นักเรียนจากรร. หลักสูตรวอลดอร์ฟ ฝึกงานตั้งแต่ม.4 - Urban Creature

“สวัสดีค่ะหนูมีเรื่องอยากจะสอบถาม หนูชื่อ ณิชา วงศ์วอนแสง (นิ) เรียนอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนไตรพัฒน์ หนูอยากจะมาฝึกงานกับ Urban Creature ไม่ทราบว่ารับไหมคะ” 

นี่คือครั้งแรกที่เราได้รู้จัก ณิชา น้องวัยมัธยมปลายผู้สดใสที่ทักมาขอฝึกงานที่นี่ ยอมรับว่าตอนเห็นข้อความผ่านอินบอกซ์เพจแอบตกใจเล็กน้อย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีน้องมัธยมปลายมาขอฝึกงานเลยสักครั้ง และเมื่อเปิดดูเรซูเม่ที่น้องนิส่งมา เราก็ได้คำตอบที่นึกสงสัยในใจ

ทำไมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ถึงเริ่มฝึกงานกันแล้ว ? เพราะ ‘โรงเรียนไตรพัฒน์’ ที่น้องนิเรียนนั้น เป็นโรงเรียนทางเลือก 2 ภาษาที่ใช้หลักสูตรวอลดอร์ฟจากประเทศเยอรมนี ซึ่งออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเด็กตามแต่ละช่วงวัย ทั้งยังเปิดให้เด็กนักเรียนได้เลือกเรียนวิชาที่ชอบด้วยตัวเอง และเปิดพื้นที่ให้เดินทางฝึกงานตามใจฝัน

เรียนด้วยมือหัวใจและสมอง 

น้องนิเล่าให้ฟังว่า เรียนที่โรงเรียนไตรพัฒน์มาตั้งแต่เนอสเซอรี่ ซึ่งที่โรงเรียนจะให้นักเรียนศึกษาผ่านหลัก 3 Hs ที่ประกอบไปด้วย มือ (Hand) หัวใจ (Heart) และสมอง (Head) พร้อมสร้างสมดุลระหว่างวิชาการกับทักษะชีวิต ศิลปะ และการฝึกฝน เพื่อให้เด็กๆ ได้ค้นหาความสามารถจากการลงมือทำ สัมผัสด้วยหัวใจ และคิด วิเคราะห์ผ่านการใช้สมอง 

โรงเรียนจะสอนให้เด็กไม่ต้องอ่านหนังสือเป็นเล่มๆแต่จะสอนให้โตตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น

น้องนิในวัยอนุบาลยังไม่ได้ฝึกเขียนและอ่าน แต่จะเน้นไปที่การทำงานศิลปะ เพื่อเสริมสร้างจินตนาการตามวัย พอขึ้นชั้นประถมฯ จะเป็นช่วงวัยของการฝึกอ่าน ฝึกเขียนตามขั้นตอน พร้อมเรียนวิชาสามัญ และวิชาเสริมทักษะต่างๆ โดยการนับชั้นปีของที่นี่จะเป็นประถมฯ 1-8 เพราะหลักสูตรของวอลดอร์ฟขั้นแรกจะใช้ระยะเวลายาว 8 ปีนั่นเอง

“รู้ไหมคะว่าหนูอ่านหนังสือได้คล่องตอน ป.3 คือคนนอกมองเข้ามาอาจไม่เข้าใจ แต่ที่หนูเรียนคือจะไล่ไปตามสเต็ป อย่างตอน ป.1 ก็เพิ่งเริ่มคัดพยัญชนะ หรือวาด form drawing ที่คุณครูจะให้สมุดมาเล่มหนึ่งแล้วมีโครงร่างให้วาดตาม ซึ่งจะให้ใช้สีเทียน เพราะไม่อยากให้สีไม้ไปบล็อกลายเส้น เพราะสีเทียนจะมีความโปร่งมากกว่า  พอ ป.2 หนูก็เริ่มเอาตัวอักษรมาเขียนผสมสระ แล้วครูก็จะให้เราเรียนรู้จากเรื่องเล่านิทานต่างๆ พอเข้า ป.3 เนื้อหาก็จะเพิ่มมากขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่หนูอ่านหนังสืออย่างจริงจังหลังจากฝึกอ่านมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมันก็ทำให้หนูอ่านหนังสืออย่างแตกฉานได้จริงๆ ค่ะ

