ผศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จอร์จ ฟลอยด์ - Urban Creature

ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ประกาศก่อน
“นายสั่งมา”

ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิ์ทำร้ายทีมแพทย์อาสาในม็อบ
“นายสั่งมา”

ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับ ซีรอส วีรภัทร เยาวชนอายุ 17 ปี และ โตโต้ ปิยรัฐ แกนนำการ์ดวีโว่ โดยไม่มีหมายศาลได้
“นายสั่งมา”

ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงขับรถคุมขังชนสิ่งกีดขวางได้โดยไม่กลัวใครได้รับบาดเจ็บหรือข้าวของเสียหาย
“นายสั่งมา”

9 มีนาคม ปี 2564 เวลา 14.00 น. ฉันพกประโยค “นายสั่งมา” คำตอบที่เจ้าหน้าที่รัฐพูดในหลายเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปีที่แล้วยันปีนี้ ไปคุยกับ ผศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงเบื้องหลังประโยคดังกล่าว การกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ สามัญสำนึกความเป็นมนุษย์ ทางเลือกทางศีลธรรมกับหน้าที่การงาน อำนาจนิยม ความกลัว และพลังของประชาชนที่เชื่อในหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบันที่ยังคงร้อนระอุ และความหวังในอนาคตที่ไม่มีใครพูดว่า ‘นายสั่งมา’ อีก

นายสั่ง…ต้องทำ

ระบบติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ ป้อนคำสั่ง กดปุ่ม และรอให้ทำตามคำสั่ง เป็นระบบที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ามันเกิดขึ้นจริงใน ‘หุ่นยนต์’ ไร้ชีวิต ไร้หัวใจ และไร้สมองในการวิเคราะห์แยกแยะ สั่งอะไรมาผมทำตามหมด! ทว่าความน่ากลัวอยู่ที่ ถ้าระบบอัตโนมัติในหุ่นยนต์ถูกแปลงเป็นระบบอัตโนมือของมนุษย์ที่มีชีวิตและสามัญสำนึก รู้เนื้อ รู้ตัว แต่ก็ยังทำตามคำสั่ง ‘เจ้านาย’ โดยไม่ไตร่ตรองจะเกิดอะไรขึ้น

“นายสั่งมาเป็นประโยคที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ไทย แต่เจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศหยิบยกมาอ้างเพื่อเป็น ‘ข้อแก้ตัว’ ในการเผชิญหน้ากับประชาชนว่านี่ไม่ใช่ความผิดของฉันนะ เป็นความผิดของเจ้านาย ถ้าเกิดประชาชนเป็นอันตรายอะไรไป ตัวเองจะได้ไม่รู้สึกต้องรับผิดชอบกับความร้ายแรงที่ทำลงไป พูดง่ายๆ ว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบ”

อาจารย์ประจักษ์ติงประเด็นนี้ไว้ว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นหุ่นยนต์ รับคำสั่งมาแล้วเข้าชาร์จประชาชนทันที จะค้านกับลักษณะของมนุษย์ที่มีความสามารถคิดได้ เรียนรู้ได้ เช่น สมมติเจ้านายมีเรื่องกับเพื่อนบ้านของคุณ แล้วสั่งให้คุณที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปจับเข้าคุกและทุบตีหากขัดขืน ทั้งๆ ที่เพื่อนบ้านยังไม่ได้ทำอะไรผิด แถมใส่โปรแกรม ‘มันเลว’ ในสมองคุณ แต่คุณที่เป็นเพื่อนบ้านรู้ดีแก่ใจว่าเพื่อนบ้านเป็นผู้บริสุทธิ์และยังไม่ได้ทำอะไรผิด ทว่าคุณเลือกทำเพียงเพราะ ‘นายสั่งมา’ แบบนี้อาจไม่ได้ผิดที่เจ้านายอย่างเดียว มันผิดที่ ‘คุณ’ ที่ยอมลดศีลธรรมและยอมเป็นเครื่องมือของคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม

“การที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยยอมทำตามคำสั่งที่รู้อยู่แก่ใจว่าละเมิดสิทธิ์คนอื่น ยิ่งเป็นแรงที่ทำให้ความอยุติธรรมแกร่งขึ้น เพราะระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยันปัจจุบันไม่มีทางอยู่ได้ ถ้ามีแค่คนที่หวงแหนอำนาจแค่ไม่กี่คนบนยอดพีระมิด (เทียบกับประชากรในประเทศทั้งหมด) แต่มันอยู่ได้เพราะประชาชนกลุ่มใหญ่ละทิ้งความรับผิดชอบทางศีลธรรมของตัวเอง ยอมทำตามคำสั่งไม่เข้าท่าซึ่งนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย หรือทำให้บาดเจ็บ ล้มตาย แล้วไปร่วมมือกับคนจำนวนน้อยๆ บนยอดพีระมิด

“สถานการณ์ในพม่า ถ้ามีแค่ทหารผู้ยึดอำนาจอย่างนายพลมิน อ่อง หล่าย คนเดียว เขาจะทำรัฐประหาร ยิงชาวบ้านที่ออกมาประท้วงอย่างสันติเสียชีวิตหลายสิบคนสำเร็จเหรอ เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐตัวเล็กๆ นี่แหละช่วย

“ระบอบนาซีในเยอรมนีที่โคตรชาตินิยมจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติไปหกล้านคนได้อย่างไร ถ้ามีแค่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคพวกที่กระหายอำนาจไม่กี่คน

“คำสั่งหลายข้อมันผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเป็นผู้รักษาความเป็นอยู่ของประชาชนที่ซื่อตรงจริงๆ คุณจะไม่ตัดสินใจแบบนั้น ไม่เพียงแต่ละทิ้งความเป็นมืออาชีพของตัวเองแล้ว ยังละทิ้งความเป็นมนุษย์ไปด้วย”

กลัวเป็นอื่น…จึงทำ

การทดลอง Milgram Experiment คิดค้นโดย สแตนลีย์ มิลแกรม นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ที่รวบรวมอาสาสมัครมารับบทครูผู้อยู่ภายใต้สถาบัน ซึ่งมีโจทย์ว่าต้องลงโทษนักเรียน (ทีมงานของมิลแกรม) ทุกครั้งที่ตอบคำถามผิดด้วยการช็อตไฟฟ้า แน่นอนนักเรียนตั้งใจตอบผิดเพื่อดูพฤติกรรมครู และไม่ผิดคาดเหล่าครูทำการกดสวิตช์ไฟฟ้าท่ามกลางเสียงเจ็บปวดของนักเรียนโดยไม่สนใจอะไร เพียงเพราะมีความเป็นครูและสถาบันการศึกษาเป็นที่อ้างว่าทำตามหน้าที่ 

ในมุมของอาจารย์ประจักษ์เขาเห็นปรากฏการณ์นี้อย่างเด่นชัดว่า…มนุษย์กลัวแตกแถว กลัวแตกต่าง และกลัวเป็นอื่น วางตัวอยู่ในสถานะ ‘ลูกน้อง’ จนหลงลืมสถานะ ‘พลเมือง’ ของประเทศ ที่ควรไตร่ตรองให้ดีว่าสิ่งที่ทำ ดีสำหรับส่วนรวมไหม หรือสร้างความเสียหายอะไรต่อประเทศที่ยืนอยู่ 

“มนุษย์มีความอ่อนแอในตัวและไม่ได้เลวโดยสันดาน แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์บีบคั้น กดดัน บวกกับการถูกหลอมด้วยวัฒนธรรม ‘เหยียดคนด้วยกันเอง’ ที่ดำรงอยู่สืบเนื่องยาวนานจนไม่มีใครตั้งคำถาม ทำๆ ตามกันไป และเห็นสิ่งที่ผิดเป็นเรื่องปกติ ทำให้เราเห็นภาพเจ้าหน้าที่รัฐทุบตีผู้ชุมนุมและแพทย์อาสา โดยไม่ได้คำนึงว่ามันส่งผลดีต่อสังคมอย่างไร แต่รู้อยู่เต็มอกว่า เออ แบบนี้ ส่งผลดีต่อหน้าที่การงาน”

ค่านิยมแฝงที่โน้มน้าวให้มนุษย์ตัวเล็กๆ อยากอยู่บนโลกที่โหดร้ายต่อคือการเหยียดมนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้เห็นว่าคนที่ต่างจากพวกเป็นจุดด้อยหรือตัวประหลาด จะถูกกระทำอย่างไรก็ได้ กระทั่งเลวร้ายสุด…กับเหตุการณ์อุ้มหายผู้คิดต่าง เพื่อให้ไม่มีคนขั้วตรงข้ามอยู่เลย บ้านเมืองจะเจริญขึ้น เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไปในสังคมปกติที่ผิดแปลก

‘บางกลอย’ เป็นตัวอย่างการผลักกลุ่มคนให้เป็นอื่นอย่างเห็นได้ชัดในโมงยามนี้ ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการรุนแรง เผาบ้าน และไล่คนชาติพันธุ์ลงจากผืนป่าบ้านเกิด นอกจากนี้คนชาติพันธุ์ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการมีสัญชาติไทย เข้าถึงการศึกษา ขาดแคลนไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกรอบหมู่บ้าน

“สื่อกระแสหลักเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์แง่ลบต่อคนชาติพันธุ์ โดยการเรียกคนชาติพันธุ์ว่าคนต่างด้าว ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ควรมีสิทธิ์เท่าคนไทยแท้แบบที่จำกัดความกันไปเอง ทำให้คนบางกลุ่มคิดว่าจะทำอะไรกับเขาก็ไม่ผิด นำไปสู่มาตรการรุนแรงที่ให้ความชอบธรรมต่อการกระทำของตัวเองบนฐานของอคติ สามารถไปเผาบ้านเรือน บังคับเขา ขู่เขา จับเขาลงมาจากพื้นที่ โดยไม่ตั้งคำถาม เพราะเขาเป็นอื่น” อาจารย์ประจักษ์ว่า

‘ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้’ เป็นอีกปัญหาการไม่ยอมรับศาสนาที่แตกต่างของไทย เจ้าหน้าที่รัฐมองคนมุสลิมไม่ใช่ไทยแท้ จนพื้นที่เหล่านั้นถูกปกครองเสมือนโลกอีกใบซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มานาน 10 กว่าปี อีกทั้ง ‘การเหยียดคนจน’ เช่น มองคนในสลัมด้อยค่า สามารถไล่รื้อที่ได้ ไม่ให้เข้าถึงความเจริญ สิทธิขั้นพื้นฐาน การศึกษา แสงสว่างจากไฟฟ้า น้ำที่ใช้อาบ อากาศที่ดี และรัฐสวัสดิการต่างๆ…ไม่ต้องมีก็ได้ เพราะเขาไม่ควรลืมตาอ้าปาก

เจ้าหน้าที่ไม่ออกมาอยู่ข้างประชาชนเพราะกลัวเป็นอื่น?

“ใช่ การแบ่งแยกมันดำรงอยู่ด้วยอคติ เป็นเงื่อนไขสู่ความรุนแรง เมื่อไหร่ก็ตามที่มองคนอื่นต่ำกว่า ด้อยค่ากว่า ความยับยั้งชั่งใจในการใช้ความรุนแรงมันเป็นไปได้ง่ายขึ้น ยิ่งเป็นอาชีพที่มีระบบการบังคับบัญชาอย่างชัดเจน พวกเขาถูกปลูกฝังว่าเป็นอาชีพที่สูงส่ง ต้องทำตามระเบียบวินัย และคำสั่งทุกอย่างเข้มข้น ห้ามตั้งคำถาม ไม่มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผล ชั้นผู้น้อยอยู่ด้วยความกลัวที่จะสงสัยต่อความอยุติธรรม พอมีความคิดแบบนี้แล้วจึงไปขัดกับหน้าที่ดูแลประชาชนโดยไม่เห็นสิทธิมนุษยชน”

หน้าที่การงานกับความเป็นคน…ต้องเลือก

เมื่อการมี ‘ม็อบ’ กลายเป็น ‘สนามรบ’ สายตาเจ้าหน้าที่รัฐที่มองประชาชนจึงเปลี่ยนไป อาจารย์ประจักษ์เปรียบเทียบให้ฟังว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่มองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู และการลงถนนคือการต่อสู้ในเกม ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของเกมชีวิตนี้คือการปราบให้ราบคาบที่ต้องจบด้วยความรุนแรง

เหตุการณ์การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอจนเสียชีวิต จนเกิดการประท้วงเรียกร้องสิทธิมนุษยชนไปทั่วโลก นี่เป็นตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่คำนึงถึงความเป็นคนและบอกเป็นนัยๆ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ถูกปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนสักเท่าไหร่

“ประเทศเรามีการฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา โดยไม่มีการประกาศแจ้งก่อน อยากยิงก็ยิง อยากทำอะไรก็ทำ ซึ่งมันผิด มันชี้ได้เลยว่าเจ้าหน้าที่รัฐขาดการปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมฝูงชนต้องมีการติดตั้งซอฟต์แวร์พิเศษมากกว่าคนอื่น ควรมีความรู้เรื่องผังเมือง การจัดการพื้นที่ชุมนุม เพราะมันคือการดีลกับประชาชนไม่ได้ดีลกับโจร ต้องถูกฝึกมาว่ามาตรการควรเป็นแบบใด ต้องละมุนละม่อมอย่างไร ใช้จิตวิทยาอย่างไรกับเด็ก ถ้ากับผู้หญิงต้องปฏิบัติอย่างไร เอาตำรวจผู้หญิงมาใช้เป็นหลักเลยดีไหม มันควรมีการทำหลักสูตรเหล่านั้นขึ้นมา ไม่ใช่มองว่าเด็กพวกนี้ทำลายชาติ จะล้มล้างสถาบัน จับขังให้หมด อุ้มหายไปเลย แบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้น

“ประเด็นที่เจ้าหน้าที่รัฐควรรู้ คือประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง การใช้เสียงของประชาชนเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เพราะประชาชนเป็นผู้จ่ายภาษีให้พวกเขาทำงาน และเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำลายกรอบที่มองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องเลวร้าย ไม่มองว่าภาวะที่ดีงามคือทุกคนในสังคมต้องคิดเหมือนกันหมด มี 60 ล้านคนก็ต้องห้ามคิดต่าง

“ยกตัวอย่างวาทกรรมปรับทัศนคติหลังรัฐประหาร ซึ่งน่ากลัวมาก มันเป็นระบบที่เคยใช้ในระบอบนาซี เรียกว่า Attitude Adjustment ต่างชาติได้ยินเขาจะกลัวมาก เพราะเป็นประสบการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จเท่านั้นถึงจะใช้แบบนี้ ซึ่งมองประชาชนทุกคนต้องคิดเหมือนรัฐ ถ้าคิดต่าง คุณมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง แต่ในสังคมสมัยใหม่เราจะมีทัศนคติอย่างไรมันก็เรื่องของเรา”

ทุกถ้อยคำ และประโยคที่คุณอ่านมาตั้งแต่ต้น เดินทางมาสู่ ‘ทางเลือกทางศีลธรรม’ (Moral Choice) ซึ่งวาทกรรมนายสั่งมาเป็นสิ่งที่พราก Moral Choice จากเจ้าหน้าที่รัฐมานักต่อนัก เพราะรู้ว่าผิดแต่ยังทำ…ทำไมกันนะ

นิโคโล มาเคียเวลลี นักรัฐศาสตร์เจ้าของตำราเรื่อง The Prince เขียนประโยคในหนังสือของเขาไว้ว่า “คุณมีเครื่องมือสองอย่างในการปกครองคน คือทำให้คนรักหรือทำให้คนกลัว” ซึ่งอาจารย์ประจักษ์บอกว่า หลายครั้ง ‘ความกลัว’ มักเป็นปัจจัยส่วนใหญ่ที่รัฐเผด็จการหลายๆ ประเทศใช้ทำ เพราะมนุษย์มักเอาตัวรอดและกลัวตาย

“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา ชาวทุตซีที่เป็นคนกลุ่มน้อยถูกชาวฮูตูฆ่าตายราวหกแสนคน ซึ่งอาจไม่ใช่คนฮูตูทุกคนที่ลงมือด้วยความเต็มใจ เพราะโดนบังคับมา กลัวว่าถ้าไม่ฆ่า เขาเองก็จะโดนฆ่าแทน หรือโดนปลด ไล่ออก ทำให้เราเห็นภาพความรุนแรงที่ไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมโดยฝีมือฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่อยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจ”

ทว่าหลายครั้งการล่มสลายของระบบอำนาจนิยมกลับเกิดขึ้นได้เพราะฟันเฟืองตัวเล็กๆ นั่นแหละ เพราะในหลายประเทศ ประวัติศาสตร์เปลี่ยนได้ด้วยการที่เริ่มมี ‘คนกล้า’ ตัดสินใจไม่ยอมเป็นฟันเฟืองค้ำจุนระบอบนี้ไว้ และยอมเสี่ยง เดิมพันกับหน้าที่การงาน หรือชีวิต แม้รู้เต็มอกว่ามีราคาที่ต้องจ่ายในการเลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน

“ถ้าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยกล้าเลือกความถูกต้อง ระบบจะค่อยๆ ล้มลง จากนอตหนึ่งตัวที่หลุด กลายเป็นสอง สาม สี่ ห้า และสุดท้ายเมื่อไม่มีฐานให้ยึด คนบนยอดพีระมิดก็จะล้มลงทันที เมื่อนั้นจาก Moral Choice จะกลายเป็น Moral Courage หรือความกล้าหาญทางศีลธรรม ที่เป็นทางเลือกที่ถูกต้องในแบบฉบับความเป็นมนุษย์”

หลายประเทศเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐวางปืน เพราะเห็นความฉ้อโกง บิดเบี้ยว รุนแรง ฆ่าเยาวชน คนแก่ คนบริสุทธิ์ เพื่อรักษาอำนาจ ซึ่งพวกเขาไม่อยากทำลายความเป็นมนุษย์ของตัวเองอีกต่อไป

#WhatsHappeningInMyanmar ทำให้เห็นว่าคนพม่ากำลังต่อสู้เพื่อนำประชาธิปไตยกลับมาไม่ต่างจากไทย ภาพหนึ่งซึ่งทุกคนเห็นการใช้ความรุนแรงแบบโหดร้าย แน่นอนยังมีคนยอมทำตามเพราะความกลัว ทว่าอีกภาพ คือเจ้าหน้าที่รัฐวางปืน โล่ กระบอง แล้วหันมาช่วยผู้ชุมนุม แม้กระทั่งตัวแทนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (U.N. Security Council) และสถานทูตพม่า ยังออกมาสนับสนุนผู้ชุมนุม และเลิกทำตามคำสั่งของรัฐบาล

แต่สำหรับประเทศไทย ผู้คนยังไม่เห็นความกล้าหาญทางศีลธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ

ประชาธิปไตยเต็มใบ…ต้องช่วยกัน

ฉันถามอาจารย์ประจักษ์ในฐานะประชาชนคนหนึ่งว่าจะมีวันที่ประโยคนายสั่งมาหายไปจากการเมืองไทยไหม เขาตอบว่า ต้องหวังให้มันหายไปให้ได้ แม้ตอนนี้ยังไม่หาย แต่เขาเชื่อว่าต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่

“หน้าที่ของประชาชนคือต้องขับเคลื่อนต่อไปในการปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ลงหลักปักฐานมากขึ้น ถึงวันนั้นต่อให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่เปลี่ยน สังคมจะบีบให้ตำรวจเปลี่ยนเอง วันนั้นคนที่เข้าข้างความรุนแรงจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ชอบธรรมที่ดันทุรังฝืนกระแสสังคม

“ตอนนี้ประชาชนยังไม่เปลี่ยนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่เชื่อในเสียงของตัวเอง แต่ผมอยากจะบอกว่าทุกคนมีส่วนสำคัญในเชิงวัฒนธรรม เชิงความคิด ทั้งศิลปิน นักข่าว กวี นักเขียน นักวิชาการ นักแสดง ครู หรืออาชีพอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนมีบทบาทในการเปลี่ยนค่านิยมตรงนี้ หรือที่ตอนนี้คนในสังคมมักพูดกันว่า Call Out หรือ Speak Out จะช่วยให้คนเห็นคุณค่าคนเท่ากัน คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด หรือ Normalize การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะเป็นสิทธิ์อันชอบธรรม”

หนทางในวันข้างหน้า เมื่อคนในสังคมเปลี่ยนความคิดตัวเอง และช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมในสังคม วันนั้นรัฐธรรมนูญจากประชาชนจะลึกซึ้งกว่ารัฐธรรมนูญจากคนร่าง 20 คน

เจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้น้อยจะมีอำนาจต่อรองกับ ‘นาย’ เรื่องสิทธิ สวัสดิการที่ไม่ได้รับ รายได้น้อย หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบในองค์กร

ถ้าการเมืองดี ไม่เพียงแต่ประชาชนจะมีชีวิตดีขึ้น แต่ชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้น้อยก็จะดีขึ้นด้วย

ประโยค “นายสั่งมา” จะถึงวันหายไปเมื่อทุกคนมีความหวังและขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยเต็มใบ ฉันเชื่อ อาจารย์ประจักษ์เชื่อ แล้วคุณล่ะ พร้อมที่จะเชื่อหรือยัง

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.