รู้หรือไม่ว่า ‘พนัสนิคม’ ตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เคยติดอันดับ 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลกที่มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมืองดีใน พ.ศ. 2553 จากการคัดเลือกขององค์กรอนามัยโลก (WHO) และคว้าตำแหน่งเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนของประเทศใน พ.ศ. 2555 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันนี้เราได้มีโอกาสได้คุยกับนายกเทศบาลเมืองพนัสนิคม ‘นายวิจัย อัมราลิขิต’ ว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ทำอย่างไรถึงได้มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับรางวัลระดับโลก ว่าพวกเขาจะมีวิธีจัดการอย่างไร ลองไปติดตามกันดูเลยดีกว่า
| รู้จัก ‘ตำบลพนัสนิคม’ เมืองเล็กในจังหวัดใหญ่
‘เมืองพนัสนิคม’ คือตำบลเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอพนัสนิคม อยู่กระเถิบออกมาจากตัวเมืองชลบุรีไม่ไกลมากนัก ด้านบนติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ 2.76 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณสวนลุมพินีจำนวน 6 แห่งเรียงต่อกัน เป็นชุมชนที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังเล็กๆ สลับกับไร่สวน มีชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 10,000 กว่าคน
‘ตำบลพนัสนิคม’ เป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบ ‘เทศบาลเมือง’ เนื่องจากตำบลพนัสนิคมเป็นเมืองขนาดกลางที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของราชการ เทียบเท่าเมืองหลวงของอำเภอ จึงเรียกการปกครองว่า ‘เทศบาลเมืองพนัสนิคม’
| จุดเริ่มต้นการพัฒนา เปลี่ยนโฉม ‘เมืองทางผ่าน’
“ไม่อยากเป็นแค่เมืองทางผ่าน แต่อยากให้ทุกคนรู้จัก และประทับใจที่เข้ามาในพนัสนิคม”
จุดเริ่มต้นมาจากแนวความคิดของนายกเทศมนตรี ‘คุณวิจัย อัมราลิขิต’ ที่เติบโตมากับเมืองพนัสนิคมตั้งแต่เด็ก และต้องการที่จะพัฒนาบ้านเกิดของตนเองให้ดีขึ้น คุณวิจัยมีดีกรีการศึกษาไม่ธรรมดาจบปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Akron รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจบมาอยู่เมืองไทยได้มานานก็ได้รับคำชวนให้เข้าทีมทำงานเพื่อบ้านเมือง ด้วยทักษะการใช้ภาษาและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่น ทำให้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกเทศมนตรีจนถึงทุกวันนี้
| เมืองน่าอยู่ยั่งยืน เก็บสีเขียวให้มาก ทิ้งขยะให้น้อย
ใน พ.ศ. 2555 เมืองพนัสนิคมได้รับเลือกให้เป็น ‘เทศบาลน่าอยู่ยั่งยืนระดับประเทศ’ ถ้วยสมเด็จพระเทพฯ จากรางวัลนี้ทำให้เมืองพนัสนิคมเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตำบลใกล้เคียงก็สนใจอยากมาศึกษา กระตุ้นการค้าขายในท้องถิ่นให้คึกคักกว่าที่เป็นอยู่
จุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน คือ ‘ต้นไม้’ ที่ช่วยทั้งลดมลพิษในเมือง และสร้างบรรยากาศร่มรื่นให้แก่คนเมือง ต้นไม้ใหญ่ทุกต้นจะถูกขึ้นทะเบียนเพื่อให้รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ การเก็บข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คนตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น อย่างสมัยก่อนพนัสนิคมมีสวนสาธารณะเพียงแห่งเดียว แต่ตอนนี้มีจำนวนเพิ่มมากถึง 14 แห่ง ตรงตามมาตรฐานสากลที่กำหนดให้เมืองควรมีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า 10 ตารางเมตร/คน โดยเช่าหรือซื้อพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้งาน มาเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะแก่ชุมชน อย่างสวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ที่มีพื้นที่กว่า 24 ไร่ กลายเป็นปอดของเมืองพนัสนิคม
นอกจากจะเติมสีเขียวในพื้นที่แล้ว สิ่งที่ควรลดคือ ‘ขยะ’ ซึ่งแต่ก่อนพนัสนิคมเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับมลพิษขยะในชุมชนที่มากถึง 25 ตัน/วัน หรือประมาณ 25,000 กิโลกรัม/วัน ทั้งที่มีคนในพื้นที่แค่ 11,000 คน ซึ่งตามความเป็นจริงปริมาณขยะควรมีไม่เกิน 15,000 กิโลกรัม/วัน หนึ่งในสาเหตุหลักคือ มีชาวบ้านจากพื้นที่อื่นนำมาทิ้งเนื่องจากถังขยะในเมืองพนัสนิคมจุได้ถึง 200 ลิตร และมีวางไว้บนทางเท้าทุก 100 เมตร
เมื่อรู้ถึงสาเหตุของปัญหาแล้ว คุณวิจัยจึงสั่งลุยลดขยะอย่างจริงจัง โดยปรับขนาดถังขยะลดเหลือ 20 ลิตร และแบ่งตามสีออกเป็น 3 ใบเพื่อคัดแยกขยะ พร้อมกำหนดเวลาเก็บขยะภายในชุมชน ทำให้ทุกคนต้องตื่นตัวในการคัดแยกขยะ หากใครไม่ทำตามกฎ รถขยะก็จะไม่เก็บที่บ้านหลังนั้น ส่งผลให้ปริมาณขยะจาก 25,000 กิโลกรัม/วัน ปัจจุบันเหลือเพียง 15,000 กิโลกรัม/วัน และอนาคตตั้งเป้าจะลดให้เหลือ 10,000 กิโลกรัม/วัน
นอกจากนี้คุณวิจัยยังมอบซาเล้งกับคนที่ไม่มีงาน สำหรับไปรับซื้อขยะรีไซเคิล อย่างกระดาษ หรือขวดพลาสติก เพื่อสร้างรายได้เสริมจากการขายขยะอีกด้วย ขณะเดียวกันจำนวนขยะก็ลดลง จากเดิมบ่อทิ้งขยะกินพื้นที่กว่า 10 ไร่ และแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นสวนผักแทน
อีกหนึ่งสิ่งที่ส่งเสริมให้คนเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือการสร้างอาชีพที่คนในชุมชนถนัดอย่าง ‘เครื่องจักรสาน’ ที่เป็นส่วนหนึ่งในงานประเพณี ‘บุญกลางบ้าน พนัสนิคม’ ที่มีชื่อเสียงในภาคตะวันออก ซึ่งงานนี้จัดขึ้นโดยคนในชุมชนต่อเนื่องกันมาหลายปี และสามารถกระจายสินค้าให้กับชุมชนรอบข้าง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลผลิตการเกษตร และผลิตภัณฑ์สุขภาพจากขยะอินทรีย์
| เราสัญญาจะไม่หยุด เพื่อความสุขของคนเมือง
นอกจากนี้คุณวิจัยยังตั้งเป้าหมายให้พนัสนิคมเป็น ‘แหล่งอาหาร’ และ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง รวมทั้งเตรียมตัวให้พร้อมต่อการมาของ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแผนพัฒนา 4.0 ภายใต้รัฐบาลนี้
เนื่องจากการปลูกผักสวนครัวและมีการทำฟาร์มสัตว์ เช่น หมู เป็ด และไก่ ทำให้ตำบลพนัสนิคมได้วัตถุดิบในราคาไม่แพง แล้วยังมีคุณภาพสดใหม่ จึงพยายามผลักดันเป็น ‘เมืองอาหาร’ ของอำเภอที่จะส่งเสริมทั้งคนในและนอกพื้นที่มีพื้นที่ทำมาหากินร่วมกันได้
