แต่ก่อนเมื่อพูดถึงการมีครอบครัว ก็จะนึกถึงการวางแผนแต่งงานและมีลูกหลานไว้สืบสกุล ทว่าเทรนด์ครอบครัวของคนสมัยนี้อาจจะไม่ได้ยึดติดว่าต้องมีคู่ครองหรือมีลูกเป็นเป้าหมายของชีวิตอีกต่อไป หากขอแค่ได้ใช้ชีวิตเลี้ยงน้องหมาน้องแมวเหมือนลูกน้อยคนหนึ่งก็พึงพอใจแล้ว เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้คนมีความคิดและค่านิยมเรื่องครอบครัวต่างไปจากอดีต
เดิมทีคนเลี้ยงสัตว์แบบแสดงความเป็นเจ้าของ (Ownership) อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนการ์ตูนเรื่อง ‘ชินจัง’ ที่มีเจ้าชิโร่ สุนัขคู่ซี้ที่คอยอยู่เคียงข้างเจ้านายเสมอ แตกต่างจากทุกวันนี้ที่คนรุ่นใหม่มีมุมมองต่อสัตว์เลี้ยงเป็นเหมือนลูกคนหนึ่ง ซึ่งเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า ‘Pet Parent’ แถมยังมองว่าตนเองไม่ใช่เจ้านาย แต่เป็นพ่อหรือแม่ของสัตว์เลี้ยง ที่ทุ่มเทเอาใจใส่น้องสี่ขาทั้งการใช้ชีวิต การกินและดูแลสุขภาพ ไม่ต่างจากการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัจจุบันคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะน้องหมาและแมว อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย และกรมปศุสัตว์ สรุปว่า ปี 2020 ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมดประมาณ 15 ล้านตัว โดยจำนวนสุนัขประมาณ 9 ล้านตัว เพิ่มจากปี 2019 ที่มีทั้งหมดประมาณ 2 ล้านตัว และจำนวนแมวประมาณ 3 ล้านตัว เพิ่มจากปี 2019 ที่มีทั้งหมดประมาณ 8 แสนตัว รวมถึงทุกวันนี้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มเลี้ยงแมวมากกว่าแต่ก่อน เนื่องจากแมวสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดและดูแลตนเองง่าย
เลี้ยงสัตว์ คนจ่ายไหวและมีข้อผูกมัดน้อย
สาเหตุหลักๆ ที่คนสนใจเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งด้วยหน้าตาสุดน่ารักและนิสัยแสนขี้อ้อนที่ทำให้เหล่าทาสรู้สึกแฮปปี้ที่ได้ใกล้ชิด หากมองถึงดีเทลลึกลงไปอีกยังพบว่าน้องๆ เป็นเหมือนเพื่อนเล่นคลายเหงาและช่วยเยียวยาจิตใจให้กับเจ้าของไปในตัว ซึ่งมันทำให้พวกเขารู้สึกมีชีวิตชีวาและบรรเทาความเครียดจากเรื่องน่าปวดหัวรอบตัวได้ดี
หากพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงสุนัขต้องมีเงินอย่างน้อย 600 – 10,000 บาท/เดือน/ตัว หรือเลี้ยงแมวควรมีเงินอย่างน้อย 350 – 2,600 บาท/เดือน/ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้เงินมากกว่าหลายเท่าตัว เฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 3,000 – 20,000 บาท/เดือน/คน รวมถึงค่าเล่าเรียนทั้งหมด (ขั้นต่ำ) ที่ต้องจ่ายทุกเทอมหลายสิบปีตั้งแต่เด็กจนโตประมาณ 1.5 ล้านบาท ซึ่งในยุคที่เศรษฐกิจซบเซา เกิดความไม่แน่นอนในสังคมและสภาพแวดล้อมอาจทำให้คนรู้สึกว่า ตัวเองน่าจะรับมือไหวกับค่าใช้จ่ายเลี้ยงสัตว์มากกว่าเด็ก
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ ‘เวลา’ เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่รักอิสระในการใช้ชีวิต การเลี้ยงสัตว์ตอบโจทย์พวกเขาในการได้ทำสิ่งที่ชอบ และยังพอมีเวลาอิสระทำในสิ่งที่รักอย่างอื่น เช่น แมวสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ อย่างเวลาจะกิน ขับถ่าย หรือทาสแอบไปเที่ยวข้างนอกก็ยังอยู่ได้ แต่การเลี้ยงลูก คนเป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้มีเวลาอิสระส่วนตัวในการทำสิ่งที่ต้องการน้อยลง
สภาพแวดล้อมไทยไม่เอื้อแก่การมีลูก
ไม่เพียงทั่วโลกที่เป็นโสดมากขึ้น คนไทยเองก็เป็นเช่นกัน รวมทั้งครอบครัวคนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะไม่มีลูก เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ ดังกล่าว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยเองอาจจะไม่ได้เอื้ออำนวยมากนัก เนื่องด้วยสวัสดิการที่ส่งเสริมการมีบุตรไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือการใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่ปลอดภัย
สภาพแวดล้อม ‘เมือง’ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตมากทีเดียว เพราะมันเป็นสิ่งรอบตัวและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น เด็กต้องเดินทางไปโรงเรียน ไปหาความรู้หรือไปพบปะเพื่อนฝูง แต่สิ่งอำนวยความสะดวกของเมืองอาจจะไม่ได้เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน เช่น ขนส่งสาธารณะ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ห้องสมุด พื้นที่กิจกรรม หรืออากาศปลอดฝุ่นควัน
ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาสังคมเกี่ยวกับเด็กก็ยังพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น การทารุณกรรม การกลั่นแกล้ง หรือการถูกลวนลามทางเพศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้บางคนรู้สึกกังวลการมีลูก และไม่อยากให้เด็กเกิดมาต้องเสี่ยงเจอปัญหาแบบนี้อีกในระยะยาว
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคนเราจะตัดสินใจมีลูกหรือมีสัตว์เลี้ยงนั้น คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมทางการเงิน เวลา และเป้าหมายของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหน สิ่งที่เหมือนกันของเด็กและสัตว์เลี้ยงคือ ต้องให้ความรักและเอาใจใส่ เพราะพวกเขาต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจ และความรู้สึกไม่ต่างกัน
Sources :
aomMONEY | shorturl.asia/B1PNG, /shorturl.asia/4ejnS
Brand Buffet | shorturl.asia/lCGxF
Wongnai | t.ly/TfIf
กรมปศุสัตว์ | shorturl.asia/u5iQl
คมชัดลึกออนไลน์ | shorturl.asia/c748H
ฐานเศรษฐกิจ | shorturl.asia/e2RP8