ชีวิตในเมืองที่ทำให้เราเผชิญอยู่กับจังหวะที่เร่งรีบของชีวิตประจำวัน ความวุ่นวาย ตึกสูง และการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่น้อยลง อาจทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติดูห่างไกลออกไป พร้อมๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและผู้คนรอบตัว หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเราเอง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกหลีกหนีจากความวุ่นวายและชีวิตที่รีบเร่งนี้ ออกเดินทางหาความสงบสุขและรื่นรมย์จากธรรมชาติ ให้ตัวเองได้ผ่อนลมหายใจ และได้รับการปลอบประโลมจากทิวเขา ต้นไม้ หรือท้องทะเล
ปัจจุบันเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย และประเทศไทยเองก็มีอัตราการท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น อุทยานแห่งชาติต่างๆ ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่ด้วยจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ย่อมส่งผลให้ธรรมชาติถูกรบกวนมากขึ้น ขยะที่เพิ่มปริมาณขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว
ปฐมบทการเดินทาง
จากปัญหาและความกังวลเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นโรงเรียนนักเดินป่าขึ้นมา โดยการนำของ ‘ใหญ่-ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย’ ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง และ ‘พี่งบ-ธัชรวี หาริกุล’ ผู้ก่อตั้ง Thailand Outdoor ที่นอกจากมาร่วมบุกเบิกเส้นทางการเดินป่าแห่งนี้แล้ว ยังช่วยออกข้อสอบให้เหล่านักเรียนได้ผ่านด่านทดสอบด่านแรกก่อนการสมัครจริงอีกด้วย
ร่วมด้วยเหล่าพี่ๆ น้องๆ ที่เชื่อในอุดมการณ์ที่ว่า ‘การเดินป่าที่ถูกต้องสร้างได้’ และส่วนสำคัญที่สุดคือแรงกายแรงใจสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่อุทยาน และศิษย์เก่า ที่พร้อมใจมาเป็นครูผู้ช่วยถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริง และทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และส่งต่อทัศนคติที่ดีในการเคารพธรรมชาติให้เกิดขึ้นระหว่างนักเดินป่ามือใหม่และนักเดินป่ามากประสบการณ์ ผ่านแนวคิด ‘เราจะเดินป่าโดยสร้างผลกระทบให้ธรรมชาติให้น้อยที่สุดได้อย่างไร’
ในครั้งนี้เราได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในนักเรียนจำนวน 20 คนของโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติน้ำพอง รุ่นที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ขยายผลจากโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ที่มีนักเรียนจบการศึกษาไปแล้วกว่า 12 รุ่น ซึ่งการสมัครเข้าเรียนนั้นขึ้นชื่อเรื่องการแข่งขันที่สูงมากวัดกันที่ระดับวินาทีเลยทีเดียว!
คอลัมน์ Experimentrip ครั้งนี้จึงอยากพาทุกคนเก็บกระเป๋าเข้าป่า ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงร่วมสร้างวัฒนธรรมการเดินป่าที่ยั่งยืนด้วยกัน จัดกระเป๋าให้พร้อมแล้วออกเดินทางกันเลย
แรกพบที่ลานนับดาว
เรานั่งรถไฟชั้น 2 จากกรุงเทพฯ มาถึงขอนแก่นในช่วงเช้าของวัน และได้พบกับเพื่อนร่วมชะตากรรมกลุ่มแรกที่มาช่วยกันหารค่ารถสองแถวเข้าไปในอุทยานด้วยกันที่ บขส. ระหว่างทางมิตรภาพของเราก็เริ่มต้นขึ้นจากการพูดคุยทำความรู้จัก และการได้มีเวลาเตร็ดเตร่ไปในเมืองขอนแก่นด้วยกัน
เมื่อเดินทางมาถึงลานนับดาว อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ที่เป็นจุดนัดพบของเหล่าครูและนักเรียนใหม่ พวกเราก็ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานและลานกางเต็นท์ 80 บาท ซึ่งกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่าย เรายื่นหนังสือพาสปอร์ตอุทยานแห่งชาติเพื่อประทับตราอุทยานแห่งชาติน้ำพอง ที่ตราประทับเป็นรูปช้างและหินก้อนใหญ่ ซึ่งนับเป็นตราประทับแรกของเราในสมุดเล่มนี้ ให้ความรู้สึกว่าการเดินทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
หลังจากลงทะเบียนและแยกย้ายกันไปจับจองพื้นที่กางเต็นท์ในวันแรก กิจกรรมเริ่มด้วยการแนะนำตัวของเหล่านักเรียนใหม่ที่มาจากหลากที่ หลายช่วงอายุ ตั้งแต่ 17 ถึง 60 ปี บางคนเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยเดินป่ามาก่อนเลยเหมือนเรา และอีกหลายๆ คนมีประสบการณ์ผ่านป่ากันมาอย่างโชกโชน หรือบางคนก็เคยเป็นศิษย์เก่ารุ่นอื่นที่แอบเนียนมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง ถึงอย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือความรักในธรรมชาติและการเดินป่า โดยมีคุณครูที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและรุ่นพี่นักเรียนเก่าของโรงเรียนนักเดินป่า และครูใหญ่-หัวหน้าอุทยานฯ ที่เหมือนเป็นครูใหญ่จริงๆ ของโรงเรียนแห่งนี้
บทเรียนแรกเริ่มต้นขึ้นด้วยการแนะนำโรงเรียนนักเดินป่าที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และส่งต่อวัฒนธรรมการเดินป่าที่ถูกต้องให้กับผู้ที่สนใจ รวมถึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เดินป่าในเส้นทางใหม่ที่นักเรียนโรงเรียนนักเดินป่าเท่านั้นจะได้สัมผัสก่อนใคร
หลังจากนั้นเราก็ทบทวนบทเรียนที่เคยเรียน และทำบททดสอบเพื่อให้ได้ใบ Certificate ที่ใช้ในการสมัครในขั้นตอนแรก เรียนรู้ข้อปฏิบัติในการเดินป่าแบบ Leave no Trace เพื่อให้เกิดผลกระทบกับป่าและธรรมชาติน้อยที่สุด ศึกษาวัฒนธรรมการเดินป่าที่ถูกต้องอันประกอบด้วย 3 ข้อหลักๆ นั่นคือ การพึ่งพาตัวเอง เคารพธรรมชาติ และให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง
เรารับบรีฟเส้นทางและศึกษาข้อมูลเส้นทางเดินป่าผาสวรรค์ที่จะเดินในวันพรุ่งนี้ว่าจะเจอกับภูมิประเทศแบบไหนบ้าง โดยเส้นทางนี้จะได้เดินผ่านป่าประเภทป่าดิบแล้ง ที่เป็นป่าที่พบเฉพาะในภาคอีสาน ป่าเบญจพรรณและป่าทุ่งหญ้า และไฮไลต์ของพื้นที่นี้คือ เราจะได้พบกับภาพเขียนสีโบราณและแหล่งความรู้ทางธรณีวิทยา โดยเราจะเดินเป็นระยะทางทั้งหมด 9.2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินป่า 2 วัน 1 คืน โดยต้องแบกอุปกรณ์ยังชีพ อาหาร น้ำ เต็นท์ และทุกอย่างเอง การเตรียมตัวในการเดินป่าจึงสำคัญมากๆ และบทเรียนต่อมาก็คือการแนะนำอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพในป่าจากเหล่าครูผู้ช่วยที่ขนเอาอุปกรณ์ทุกอย่างมาให้เราดู ช่วยอธิบายและคอยแนะนำเป็นอย่างดี
จบการเรียนวันแรกในช่วงที่ดวงอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า ย้อมทุกอย่างให้เป็นสีทอง พวกเราแยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัว พูดคุยและทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ช่วยเพื่อนกางเต็นท์ และเฝ้ามองแสงสุดท้ายของวันที่สะท้อนบนพื้นน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ด้วยกัน ก่อนที่หมู่ดาวจะเริ่มปรากฏตัวให้เห็นไปพร้อมๆ กับการทำอาหาร กินข้าว และบทสนทนารอบกองไฟ เสียงหัวเราะของพวกเราเคล้าไปกับควันไฟที่ก่อขึ้น เป็นการปิดจบวันแรกที่ดีก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายไปพักผ่อน
ตกดึกวันนั้น เราเข้าใจแล้วว่าทำไมที่แห่งนี้ถึงได้ชื่อว่าลานนับดาว พวกเราหยิบกล้องออกไปล่าทางช้างเผือกด้วยกัน ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับ ความสวยงามของธรรมชาตินั้นเรียบง่ายและไม่เรียกร้องสิ่งใด รอแค่ให้เราหยุดและมองดู
เดินเท้าสู่ผาสวรรค์
เราเดินทางจากลานนับดาวด้วยการติดรถเพื่อนมาที่ลานจอดรถหินช้างสี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง โดยการเดินจะแบ่งเป็น 2 ทีม ประกอบด้วยครูเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ครูผู้ช่วย และนักเรียนกลุ่มละ 10 คน โดยก่อนเดินเราได้รู้วิธีการขึ้นกระเป๋าและสะพายอย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น การใช้ Trekking Pole และอุปกรณ์การเดินอื่นๆ เพื่อช่วยซัพพอร์ตการเดินโดยไม่ให้เป็นภาระ เตรียมขนมและเสบียงให้พร้อม ชั่งกระเป๋า วอร์มร่างกาย และเริ่มออกเดินจากจุดเริ่มต้น
บอกตามตรงเราตื่นเต้นมาก เพราะนี่เป็นการเดินป่าอย่างจริงจังครั้งแรกของเรา และเมื่อเดินมาถึงจุด Checkpoint ของฐานแรก ‘เปิดผัสสะ’ ครูใหญ่เชิญชวนให้เราทุกคนหลับตาลง เพื่อเปิดการใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ นอกจากการมองเห็น อย่างการได้ยินที่ทำให้เราได้ยินเสียงรอบตัวมากขึ้น เสียงนก เสียงการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ใช้ประสาทสัมผัสในการดมกลิ่น สูดเอาออกซิเจนและกลิ่นของป่าเข้าไปเต็มปอด และรับรู้ถึงสัมผัสของเท้าที่เหยียบบนพื้นให้ความรู้สึกมั่นคง การเปิดผัสสะช่วยให้การรับรู้กลับมาอยู่ที่ตัวเรา เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ตัวเราเข้ากับธรรมชาติรอบตัว ขยายความรับรู้ออกไป เป็นการเตรียมพร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้จากธรรมชาติ และการเดินอย่างมีสติและมั่นคง จากนั้นเราก็ออกเดินไปยังฐานต่อไป
เดินมาสักระยะ ระหว่างทางเริ่มชันและต้องปีนป่ายหิน เราก็มาถึงต้นไทรต้นใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของฐานที่ 2 ใต้ต้นไทรนี้มีฉายาว่าเป็น ‘นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร’ ที่เป็นเสมือนครูที่ให้เราได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและต้นไม้ในป่า และที่นั่นเองก็เป็นจุดแรกที่เราได้เห็นหนอนบุ้งขนปุกปุยเหมือนน้องมีผมหงอกทั้งตัว เราน่าจะเข้าป่ามาในเวลาที่สำคัญของเขาพอดี เพราะครูที่มาสำรวจเส้นทางบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยเจอเลย ถือว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์แรกที่เราได้เจอกัน
และระหว่างทางเราจะพบเห็นหินทรายในลักษณะที่แตกต่างกัน เป็นรูปร่างต่างๆ ให้เราลองจินตนาการ บ้างเหมือนลิง เหมือนกัปปะ หรือหัวฉลาม ระหว่างทางที่เดินในแต่ละฐาน ครูจะผลัดเปลี่ยนกันให้ความรู้ตามจุดต่างๆ ที่เราพบเจอในธรรมชาติแห่งนี้ ได้เห็นความหลากหลายและมิติต่างๆ ของป่า โดยตลอดเส้นทางเราได้เดินผ่านป่าในหลายๆ แบบ เช่น ป่าทึบที่ต้นไม้หนาแน่น แม้ต้นไม้ใหญ่จะมีให้เห็นไม่เยอะ เนื่องจากพื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่สัมปทานโรงเลื่อยมาก่อน แต่เราก็ได้เห็นตอไม้ที่ถูกตัดเป็นระยะๆ ตั้งแต่ฐานที่ 3 ‘มนุษย์ผู้กระทำ’ ที่ได้เรียนรู้เรื่องผลกระทบจากฝีมือมนุษย์ต่อธรรมชาติ แต่ความอุดมสมบูรณ์ก็ยังมีให้เห็นจากการที่ป่าค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเอง ซึ่งก็ใช้ระยะเวลานาน
และเมื่อผ่านป่าทึบมา เราจะพบป่าทุ่งหญ้า หรือที่ครูใหญ่เรียกว่าป่านรก เพราะเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดไฟป่าขึ้นนั่นเอง โดยไฟป่า 99 เปอร์เซ็นต์มาจากฝีมือมนุษย์ มีเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์อย่างพวกเรานั้นได้ฝากร่องรอยขนาดใหญ่ไว้กับธรรมชาติมากกว่าที่เห็น
โดยรวมการเดินป่าในวันแรก เราใช้เวลาเดินกันประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง ได้พบเห็นและเรียนรู้จากธรรมชาติระหว่างทาง ได้รับความรู้จากครูและเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่และปฏิบัติหน้าที่จริง ได้ทริกในการใช้ชีวิตในป่า และทำความเข้าใจธรรมชาติและป่าไม้ของไทยมากขึ้น เรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน เคารพธรรมชาติมากขึ้น
เดินเท้าอีกหน่อยผ่านฐานต่างๆ และความชันที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่นานนักเราก็เดินมาถึงจุดพักแรมผาผึ้ง ที่คืนนี้เราจะกางเต็นท์ ผูกเปลนอน และใช้เวลาค่ำคืนด้วยกัน หลังจากที่ครูใหญ่แนะนำการเลือกทำเลกางเต็นท์และผูกเปลนอน ข้อควรระวังในการพักแรมในป่า เราก็แยกย้ายกันไปหาทำเลเหมาะๆ ที่จะใช้เป็นที่นอนในคืนนี้ รู้สึกเลยว่าได้ลงสนามจริงแล้ว ต้องใช้ความรู้ที่ได้มาเพื่อเอาชีวิตรอดในคืนนี้ไปให้ได้
หลังจากพักผ่อน เติมน้ำ เติมพลัง ตกเย็นพวกเราเดินเท้ากันไปที่ผาสวรรค์เพื่อดูพระอาทิตย์ตกด้วยกัน แต่เพราะเราขึ้นมาเร็วไปหน่อย ครูใหญ่เลยคิดว่าระหว่างที่รออยากให้เราได้ลองอาบป่ากัน ด้วยการให้ทุกคนไปหาทำเลที่ถูกใจ ใช้เวลาอยู่คนเดียวกับป่า แล้วกลับมาล้อมวงแชร์ว่าระหว่างที่นั่งอยู่คนเดียวท่ามกลางธรรมชาตินั้น แต่ละคนคิดอะไรและพบเจออะไรบ้าง ธรรมชาติทำงานอย่างไรกับเรา
โดยส่วนตัวแล้วเราชอบช่วงเวลาที่ได้ออกไปนั่งคนเดียวมาก ได้เห็นรายละเอียดของป่าที่ระหว่างเดินเราไม่เห็น ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง และตอนกลับมาฟังเรื่องราวของทุกคนก็ประทับใจไม่แพ้กัน เหมือนได้ทำความรู้จักคนคนนั้นจริงๆ ผ่านการมองเห็นมุมมองของตัวเขาที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งรอบตัว ได้ทำความรู้จักและเชื่อมสัมพันธ์กัน เหมือนที่เราได้เชื่อมสัมพันธ์กับป่าและตัวเราให้แน่นแฟ้นขึ้น แม้ว่าบางคนจะใช้เวลานี้แอบหลับแต่ก็ถือว่าเป็นเวลาที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการอาบป่าที่ปล่อยให้เราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและธรรมชาติอย่างเต็มที่
ใช้เวลาไม่นานดวงอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าไปพร้อมๆ กับเสียงหัวเราะและบทสนทนาของพวกเราที่ผาสวรรค์ เห็นแสงระยิบระยับของผืนน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ พร้อมฟังเรื่องราววิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนี้ที่ผูกพันกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของป่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้เห็นความเป็นมนุษย์ในเรื่องราวที่ได้รับฟัง และเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป พวกเราต่างเดินกลับไปที่จุดพักแรม นั่งทำกับข้าวและล้อมวงกินข้าวกัน กิจกรรมในตอนค่ำของคืนนี้คือ ล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าอะไรที่นำพาให้เรามาที่นี่ ได้เล่าสิ่งหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากออกมาสัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ
พอได้เปิดใจรับฟังเรื่องราวส่วนตัวและการเดินทางของแต่ละคน เรายิ่งนับถือหัวใจของทุกคน แถมยังได้หัวเราะไปกับเรื่องราวที่ได้รับฟัง และเติมไฟให้กันและกันระหว่างนักเรียนเดินป่า ครูผู้พิทักษ์ป่า ครูผู้ช่วย เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเดินทางขึ้นในครั้งนี้
ถึงอยู่กลางป่าเราจะจุดไฟไม่ได้ แต่ค่ำคืนนี้ก็ได้จุดประกายไฟในใจของพวกเราทุกคน เพื่อส่งต่อเทียนแห่งหวัง ความรักและหวงแหนป่าไม้ธรรมชาติจากคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง และเราหวังว่าที่แห่งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นไปจนถึงระดับสังคมได้เช่นกัน
ก่อนจากลากันที่หินช้างสี
วันสุดท้ายของโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติน้ำพอง รุ่นที่ 1 มาถึงแล้ว ทุกอย่างผ่านไปไวมากเมื่อเทียบกับความรู้ที่ได้มา มิตรภาพของพวกเราที่แน่นแฟ้นขึ้น พร้อมกับสภาพร่างกายที่แข็งแกร่งขึ้น
พอเทียบกับเวลาแล้วเหมือนกับว่าผ่านมานานแสนนาน หลังจากจัดการตัวเองให้เรียบร้อย เก็บเต็นท์ กินอาหารเช้าด้วยกัน ก่อนออกเดินทางเราต้องจัดการนำขยะทุกอย่างกลับออกไปกับเรา และจัดการเศษอาหารให้เหมาะสมเพื่อป้องกันสัตว์ป่ามาคุ้ยเขี่ย เพราะบางทีผลกระทบที่ตามมาก็เกิดขึ้นเพียงเพราะขยะที่เราเผลอทิ้งไว้ในป่าและธรรมชาติ ครูบอกว่าสิ่งที่เราทิ้งไว้ได้คือรอยเท้า สิ่งที่นำออกไปได้คือรูปถ่ายและความทรงจำ และตอนนี้ความทรงจำน่าจะเต็มกระเป๋าเป้เดินป่าของเราเลย
ช่วงสุดท้ายของการเดินป่า เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของป่ากับชุมชน และจุดที่มีภาพเขียนสีโบราณที่คาดว่ามีอายุประมาณ 2,000 ปี ให้เราได้เห็นอดีตของพื้นที่แห่งนี้และชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผ่านรูปภาพของพิธีกรรม แผนที่ ควายป่า สุนัขจิ้งจอก วัวกระทิง คน และพระอาทิตย์ ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นว่าในอดีตทุกสรรพสิ่งเกี่ยวโยงและอยู่ร่วมกัน มนุษย์ สรรพสัตว์ และธรรมชาติล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว
ในตอนท้ายของการเดินป่า พวกเรานัดเจอกันเพื่อสรุปกิจกรรม ขอบคุณครูและทุกคนที่เกี่ยวข้อง บอกเล่าความรู้สึก และถ่ายรูปร่วมกันที่หินช้างสี ซึ่งได้ชื่อนี้มาเพราะว่าเมื่อก่อนพื้นที่แถบนี้มีช้างป่า แล้วเขาจะมาถูตัวหรือเกาหลังที่หินก้อนนี้ จนได้ชื่อว่าหินช้างสี เป็นที่มาของตราประทับของอุทยานแห่งชาติน้ำพองที่เราได้ประทับลงไปในสมุดในช่วงแรก เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกย้าย พวกเราบอกลากันและกัน และแพลนทริปใหม่ด้วยกันครั้งหน้า แน่นอนนี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
โรงเรียนนักเดินป่าเป็นเหมือนก้าวแรกที่ทำให้ทุกคนมีความรักและเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเราได้ออกมาสัมผัส เปิดใจเรียนรู้ กลับมามีช่วงเวลาและความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเราเอง เพื่อนมนุษย์ บ่มเพาะความเข้าใจและความรักในผืนป่า รักในธรรมชาติรอบตัว ที่นี่เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ให้เราได้เรียนรู้การเป็นนักเดินป่าที่ดีและมีคุณภาพ เราเชื่อว่าทริปนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะนำมาสู่การดูแลรักษาป่าและธรรมชาติที่เรามี ทำให้เกิดการตระหนักรู้ของผู้คนในสังคม ถักทอสายสัมพันธ์ของคนกับป่าให้แน่นแฟ้นขึ้น อย่าลืมว่าเมืองกับป่าอยู่ใกล้กันมากกว่าที่เราคิด เพราะเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นกัน
ใครที่สนใจหรืออยากเป็นนักเรียนใหม่ โรงเรียนนักเดินป่าเตรียมเปิดรับสมัครที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็นรุ่นที่ 1 ปฐมบทดินแดนไดโนเสาร์ และโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติน้ำพอง รุ่นที่ 2 ในวันที่ 13 สิงหาคมที่จะถึงนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน เลือกที่รักที่ชอบกันได้เลย โดยติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education และเว็บไซต์ : nationalparkoutdoor-edu.com
แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเดินป่าที่ยั่งยืนด้วยกันนะ