อีกโปรเจกต์ที่น่าสนใจ คือ ‘สังคมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี’ ปัจจุบันในเมืองมีคนสูงวัยประมาณ 22% และในอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นอีก หากพูดถึงมุมมองการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เช่น สามารถเดินเล่นออกกำลังกายที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน ซึ่งมีการออกแบบเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มวัย (Universal Design) ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงภายใน พ.ศ. 2565
| กุญแจสำคัญของการพัฒนาคือ ‘คน’
กุญแจสำคัญที่ทำให้พนัสนิคมเป็นเมืองน่าอยู่ระดับประเทศ เริ่มจาก ‘ชาวบ้าน’ ที่เชื่อว่าหากทุกคนร่วมใจกันทำอะไรแล้ว ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินฝัน
ทุกขั้นตอนการทำงาน ชาวบ้านล้วนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเข้าถึงเจ้าหน้าที่ได้ง่าย โดยใช้หลักการกระจายอำนาจ ซึ่งดูแลผ่านคณะกรรมการบริหารชุมชนที่ทุกคนเป็นผู้เลือกทั้งหมด ถึงแม้ว่าตอนแรกจะเป็นเรื่องยากที่ทำให้หลายคนร่วมมือกัน แต่ถ้าเราสร้างความเข้าใจตรงกัน รู้จุดแข็งจุดอ่อนในการพัฒนา จะทำให้ทุกคนมองภาพเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน
สิ่งที่เห็นได้ชัดใน พ.ศ. 2531 เมืองพนัสนิคมส่งเข้าประกวด ‘รักษาความสะอาดและระเบียบเรียบร้อยของเมือง’ ขณะนั้นได้รับเพียงแค่รางวัลชมเชย ถัดมาในปี พ.ศ. 2532 – 2534 เขยิบเป็นชนะเลิศ 3 สมัยซ้อนและได้รับโล่พระราชทานจากรัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นก็ส่งเข้าแข่งขันอยู่เรื่อยๆ และได้รางวัลที่น่ายินดีทุกครั้ง ทำให้ทุกคนในท้องถิ่นรู้สึกภูมิใจ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จึงร่วมกันดูแลรักษาเป็นหูเป็นตา พัฒนาเมืองที่ตัวเองอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เคย
กว่าเมืองพนัสนคมจะเป็นที่รู้จัก และได้รับรางวัลมากมายต้องใช้เวลาหลายสิบปีถึงมีทุกวันนี้ได้ สิ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ คือ ‘ความตั้งใจ’ และ ‘การร่วมมือร่วมใจ’ ของคนในชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่เสียแรงเปล่า
หากถามว่า ‘เมืองน่าอยู่ในมุมมองของคุณวิจัยมีอะไรบ้าง ?’ หลักๆ ที่ควรมีอยู่ 4 ข้อ
1. เมืองอยู่ดี มีความปลอดภัย ทำมาหากินเลี้ยงอาชีพได้ และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกชนชั้น
2. คนมีสุข นอกจากคนในเมืองจะอยู่ดีแล้ว สุขภาพก็ต้องดีตามมาด้วย
3. เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน มีระบบจัดการบริหารที่ดี เช่น ขยะ บำบัดน้ำเสีย หรืออากาศ
4. สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย ทั้งระบบน้ำประปา ไฟฟ้า หรือสถานที่พักผ่อน เช่น ห้องสมุด หอประชุม หรือสวนสาธารณะ
ย้อนไปในสมัยก่อน คุณวิจัยเคยคิดว่า ‘ทำอย่างไรถึงจะให้คนรู้จักเมืองนี้’ มาถึงวันนี้เชื่อว่าเมืองพนัสนิคมได้มาไกลเกินคำว่ารู้จักแค่ชื่อแล้ว เพราะเป็นเมืองที่มีคุณภาพครบทุกด้าน และยังเป็นต้นแบบการพัฒนาเทศบาลเมืองอย่างยั่งยืนให้กับเมืองอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นตัวอย่างด้วย
Story & Photo By : นายกเทศบาลเมืองพนัสนิคม นายวิจัย อัมราลิขิต
Writer : Jarujan L.
Graphic Designer : Sasicha H.
SOURCE :
https:// voicetv.co.th/read/KD8B5y5Ii