Parity สตาร์ทอัปที่ดำเนินการแบบองค์กรไม่แสวงหากำไร กำลังปรับปรุงบ้านร้างในเมืองบัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะนำมาขายต่อให้กับคนท้องถิ่นในราคาที่เหมาะสม เพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละชุมชนสามารถฟื้นฟูได้ โดยไม่จำเป็นต้องขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิมออกไป
ในโลกของธุรกิจวิธีหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแดนลุงแซม คือการเข้าไปซื้อบ้านร้างในชุมชนของผู้มีรายได้น้อย และรีโนเวตเพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเพราะการทำแบบนี้สามารถดึงดูดธุรกิจต่างๆ ให้เข้ามาในชุมชน ลดอัตราการเกิดอาชญากรรมในท้องถิ่น และเพิ่มมูลค่าให้กับบ้านในละแวกนั้น ซึ่งฟังดูก็น่าจะเป็นประโยชน์กับคนท้องที่ เพราะสิ่งที่นักธุรกิจซื้อก็เป็นบ้านร้างอยู่แล้ว ไม่ได้ไปไล่ที่ผู้อยู่อาศัยเดิมเพื่อนำมาขายต่อแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งธุรกิจนี้ก็เป็นการแยกสังคมออกเป็นสองส่วนโดยสิ้นเชิงระหว่างผู้อยู่อาศัยหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่ง Freethink บอกว่ามันนำไปสู่การย้ายออกของผู้อยู่อาศัยเดิมด้วย
“เราอยากทำให้มั่นใจว่าคนท้องถิ่นจะสามารถอยู่ในชุมชนนี้ได้นานเท่าที่พวกเขาต้องการ” Bree Jones ผู้ก่อตั้ง Parity บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกที่ชื่อแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าความเท่าเทียม บอกว่าตอนอาศัยอยู่ในนิวยอร์กเธอเห็นนักธุรกิจเข้ามาสร้างอะพาร์ตเมนต์สุดหรูท่ามกลางชุมชนและเริ่มเกิดการแบ่งแยกขึ้น ซึ่งโจนส์เคยพยายามโน้มน้าวให้บริษัทเพิ่มที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงเข้าไปในชุมชนบ้าง เพื่อให้เข้าถึงทุกคนได้มากกว่านี้ แต่สิ่งนั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้เธอตัดสินใจเปิดบริษัทเพื่อลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเอง
หลังจากดูทำเลที่มีศักยภาพหลายแห่งในสหรัฐฯ โจนส์ตัดสินใจว่าย่านฮาร์เล็ม พาร์ค ของบัลติมอร์ เหมาะสมที่สุดในการเริ่มต้นของ Parity เพราะมีบ้านร้างหลายพันหลัง และในช่วงไม่กี่ปีนี้บัลติมอร์ใช้เงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในการรื้อบ้านเก่าเหล่านี้
Parity เริ่มต้นด้วยการฟื้นฟูบ้านเก่าจำนวน 10 หลัง โดยอาศัยเงินระดมทุนจากโครงการการกุศล และการบริจาค ใช้เงินส่วนนี้ในการลดต้นทุนการปรับปรุงบ้าน ทำให้สามารถขายต่อในราคาที่ถูกลงมาได้ ซึ่งตอนนี้บ้านในบัลติมอร์กำลังขายให้ชาวเมืองผู้ที่มีรายได้ต่อปีระหว่าง 40,000 – 60,000 ดอลลาร์ (รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของบัลติมอร์ในปี 2018 อยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์) ซึ่งคาดว่าผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกจะสามารถย้ายเข้าไปในต้นปีหน้า และตอนนี้มีผู้ลงชื่อรอซื้อบ้านกับ Parity แล้วกว่า 100 ราย
Ako-Akeem Boyd วิศวกรซอฟต์แวร์ผู้ซื้อบ้านกับ Parity ในราคาไม่ถึง 200,000 ดอลลาร์ บอกว่าถึงตอนนี้บ้านของเขาจะมีหน้าตาคล้ายกับเศษอิฐเศษปูน แต่ก็สามารถจินตนาการได้เลยว่าบ้านที่ออกมาจะหน้าตาเป็นอย่างไร เขายังบอกอีกว่าบ้านในโครงการนี้จะเป็นแสงแห่งความหวังของย่านนี้อีกด้วย
หากโครงการทั้งหมดนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี โจนส์หวังว่าจะสามารถขยายขอบเขตของ Parity ไปยังเมืองอื่นๆ ที่มีบ้านให้พัฒนาอีกมาก เช่น ดีทรอยต์ ที่รัฐบาลเดินหน้าทำลายบ้านร้างถึง 3,000 แห่งต่อปี แต่ในปี 2020 ก็ยังมีรายงานว่ามีบ้านร้างตั้งอยู่ในเมืองนี้กว่า 22,000 หลัง