ร้านเผ็ดเผ็ด อาหารที่เกิดจากความคิดถึงบ้าน - Urban Creature

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ขับเคลื่อนพลังชีวิตด้วยรสชาติความแซ่บนัวของปลาร้า และเป็นแฟนตัวยงของร้านส้มตำทั่วกรุง เราเชื่อว่าคุณต้องเคยได้ยินชื่อร้าน ‘เผ็ดเผ็ด’ อย่างแน่นอน

เผ็ดเผ็ดคือร้านอาหารอีสานที่ดึงดูดเราด้วยภาพแซ่บๆ ของส้มตำ ทำให้เราติดใจเพราะรสชาติ และตื่นเต้นที่ได้เห็นการนำเสนอความเป็นอีสานผ่านอาหารอย่างสร้างสรรค์

ร้านนี้ไม่ได้มีดีแค่เผ็ดตามชื่อ แต่ยังทำให้เมนูในร้านอาหารอีสานสนุกและมีตัวตนชัดเจนในแบบของตัวเอง ถึงแม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการอาหาร แต่ปัจจุบันเผ็ดเผ็ดขยับขยายไปถึง 5 สาขา และทั้ง 5 สาขาขายอาหารที่มีเมนูและรสชาติที่ต่างกันไปตามคาแรกเตอร์ที่เจ้าของต้องการทดลองอะไรใหม่ๆ

เราจะพาไปฟังเรื่องราวการเสาะหาวัตถุดิบและความคิดสร้างสรรค์ในการทำอาหาร ผ่านคำบอกเล่าของ ต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู เจ้าของร้านชาวนครพนมที่เติบโตมากับวัฒนธรรมลูกอีสานขนานแท้ ผู้นำอาหารอีสานรสมือแม่มานำเสนอให้คนกรุงติดใจและคนอีสานกินทีไรก็นึกถึงบ้าน



อาหารที่เกิดจากความคิดถึงบ้าน

ต้อมบอกว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากทำร้านอาหารอีสานขึ้นมาคือความคิดถึงบ้านและอาหารรสมือแม่ หากให้อธิบายว่าอาหารอีสานแบบเผ็ดเผ็ดมีรสชาติเป็นแบบไหน ก็คงเป็นอาหารรสมือแม่ที่เขากินมาตั้งแต่เด็กๆ

ในความทรงจำของเขาตั้งแต่เด็กจนโต แม่เป็นคนที่ทำอาหารเก่งและมีสูตรอาหารอร่อยๆ เป็นของตัวเอง ตอนเป็นเด็กเขาจึงกินได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะใส่ผักหรือใส่พริกก็กินได้โดยไม่ต้องแบ่งแยกจานเด็กหรือจานผู้ใหญ่ แถมยังได้เรียนรู้ทักษะการทำอาหารและสูตรต่างๆ จากแม่ครัวชั้นครูที่อยู่ในบ้าน

“ผมเป็นคนนครพนมที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เวลาคิดถึงบ้าน อยากกินอาหารอีสาน ผมก็อยากกินอาหารรสมือแม่ อยากกินอะไรที่เหมือนเคยกินที่บ้าน

“ความจริงแล้วในกรุงเทพฯ มีร้านอาหารอีสานเยอะมาก ถ้าอยากกินอาหารอีสานก็หาได้ไม่ยากเลย แต่ที่ขายกันทั่วไปรสชาติมันไม่เหมือนกับที่บ้านเรากินกัน มันไม่ได้รสชาติเพี้ยนนะ แต่เขาใช้วัตถุดิบไม่เหมือนที่บ้านเรา และเราชอบแบบที่เราเคยกินมาตั้งแต่เด็กมากกว่า

“พอคิดจะทำร้านเราเลยอยากเอาสูตรอาหารอีสานของแม่ทำขาย เป็นสูตรที่เขาคิดเอง ปรุงเอง และเราเอามาประยุกต์ต่อ ถึงแม้จะเอาวัตถุดิบจากนครพนมมาใช้ แต่ไปถึงแล้วคงไม่เจออาหารอีสานรสชาติแบบที่เผ็ดเผ็ดทำแน่นอน”

