หลังจากที่กรุงเทพฯ มีเทศกาลงานออกแบบ (Bangkok Design Week) กันมาหลายต่อหลายครั้ง คราวนี้มาถึงคิวของปักษ์ใต้บ้านเราบ้างแล้ว กับงาน ‘Pakk Taii Design Week 2023’ ที่จัดปีนี้เป็นครั้งแรกภายใต้ธีม ‘The Next Spring หลบเริน แล้วผลิบาน’ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เจ้าเดิม
งานนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการสร้าง ‘ฤดูกาลแห่งความหวัง’ และความเป็นไปได้ครั้งใหม่ ผ่านการชักชวนชาวใต้ให้เดินทางกลับบ้าน เพื่อมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำให้ปักษ์ใต้เป็นเมืองน่าอยู่ ส่งต่อคุณค่าที่เคยเบ่งบานสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์
Pakk Taii Design Week 2023 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ตรัง และปัตตานี กับ 79 โปรแกรม 66 โชว์ และ 57 กิจกรรมสร้างสรรค์ ใน 39 พื้นที่จัดงาน และร้านค้ากว่า 120 ร้านจากฝีมือนักสร้างสรรค์ ดีไซเนอร์ และผู้คนชาวใต้กว่า 206 ชีวิต โดยมีกิจกรรมในย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นแกนหลัก
เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจก่อนไปเดินงาน Urban Creature ได้ไปเดินสำรวจ พร้อมลิสต์สถานที่น่าสนใจมาฝากทุกคนกัน เผื่อจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินไปปักษ์ใต้ในโค้งสุดท้าย เพราะงานนี้จัดถึงวันที่ 20 สิงหาคม
Chinese Spring – Bloom, Home, Spirit
เอ.อี.วาย.สเปซ / บ้านเก้าห้อง / สมาคมฮกเกี้ยน
เริ่มประเดิมอีเวนต์แรกกับนิทรรศการกลุ่ม ‘Chinese Spring’ ที่จะพาทุกคนสำรวจเรื่องเล่าขานของคนจีน 5 เหล่าในเมืองสงขลา ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนศิลปะ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของภูมิภาค
นิทรรศการแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 3 สถานที่ โดยแต่ละที่จะมีรูปแบบและเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
1) Chinese Spring – Bloom by PAISIT WANGRUNGSEESATHIT
ภาพยนตร์สารคดีสั้นๆ บอกเล่าเรื่องราวการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในไทยของชาวจีนโพ้นทะเลจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสำรวจการก้าวผ่านมรสุมและปัญหาที่ท้าทาย มาจนถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในเรื่องเจเนอเรชัน เพื่อเรียนรู้ระหว่างกันและเดินหน้าไปสู่อนาคต จัดแสดงที่ ‘เอ.อี.วาย.สเปซ’
2) Chinese Spring – Home ฟ้า, ดิน, ถิ่น, บ้าน การเดินทางในระหว่างกลาง by NAKROB MOONMANAS
นิทรรศการว่าด้วยการเดินทางและการลงหลักปักฐานของชาวจีน 5 เหล่า อันเป็นกลุ่มชนที่ขับเคลื่อนทั้งศิลปะ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของภูมิภาคที่บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก ผ่านมุมมองจากภาพถ่ายเก่าในเมืองสงขลาที่รวบรวมโดยชาวสงขลา และจัดแสดงผ่านสายตาคนนอกพื้นที่อย่าง ‘นักรบ มูลมานัส’
3) Chinese Spring – Spirit จิตวิญญาณ ‘จีน’ ที่ไม่เคยจางหาย by SOUL SOUTH STUDIO
นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของจีน 5 เหล่าด้วยประวัติศาสตร์ในสงขลา ที่พวกเขาได้เริ่มต้นกิจการ สร้างธุรกิจขึ้นในเมือง ใช้ชีวิต แต่งงานสืบทอดลูกหลาน และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับคนสงขลาอย่างแยกไม่ออก ฝังรากลึกมาตลอดหลายร้อยปี ท่ามกลางความหลากหลายของคนจีนต่างกลุ่มภาษา ต่างวัฒนธรรม ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
นิทรรศการรีบอร์น-บอร์นเฮีย เปอรานากัน
บ้านเขียนเจริญ
นิทรรศการ ‘รีบอร์น-บอร์นเฮีย เปอรานากัน’ เกิดจากการรวมตัวกันของดีไซเนอร์และนักออกแบบอย่าง SOUTHSON, ONE.DD, VERYWHERE และ NIMINTRA MINTRASAK ที่นำเอาคำว่า ‘เปอรานากัน’ ซึ่งแปลว่า ‘เกิดที่นี่’ มาเล่าเรื่องใหม่ผ่านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และงานออกแบบกราฟิก เพื่อนำเสนอมิติใหม่ของความเป็นเปอรานากันในยุคปัจจุบัน
งานนี้จัดแสดงในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ในห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นชุดโซฟา เก้าอี้ โต๊ะกินข้าว โคมไฟ ผ้าม่าน พรม ผ่านการออกแบบทั้งหมด 3 เซต ได้แก่ เศรษฐี สมบูรณ์ และสำราญ โดยแต่ละส่วนใช้สีสันและได้แรงบันดาลใจจากสัตว์และผลไม้มงคลในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เพื่อนำพาทุกคนเข้าสู่การตีความ ‘การเกิดที่นี่’ ของรากวัฒนธรรมเปอรานากันในมุมมองใหม่ สีสันสดใสแบบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
Open House
ซาน สงขลา / ร้านหนังสือดอทบี
สำหรับ Open House เราอยากต้อนรับสู่ใต้ด้วยการพาทุกคนไปยัง 2 จุดหมายที่นำเอากลิ่นอายปักษ์ใต้มาใช้สร้างสรรค์ธุรกิจในแบบของตนเองได้อย่างลงตัว
ที่แรกคือ ‘ซาน สงขลา’ (San.Songkhla) เป็นร้านเครื่องหอมในสงขลาย่านเมืองเก่าที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเพื่อน 3 คน ภายในร้านประกอบไปด้วยกลิ่นหอม 3 กลิ่น ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นสงขลา ได้แก่ ‘Soul Sumpannee’ จากขนมสำปันนี ‘Samila Lush’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากป่าสนเขียวครึ้ม และ ‘Nora Shadow’ กลิ่นความเร้นลับของโนราที่ทรงพลัง
สำหรับความพิเศษภายในงานนี้ ทางร้านได้ตกแต่งร้านด้วยงานประติมากรรมถักทอที่แขวนจากเพดานบริเวณชั้น 1 ต่อเนื่องไปยังชั้น 2 ผู้ชมจะได้รับชมวิดีโออธิบายขั้นตอนการสร้างงานศิลปะ รวมถึงเรื่องราวความสำคัญของ ‘ขนมต้ม’ ไปพร้อมๆ กัน
เดินต่อมาอีกหน่อยจะพบกับ ‘ร้านหนังสือดอทบี’ (dot.b) ร้านหนังสืออิสระคู่ใจของชาวเมืองเก่าที่เปิดให้บริการยันเที่ยงคืน โดยมีพนักงานประจำเป็นน้องแมวสุดแสนน่ารักคอยให้บริการ
ทางร้านได้มีการจัดกิจกรรม ‘คั่นคำถาม’ ที่หากนักอ่านคนใดสนใจประโยคคำถามจากที่คั่นหนังสือชิ้นไหน ก็หยิบชิ้นนั้นมาเขียนคำตอบ เพื่อแบ่งปันเรื่องราวของคุณกับนักอ่านคนอื่นๆ และใช้เป็นส่วนลด 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับค่าหนังสือได้ และบริเวณชั้น 2 ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงโปสเตอร์หนังไทยในอดีต ที่เก็บสะสมโดย ‘ฟิลิป จาบลอน’ นักล่าโรงหนังเก่าทั่วไทยมานานกว่า 10 ปีอีกด้วย
Long Table Food Fest
ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ / ตึกสงครามโลก
เมื่อเดินดูกิจกรรมกันจนจุใจแล้ว เราอยากชวนทุกคนแวะพักทานอาหารกันที่กิจกรรม ‘Long Table Food Fest’ บริเวณท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายออกมาจาก ‘ตลาดสร้างสรรค์’ ที่รวบรวมร้านอาหารต่างๆ ในเมืองปักษ์ใต้เอาไว้บริเวณตึกสงครามโลก
ที่นี่เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ทดลองสร้างสรรค์เมนูโดยไม่ต้องกลัวผิดพลาด ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไม่มีชนชั้น’ ในรูปแบบ Fine Dining ด้วยการจับคู่เมนูแบบที่ไม่มีใครเคยคาดคิด พร้อมเสิร์ฟบนโต๊ะยาวที่สื่อสารถึงความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
ภายใต้แพลตฟอร์มเชิงทดลองนี้ ทุกคนจะได้พบกับ 25 เมนูใหม่ที่รังสรรค์โดยผู้ที่ชื่นชอบในการปรุง และ 6 ศิลปินที่มาร่วมดีไซน์คอร์สอาหาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 คอร์สยึดโยงกับคำขวัญจังหวัดสงขลา 5 ประโยคที่ถูกตีความใหม่เพื่อเล่าเรื่องผ่านความอร่อยตลอด 2 วันสุดสัปดาห์ โดยมีโต๊ะกลางแบบ Long Table เป็นเหมือนศูนย์รวมของการนั่งชิม พูดคุย และแบ่งปันแลกเปลี่ยนทุกเรื่องราว
Young SPRING ยังผลิบาน
หอศิลป์สงขลา 2
สำหรับสายศิลปวัฒนธรรมต้องห้ามพลาดกับการแสดง ‘Young SPRING ยังผลิบาน’ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของครูโนรา ‘ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์’ และศิลปินละครหุ่นเงา ‘ต้อม-สุธารัตน์ สินนอง’ (Homemade Puppet) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในวัยเยาว์ ความทรงจำ และความประทับใจ ซึ่งส่งผลถึงความคิดและความเชื่ออันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกวันนี้
สองศิลปินได้หยิบยกเรื่องราวจากส่วนเสี้ยวของชีวิต ตั้งแต่บทเพลงกล่อมเด็กของแม่ นิทานของพ่อ ตำนานของท้องถิ่น การร่ายรำและสายน้ำ ช่วงเวลาแห่งอาทิตย์อัสดง และท่วงทำนองของความทรงจำ มาบอกเล่าผ่านการรำโนราผสมผสานกับการแสดงแสงและเงา
บอกได้คำเดียวว่าอยากให้ทุกคนมาเห็นการแสดงนี้ด้วยตาตัวเองสักครั้ง แล้วจะเรียกว่ามาถึงเทศกาลออกแบบปักษ์ใต้อย่างแท้จริง
‘NEXT SPRING’ THE DILOGY
ร้านฮับเซ่ง / บ้านเก้าห้อง
‘NEXT SPRING’ THE DILOGY เป็นกิจกรรมในรูปแบบละครเวทีที่หยิบเอาวิถีชีวิตชาวสงขลามาอยู่รวมกับ 2 สถานที่จริง ได้แก่ ‘ร้านฮับเซ่ง’ และ ‘บ้านเก้าห้อง’ ได้อย่างลงตัว
Next Spring ที่ร้านน้ำชาฮับเซ่งจะเป็นละคร Immersive ที่พาผู้ชมไปซึมซับกับบรรยากาศยามสายของย่านเมืองเก่าสงขลา ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งในโลกละครและการลิ้มรสอาหารเช้าแสนอร่อยในร้านน้ำชา ในวันที่ดูเหมือนเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง แต่แล้ววันที่ดูปกตินี้กลับมีเรื่องราวยุ่งวุ่นวายไม่คาดฝันเกิดขึ้นเป็นละคร
ในขณะที่ Next Spring บ้านเก้าห้องจะเป็นละคร Site-Specific ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของคนจีนในย่านเมืองเก่าสงขลา ผ่านหลากหลายเรื่องเล่าจากช่วงเวลาและตัวละครที่แตกต่างกัน ตั้งแต่อดีตเมื่อสองร้อยปีก่อนไล่มาจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเรื่องราวและตัวละครทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวในร้านน้ำชาตอนต้นด้วย
Revisiting Kimyong
ตลาดกิมหยง หาดใหญ่
ถัดออกจากสงขลาย่านเมืองเก่าเข้ามาในตัวเมืองหาดใหญ่อย่างตลาดกิมหยงกันบ้าง เพราะงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีกบริเวณนี้ก็มีความโดดเด่นไม่น้อยหน้ากัน ยกตัวอย่างกิจกรรมไฮไลต์ ‘Revisiting Kimyong – กลับมาเยี่ยมกิมหยงอีกครั้ง’ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม ‘HATYAI CONNEXT’
ทีมผู้จัดต้องการนำเสนอเรื่องราวของตลาดกิมหยงผ่านสามยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ จากยุคโรงหนัง เชื่อมต่อสู่ยุคการค้า จนถึงช่วงเริ่มเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ซบเซา เกิดเป็นที่มาของการจัดแสดงงานในรูปแบบงานทดลองเชิงพื้นที่ในตลาดกิมหยง รวมถึงบริเวณโดยรอบ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสในการดึงศักยภาพของพื้นที่และผู้ประกอบการ เพื่อชวนทุกคนกลับมากิมหยงกันอีกครั้ง
กิมมิกของที่นี่คือนิทรรศการเกี่ยวกับตลาดในบริเวณชั้น 2 และโซนชั้น 3 ที่เป็นห้องฉายหนังเดิมก็มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ร่วมเล่นกันในช่วงเวลาหลังอาทิตย์ตก ด้วยการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเติมสีสันขึ้นบนตัวอาคาร ผ่านการระบายสีและใช้เครื่องสแกนส่งผลงานดอกไม้ของตัวเองขึ้นไปโลดแล่นบนผนังอาคาร เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี AR
เถตรัง ครีเอทีฟวีก ครั้งที่ 1
โรงพยาบาลชาตะ จังหวัดตรัง
มายังสถานที่สุดท้าย หากทุกคนมีเวลาเราอยากให้นั่งรถต่ออีกหน่อยไปยังโรงพยาบาลชาตะ จังหวัดตรัง เพราะที่นี่ก็มีการจัดงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีกกับเขาเหมือนกันในชื่อ ‘เถตรัง ครีเอทีฟวีก ครั้งที่ 1’
สัปดาห์งานออกแบบสร้างสรรค์ในจังหวัดตรัง ได้รวบรวม ‘นักเถ’ หรือ ‘นักสร้างสรรค์’ ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋ามาถ่ายทอดวัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และศักยภาพของคนท้องถิ่นในจังหวัด ผ่านการแสดงผลงานและกิจกรรมภายใต้ธีม ‘Hua Born – หัวบอน งานอีเกิดมาเหิดแลคราฟท์’
ภายในงานประกอบไปด้วยการจัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินในพื้นที่ ศิลปะจากวัสดุท้องถิ่น งานประติมากรรม ศิลปะการจัดแสดงแสงไฟ การบรรยายและเวิร์กช็อปจากนักสร้างสรรค์ การจำหน่ายสินค้าออกแบบและของที่ระลึกจากนักออกแบบและศิลปิน รวมไปถึงการชิมอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมฟังดนตรีสดจากคนในพื้นที่ ถือเป็นการปิดท้ายทริปที่ทำให้เห็นว่า โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรานี่มีดีจริงๆ