เมื่อก่อนเคยคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวเป็นภาพใหญ่ ทั้งเรื่องโลกร้อน ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ขยะใต้มหาสมุทร ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาดังกล่าวล้วนใหญ่เกินกว่าที่เราจะคิดแก้ไข คงต้องเรียกหาฮีโร่อย่าง Captain Planet สักคนมาต่อสู้ถึงจะเอาชนะได้ แต่จริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมมันอยู่รอบตัวตั้งแต่ตื่นขึ้นมาสูดหายใจรับเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย อาบน้ำ กินข้าว ไปจนถึงตอนเรานอน
การหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการช่วยโลกทั้งใบ แต่อาจจะเริ่มจากโลกใบเล็กๆ ที่คุณแคร์ในชีวิตประจำวัน แต่บางคนก็ยังอาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ควรต้องเริ่มต้นอย่างไร ในการรักษาบ้านหลังใหญ่ที่ชื่อว่าโลก เราจึงชวนไปพูดคุยกับ ‘เม้ง’ ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ นักคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม กับภารกิจการเสียภาษีคืนให้โลกด้วยการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ในฐานะคนธรรมดา และในฐานะพ่อ ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะอยากให้โลกของลูกดีขึ้นในอนาคต
สอง สาม ก้าวของ ‘เม้ง’ คนธรรมดาที่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม
คนมักจะรู้จักเม้งในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ เอเจนซีที่มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อสังคม แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในอีกมุมหนึ่งเขาคือตัวจริงด้านสิ่งแวดล้อม ที่ชักชวนตัวเองและคนรอบข้างให้เห็นถึงความสำคัญกับธรรมชาติให้มากขึ้น
เราจึงเริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่าเม้งเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมได้ยังไง
“คำถามนี้มีคนถามผมหลายครั้ง มันเป็นคำถามที่ตอบยากมากเลยนะ”
เม้งหยุดคิดอยู่ครู่ใหญ่ และเล่าเรื่องราวช่วงเรียนมหาลัยให้เราฟังว่า ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมของเขาเกิดในช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นเม้งเลือกเรียนภูมิสถาปัตยกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุดคณะหนึ่ง เพราะต้องไปลงพื้นที่ ต้องเข้าป่า ดูต้นไม้ ไปศึกษาองค์ประกอบจากธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ที่เรียนล้วนใกล้ชิดกับธรรมชาติ ต้นไม้ ลำธาร
“พอเราเรียนภูมิสถาปัตยกรรม เราก็ต้องหาหนังสือที่เกี่ยวกับต้นไม้มาอ่าน เป็นช่วงเวลาที่เราได้อ่านหนังสือ ‘แสงอรุณแห่งสถาปัตยกรรม’ ของอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ผมจำได้เลยว่าหนังสือเล่มนั้น มันทำให้เราเห็นภาพสิ่งที่เรากำลังเรียน และเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ มันปลูกฝังวิธีคิดในการให้ความสำคัญกับธรรมชาติอย่างมากในช่วงนั้น สมัยมหาวิทยาลัยคงเป็นก้าวแรกที่เป็นภาคทฤษฎีที่เราหันมารู้จักธรรมชาติจริงๆ