ก่อนจะเป็นเผ็ดเผ็ดสาขาแรกในซอยพหลฯ 8 แต่เดิมร้านนี้เคยเป็นหน้าร้านของแบรนด์กระเป๋าที่ต้อมเคยทำกับเพื่อนมาก่อน เขาตั้งใจเปิดเพื่อให้ลูกค้าเอากระเป๋าเข้ามาซ่อมที่นี่ได้ แต่เมื่อเปิดจริงๆ ลูกค้ากลับเลือกที่จะฝากของไว้ในห้างมากกว่า แต่ไหนๆ ก็เสียค่าเช่าไปแล้วจึงเปลี่ยนจากร้านกระเป๋าที่ตกแต่งไว้แล้ว มาเป็นร้านเผ็ดเผ็ด คาเฟ่ ทำครัวและเพิ่มโต๊ะเก้าอี้สำหรับกินอาหารเข้าไป แต่ดูแล้วหน้าตาก็ยังเหมือนคาเฟ่มากกว่าร้านอาหารอีสานอยู่ดี

“ตอนแรกที่ตรงนี้มันไม่ได้จะเป็นร้านส้มตำ มันถูกตกแต่งไว้เพื่อเป็นร้านซ่อมกระเป๋า บรรยากาศที่เห็นตอนเปิดร้านแรกมันเลยเป็นร้านกระเป๋าอยู่ รวมถึงสีน้ำเงินที่ทาไว้แล้วด้วย แต่ที่เราตั้งใจคือเราไม่ได้อยากได้ร้านที่ดูเป็นร้านอาหารร้อยเปอร์เซ็นต์ ร้านแบบนั้นสำหรับเรามันดูเกร็ง เลยอยากให้บรรยากาศออกมาแบบนี้ทุกร้าน”



วัตถุดิบ วัตถุเด็ด

ไม่ใช่แค่สูตรอาหารเท่านั้นที่อิมพอร์ตมาจากนครพนม แต่วัตถุดิบกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของร้านก็มาจากนครพนมเช่นกัน ผักสวนไหนเด็ด พริกสวนไหนดี หน่อไม้บ้านไหนสด หมูยอร้านไหนอร่อยก็ส่งตรงจากนครพนมทั้งหมด บางอย่างเป็นของที่ครอบครัวทำเอง โดยเฉพาะปลาร้า แหนม ไส้กรอกอีสาน เรียกได้ว่าอะไรทำเองได้ก็ทำเองเลยดีกว่า และใช้ของสำเร็จรูปให้น้อยที่สุด

ส่วนน้ำปรุงรสต่างๆ เช่น น้ำปลา น้ำปู ซีอิ๊ว กะปิ ก็สั่งมาจากทุกภาคทั่วไทย จังหวัดไหนมีของเด็ดของดีอะไรก็ไปเสาะหามา มีหลายรส หลายกลิ่น ที่สามารถเลือกปรุงและเลือกใช้ให้ออกมารสชาติใกล้เคียงกับรสมือของที่บ้านที่สุด

ต้อมบอกว่า สิ่งที่ทำให้อาหารของเผ็ดเผ็ดรสชาติแตกต่างจากที่อื่นคือ น้ำปลาร้า เพราะเป็นสูตรที่แม่ทำเองและไม่เคยทำขายที่ไหน

“ในอดีตคนอีสานจะทำปลาร้ากินกันเองอยู่แล้ว ผมก็กินส้มตำที่แม่ทำมาตลอด เพราะที่บ้านเราก็ทำน้ำปลาร้าเอง สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากการย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ คือน้ำปลาร้าในร้านส่วนใหญ่รสชาติคล้ายกันไปหมด เพราะเขารับมาจากตลาดไทเหมือนกัน ทั้งกลิ่นและรสชาติจะไม่มีร้านไหนเหมือนของร้านเราแน่นอน

