จอดรถบริเวณไหนผิดกฎหมายและเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง - Urban Creature

จอดรถผิดกฎหมาย

ปัญหาหนึ่งที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน โดยเฉพาะในตัวเมืองกรุงเทพฯ ต้องเจอบ่อยๆ คือการ ‘ไม่มีที่จอดรถ’ ไม่ว่าจะเป็นตอนไปกินข้าวตามร้านอาหาร ทำธุระ หรือแม้กระทั่งในซอยบริเวณบ้านของตนเองก็ตาม

ถ้าเป็นเส้นทางหลักที่มีแถบสีของฟุตพาท แดง เหลือง หรือดำ กำกับไว้ ก็คงไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากเท่าไหร่ แต่สำหรับพื้นที่ในตรอกซอกซอย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนจอดได้หรือไม่ได้บ้าง

คอลัมน์ Curiocity พาไปไขข้อข้องใจเรื่องนี้ ด้วยการเปิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจอดรถ ตั้งแต่จอดตรงไหนผิดกฎหมายบ้าง ถ้าบังเอิญจอดในพื้นที่ผิดกฎหมายจะต้องเจอกับอะไร และถ้าเราเป็นผู้เดือดร้อนจากกรณีดังกล่าวจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน

จอดตรงไหนผิดกฎหมายบ้าง

จอดรถผิดกฎหมาย

นอกจากการจอดยานพาหนะทางบกไว้ในพื้นที่ของตนเองที่มีรั้วรอบขอบชิด เพื่อความถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ตามกฎหมายผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถในทางสาธารณะหรือพื้นที่เอกชนโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากจะมีความผิดตาม ‘พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55’ ในหมวด 4 เรื่องการหยุดและจอดรถที่ว่าด้วยการมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถใน 7 กรณี ดังนี้

1) ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
2) บนทางเท้า
3) บนสะพานหรือในอุโมงค์
4) ในทางร่วมทางแยก
5) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
6) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
7) ในเขตปลอดภัย

พูดง่ายๆ ว่า ถึงแม้เราจะจอดรถในซอยหรือบริเวณหน้าบ้านตัวเองก็อาจผิดกฎหมายได้ หากมีลักษณะตรงตาม 7 กรณีที่กล่าวมาข้างต้น

หากผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทำอะไรกับรถได้บ้าง

จอดรถผิดกฎหมาย

‘เจ้าพนักงานจราจร’ และ ‘พนักงานเจ้าหน้าที่’ ถือเป็น 2 ผู้เล่นสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทเมื่อมีการหยุดและจอดรถแบบผิดกฎหมาย

ตาม ‘พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 59’ กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการสั่งให้ผู้ขับขี่เคลื่อนย้ายรถ อันเป็นการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ได้ทันที

และหากผู้ขับขี่ที่กระทำผิดไม่สามารถกระทำตามได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้มีอำนาจสามารถใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถ หรือ ‘ล็อกล้อ’ รถคันดังกล่าวได้ทันที โดยไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เว้นแต่ความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

ในกรณีนี้ เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่จำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้าย การใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้าย ตลอดจนค่าดูแลรักษารถระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามอัตราที่กฎกระทรวงกำหนดในอัตราค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยกว่าคันละ 500 บาท และค่าดูแลรักษาไม่น้อยกว่าวันละ 200 บาท

และในกรณีที่เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ไม่ชำระค่าใช้จ่ายและค่าดูแลรักษาตามที่ได้มีการกำหนดไว้ เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหน่วงรถไว้ได้จนกว่าจะมีการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยในระหว่างการยึดหน่วงรถ จะมีการคำนวณค่าดูแลรักษาเป็นรายวันเพิ่มจนครบกำหนดสูงสุด 3 เดือน และมีอำนาจนำรถนั้นออกขายทอดตลาดได้หากเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ไม่นำเงินมาไถ่ถอนคืน

หากได้รับผลกระทบจะทำอะไรได้บ้าง

จอดรถผิดกฎหมาย

เรามักเห็นข่าวการทะเลาะวิวาทที่เกิดจากการจอดรถผิดกฎหมาย จนก่อให้เกิดความรำคาญใจต่อผู้ใช้ถนนหนทางอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจอดรถไม่ปลดเบรกมือบริเวณพื้นที่ชุมชน การจอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้าน หรือกรณีของ ‘ป้าทุบรถ’ ที่เกิดจากการมีรถกระบะจอดขวางบริเวณหน้าบ้าน

ในกรณีประเภทนี้ ไม่ใช่ว่าผู้เสียหายจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะในกฎหมายอาญา รวมไปถึงแพ่งและพาณิชย์ ยังให้ความคุ้มครองผู้เดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

เพราะหากการจอดรถบนทางสาธารณะ ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ทำให้ผู้อื่นรู้สึกเดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากไม่สามารถสัญจรหรือถอยรถเข้า-ออกได้อย่างสะดวกนั้น ถือว่าผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถมีความผิดใน ‘ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397’ ว่าด้วยการกระทำการต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำการให้เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

นอกจากนี้ ผู้เดือดร้อนยังสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายละเมิดในทางแพ่งได้ ตาม ‘ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420’ และหากเกิดเหตุจำเป็นฉุกเฉิน ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐได้ ก็สามารถทำการเคลื่อนย้ายรถด้วยกําลังโดยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ถึงแม้จะเป็นการทำให้ทรัพย์นั้นบุบสลายหรือทำลายทรัพย์ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ ตาม ‘ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 450’ ได้ทันทีอีกด้วย


Sources :
ทนายแมน | t.ly/aTox
ธรรมนิติ | t.ly/sz_qT
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 | t.ly/8UChW
สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเพชรบุรี | t.ly/PJ2A

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.