“หนังสือเล่มต่อมาที่เป็นตัวเร่งให้เราสนใจสิ่งแวดล้อม มันคือเล่ม ต้นไม้ใต้โลก กับ ดอกไม้ใต้โลก ของ ทรงกลด บางยี่ขัน หนังสือเล่มนี้ มันเต็มไปด้วยไอเดียที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เต็มไปด้วยการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ มาใช้เพื่อเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้สนุกขึ้น ซึ่งตอนนั้นอ่านแล้วมันเป็นแรงบันดาลใจมากเลย”
ก้าวที่สองที่สอนให้เม้งรู้ว่าธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นั่นคือการก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ที่ชื่อว่าโลกแห่งพระธรรม ก่อนแต่งงานเม้งได้ตัดสินใจที่จะบวชอยู่ช่วงหนึ่ง แต่การไปบวชกลับได้มอบบทเรียนที่ไม่คาดคิดกับเขา ก้าวที่สอนเม้งให้รู้ว่า ชีวิตที่ได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติจริงๆ มันเป็นยังไง
“ผมไปบวชที่สวนโมกข์ เป็นวัดป่า ชีวิตช่วงนั้นของผมมันประณีตต่อโลกมาก การเป็นพระได้สอนให้เราระมัดระวังการบริโภคทรัพยากรของโลกใบนี้มากเลย กินน้อย ใช้ภาชนะก็ใช้แค่บาตร เสื้อผ้าก็น้อย โห! นี่คือชีวิตกรีนของแท้เลย ปัญหาแฟชั่นก็ไม่มี บ้านก็คือป่า ต้นไม้ก็คือเพื่อน ชีวิตมัน Down to Earth
“การได้เป็นพระมันทำให้เราใกล้ธรรมชาติมาก แล้วมันก็รู้สึกว่าเรามาขอเขาอาศัยอยู่ ถ้าอยู่ในเมืองมันอีกแบบ อะไรไม่สะดวกเราก็เปลี่ยน แต่นี่เหมือนเราไปขอแทรกเขาอยู่ ผมว่าชีวิตมันเริ่มเป็นภาคปฏิบัติให้ผมใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งผมก็เริ่มปลูกต้นไม้ตอนวันที่บวช”
จุดนี้เองกลายเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมของเม้งตกตะกอนทางความคิด และถูกเปลี่ยนจากความสนใจในภาคทฤษฎี ให้กลายมาเป็นภาคปฏิบัติ จากความคิด ความชอบธรรมชาติได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และต้นโมกต้นนั้นก็ได้ปลูกความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เติบโตขึ้นในชีวิตของเขามากขึ้น
หลังจากได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติไปแล้ว กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมจริงจังครั้งแรกในชีวิตของเขา ก็คืองานแต่งงาน ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่สามารถสั่งคนอื่นได้มากที่สุดในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน หรือญาติผู้ใหญ่ ก็ต่างพร้อมที่จะทำให้ด้วยความเต็มใจ และจากความคิดที่ตกตะกอน กลายมาเป็นออกแบบงานแต่งงานที่กรีนที่สุดในประเทศไทยงานหนึ่ง จากการตั้งคำถามถึงสิ่งสิ้นเปลืองในการแต่งงานและแทนที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เหมือนในหนังสือสองเล่มที่อยู่ในใจเม้งตลอดมา