“ปลาร้าที่ขายในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากทางภาคกลาง สูตรนี้จะใส่ข้าวคั่วตอนหมัก แต่สูตรที่บ้านเราทำใส่รำข้าวอ่อนๆ และใช้เกลือสินเธาว์จากสกลนคร แค่เกลือและรำข้าวต่างชนิดก็ทำให้ได้น้ำปลาร้าที่รสชาติต่างกันแล้ว

“ผมถือคติว่าอะไรที่เราชอบจากที่บ้านเราก็เอามาทำขาย เพราะผมไม่ใช่เชฟมืออาชีพ ผมไม่สามารถจินตนาการว่าทุกคนชอบกินรสอะไรกัน อาจจะไม่สามารถทำอาหารให้ทุกคนชอบ แต่ผมทำอาหารรสที่ผมชอบและเลือกใช้วัตถุดิบที่ผมคิดว่ามันดีได้ รสชาติมันจึงออกมาชัดเจน เป็นร้านส้มตำที่มีรสเผ็ด เค็ม และมีเอกลักษณ์ในแบบของมัน ไม่ใช่รสชาติกลางๆ ที่ทุกคนกินได้เหมือนร้านอื่น”

เคล็ดลับความแซ่บนัวไม่ได้มีแค่นั้น ต้อมบอกว่า สูตรน้ำส้มตำที่ร้านมีหลากหลายมาก แต่ละจานจะมีจุดเด่นที่ต่างกัน เขาตั้งเบสของน้ำปลาร้าไว้ตรงกลาง แล้วเติมกะปิ น้ำปู น้ำปลา ซึ่งเป็นของดีจากภาคต่างๆ มาช่วยเสริมรสชาติอีกที บางเมนูเป็นตำที่มีรสกะปินำ บางเมนูเป็นรสน้ำปลานำแต่มีความนัวของปลาร้าเสริม หรือบางเมนูเติมน้ำปูเพิ่มเพื่อให้ได้ส้มตำที่รสชาติหลากหลายมิติมากขึ้น 

นอกจากจะเด็ดเรื่องปลาร้าแล้ว เรื่องผักก็จริงจังไม่แพ้กัน ถึงแม้ว่าผักหลายชนิดจะหาซื้อในกรุงเทพฯ ได้ แต่ต้อมบอกว่า กลิ่นและรสชาติที่ส่งตรงจากนครพนมคือรสชาติที่ถูกต้องตามที่เขาต้องการมากกว่า

หน่อไม้ที่ใช้ทำอาหารในร้าน ต้องเผาหรือต้มจากที่นครพนมมาเลย จะได้หน่อไม้ที่สด กรอบ และหวาน มากกว่าที่หาซื้อในกรุงเทพฯ จึงต้องส่งมาทุกๆ 2 วันเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด

ส่วนใบแมงลักหรือผักอีตู่ที่กรุงเทพฯ และที่อีสานจะคนละกลิ่นกัน ที่อีสานจะปลูกใบแมงลักทั้งแปลงเดี่ยวๆ ไม่ปลูกผสมกับผักชนิดอื่น และเก็บตอนแก่ที่มีดอกแล้ว แต่ที่กรุงเทพฯ นิยมเก็บเฉพาะยอดอ่อนๆ และปลูกรวมกับโหระพา สะระแหน่ หรือใบกะเพรา ทำให้กลิ่นที่ได้เพี้ยนไป พอเอามาทำอาหารก็ไม่ตรงกับจริตที่เขาต้องการ

