถึงการต่อรองเชิงอำนาจ เมื่อปี 2563 มีกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ทำโพลในเว็บ change.org เพื่อให้คณะปลด ประติมากรรมแสง รูปรัชกาลก่อน บริเวณผนังอาคารคณะออก โดยให้เหตุผลว่าผลงานทำหน้าที่ลุล่วงมากว่า 3 ปีแล้วด้วย 

ตอนนั้นผมกำลังจะได้เป็นผู้บริหารคณะ ดังนั้นการที่ผมจะรับตำแหน่งนี้ ผมไม่ได้มองว่าผมต้องทำงานหนักขึ้น แต่ผมมองสิทธิที่จะได้มากขึ้น เพราะจะทำโปรเจกต์และกิจกรรมดีๆ ได้มากขึ้น ผมคิดและเตรียมโปรเจกต์เอาไว้มากมายเลย เช่น อยากจะทำแล็บศิลปะ ทำงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลยตั้งใจมากกับการเข้ารับตำแหน่งนี้ 

แต่พอมีประเด็นเรื่องประติมากรรมแสงของคณะ เพื่อถวายความอาลัยรัชกาลที่แล้ว ประกอบกับบริบททางการเมืองและสังคมปัจจุบัน นักศึกษาเริ่มไม่อยากให้มีผลงานชิ้นนี้อยู่ เลยใช้วิธีการไปตั้งกระทู้บน change.org ทำให้เกิดเป็นกระแสขึ้นมา ทีนี้สมาคมนักเรียนศิษย์เก่าของ มช. หลายคนก็ไม่พอใจ เพราะเขาชื่นชอบผลงานชิ้นนี้ เลยเกิดสงครามนอกคณะกันบนโซเชียลมีเดีย ผมรู้สึกว่ามันไม่มีเหตุผลนัก นักศึกษาเขาแค่ต้องการคำตอบ ก็เลยบอกว่าคุณเป็นศิษย์ปัจจุบันที่เรียนและใช้พื้นที่อยู่ ก็ลองรวบรวมรายชื่อแล้วขอทำเรื่องนี้ไปเลย เพื่อบอกคณบดีว่าต้องการเอาชิ้นงานลงด้วยเหตุผลอะไร เพราะนี่เป็นพื้นที่ที่เรามีสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ซึ่งกลายเป็นเหมือนว่า ผมเป็นคนทำให้นักศึกษาเกิดก้อนไอเดียนี้ขึ้นมา ซึ่งความจริง นักศึกษาเขาอยากทำจริงๆ 

Street Fashion

วันที่นักศึกษารวมรายชื่อคน คณบดีและผู้บริหารรู้ ก็เลยเรียกนักศึกษากลุ่มนี้ไปพูดคุย แล้วตำรวจก็มากันเต็ม มันเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าเหตุ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องภายในคณะแล้ว เพราะมีสื่อฝั่งอื่น เช่น ผู้จัดการออนไลน์ มาประโคมข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีนี้กลุ่มนักศึกษาก็ถูกกลุ่มผู้บริหารเรียกเข้าไป ซึ่งผู้บริหารไม่เรียกผม เพราะเข้าใจว่าผมเป็นคนปลุกปั่น แต่นักเรียนเขาทักมาหาผมว่า อาจารย์อยู่ที่ไหน ผมก็เลยรู้ และรีบเข้าไป พอเข้าไปก็ Defend ให้เด็กว่า มันไม่ใช่นะ ถ้าเด็กอยากทำ เรามีสิทธิ์อะไรไปห้ามเขา 

ปัญหาคืองานชิ้นนี้ไม่เป็นอิสระ เพราะไปกำหนดให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นลานที่เด็กๆ เตะตะกร้อไม่ได้ เมื่อมีความหมายหรือนัยบางอย่างแทรกเข้าไป พื้นที่จึงดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ทำให้เด็กหลายๆ คนใช้พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เลย ซึ่งการเรียกร้องของเด็กมีหลายมิติมาก ข้อสรุปของเหตุการณ์ครั้งนั้นเลยทำให้นักศึกษากลัว เพราะกลุ่มผู้บริหารบอกว่ามันอันตราย แจ้งจับ ม.112 ได้เลยนะ ผมงงว่ามันไม่ใช่การดูหมิ่นเลย แจ้งได้ไง และแจ้งทำไม แก๊งผู้บริหารบอกว่า ถ้าถูกแจ้งจับไปจะไม่ไปช่วยประกันนะ ผมก็เลยบอกว่า อ้าว ไม่ไปช่วยประกัน แล้วนี่นักศึกษาของคณะนะ นักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์อันชอบธรรม เราสู้กันมาเพื่อรักษากระบวนการของนักเรียนในมหา’ลัย ผมก็เลยต้องออกมาปกป้องนักเรียนผ่านการโพสต์บนโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กๆ ได้รวบรวมรายชื่อไปส่งคณะ แต่พลิกล็อกกว่านั้นคือเช้าของวันถัดมา มช. ประกาศว่า ไม่ให้เอาลง 