“งานแต่งงานมันเปลืองเงินเนอะ มันมีหลายอย่างสิ้นเปลือง จ่ายโรงแรมตั้งสามสี่แสน แล้วก็มาเก็บซองเพื่อน สุดท้ายมันก็หักลบกลบหนี้ เราอาจจะได้กำไรสักหมื่นสองหมื่น หรืออาจจะได้กำไรสักแสนหนึ่ง แต่เราเสียทุกคน เราเสียให้โรงแรม เงินก้อนใหญ่ๆ มันหายไปกับโรงแรม สำหรับผมก็รู้สึกว่ามัน Waste ว่ะ แล้วก็ไม่ได้อะไรอย่างที่อยากได้สักอย่าง หมายถึงวิธีคิดนะ เปลืองแอร์ ต้องใส่สูท แต่ละอย่างมันเป็นพิธีรีตองไปหมด”
การลองผิดลองถูกที่ไม่มีต้นแบบ งานแต่งของเม้งได้เปลี่ยนคนที่ไม่เห็นถึงปัญหาขยะได้คิด จากการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ไบโอ เปลี่ยนคนที่ไม่เคยออกมาปฏิสังสรรค์กับผู้คนในสวนสาธารณะได้ออกมาจากห้องแอร์ เปลี่ยนคนที่ไม่เคยปลูกต้นไม้ ให้ออกมารู้จักกับธรรมชาติผ่านเมล็ด
งานแต่งของเม้งกลายเป็นหนึ่งในงานที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากที่สุดงานหนึ่ง แต่ทุกคนต่างเต็มใจที่จะทำให้เขา งานแต่งของเม้งงานนี้นอกจากเขาจะได้ปลูกต้นไม้หลายร้อยต้นแล้ว เขายังได้ปลูกต้นไม้ในใจเพื่อนๆ ไปในเวลาเดียวกัน และที่สำคัญหลังจากงานแต่งในครั้งนั้นทำให้เม้งได้อยู่ในเส้นทางการหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
เปลี่ยน…เพื่อโลกที่คุณแคร์
เมื่อโลกร้อนใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด
พูดคุยกับเม้งมาประมาณหน้าครึ่ง เราได้เห็นถึงจุดเปลี่ยนบางอย่างในชีวิตที่ทำให้เขาหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ตอนจากนี้เราอยากให้คุณ (ผู้อ่าน) ได้เข้าใจปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นไปพร้อมๆ กับเม้ง
บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าเราบอกคุณว่าภายในปี 2048 โลกใบนี้จะไม่มีพื้นที่ใดปลูกต้นโกโก้ได้ ส่งผลให้คนในยุคหน้าไม่มีช็อกโกแลตที่แสนอร่อยกินจะเป็นอย่างไร หรือข้อเท็จจริงที่ว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เสี่ยงแท้งลูก 16 เปอร์เซ็นต์ คุณจะรู้สึกอย่างไรกับโลกที่เราอยู่ในทุกวันนี้
“WEB FILM จาก SCG ชัดเจนมากเลยนะ ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะช่วงฝุ่น PM 2.5 ที่มีโอกาสทำให้แท้งลูกนี่ทำให้ผมขนลุกเลย เพราะเรื่องโลกร้อนมันเกี่ยวกับทุกเรื่อง กินอยู่ ไปเที่ยวขับรถมันเป็นผลจากการบริโภคและความสะดวกสบาย โดยเฉพาะคนเมือง คนรวย อากาศที่เราหายใจมันมีอะไรปนเปื้อนเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ทุกวันนี้คุณไม่ร้อนเหรอ ร้อนนี่ก็ทุกข์มากแล้วนะเหมือนเดินอยู่ในนรก โรคใหม่ๆ ก็มาจากโลกร้อน มะเร็งหรืออะไรก็เกี่ยวพันกับโลกร้อน
“ธรรมชาติมันเปลี่ยน สารเคมีมันเปลี่ยน ก็เกี่ยวกับโลกร้อนทั้งสิ้น ที่สำคัญคือมันกลับมาที่เราหมด เราทำตัวเองทั้งนั้น มันเป็นสิ่งที่เรา บริโภค เพียงเพราะความสะดวกสบาย ทุกวันนี้ยิ่งเราสบายมากขึ้นเท่าไหร่เราก็ซวยมากขึ้นเท่านั้น เราตายได้เลยนะเราไม่ได้ตายจากความร้อน แต่เราตายจากการเปลี่ยนแปลงของโลก”
