เมื่อพูดถึงจังหวัดเพชรบุรี กลิ่นหอมของขนมขึ้นชื่ออย่าง ‘หม้อแกง’ คงส่งกลิ่นกรุ่นมาก่อนใคร แต่จังหวัดนี้ไม่ได้มีแค่ขนมอร่อยเท่านั้น เราขอเปลี่ยนบรรยากาศพาคุณไปเข้าป่า สูดอากาศบริสุทธิ์ที่ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี สำรวจ ‘ชุมชนแห่งพลังงานหมุนเวียน’ ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายกับความสุข ซึ่งค้นพบได้จากสิ่งรอบตัว ถึงแม้จะมีน้อยกว่าคนเมือง
ป่าเด็ง ตั้งอยู่บนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สิ่งแรกคือที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของ แต่กลับมีสัตว์ ต้นไม้ สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่ต่างมีสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมกัน คนจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่กับสมาชิกคนอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียมและให้เกียรติ ฟังเสียงลม ฟังเสียงต้นไม้ ฟังเสียงสายน้ำ โดยที่ไม่เอาความสุข และความสะดวกสบายของตัวเองเป็นใหญ่ เรื่องราวของเพื่อนบ้านชาวป่าเด็งจะเป็นอย่างไรตามไปดูกัน
| ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับชาวป่าเด็ง
ธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์กับธรรมชาติจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ‘ป่าเด็ง’ คือหนึ่งในพื้นที่ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติได้อย่างชัดเจน ระหว่างทางที่ผ่าน เราเจอฝูงผีเสื้อบินวนไปมาตลอดทาง ภาพเหล่านี้ทำให้เด็กกรุงเทพฯ อย่างเราตื่นเต้นจนบอกไม่ถูก เพราะไม่เคยเจอภาพนี้มาก่อน จริงๆ แล้วป่าเด็งคือตำบลหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งถูกแยกออกมาจากตำบลสองพี่น้องเมี่อปี พ.ศ. 2531 โดยที่มาของชื่อนั้น มาจากในพื้นที่มีป่าเต็งรังขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก คนพื้นที่ดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะหร่าง ออกเสียงภาษาไทยไม่ค่อยชัด เมื่อทางราชการมาสอบถามข้อมูลจึงเพี้ยนจากป่าเต็ง เป็นป่าเด็งมาจนถึงทุกวันนี้
ความพิเศษของป่าเด็ง คือพื้นที่รอบข้างถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติ อย่าง เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาสามร้อยยอด และยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงทำให้เราอาจได้เห็นภาพของเหล่าน้องช้างออกมาหากินระหว่างเส้นทางที่ใช้เดินทางกันบ้าง หากมีโอกาสได้แวะไปที่ตำบลป่าเด็ง แอบกระซิบว่าตอนขับรถระวังน้องๆ กันด้วยนะ
ปัจจุบันมีเหล่าช้างป่าฝูงใหญ่อาศัยอยู่ประมาณ 80 เชือก ด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะสม เป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังและไหลลงสู่ทะเล ลักษณะเนื้อดินเป็นดินปนทราย สามารถทำนาข้าวได้และปลูกพืชทนแล้งได้ดี ทั้งยังเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี เรียกว่าครบถ้วนด้วยแหล่งโอโซนรอบด้าน ที่เมื่อก้าวเท้าเข้าไปที่ป่าเด็งแล้วเหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่งเลย
| ป่าเด็งโมเดล ความสุขที่ค้นพบได้จากสิ่งรอบตัว
เมื่อวิถีชีวิตของชาวป่าเด็งเริ่มขึ้นด้วยการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงมาหลายสิบปี จึงเกิดเป็นการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนป่าเด็ง โดยประธานชุมชน คุณโกศล แสงทอง กลายเป็นการรวมกลุ่มที่ชื่อว่า ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ’ ที่ได้แนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น
แถมยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียน จากพลังงานแสงอาทิตย์ แก๊สชีวภาพ และก๊าซชีวะมวล โดยเริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ด้วยตนเอง และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ชาวบ้านป่าเด็งในรูปแบบ ‘ป่าเด็งโมเดล’ จนทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง มีแก๊สสำหรับหุงต้มอาหารจากเศษอาหาร และมูลสัตว์ ที่มาจากภายในชุมชน
แถมยังสามารถช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ยังขาดแคลนเหมือนกันด้วยการเปิดหลักสูตรฝึกอบรม เช่น หลักสูตรการวางแผนพลังงานชุมชน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ การติดตั้งระบบแก๊สชีวภาพ จนเป็นที่ยอมรับให้เป็นต้นแบบของการจัดการชุมชนด้วยตนเอง ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น เป็นหนึ่งในการเริ่มต้นที่ดีต่อชุมชน ที่ไม่เคยมีไฟฟ้าใช้มาก่อน เพราะไฟฟ้าเป็นประตูในการเข้าถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อให้ชาวบ้านพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอนาคตด้วย
| คุณค่าของพลังงานหมุนเวียน
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ กลายเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ แถมยังสร้างพลังจิตอาสาให้ทุกคนรู้จักการรับและการให้ รู้จักหน้าที่ของตัวเอง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ใช้อย่างพอเพียง จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 12 ปีแล้ว กลายเป็นบทพิสูจน์ครั้งใหญ่ ของชาวชุมชนป่าเด็งทั้งในระดับประเทศและระดับโลกเช่น ‘รางวัลสุดยอดคนพลังงานประจำปี 2560’ – สาขาโครงการพลังงานชุมชนแบบมีส่วนร่วมยอดเยี่ยม ระดับภูมิภาคและสาขาอาสาสมัครพลังงานชุมชนระดับประเทศ ‘รางวัล Thailand Energy Awards’ – ประเภทโครการผลิตไฟฟ้า และก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน รวมทั้ง ‘รางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2017’
ทั้งยังได้รับการยอมรับจาก UNDP ว่าโครงการป่าเด็ง เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพียง 10,000 บาท แต่กลับกลายเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ในการนำความรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ในพื้นที่และพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ทำให้เห็นว่า ข้อจำกัดของพื้นที่ ทรัพยากร และโอกาสการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ได้เป็นตัววัดว่าคุณภาพชีวิตของเราจะถูกจำกัดตามไปด้วย