จากนั้นคณะก็ล้อมพื้นที่ตรงนั้นไม่ให้ใครเข้าไปอีกเลย นักศึกษาเองก็อยากทำประติมากรรมเพิ่มเพื่อต่อรองด้วยเรื่องของคนเข้าไป เขาก็ไม่ยอม แล้วโดยปกติ เด็กสถาปัตย์ต้องทำโปรเจกต์ เขาต้องทำงานอยู่ในสตูดิโอกันทั้งวัน ทีนี้ก็มีการเรียกตำรวจมาควบคุมลานนั้น นักเรียนทำงานอยู่ก็ตกใจและกลัวไปหมด ส่วนเด็กที่โพสต์บน change.org ก็โดนล่าแม่มด มีคนไปดิสเครดิตน้องเขา ทำให้มันซึมลึกจนเด็กเกิดความกลัวในหลายๆ มิติ ซึ่งผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องกลัว เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดเลย 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณหลังเกิดดราม่านี้

ผมรู้สึกว่าผมไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจ มันมีแต่หน้าที่ เขาแค่ต้องการให้ผมทำงานโดยไม่ต้องคิดตั้งคำถาม ผมโพสต์ความเห็นลงโซเชียล ทำให้ถูกเรียกไปตักเตือนบ่อยมากๆ มีอยู่วันหนึ่งที่ผมแต่งตัวไปสอนนักศึกษาตามปกติ แล้วก็รู้สึกว่า กูเป็นใครวะเนี่ย ทำไมแค่กูจะโพสต์อะไรก็ทำไม่ได้ มันใช่เหรอวะ ก็เลยไปขอลาออกจากการเป็นผู้ช่วยคณบดี 

ในทุกๆ Position ที่เราเลือก เราต้องไม่จมไปกับหมวกที่สวม แต่เราจะหยิบหมวกนั้นมาใส่กับเราในรูปลักษณ์ที่เหมาะสม ดังนั้นตัวตนเราจะไม่หายไป เช่น มันจะไม่เกิดคำพูดที่ว่า คณบดีก็อยากจะช่วยนักศึกษานะ แต่นักศึกษาทำผิดกฎ แสดงว่าคุณเป็นคณบดี คุณไม่ใช่คน คุณเป็นคนที่แค่ทำหน้าที่คณบดี 

อยู่ยากไหมตอนที่ออกมาจากตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีแล้ว 

คนที่อยู่ยากคือคนที่ไม่เปลี่ยนเลยต่างหาก คนที่บอกว่าชีวิตยากขึ้น แสดงว่าคุณไม่เปลี่ยน ฉะนั้นคุณเจอความคิดเห็นที่มันเป็นอื่น หรือความคิดเห็นที่หลากหลาย คุณเลยรับไม่ได้ ถ้าเกิดคุณอยู่เพื่อเปลี่ยนแปลง คุณก็จะอยู่โดยไม่มีคำว่าอยู่ยาก 

บางคนอาจจะบอก ไอ้ภู มึงน่ะอยู่ไม่เป็น ถ้าเป็นกูนะต้องแต่งตัวและเป็นคนเรียบร้อย มึงกำลังจะได้เลื่อนขั้น ทำไมถึงอยู่ไม่เป็น อ้าว แล้วคำว่า อยู่ กับคำว่า เป็น ของคุณคืออยู่ไปวันๆ เปลืองทรัพยากรไปวันๆ อย่างนั้นเหรอ ดังนั้นผมรู้สึกว่าวาทกรรมอยู่ไม่เป็น หรืออยู่ยาก เราควรที่จะถามกลับไปว่า จะอยู่แบบนั้นเพื่ออะไร เพื่อผ่อนบ้านและผ่อนรถ ใช้จ่ายเปลืองทรัพยากรเพียงอย่างเดียวเหรอ แล้วจะปล่อยให้ระบบกับกลไกที่เราเคยถูกกดทับตอนเป็นเด็กมาก่อน มาเอาเปรียบคนรุ่นหลังแบบนี้ต่อไปเหรอ