เมื่อเข้าใจแล้วว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวแค่ไหน สิ่งที่เราอยากรู้ต่อมาคือ แล้วเราจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร คำถามนี้อาจจะดูยิ่งใหญ่ แต่เม้งกลับตอบมันอย่างเรียบง่ายด้วยการเล่าถึงวิถีชีวิตหนึ่งวันของเขา ว่าช่วยโลกใบที่เขาแคร์ได้อย่างไรบ้าง จนทำให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนเพื่อโลกที่คุณแคร์อาจไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่อาจจะเริ่มจากพฤติกรรมเล็กๆ รอบตัว รอบบ้านของคุณเอง
Work from Home ยังไงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ผมว่าการทำงานที่บ้านมันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วนะ คนเดินทางน้อยลง เราก็เห็นอยู่แล้วว่าการเดินทางมันสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เยอะขนาดไหน การลดการเดินทางของคนจำนวนมากมันก็ช่วยลดปริมาณฝุ่นควันลงได้ครึ่งหนึ่ง พอคนอยู่บ้านก็หันมาทำโน่นนี่ภายในบ้าน ปลูกต้นไม้บ้าง ทำอะไรบ้าง ใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น
“ถ้าถามว่ามีเทคนิคไหนที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดปริมาณการผลิตคาร์บอน ก็คงอยากให้ทุกคนเปิดหน้าต่าง เปิดช่องลม ให้ลมจากธรรมชาติถ่ายเทหมุนเวียนภายในบ้านบ้าง แทนการใช้แอร์ในบางช่วง แล้วก็ที่สำคัญลองทำอาหารกินเองแทนการสั่ง Food Delivery เพราะมันสร้างขยะจำนวนมากต่อการสั่งหนึ่งครั้ง
“แต่ถ้าผมเป็น ส.ส. ผมคงอยากจะให้ประเทศเราบังคับติด Solar Cell ทั้งประเทศ เพราะประเทศเราแม่งร้อนฉิบหาย ร้อนแบบ มึงจะร้อนอะไรขนาดนี้ นี่คือพลังงานที่มันพิสูจน์แล้วว่าเป็นพลังงานทางเลือกจริงๆ และที่ควรจะทำตั้งนานแล้ว เปลี่ยนมันให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกต่อโลกบ้างก็ยังดี
“คนมักจะคิดเรื่องคุ้มทุนไม่คุ้มทุน แต่โลกมันไม่ได้คิดภาษีเรา คุณช่วยโลกอยู่นะ พลังงานสะอาดมันคุ้มนะเพราะในทุกวันคุณบริโภคพลังงานอยู่ พลังงานที่ใช้ร่วมกัน เราหยิบมาจากในธรรมชาติอยู่ หยิบมาจาก ป่า ลม น้ำ คนไม่ได้คิดตรงนี้”
วิธีคิดดังกล่าวเม้งได้หยิบเอาไปใช้ที่ออฟฟิศชูใจ ในการติดแผง Solar Cell เพื่อเป็นการทดลองในสิ่งที่เขาคิดและพูดมาโดยตลอด จริงๆ แล้วการติดตั้ง Solar Cell ภายในครัวเรือนอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ฟังแล้วตื่นเต้น แต่แนวโน้มพฤติกรรมที่ผ่านมาผู้คนเปลี่ยนมาอาศัยมาใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้นส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30 – 50 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุผลนี้ SCG Solar Roof Solutions จึงกลายเป็นหนึ่งทางเลือกสีเขียวที่น่าสนใจ เพราะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วการติด Solar Cell มันคุ้มทุนเหรอ ในระยะยาว แต่สำหรับเม้ง เม้งมองว่าคุ้ม เพราะเขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลก พลังงานที่บริโภคต่อธรรมชาติ เขาได้มีส่วนในการรับผิดชอบ และการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดของเขาก็ได้มีส่วนในการช่วยทั้งประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยลดโลกร้อนได้ในเวลาเดียวกัน