“พอขึ้นชั้น ม.3 หนูย้ายไปอยู่ตึกมัธยม การเรียนก็จะเข้มข้นขึ้นค่ะ  ซึ่งเมื่อขึ้น ม.5 ทางโรงเรียนจะกำหนดให้เลือกวิชาหลัก 3 ตัว เริ่มตั้งแต่ช่วง 8.00-10.00 น. ของทุกวัน ซึ่งหนูเลือกเรียนวิชาออกแบบ ภาษาอังกฤษ และชีววิทยา แล้วเสริมด้วยวิชาย่อยที่เป็นวิชาสามัญเหมือนระบบการศึกษาไทยในแต่ละวัน เพราะอยากให้เด็กได้เรียนในวิชาที่เลือกไปเรื่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าถนัดและชอบวิชานั้นจริงๆ หรือเปล่า”

ไม่มีสอบเลื่อนชั้น ไม่จริงจังกับเกรด
เพราะอยากให้เด็กทำความเข้าใจมากกว่าโฟกัสกับอันดับ

“โรงเรียนหนูไม่มีสอบเลื่อนชั้นค่ะ แล้วก็แต่ละวิชาไม่มีสอบวัดผล” ประโยคที่ทำให้เรารู้สึกขอบคุณหลักสูตรแบบวอลดอร์ฟ เพราะที่ผ่านมามักได้ยินภาวะเด็กเครียดจากการสอบวัดผล หรือแข่งขันเรื่องเกรดกันจนกดดันไปหมด แต่ที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีการสอบ ยกเว้นการวัดผลเข้าใจบทเรียนในวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น 

“ส่วนใหญ่เป็นการสอบเพื่อเช็กความเข้าใจเฉยๆ ค่ะ ไม่ได้เป็นส่วนหลักในการตัดสินว่าคุณจะได้คะแนนเท่าไหร่ แต่เป็นการให้เราได้ทบทวนอีกครั้ง มีข้อสอบประมาณ 20 ข้อ ส่วนการให้คะแนนจะเน้นไปที่พฤติกรรมในห้อง การมีส่วนร่วม ดูจากผลงาน แต่จะไม่ได้เข้มงวดกับเกรดมากขนาดนั้น เพราะเขามองว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างวิชาวาดรูป เด็กทุกคนจะได้เกรด 4 หมดเลย เพราะครูเขามองว่า ความสวยของศิลปะมันวัดไม่ได้” 

ถ้าอย่างนั้นน้องนิคิดว่า จะมีผลตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเปล่า เพราะการสอบยุคนี้ต้องอิงเกรดและคะแนนเป็นหลัก ?

โรงเรียนเน้นอยู่เสมอว่า เราไม่ได้สอนเพื่อให้เด็กไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เราสอนให้นักเรียนเป็นคน และหากวันหนึ่งที่ไม่มีงานทำก็สามารถเอาทักษะที่ได้เรียนไปใช้เลี้ยงตัวเอง 

“รุ่นพี่ที่หนูเคยคุย เมื่อเขารู้ว่าอยากเข้าคณะไหน มหาวิทยาลัยอะไรก็จะไปติวเพิ่มเลยค่ะ คุณครูก็จะมีแนะนำที่ต่างๆ ช่วยหาคอร์สเรียนเพิ่มเติม หรือถ้าใครยังไม่รู้ก็เลือกที่จะใช้เวลาว่าง 1 ปีไปกับการ gap year เพื่อค้นหาตัวเอง อย่างหนูตอนแรกตั้งใจไว้ว่าถ้ายังไม่รู้ หรือยังสอบไม่ติด ก็จะใช้เวลาไปติวให้หนักขึ้น พร้อมกับการทำงานศิลปะที่ชอบค่ะ”

ทักษะชีวิต

นอกจากการเรียนที่ไล่ลำดับขั้นไปตามพัฒนาการของเด็ก โรงเรียนไตรพัฒน์ยังมีกิจกรรมทักษะต่างๆ ให้นักเรียนได้ฝึกฝนอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ร้อง รำ ทำเพลง ออกค่าย แต่สิ่งที่น้องนิเล่าให้ฟังแล้วเรารู้สึกประทับใจที่สุดคือ การแสดงยูริธมี (Eurythmy) การทำโปรเจกต์ชิ้นใหญ่ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และ ค่ายเรือใบ

ยูริธมี เป็นวิชาจินตลีลาที่ให้ร่ายรำค่ะ มีให้เรียนทุกปีกับครูญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กจนโต ซึ่งเป็นการทำท่าทางให้เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ เพื่อสื่อตัวตนของเด็กนักเรียน ซึ่งนักแสดงไม่ต้องพูดอะไร แต่จะมีท่าเต้นคอยสื่อความหมาย แล้วมีคนบรรยายค่ะ”

เมื่อขึ้นชั้นมัธยมฯ ปีที่ 2 การเรียนของน้องเริ่มเข้มข้นขึ้น ด้วยการให้เด็กๆ ลงมือทำโปรเจกต์อย่างลงลึกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะแบ่งเป็นภาคปฏิบัติ เขียนรายงาน และแสดงผลงานให้คนทั้งโรงเรียนได้ชม 

“หนูทำโปรเจกต์ Paper Cut Light and Shadow ค่ะ ซึ่งเป็นเทคนิคการตัดกระดาษให้เป็นเรื่องราว เพราะหนูสนใจเรื่องการตัดกระดาษก่อน เลยไปลงเรียนบ้าง เอาไปทำเล่นที่บ้านเป็นงานอดิเรก แรกๆ มันก็ไม่เวิร์กเลยค่ะ บุบๆ เบี้ยวๆ เพราะเป็นกระดาษ แต่พอตอนหลังคุณครูก็ค่อยๆ ฝึกว่า เราต้องคิดอย่างไร ลงมืออย่างไร ซึ่งตอนนั้นหนูเลยหยิบนิทานเรื่อง The Heart and the Bottle ของ โอลิเวอร์ เจฟเฟอรส์ มาเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบ peper cut ซึ่งก็เริ่มจากนั่งอ่านแล้วก็ออกแบบค่ะ มันทำให้เราได้ฝึกสมาธิมากเลยๆ” 

“ตอนนั้นคิดว่า 6 เดือนมันนานไปไหม แต่พอทำจริงเราปั่นแทบจะไม่ทัน หนูคิดกับตัวเองเลยว่า
แค่นี้เรายังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้เลย มันทำให้เราเริ่มคิดวิเคราะห์กับตัวเองได้มากขึ้น”

อีกหนึ่งทักษะชีวิตคือการไปออกค่ายในชั้น ม.3 ซึ่งทางโรงเรียนไตรพัฒน์เลือก ค่ายเรือใบเพื่อให้ไปฝึกชีวิตท่ามกลางท้องทะเล 

“ค่ายเรือใบ คือค่ายที่โรงเรียนพาไปเล่นเรือใบที่สัตหีบค่ะ เป็นการเล่นแบบหนึ่งเรือต่อหนึ่งคน เพราะโรงเรียนมองว่าช่วง ม.ต้น เป็นวัยเด็กเฮี้ยว พลังเยอะ หรืออาจคิดว่าตัวเองโตแล้ว ครูเลยอยากให้เราได้เรียนรู้ว่า เราก็ตัวเล็กนิดเดียว ซึ่งพอไปอยู่กลางทะเล หนูรู้เลยว่า เฮ้ย มันเคว้งนะ กลับมาแล้วเหมือนหมาหงอยเลยค่ะ (หัวเราะ)”

ประสบการณ์นอกห้องเรียน

“หลักสูตรวอลดอร์ฟจะกำหนดให้มีการฝึกงานช่วงมัธยมปลายค่ะ ซึ่งจะกำหนดเวลา 3 อาทิตย์ โดย ม.4 จะเป็นการฝึกงานใกล้ชิดธรรมชาติ ม.5 ฝึกงานกับองค์กร และ ม.6 ฝึกงานกับโรงเรียนต่างจังหวัด หรือโรงเรียนที่ขาดแคลน เพราะเมื่อเราได้รับอะไรมาหลายๆ อย่าง เราก็ต้องให้คืนกลับไปบ้าง โดยคุณครูมีเกณฑ์ 3 อย่างให้ไปสังเกตคือ คุณภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ (ความเป็นพี่เป็นน้อง) เพราะเชื่อว่าโครงสร้างเหล่านี้จะต้องมีอยู่ในทุกสังคม”

หลังพูดจบน้องนิยิ้มหนึ่งยิ้ม ก่อนเริ่มเล่าประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ทำให้เด็กอายุ 17 ได้เข้าใจรสชาติชีวิตอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน

“ตอน ม.4 หนูกับเพื่อนอีก 2 คนไปฝึกงานเกี่ยวกับการเกษตรที่ บ้านไร่ดินดีใจ จังหวัดอุทัยธานี เป็นฟาร์มออร์แกนิกปลูกพวกข้าว งา มะกรูด อัญชัญ เพื่อใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ค่ะ เช่น สบู่ โฟม ครีมทาผิว ซึ่งหนูไปนอนที่ฟาร์มเลยตลอดสามอาทิตย์ เพื่อจะเรียนรู้ธรรมชาติจริงๆ ค่ะ ซึ่งก็ต้องตื่นแต่เช้าไปเลี้ยงไก่กับห่าน แล้วก็จัดเวรไปเก็บไข่ หลังจากนั้นก็ต้องไปปล่อยไก่สลับกับหมา เพราะเขาให้หมาเฝ้าฟาร์มค่ะ ถ้าหมาออกมาก็ต้องเก็บไก่ เก็บห่าน ไม่งั้นจะกัดกัน (หัวเราะ) ซึ่งที่ฟาร์มไม่ได้มีน้ำ มีไฟครบ และต้องนอนมุ้ง คือช่วงแรกหนูรู้สึกว่า เราจะอยู่ได้ไหม เพราะยุงเยอะ มีแมลงที่กัดหนูซะจนบวมเป่งเลย แต่พออาทิตย์แรกผ่านไป หนูค่อยๆ ปรับตัว และได้เรียนรู้ว่า 

“มีแค่นี้เราก็อยู่ได้นะ ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรนอกเหนือไปกว่าความเรียบง่าย
 มีไฟบ้าง ไม่มีบ้างก็ไม่เป็นไร เราแค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้มีความสุข”

น้องเล่าต่อมาถึงการฝึกงานชั้น ม.5 ซึ่งก็คือการฝึกงานครั้งล่าสุดที่เลือกมาฝึกกับพวกเราชาว Urban Creature ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากเรียนจิตวิทยา 

“หนูอยากเรียนจิตวิทยาใช่ไหมคะ หนูเลยพยายามหา แต่ไม่มีที่ไหนรับเด็กมัธยมฯ เลย เพราะไม่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ แล้วมันเป็นเรื่องอ่อนไหว เลยลองหาแนวอื่น ซึ่งหนูชอบศิลปะ เลยชอบอ่านคอนเทนต์เหล่านี้ แล้วก็มาเจอ Urban Creature ค่ะ พอลองเข้ามาอ่านแล้วก็ค้นพบว่าน่าสนใจ เลยลองทักเมลมาว่ารับไหม พอตอบว่าให้ลองส่งพอร์ตมา แล้วก็ได้สัมภาษณ์ออนไลน์ค่ะ และก็ได้มาฝึกวิธีคิดวิธีเขียนคอนเทนต์”

คำตอบที่ว่า อยากเรียนจิตวิทยา สะกิดใจคนวัยทำงานอย่างเรา ว่าทำไมเด็กอายุ 17 ถึงรู้ตัวแล้วว่าตัวเองสนใจด้านจิตวิทยา จึงถามน้องกลับไปว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้นึกอยากเรียน

“ตอนแรกหนูอยากเป็นหมอผ่าตัด แต่ก็ลองคิดว่า เมื่อมีคนเจ็บมาเรามีหน้าที่รักษา เย็บแผล แต่นั่นเหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหลังจากที่โดนทำร้ายมาแล้ว แต่ถ้าเราเปลี่ยนไปเรียนจิตวิทยา เพื่อดูต้นเหตุของปัญหาว่าเกิดขึ้นจากอะไร หนูมองว่ามันดีกว่า เราจะได้เข้าใจ และไม่ต้องมารักษาที่ปลายเหตุ”

คำตอบของน้องทำให้เผลอร้องว้าวออกมาขณะคุยกัน เพราะความคิดที่น้องถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจชีวิต และการใส่ใจธรมชาติของมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ค่อนข้างหาได้ยากในสมัยนี้ 

กลับไปที่การฝึกงาน น้องบอกต่อว่าการมาฝึกที่นี่ด้วยเวลา 3 อาทิตย์อาจดูน้อยในสายตาผู้ใหญ่วัยทำงาน แต่สำหรับณิชานี่คือโลกใบใหม่ที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากว่าเดิม ทำให้เปิดหูเปิดตากับสิ่งใหม่ และได้รู้ว่า การทำงานแต่ละครั้ง ต้องคิดอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด 

คิดว่าได้ฝึกงานเร็วนั้นดีไหม ? “ดีมากค่ะ” น้องนิตอบ “การฝึกงาน หรือการได้เลือกเรียนบางวิชาด้วยตัวเอง มันทำให้เราเข้าใจและรู้เร็วขึ้นว่าอยากเป็นอะไร อยากเรียนอะไร เพราะเราได้ลองเรียนรู้มาแล้วบ้าง อย่างมีรุ่นพี่คนหนึ่งอยากเป็นสถาปนิก ก็ไปฝึกงานกับบริษัทสถาปนิกเลยค่ะ และเขาก็ได้รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ และนี่ไม่ใช่ชีวิตที่เขาต้องการเลย เหมือนเราได้คัดกรองก่อนหนึ่งสเต็ปเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย”

“หนูดีใจมากๆ ที่ได้ฝึกงานเร็วเพราะได้เห็นอะไรเร็วขึ้นได้เรียนรู้ว่าเราต้องปรับตัวยังไง”

โรงเรียนที่เข้าใจนักเรียน

เป็นปกติที่ทุกโรงเรียนจะมีกฎระเบียบให้ทำตาม แต่ในมุมของณิชา น้องมองว่าการมีกฎระเบียบเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่อยากให้โรงเรียนและคุณครูเข้าใจเด็กนักเรียนควบคู่ไปกับบริบททางสังคมไปด้วย

“หนูมองว่าโรงเรียนเป็นรากฐานที่สำคัญมากๆ เป็นจุดศูนย์รวมทุกสิ่ง โดยเฉพาะครู เพราะครูคือคนที่มองว่าอยากให้เด็กนักเรียนเป็นแบบไหน ว่าสุดท้ายแล้วอยากควบคุมเด็ก หรืออยากจะสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ อย่างโรงเรียนหนู ด้วยความที่คนน้อยมากๆ ต่อหนึ่งห้อง และมีห้องเดียวต่อหนึ่งชั้นปี อย่างตอนประถม คุณครูจะอยู่กับเด็กห้องเดิมนาน 8 ปี ทำให้รู้จักแบบรู้ไส้รู้พุงเด็กเลยค่ะ (หัวเราะ) ครูก็จะคุยกับพ่อแม่ และเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของเด็กได้เสมอ”

ครูจะไม่ใช่คนที่แค่เดินมาสอนแล้วเดินออกเมื่อหมดคาบ 
แต่เป็นเหมือน ‘เพื่อนสนิท’ ที่ถ้าทะเลาะกับพ่อแม่จะโทรหาครูเป็นคนแรก

“อีกอย่างเรื่องกฎระเบียบ ส่วนตัวหนูคิดว่าไม่ได้เสริมให้เด็กเรียนได้ดีขึ้นขนาดนั้นค่ะ หมายถึงมันไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก เพราะปัจจัยที่สำคัญกับการเรียนจริงๆ คือตัวเราเอง เราควรไปเรียนอย่างเปิดใจกว้าง อย่างที่โรงเรียนหนูจะสอนให้เรียนรู้และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

“อีกหนึ่งเรื่องที่หนูรู้สึกประทับใจ คือการสอนให้เข้าใจมากกว่าท่องจำ คือพ่อแม่เคยพาหนูไปลงเรียนซัมเมอร์ในโรงเรียนทั่วไปตอน ป.5 ค่ะ เพราะว่าอยากไปลองเรียน แล้วก็ค้นพบว่ามันต่างมากเลยค่ะ เขาให้เราท่องจำตามที่ครูพูด แล้วก็ให้เราพูดตาม ตอนนั้นหนูก็งงว่าทำไปทำไม เหมือนกับว่า ต้องขนาดนี้เลยเหรอ ซึ่งหนูมองว่า เด็กคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องรับข้อมูลเยอะ แม้จะมีประโยคที่ว่า บางทีเราต้องเรียนสิ่งที่เราไม่สนใจบ้าง แต่ถ้าเลือกได้ มันก็ไม่เปลืองความรู้สึกของเด็กนักเรียน ดังนั้นหากกลับกัน ถ้าเด็กได้เรียนอย่างเข้าใจจริงๆ คงจะดีกว่านะคะ เพื่อให้นำไปปรับใช้ได้ในวันข้างหน้า”

เด็กน้อยวัยใสทิ้งท้ายการพูดคุยด้วยสิ่งที่น้องได้เรียนรู้จากโรงเรียนไตรพัฒน์ ผ่านหลักสูตรวอลดอร์ฟ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ผู้ใหญ่อย่างเรายิ้มออกมาด้วยความชื่นชมในความคิดของนักเรียน ม.5 คนนี้

“เพราะว่าหนูเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เลยรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรให้โลกใบนี้มากขึ้น มากกว่าความคิดที่ว่าอยากจะรวย อยากเป็นเศรษฐี เพราะโรงเรียนสอนว่าเราไม่ต้องเป็นคนเก่งให้โลกจดจำก็ได้ แต่ให้เราเป็นเราที่รู้จักตัวเองแล้วให้สิ่งดีๆ กลับคืนสังคมเพื่อให้ตัวเองภูมิใจ”

การได้เลือกวิชาเฉพาะสำหรับเรียนอย่างลงลึกในรายวิชา ผสมผสานกับการทำกิจกรรมที่เป็นทักษะชีวิต และการฝึกงานตามที่ใจหวัง คือส่วนช่วยทำให้ณิชา เป็นณิชาอย่างทุกวันนี้ นั่นหมายถึงเป็นน้องที่น่ารักวัย 17 ปีที่เต็มไปด้วยความสดใส ความเข้าใจตัวเอง และความเข้าใจผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.