แม้แต่พริกแห้งที่หาซื้อได้ง่ายๆ ในกรุงเทพฯ แต่ถือเป็นอีกตัวละครสำคัญของร้าน เขาใช้พริกจากสวนที่อุบลราชธานี เป็นพริกที่เผ็ดมาก เผ็ดให้สมกับชื่อร้านเผ็ดเผ็ด เป็นสวนที่ใช้มาตั้งแต่เปิดร้านแรกจนปัจจุบันนี้ ต้อมบอกว่า ความเผ็ดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ถ้ากินพริกร้านเผ็ดเผ็ดในหน้าร้อนจะยิ่งเผ็ดทวีคูณเข้าไปอีก แต่ถ้าหน้าฝนจะเผ็ดน้อยกว่า เพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในการปลูกพริกด้วยเช่นกัน แต่ถ้าใครไม่อยากกินเผ็ดมาก ก็แจ้งที่ร้านให้ลดระดับความเผ็ดได้

ทุกอย่างในร้านนี้ใส่ใจตั้งแต่ที่มาและทุกกระบวนการผลิต ถ้าคนขายไม่ชอบ คนขายไม่กิน ก็ไม่มีทางส่งต่อจานไหนให้ถึงมือลูกค้าอย่างแน่นอน



ภูมิปัญญาอีสาน สู่โต๊ะอาหารในเมืองกรุง

ต้อมเป็นคนอีสานแท้ๆ ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในอีสาน และผูกพันกับวัฒนธรรมอีสานมาตลอดก่อนที่จะย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยความสนใจเรื่องอาหารเป็นทุนเดิม ทำให้เขามีประสบการณ์ มีความรู้ และความเข้าใจ เรื่องภูมิปัญญาอาหารอีสานเป็นอย่างดี

หากคุณเป็นลูกอีสานเหมือนกัน เราเชื่อว่าสักเรื่องที่เขาหยิบขึ้นมาเล่าผ่านอาหาร คุณอาจจะเคยมีประสบการณ์ร่วมอย่างแน่นอน

เขาเอาเทคนิคต่างๆ ในครัวอีสานมาปรับใช้กับครัวสมัยใหม่ เอาเมนูประจำบ้าน หรือเมนูวัยเด็กมาประยุกต์ใหม่ให้กินง่ายและสร้างสรรค์ได้มากกว่าที่คิด

“เวลาผมทำเมนูแกงอ่อม ถ้าเป็นแกงอีสานจริงๆ เขาจะไม่ค่อยใช้เนื้อสัตว์แบบนุ่มๆ ไม่ตุ๋นนานให้มันเปื่อย แต่จะกินทั้งที่มันเหนียวๆ เลย แต่ผมเอามาปรับให้คนเมืองกินง่ายขึ้น เพราะทุกวันนี้คนชอบกินอะไรที่เคี้ยวง่าย จากไก่บ้านก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นไก่ตุ๋น

“เอามาปรับเพื่อทำให้วัตถุดิบเหล่านี้กินง่ายขึ้น หรืออย่างเมนูไข่มดแดงที่อีสานมักจะกินดิบเป็นก้อยไข่มดแดง ไม่ค่อยปรุงสุก ผมก็จะเอามาปรุงสุกคั่วใส่น้ำปลา หรือเอาไปทอดเป็นไข่เจียว เพื่อให้คนที่ไม่เคยกินเปิดใจกินมากขึ้น”

บางอย่างเป็นอาหารง่ายๆ ที่อยู่ในความทรงจำวัยเด็ก แต่ต้อมก็เอามาต่อยอดจนออกมาเป็นอาหารจานใหม่ได้

“เมนูที่เด็กอีสานทุกคนต้องเคยกินคือ ข้าวบ่ายปลาทู เป็นการเอาข้าวเหนียวมาขยำและยัดปลาทูไว้เป็นไส้ข้างใน ผู้ใหญ่จะขยำแล้วให้เด็กกินเป็นก้อนๆ ผมเอาเมนูนี้มาปรับเป็นข้าวสวยคลุกกับปลาทู แล้วนำมาย่างใส่ใบตองเหมือนห่อหมก รสชาติมันออกมาคล้ายๆ ข้าวผัด แต่เราไม่ได้ใช้วิธีผัด เอาไปย่างใบตองแทน”

วิธีการทำอาหารอย่างหนึ่งที่ต้อมปรับมาจากภูมิปัญญาของอีสาน คือการทำตำขยำ เป็นการทำส้มตำโดยที่ไม่ใช้ครก เพราะปกติเวลาคนอีสานไปทำนาทำสวนอาจจะพกครกและสากไปไม่ได้ทุกที่ จึงใช้วิธีขยำวัตถุดิบใส่เครื่องปรุงแทน เป็นที่มาของการทำส้มตำที่ร้านเผ็ดเผ็ดหลาย สาขาพหลฯ 8 ที่นี่จะทำส้มตำโดยไม่ใช้ครก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องขนาดครัว แต่ก็ทำให้ได้ส้มตำที่แซ่บได้แบบไม่ต้องง้อครก

ฟังดูเหมือนเขาทำอะไรมาเสนอ คนกินก็เปิดใจรับหมด แต่ความจริงแล้วต้อมบอกว่า เมนูที่ขายดีทุกวันนี้เคยเป็นเมนูที่ลูกค้าไม่ยอมเปิดใจกินมาก่อน

“เมนูยอดฮิตอย่างตำมะยงชิด ตำสตรอว์เบอร์รีกะปิ และตำมังคุด เป็นเมนูที่ใครมาก็ต้องสั่ง ก่อนหน้านี้ตอนทำขายแรกๆ เป็นเมนูที่ขายไม่ได้เลยเพราะลูกค้ายังไม่กล้ากิน เขาเห็นว่าผลไม้มันก็อร่อยอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าเอามาทำเป็นเมนูส้มตำแล้วรสชาติจะเป็นอย่างไร

“จานนี้ผมได้ไอเดียมาจากการกินผลไม้เปรี้ยวๆ คลุกน้ำปลากับพริกป่นของคนอีสาน เหมือนการกินผลไม้กับน้ำปลาหวาน เลยลองเอาวิธีนี้มาใช้ในการปรุงรส ตอนแรกตัวเองชิมแล้วชอบ แต่ลูกค้ายังไม่กล้าสั่ง ทำให้เดือนแรกต้องทิ้งวัตถุดิบไปเยอะมาก แต่พอเราเอาไปให้คนลองแล้วมีคนชอบ จึงกลายเป็นเมนูแนะนำและเป็นเมนูขายดีของร้านไปแล้ว”



สร้างอาหารที่มีคาแรกเตอร์ของตัวเอง

ถ้าคุณเคยกินเผ็ดเผ็ดหลายสาขาและรู้สึกว่าแต่ละสาขารสชาติไม่เหมือนกันเลยสักร้าน แสดงว่าคุณเข้าใจถูกแล้ว เพราะร้านเผ็ดเผ็ดทั้งห้าสาขา มีคาแรกเตอร์ด้านรสชาติและวิธีการนำเสนอที่ต่างกัน ถ้าเป็นแฟนคลับอาหารอีสาน เราแนะนำว่าให้ลองไปตามเก็บให้ครบทุกร้าน แล้วค่อยลงคะแนนว่าชอบเผ็ดเผ็ดคาแรกเตอร์ไหนที่สุด

เผ็ดเผ็ด คาเฟ่ ประดิพัทธ์ 20 สาขานี้แต่เดิมเปิดที่ซอยพหลโยธิน 8 ช่วงแรกเริ่มต้นด้วยเมนูอีสานแบบง่ายๆ เป็นอาหารอีสานรสมือแม่ที่ประยุกต์เข้ากับความร่วมสมัยของคนกรุง คนในเมืองชอบกินอะไรก็ทำเมนูนั้น ไม่ได้เน้นความเป็นอีสานแบบลงลึก เช่น ส้มตำ ตำผลไม้ คอหมูย่าง อาหารจานเดียว ข้าวผัด ผัดกะเพรา และมีเมนูพิเศษซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาลหรือเมนูอีสานที่อยากให้ลูกค้าได้ทดลองเปิดใจดูบ้าง สาขานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลูกค้าติดใจและทำให้ต้อมต้องขยับขยายเผ็ดเผ็ดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการแซ่บของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง

เผ็ดเผ็ด บิสโทร สาขา The Circle ราชพฤกษ์ สาขานี้จะเน้นเป็นสูตรส่วนตัวของต้อมมากขึ้น ชอบอะไร อยากทดลองทำเมนูไหน ก็เอามาขายที่นี่ เป็นรสชาติที่เกิดจากประสบการณ์การเดินทางและการหาวัตถุดิบมาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเอง เมนูเด็ดร้านนี้คือตำหลวงพระบาง ซึ่งกว่าจะได้สูตรนี้มาเขาสั่งสมประสบการณ์เดินทางไปเที่ยวหลวงพระบางและตามชิมต้นฉบับมาแล้วนับร้อยครก นอกจากนี้ ยังมีแกงต่างๆ ที่เคยทำกินเองที่บ้าน เช่น แกงอ่อมไก่ใส่ฟักที่ปกติจะหาทานยากในร้านอาหาร เพราะเน้นทำกินกันในครัวเรือนมากกว่า หรือเมนูกะหล่ำปลีผัดกะปิ ที่ปกติคนกรุงจะกินผัดน้ำปลา แต่สูตรของแม่จะผัดกับกะปิ ได้รสเค็มเหมือนกันแต่รสชาติอร่อยคนละแบบ

เผ็ดเผ็ด กราวด์ สาขาคลองลัดมะยม สาขานี้ต้อมบอกว่า เหมาะกับสายลึก สายลุย ที่ชอบอาหารอีสานรสเข้มข้นและดุเดือด เป็นรสชาติแบบที่ต้อมบอกว่าเขาชอบและทำเอาใจตัวเอง เพราะเน้นเค็ม เผ็ด นัว มีรสชาติและวัตถุดิบแปลกๆ ที่ไม่ค่อยเอามาทำในร้านอาหารอีสาน เช่น แกงขี้เหล็กใส่หนังควาย ป่นปลาแบบเข้มข้น และทุกจานที่ใส่ปลาร้าจะใช้ปลาร้าโหน่ง หรือปลาร้าเหม็นที่ผ่านการซูวีด์กว่า 5 ชั่วโมงเพื่อให้สุก แต่ยังมีกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์อยู่ ถ้าคุณเป็นสายแข็งด้านปลาร้าต้องมาที่นี่ เพราะเขาบอกว่า เป็นสาขาที่ปลาร้ากลิ่นแรงที่สุด

เผ็ดเผ็ดหลาย สาขาซอยพหลโยธิน 8 ร้านนี้คือร้านเดิมที่เป็นจุดเริ่มต้นของเผ็ดเผ็ด ปัจจุบันถูกปรับให้เป็นเหมือนแล็บทดลองอาหารของเครือเผ็ดเผ็ดทั้งหมด ถ้าผลตอบรับดี ลูกค้าชอบ ก็จะถูกนำไปใช้ในร้านอื่น หรือเป็นเผ็ดเผ็ดสาขาใหม่ไปเลย ถ้ามาแล้วไม่เจอเมนูเดิมที่เคยชอบก็อาจจะต้องทำใจ เพราะเขาทดลองเมนูใหม่ๆ อยู่ตลอด

ต้อมเล่าว่า ตอนนี้กำลังทดลองทำเมนูตามสั่งที่เอามาประยุกต์วัตถุดิบและวิธีนำเสนอในแบบของเผ็ดเผ็ด เช่น กะเพราหมูสับหน่อไม้ดอง ใช้หน่อไม้ดองที่ทำเองผัดกับพริกแห้งและสมุนไพร 4 ชนิด ประยุกต์มาจากเมนูคั่วไก่บ้านหน่อไม้ดองที่เคยกินจากบ้านเพื่อนที่โคราช รสชาติเค็มนิด เผ็ดหน่อย และผัดแห้งๆ ถูกใจคนที่ชอบกะเพราแห้ง

ในช่วงแรกที่นี่ไม่มีเมนูส้มตำ เนื่องจากลูกค้าเรียกร้องแต่ครัวเล็ก เลยเพิ่มตำขยำเข้าไป เช่น ตำป่าในเมือง เป็นตำป่าสำหรับคนเมืองที่ไม่ถนัดอาหารอีสานมาก ใช้สับปะรดแทนผักดอง ไหลบัวแทนหน่อไม้ กระถินและสะตอแทนผักกระเฉด เป็นตำป่าที่กินง่ายและยังรักษารสชาติของตำป่าไว้ได้เหมือนเดิม หรือเมนูตำขนมจีนไทบ้าน ที่คลุกขนมจีนกับน้ำปลาและปลาร้า และใส่เครื่องอื่นๆ เข้าไป เป็นเมนูง่ายๆ ที่คนอีสานกินมาตั้งแต่เด็ก

เผ็ดเผ็ด HEY สาขามหานคร คิวบ์ สาขานี้เป็นสาขาล่าสุดที่ตั้งอยู่ในศูนย์อาหารใจกลางเมือง เป็นสาขาที่ย่อเรื่องราวอาหารของเผ็ดเผ็ดเอาไว้ ถ้าใครอยากรู้จักเผ็ดเผ็ดแบบรวบรัดต้องมาที่นี่ เพราะต้อมออกแบบเมนูให้กระชับ เข้าใจง่าย ถึงจะมีตัวเลือกน้อย แต่ก็รวมดาวเมนูเด่นแต่ละสาขาเอาไว้ที่นี่ เช่น ตำสตรอว์เบอร์รีกะปิ ตำมังคุด ตำผลไม้ต่างๆ ตำขนมจีนโอเวอร์ที่มีเครื่องค่อนข้างเยอะเหมือนตำป่า แต่จะมีรสชาติและเบสน้ำปลาร้าเหมือนเผ็ดเผ็ด กราวด์ บางเมนูมีกลิ่นอายมาจากเผ็ดเผ็ด บิสโทร เรียกได้ว่าถ้าอยากรู้ว่าเผ็ดเผ็ดคืออะไรมาสาขานี้ก็ได้รู้จักกันแบบย่อๆ



เผ็ดได้อีก

ความสนุกในการทดลองของเผ็ดเผ็ดไม่หยุดอยู่แค่ 5 สาขานี้ ต้อมบอกว่าเขายังทดลองเมนูใหม่ไปเรื่อยๆ ถึงแม้ในสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 แต่ลูกค้าก็ยังสั่งอาหารกลับไปทานที่บ้านไม่ขาดสาย และมีลูกค้าเดินทางมากินที่ร้านอยู่ตลอด ทำให้ทุกสาขายังเปิดให้บริการความแซ่บอยู่เหมือนเดิม

สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาอาจไม่ใช่ปีที่ราบรื่นนักสำหรับทุกคน แต่ต้อมยังเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำไปต่อได้ ร้านเผ็ดเผ็ดยังมีอะไรสนุกๆ ให้ทดลองและทำให้เผ็ดได้มากกว่าเดิม เพราะยังมีลูกค้าที่เชื่อและสนับสนุนในสิ่งที่เขาทำอยู่

“ในอนาคตอยากทดลองมีร้านเผ็ดเผ็ดที่เฉพาะทางไปเรื่อยๆ เช่น ขายแต่เมนูสัตว์ปีกหรือเนื้อวัว หรืออาจจะกลับไปนครพนม ทำร้านขันโตกแบบอีสานที่จัดเซตอาหารไว้แล้ว หรือพวกเมนูแจ่วฮ้อนก็น่าสนใจ เพราะในกรุงเทพฯ มีแต่ร้านจิ้มจุ่ม แจ่วฮ้อนหากินยากมาก และการอธิบายว่าแจ่วฮ้อนกับจิ้มจุ่มต่างกันยังไงมันยากเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำอีกเยอะ”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.