กินอาหารยังไงให้เหลือ Waste น้อยที่สุด
“ประเด็นแรกคืออาหารถ้าไม่ให้เกิด Food Waste นี่ยากครับ เพราะเรื่องกินเราหยุดตัวเองไม่ได้ เรากินเยอะมันก็สร้างขยะเยอะ แต่มันก็มีทางออกอยู่บ้าง ซึ่งผมภูมิใจทุกครั้งที่ได้บอกว่าบ้านผมไม่มีเศษอาหารที่ต้องไปรบกวนขยะข้างนอก
“ผมเพิ่งไปรู้จักนวัตกรรมแบบบ้านๆ ที่เรียกว่า Green Cone ของราชบุรี ไอ้สิ่งนี้มันทำให้ผมจัดการเศษอาหารได้ง่ายขึ้นมาก ด้วยการเอาถังสีดำมาคว่ำเป็น Green Cone ผมซื้อแม่งเลย สิบยี่สิบอัน แม่งถูก อันละร้อยกว่าบาทแล้วช่วยชุมชน ผมปักทั่วบ้าน รอบรั้วบ้านเลย บ้านคนอื่นผมก็ไปขอปัก มันก็สะดวกเรา เอาจริงๆ ไม่เกี่ยวกับเราจะได้ดินดี ผลผลิตดีนะ เราสบายแล้วมันก็เป็นปุ๋ยไปในตัว”
วิธีการทำงานของ Green Cone คือการนำถังพลาสติกปักลงไปบนดิน โดยทำฝาปิดไว้ด้านบนเมื่อมีเศษอาหารหรือเปลือกผลไม้ ก็สามารถนำมาทิ้งไว้ในถัง หลักการทำงานของมันคือใช้ความมืดและความร้อน เพื่อให้จุลินทรีย์ค่อยๆ ย่อยสลายเศษอาหาร
พอจุลินทรีย์ทำงานไส้เดือนก็จะเข้ามาช่วยในการพรวนดิน ตามกลไกของธรรมชาติ เปลี่ยนมันให้กลายเป็นปุ๋ยให้เราได้ปลูกต้นไม้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทำลายธรรมชาติภายในบ้าน
ประเด็นที่สอง นอกจากเศษอาหารแล้วสิ่งที่ยากในเรื่องของการกินคือ คนเราไม่ได้ทำกับข้าวกินเองได้ทุกวัน เงื่อนไขชีวิตของคนเราต่างกัน บางคนไม่มีเวลาเพียงพอเตรียมอาหาร ก็ต้องเลือกสั่ง Food Delivery หรือแม้กระทั่ง เราไปจ่ายตลาดเพื่อที่จะเลือกวัตถุดิบ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนมี แพ็กเกจจิ้ง มักมีพลาสติก หรือมีกระดาษติดมา อยู่เสมอ ของทั้งหมดมันล้วนเป็นขยะที่เกินการควบคุมของเรา
“สิ่งที่ง่ายที่สุดในการจัดการขยะภายในบ้าน คือการแยกขยะภายในบ้าน เช่นแยกพลาสติก แยกกระดาษ ออกจากกัน ก่อนนำไปส่งที่รถขยะ เพราะปัญหาของขยะทุกวันนี้ล้วนเกิดจากการไม่แยกขยะก่อนทิ้ง
“เราทิ้งเศษอาหาร พลาสติก ฯลฯ รวมกันไว้ในถุงเดียว นำไปสู่ปัญหาการเกิดของเสีย ที่ไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ผมก็เลยจัดการขยะในบ้านให้เสร็จสรรพ แล้วถ้ามีรถขนขยะมา ผมเป็นคนเลือกที่จะถือไปให้เขา เลือกเหล็ก เลือกกระดาษ เลือกขวด ไปให้เขา ให้เขาเอาของที่สามารถเอาไปขายต่อได้”
บ้านเม้งเต็มไปด้วยต้นไม้ แล้วเราจะให้คนหันมาปลูกต้นไม้ได้ยังไงบ้าง
“ผมคงจะบอกกับเขาว่าลองปลูกดู
