‘1984’, ‘แอนิมอล ฟาร์ม’ เหล่านี้คือผลงานของ ‘จอร์จ ออร์เวลล์’ นามปากกาของนักเขียนชาวอังกฤษที่ผู้อ่านชาวไทยอาจจะคุ้นเคยกันดี ทั้งเรื่องราวที่สะท้อนสังคม หรือการแนะนำให้อ่านหนังสือของเขาจากผู้นำประเทศ
ชื่อจริงของออร์เวลล์คือ อีริก อาร์เทอร์ แบลร์ เขาเกิดในปี 1902 ในครอบครัวชนชั้นกลางที่เป็นข้าราชการของอังกฤษ ความถนัดอย่างหนึ่งตั้งแต่สมัยที่เขาเรียนหนังสือคือ ‘การเขียน’ และเขาได้เลือกเส้นทางนี้กับตัวเอง ตลอดชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ จนถึงการเป็นนักเขียน นักสื่อสารมวลชนของออร์เวลล์ เขาได้ผ่านเบื้องหลังและมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ระดับโลกตั้งแต่ การรับรู้ถึงอิทธิพลของทุนนิยมโลกที่ขยายมากขึ้น (แน่นอนว่าออร์เวลล์เป็นฝ่ายซ้าย) สงครามโลกทั้งหมด 2 ครั้งที่เขาก็ถูกเรียกไปเกณฑ์ทหาร การครองอำนาจของเผด็จการฟาสซิสต์ และการขึ้นสู่อำนาจของโจเซฟ สตาลินในสหภาพโซเวียต นี่เป็นสถานการณ์ที่คับอกคับใจสำหรับคนที่มีจุดยืนสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมและต่อต้านเผด็จการอย่างเขา และสิ่งเหล่านี้ได้แสดงออกในผลงานขึ้นชื่อของออร์เวลล์หลายชิ้นที่เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปียฉายภาพสังคมแสนมืดมน ถูกตรวจตรา ปิดปากไม่ให้พูด ไร้เสรีภาพ เขาผลิตผลงานอยู่ตลอดจนจบชีวิตในปี 1950
แต่ใครจะไปรู้ว่าอีกด้านหนึ่งของชีวิตผู้เขียนนวนิยายดำมืดคือความรักในการทำสวนและปลูกดอกกุหลาบ จุดเริ่มต้นนี้มาจากในปี 1936 ออร์เวลล์เลือกจะปลีกตัวไปเขียนงานในเมืองที่เงียบสงบอย่าง ‘วอลลิงตัน’ ซึ่งห่างจากตัวเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษเกือบ 16 กิโลเมตร ที่บ้านหลังเล็กๆ นี้ มีบริเวณเพียงพอให้ดูแลไม้ดอกไม้ประดับควบคู่กับการทำงานเขียน
และการทำงานสวนและความรักในดอกกุหลาบนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มใหม่ – ‘Orwell’s Roses’ ของ รีเบกก้า โซลนิต (Rebecca Solnit) นักเขียน นักกิจกรรมชาวอเมริกันที่ผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยในหนังสือ ‘ผู้ชายชอบอธิบายหลายสิ่งให้ฉันฟัง (Men Explain Things)’ แปลโดยสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน
หนังสือพาเราแวะเวียนไปดูชีวิตของออร์เวลล์ งานเขียน งานอดิเรกของการทำสวน ความรักในดอกกุหลาบไปจนถึงเชื่อมโยงให้เห็นมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมระดับโลกในแต่ละช่วงชีวิตของออร์เวลล์ตามสำนวนการเขียนของโซลนิต
อาจจะเรียกได้ว่า ‘Orwell’s Roses’ เป็นเหมือนอัตชีวประวัติที่ไม่ใช่อัตชีวประวัติแบบเล่าเรื่องชีวิตตั้งแต่เกิดจนเชิงตะกอนของออร์เวลล์ แต่เป็นการหยิบแง่มุมจากชีวิตของออร์เวลล์ออกมาเล่า ขยายความ ชวนค้นหาว่าสิ่งต่างๆ ล้วนเชื่อมโยง สอดคล้อง หรือแม้แต่ย้อนแย้งในตัวมันเองอย่างไร
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแง่มุมในชีวิตของออร์เวลล์นอกจากนวนิยายสะท้อนสังคม (ไทย) เล่มนี้อาจจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ (แต่ยังไม่มีแปลเป็นภาษาไทยนะ)
ใครสนใจลองจิ้มอ่านส่วนหนึ่งของหนังสือได้ที่นี่: https://bit.ly/3EmHwBE
Sources :
New Statesman | https://bit.ly/3dd8osb
New York Times | https://nyti.ms/3lvdKDF
The Irish Times | https://bit.ly/3lwtkyK
The Washington Post | https://wapo.st/31oMWhh