No King

02 ชวนเด็กสถาปัตย์ออกจากสตูดิโอโดดสู่ชุมชน

นอกจากเป็นอาจารย์ คุณรับบทบาทอะไรอีกบ้าง

ผมมีหมวกหลายใบ ทั้งหมวกอาจารย์ที่ต้องทำให้นักศึกษาเป็น Active Citizen เป็นสถาปนิกที่ไม่ตกรุ่น และเข้าใจเรื่องเมืองที่เราอยู่มากขึ้น ถัดมาคือหมวกนักวิจัย ทำงานวิจัยชุมชน ส่วนอีกหมวกหนึ่งคือนักวิชาการ ผลิตสิ่งที่เราได้ไปเป็นบทความ ส่วนใบสุดท้ายคือ ความเป็นคนเชียงใหม่ ผมพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ยิ่งเมืองเราดี เราทุกคนก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข

นิยามของเมืองที่ดีของคุณเป็นแบบไหน

ผมไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าต้องคิดจากคนอยู่อาศัย ถ้าผมคิดคนเดียว มันก็คือเมืองเชียงใหม่ที่ดีของผมคนเดียว ไม่ใช่เมืองเชียงใหม่ของทุกคน ดังนั้นคนต้องเป็นกลไกในการคิด ว่าเมืองที่ดีจะเป็นยังไง และต้องเป็นการตัดสินใจของคนในเมือง เช่น คนในชุมชนบ้านเรือนเก่าๆ เขาอยากทำตึกสูง เขาก็ต้องทำได้ และต้องไปต่อรองกับเทศบัญญัติได้ แล้วรัฐก็ต้องเป็นคนที่ทำให้ตึกสูงกับเมืองเก่าอยู่ด้วยกันให้ได้ ไม่ใช่ยกให้เป็นภาระของคนในนั้นต้องแบกรับ แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนไปดูแลบ้านไม้และเรือนเก่าๆ ที่ผุพัง

ไม่ใช่รัฐคิดว่าจะทำให้เป็นเมืองเก่า แล้วบังคับให้ทุกคนต้องเก่า อย่างลานสเก็ตบอร์ดตรงสามกษัตริย์ที่เพิ่งไปไถได้เมื่อไม่กี่เดือน คนใช้ต้องออกไปต่อรอง ทำไมเป็นแบบนั้น ในเมื่อบอกว่าที่นั่นเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ให้เหตุผลว่าเป็นห่วงสามกษัตริย์ แล้วเอาความหมายของสามกษัตริย์ไปทำให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เล่นสเก็ตยังเล่นไม่ได้เลย คนอยู่มีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างมันแฟร์และเท่าเทียม เพื่อยกระดับเมืองในแบบของเราด้วย ดังนั้นเทศบัญญัติก็ต้องถูกคิดร่วมด้วยกัน ไม่ใช่แค่ผู้ทรงวุฒิที่เป็นผู้อนุรักษ์

Photo Snap

คุณเป็นคนที่พยายามเชื่อมโยงมิติทางสังคมต่างๆ เข้ามาในตัวเด็กที่กำลังจะออกไปเป็นสถาปนิก โดยเฉพาะการเน้นให้เด็กๆ ไปลงพื้นที่ย่านชุมชน เรื่องนี้จำเป็นกับนักศึกษายังไง

โดยปกติเด็กต้องทำงานในสตูดิโอสองปี ทั้งออกแบบในสเกลของอาคารสาธารณะขนาดหนึ่งพันตารางเมตร และทำอาคารสาธารณะขนาดสองพันถึงสี่พันตารางเมตร ซึ่งสถาปัตยกรรมศาสตร์ทำกันทุกมหา’ลัย แต่ว่าผมคิดว่าเด็กมาเรียนสถาปัตย์ มช. ด้วยสองประเด็น ประเด็นแรก คือเด็กได้กลับไปบ้านเกิด เพื่อทำงานชุมชน ประเด็นที่สอง คือ เด็กจะเดินทางไปเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพฯ หรือสิงคโปร์ ไปทำงานเรื่องเมือง ดังนั้นผมเลยสร้างโครงของนักศึกษาปีสามในเทอมหนึ่งให้พูดเรื่องของชุมชน เพื่อที่เด็กจะได้มีสกิลการศึกษาพื้นที่ ความเป็นพื้นถิ่น และอัตลักษณ์ แล้วครึ่งหลังพูดถึงสเกลเมืองแบบ Urban เพื่อทำงานขนาดใหญ่ขึ้น 

ผมเลยพาเด็กไปลงย่าน โดยเปลี่ยนย่านไปเรื่อยๆ ตามแต่ละประเด็นด้านต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ การที่เด็กเริ่มต้นเขียนแบบด้วยกระดาษขาว มันก็ดีนะ แต่มันเป็นอุดมคติ เขาไม่ได้เห็น ไม่ได้สัมผัสอุณหภูมิ และไม่ได้กลิ่นของพื้นที่ ดังนั้นต้องลงพื้นที่จริง เลยพาเด็กไปดูชุมชนและย่าน ให้เห็นมิติทางสังคม ซึ่งผมทำอย่างนี้มาตลอด

มีอยู่ปีหนึ่งพาไปลงถนนช้างม่อย นอกจากมีอาคารที่สวย แล้วเป็นย่านที่ชาเลนจ์ เรายังได้ฟังเสียงคนอยู่จริงว่าเขาคิดยังไง ทั้งคนอยู่เก่า และผู้ประกอบการที่เข้ามา เลยทำเวทีเวิร์กช็อปขึ้นมา ทดลองเปรียบเทียบดูว่าสิ่งที่นักเรียนคิดในห้องเรียน กับคนในชุมชนเขาเห็นเหมือนกันไหม แล้วเอาข้อมูลทางสถาปัตย์มากระจายให้ฟัง ก็เลยนำพาคนในเมืองเข้ามาเจอกัน ซึ่งดีมากเลย ตั้งแต่วันนั้นก็ไม่เคยได้ออกจากช้างม่อยอีกเลยนะ (หัวเราะ) กลายเป็นพื้นที่ที่ผมได้รู้จักคน และได้เก็บข้อมูลเรื่องพื้นที่และภูมิหลังมาเรื่อยๆ

คุณได้ไอเดียลงพื้นที่ชุมชนมาประยุกต์กับการเรียนและการสอนจากที่ไหน

โห ผมว่าตอนที่ได้ไปเรียนปริญญาโทและเอกที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผมทำงานกับชุมชนเยอะ ตอนนั้นเป็นชุมชนชื่อ Koiyama อยู่กลางเมืองแถบ CBD เลย มีตึกสูง และมีศาลอยู่ในร้านอาหารอิตาลี เกียวโตเป็นเมืองวัฒนธรรมที่มีประเพณี และมีการอนุรักษ์เมืองด้วย แต่สิ่งที่ผมสนใจคือความเป็นเมืองวัฒนธรรมมากกว่าเมืองอนุรักษ์ ดังนั้นคีย์สำคัญสุดของวัฒนธรรมคือการใช้มันยังไงให้ทั้งของเก่าและใหม่อยู่ร่วมกันได้ อย่างศาลเก่าแก่ที่ยังอยู่ในร้านอิตาลี พอต้องทำพิธีการแห่เรือเกี้ยวใหญ่ๆ คนในชุมชนก็ยังเรียกคนเข้ามาได้ ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันที่ชัดเจน 

ทำให้เราไม่ติดกับดักของเมืองอนุรักษ์ที่เห็นแค่กายภาพว่าที่นี่คือเมืองเก่า เพราะคนยังใส่ชุดกิโมโน และยูกาตะไปศาลจริงๆ ไม่ต้องบอกว่าแต่งย้อนยุคกันทุกวันศุกร์นะ ในเชียงใหม่เองยังต้องขอให้มีบริษัทอีเวนต์มาจัดงานตรงริมน้ำปิง ทำไมซุ้มประตูป่าของชุมชนเรามันหายไป แสดงว่าเราไม่ได้มองเชียงใหม่เป็นเมืองของชุมชน หรือเมืองวัฒนธรรม แต่เรามองมันเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองอีเวนต์ ซึ่งไม่ใช่เฟสติวัลด้วยซ้ำ

Chang Moi Road

หลังจากนั้น คุณเข้าไปทำอะไรในชุมชนช้างม่อยบ้าง

ช้างม่อยที่ผมเข้าไปจับมันหลายประเด็นมาก เราให้โจทย์เป็นของคนอยู่ ผมทำงานดีไซน์กับ Made in Changmoi โจทย์มันเกิดจากคนในย่าน สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้คนกับย่านต้องเดินไปได้ โดยไม่ต้องมีผมก็ได้ นั่นคือจุดประสงค์หลักของย่านช้างม่อย แล้วพอเราไปสร้างเครือข่าย ก็ทำให้เกิดตัวละครใหม่ๆ เยอะขึ้น ทุกคนออกมาต่อสู้เพื่อให้ชุมชนตัวเองดีขึ้น สำหรับผมคนในย่านก็คือคนที่แคร์ย่านนี้ทุกคน แล้วเข้ามาร่วมมือกัน ผมก็เลยพยายามทำภาพลักษณ์ให้ไม่เชย ด้วยการช่วยหาคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่ม 

เหมือนว่าคุณกำลังอยากเห็นพลังของชุมชนมากขึ้นด้วย

ใช่ อยากเห็น ผมอยากยกระดับผู้คนในย่าน Empower เขาขึ้นมา ให้เขารู้ว่าตัวเองทำได้ ทุกคนมีพลัง ชุมชนสร้างโจทย์เองได้ และต้องไปต่อได้ เพราะว่าผมกับเขาก็ไม่ได้ต่างกันเลย ทุกคนเป็นคนเหมือนกันนั่นแหละครับ ฉะนั้นหนึ่งคำที่ผมไม่ใช้เลยคือ นักวิชาการ กับ ชาวบ้าน เพราะมันเป็นคำที่ทำให้เกิดช่องว่าง และเกิดระดับขึ้นมา ซึ่งสำหรับผมจริงๆ ชุมชนคือทุกคนเว้ย 

Pink Shirt

03 ส่งต่อความหวังให้คอมมูนิตี้และคนรุ่นใหม่

อย่างโปรเจกต์ ‘เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ’ บนเฟซบุ๊กคุณกำลังขับเคลื่อนเรื่องอะไร 

เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ (Chiang Mai We Care) เป็นงานวิจัยที่ทำกับโครงการคนไทย 4.0 เป็นภาคประชาสังคมกับภาคประชาชนร่วมมือกัน ก็คือคนที่เป็น Active Citizen ทั่วไปนี่แหละ กับกลุ่มคนที่เป็น Civil Society กลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนรักเชียงใหม่ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มารวมตัวกันผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ผมเลยลงไปเล่นด้วยการทำคอนเทนต์ เลยต้อง Carry อีเวนต์ขึ้นมา เพราะว่ามันไม่มีคนตรงกลางจริงๆ ซึ่งคนตรงกลางจริงๆ ควรจะเป็นรัฐที่ต้องจับทุกอย่างมารวมกัน แต่ผมมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน 

เราเลยต้องทำตัวเองให้เป็นพื้นที่สาธารณะก่อน ก็เลยให้ข้อมูลในเพจ ตีแผ่ Data ของเมืองให้คนมองว่านี่เป็นที่สาธารณะ มาเอาข้อมูลที่เรานำเสนอไปใช้ได้เลย เราจะทำข้อมูลให้คนมาไลก์และแชร์ได้ จนกระทั่งเขารู้ว่ามันเป็นพื้นที่ของทุกคน และกล้าเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยสร้างประเด็นเมืองเพื่อให้คนที่เห็นเก็ตว่าเชียงใหม่มีการปั้นประเด็นเมืองบางอย่างอยู่ คุณแค่มาร่วมแสดงความคิดเห็น เราเลยตั้งเป็นประเด็นรายสัปดาห์ โดยมีประเด็นข้อมูลเมืองสนุกๆ มาให้ดู เพื่อร่วมหาแนวทางให้เมืองของเราพัฒนา 

เราไม่อยากให้ เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ เป็นเพจที่คนเข้ามารุมด่ากัน แต่ว่าอยากให้ช่วยกันเสนอทางออกและทางเลือกเพิ่ม เพื่อสรุปข้อมูลให้รัฐเห็นว่าที่คนมาคอมเมนต์เนี่ย ความคิดเห็นส่วนใหญ่มีประมาณนี้นะ เป็นคำตอบให้รัฐนำไปใช้ต่อได้ ก็เลยทำกันต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

Men

คุณโยนประเด็นแบบไหนให้คนมาร่วมแสดงความเห็นบ้าง

เช่น เรื่อง Urban Development พวกคุณชอบนิมมานยุคไหน พอเขาเห็น Data แล้วจะอ๋อ จริงๆ ด้วยว่ะ จากเมื่อก่อนมันเคยเป็นนิมมานแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมาก 

เมื่อมีฐานข้อมูล คนก็จะเห็นภาพและเข้าใจความเปลี่ยนแปลง นี่ไงนิมมานยุคนี้นี่หว่าที่เราเคยชอบ เพราะได้เข้าไปใช้มันจริงๆ บางคนอาจบอกว่าฉันได้ใช้พื้นที่ในฐานะแกลเลอรีที่นัดไปเจอเพื่อน อุ๊ย ฉันเคยใช้ปาร์ตี้ในยุคที่มันเป็น Monkey Club ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่ผู้ประกอบการตัวเล็กเป็นคนปั้นคำว่า นิมมาน โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าย่านจะกลายเป็นเมืองกาแฟ และ Art and Design Promenade แม้กระทั่งทำไมนิมมานมันหรูขึ้น ก็แสดงว่าร้านกาแฟ คาเฟ่ และการกิน มันเป็นการกินที่มีระดับและมีคุณภาพมากขึ้น มันเลยแพงขึ้น พอแพงปุ๊บ คอนโดฯ ก็เลยแพงตาม ซึ่งเป็น Domino Effect ต่อกัน 

คุณขับเคลื่อนประเด็นหลายอย่างมาก ถ้ามองเป็น Jouney มันพาชีวิตคุณไปเจอกับอะไรบ้าง

สิ่งที่ผมทำ มันทำให้เสียงของผมมันดังขึ้น และกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ที่เรามีการสัมภาษณ์นี้ขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าเสียงของผมขยายไปเรื่อยๆ ดังนั้นผมไม่ได้มองว่านี่คือกำไรนะ แต่มันเป็นคุณค่าการทำงาน

ผมรู้สึกว่าผมเป็นมนุษย์ที่พร้อมตายมากเลย เพราะทำงานทุกวันแบบไม่เสียดาย เราทำทุกโปรเจกต์ในวันนี้ ถ้าพรุ่งนี้ตาย แล้วไงอะ ก็ทำเต็มที่แล้ว และทำไมเราถึงต้องเหนื่อย เพราะเราเข้าใจว่าตัวเองเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ เพื่อที่จะส่งต่อคุณค่าของเรา การที่ได้เห็นตัวเองในกระจกแล้วคิดว่า เออ นี่คือคนที่ฉันอยากเป็น ฉันหลงรักตัวเอง และฉันได้ออกไปพูดในเรื่องที่ฉันอยากจะขับเคลื่อนเมือง และได้ทำให้เมืองมันดีขึ้น มันกำไรแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรขาดทุน

ในฐานะอาจารย์และผู้ใหญ่คนหนึ่ง คุณคิดยังไงกับลูกศิษย์และคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย

ผู้คนได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นคนรุ่นใหม่อีกหลายสิบล้านคนจะไปทำงานเพื่อเลี้ยงดูคนแก่ที่เผาผลาญทรัพยากรอย่างเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ และเจเนอเรชันเอ็กซ์ที่มีอยู่เต็มไปหมดเลย ถ้าคุณไม่เห็นคุณค่าของเด็ก เพราะคุณจะเอาแต่กอบโกยทรัพยากร และเอาแต่หาเงินจนกระทั่งตอนนี้โลกร้อน ทุกอย่างกำลังพังทลาย เศรษฐกิจย่ำแย่หมด ถ้าพวกคุณจะต้องแก่ แถมยังตายยากอีกเนี่ย ควรคิดว่าเด็กพวกนี้จะต้องมาพัฒนาประเทศ ฉะนั้นต้องคิดให้ได้ว่าเด็กๆ คือฮีโร่ของชีวิตคุณ เศรษฐกิจประเทศนี้จะไม่พัง เพราะเด็กรุ่นใหม่กำลังเชื่อมโยงเพื่อแก้ไขปัญหา และกำลังจะช่วยเหลือคุณ ด้วยการเข้ามาขับเคลื่อนประเทศนี้ เรามีหน้าที่ต้องส่งไม้ต่อให้เขา ไม่ใช่ผูกขาดไว้ที่ตัวเอง เพราะนี่คือทางออกทั้งหมดของประเทศครับ

Street Walk

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.