“ความรู้สึกตอนปลูกต้นไม้ขึ้นมันพิเศษนะ มันเหมือนคลอดลูกเลย เพราะเราทำให้ชีวิตหนึ่งเกิดขึ้นมา ทุกคนลุ้นหมดว่ามันจะขึ้นมั้ย แต่การเห็นชีวิตหนึ่งมันงอกขึ้นมา มันสร้างความรู้สึกว่าเราทำได้ ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ต้นไม้อะไร ต้นไม้ให้พลังกับเราเยอะ เมื่อชีวิตเติบโตขึ้น มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เราคาดหวังในตอนแรก มันให้ความรู้สึกว่าเราเปลี่ยนโลกได้ มันปลูกความรู้สึก กับธรรมชาติ กับต้นไม้กับพื้นที่สีเขียวอีกแบบหนึ่ง เราจะรักพื้นที่สีเขียวมากขึ้น อย่างขนุนข้างบ้านผมปลูกแล้วมันขึ้นผมโคตรมีความสุขเลย เพราะเราได้กิน เราได้ประโยชน์”
เปลี่ยนเพื่อโลกที่คุณแคร์
นอกจากบทบาทการทำเพื่อโลกแล้ว ตลอดวันที่เราได้พูดคุยและเรียนรู้เรื่องราวของสิ่งแวดล้อมกับเม้ง เรามักจะได้ยินเสียงเด็กสาวคนหนึ่งวิ่งเล่นและหัวเราะด้วยท่าทีอารมณ์ดีแจ่มใส เด็กคนนั้นมีชื่อว่า ‘สติมา’
เด็กสาวที่ทำให้เม้งก้าวเข้าสู่บทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะการเป็นพ่อคน
“การมีครอบครัวเป็นสิ่งที่ตอกย้ำเราเสมอว่า เราอยากจะดูแลโลกใบนี้ให้ดีขึ้นเพราะเราเป็นห่วง อนาคตของเขา และเราจะรู้สึกไม่ดีเวลาเราไปซื้อเครื่องดื่มแล้วดันเสิร์ฟหลอดมา เพราะเราไม่ได้บอกเขา ว่าเราไม่เอาหลอด มันรู้สึกผิดจริงๆ
“สิ่งที่ผมทำอาจจะไม่ใช่ความรักต่อครอบครัว แต่เป็นความรู้สึกผิดต่อโลก และต่อลูกที่น้อยลง ผมเชื่อว่าเด็กยุคนี้โตไปเขาต้องบ่นแน่ๆ ว่าคนแก่ทำไมใช้ชีวิตกันแบบนี้ไม่ห่วงคนรุ่นหลังเลย แต่ลูกผมคงด่าผมน้อยลง อย่างน้อยพ่อกูก็ยังทำอะไรบ้าง สิ่งที่ผมทำอยู่ในทุกวันสำหรับผมมันคือการเสียภาษีคืนให้กับโลก”
คำถามต่อมาเราอดสงสัยไม่ได้ว่าความตั้งใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เขาสนใจส่งต่อผ่านเด็กคนนี้มากแค่ไหน
“ผมไม่ได้สอนเขาเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย เราเป็นแบบที่เราเป็น เราทำแบบที่เราทำ ให้มันเป็นปกติ คือผมคิดว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มันมาจากการสอน การบังคับ ผมถึงระมัดระวังอย่างเช่น เรื่องการสั่งให้น้องที่ออฟฟิศใช้ถุงผ้า ถ้าเราไปสอนมากๆ เขาก็ไม่อยากทำ เราทำแบบที่เราเชื่อ ผมคิดว่าถ้าเขาโตมาเขาก็จะเห็นสิ่งที่เราทำว่ามันเป็นสิ่งปกติ ให้เขาค่อยๆ ซึมซับในสิ่งที่เราทำ ดีกว่าไปสั่งสอนเขาโดยตรง”
บทเรียนจากการได้พูดคุยกับเม้ง สอนให้เรารู้ว่า ทุกวันนี้มีคนคนหนึ่งที่ไม่เคยพูดเลย เขาปิดปากเงียบมาโดยตลอด นั่นก็คือโลกกับธรรมชาติ อากาศ ดิน ท้องฟ้า แสงแดด ล้วนเป็นต้นทุนที่มนุษย์ได้มาฟรี สิ่งเหล่านี้ทำให้เราขูดรีดและบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาลโดยที่โลกไม่เคยคิดอะไร ถ้าเราคิดถึงเขาจะรู้ว่าความพังพินาศที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด โลกร้อน ภัยพิบัติ โลกคิดภาษีกับเราอยู่ ถ้าเราไม่คืนภาษีให้เขา เขาก็ให้โลกอีกแบบ ถ้าเราทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น การหันมาแคร์โลกเหมือนที่เราแคร์ตัวเอง หันมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี