NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย - Urban Creature

‘กรุงจาการ์ตา’ คือเมืองหลวงของอินโดนีเซียที่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหาความแออัด เพราะมีประชากรอยู่ราว 10.5 ล้านคน ในพื้นที่เพียง 661.5 ตารางกิโลเมตร ทำให้เกิดปัญหาเมืองแสนซับซ้อนตามมา เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การจราจรติดขัด ปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินทรุดตัว และมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5

เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ในปี 2019 รัฐบาลอินโดนีเซียจึงประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังผืนป่าในจังหวัดกาลีมันตัน บนฝั่งตะวันออกของเกาะบอร์เนียว โดยเมืองหลวงใหม่มีชื่อว่า ‘นูซันตารา’ (Nusantara) ซึ่งแปลว่า ‘หมู่เกาะ’ ในภาษาอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียต้องการสร้างนูซันตาราให้เป็นเมืองที่ยึดเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญ โดยหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเมืองมีชีวิตชีวา และเป็นอีกหนึ่งเมืองต้นแบบเรื่องความรักษ์โลก

เมืองอัจฉริยะที่ปกป้องผืนป่า

NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ อินโดนีเซีย นูซันตารา เมือง ไฮเทค ยั่งยืน

นูซันตารามีพื้นที่ครอบคลุม 2,560 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าเมืองหลวงเดิมเกือบ 4 เท่า โดยจะจัดสรรพื้นที่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ให้เป็น ‘พื้นที่เมือง’ ส่วนอีกประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์จะรักษาไว้เป็น ‘พื้นที่สีเขียว’

สัดส่วนราว 65 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่สีเขียวจะปกคลุมไปด้วยป่าเขตร้อนที่ทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอน สอดคล้องกับเป้าหมายออกแบบเมืองให้เป็น ‘เมืองป่าไม้ที่ยั่งยืน’ (Sustainable Forest City) และเป็นเมืองปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2045

นูซันตาราให้ความสำคัญกับ 5 มิติของการอยู่อาศัยสำหรับเมืองสมัยใหม่แห่งอนาคต ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Green), เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Smart), การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive), ความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหา (Resilient) และความยั่งยืน (Sustainable)

NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ อินโดนีเซีย นูซันตารา เมือง ไฮเทค ยั่งยืน

ในเรื่องของการเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) นูซันตาราจะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการจัดการเมืองในด้านต่างๆ เช่น การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย อาคารที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขแบบดิจิทัล ฯลฯ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัยทุกคน

มากไปกว่านั้น นูซันตารายังมีแผนใช้เทคโนโลยีส่งเสริมอุตสาหกรรมและทรัพยากรมนุษย์ ให้คนในเมืองมี ‘ทักษะทางดิจิทัล’ (Digital Talents) เพื่อเติมเต็มธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ ที่อาจต้องการบุคลากรที่มีความสามารถทางดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต

รวมไปถึงแผนเปลี่ยนธุรกิจต่างๆ ทั้งขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้เป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถแข่งขันทางดิจิทัลในระดับโลก และส่งเสริมเศรษฐกิจของอินโดนีเซียไปพร้อมๆ กัน

เมืองน่าอยู่ที่พร้อมช่วยให้คนเติบโต

NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ อินโดนีเซีย นูซันตารา เมือง ไฮเทค ยั่งยืน

อินโดนีเซียอยากทำให้นูซันตาราเป็นมากกว่าเมืองศูนย์กลางของระบบราชการ จึงต้องการสร้างระบบนิเวศที่พร้อมรองรับผู้คนหลากหลายกลุ่ม และส่งเสริมความสามารถทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้เมืองเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ปัจจัยที่จะทำให้นูซันตาราเจริญเติบโตมีสามด้าน ได้แก่ ความน่าอยู่ โครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง

ในเรื่องของ ‘ความน่าอยู่’ นอกจากการสร้างพื้นที่เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวราว 56,000 เฮกตาร์ (25 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด) นูซันตารายังตั้งใจวางผังเมืองให้เป็น ‘เมืองที่ใช้เวลา 10 นาที’ (10-minute City) หมายความว่าชาวเมืองจะสามารถเดิน ขี่จักรยาน หรือนั่งรถขนส่งสาธารณะไปทำงาน ไปโรงเรียน หรือไปซื้อของได้แบบสบายๆ ในระยะทางสั้นๆ จากบ้านตัวเอง

NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ อินโดนีเซีย นูซันตารา เมือง ไฮเทค ยั่งยืน

แนวคิดเมือง 10 นาทียังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง และมีส่วนช่วยให้นูซันตาราทำตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้สำเร็จอีกด้วย

ส่วนแผนการพัฒนาเมืองระยะที่สอง ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2024 – 2029 นูซันตาราเตรียมสร้างศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรมแห่งใหม่ มหาวิทยาลัย และสถานพยาบาลระดับโลก

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการย้ายศูนย์วิจัยและศูนย์นวัตกรรมต่างๆ ที่มีชื่อเสียงมาไว้ที่นูซันตารา จะช่วยสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาใช้ชีวิตและใช้จ่ายในเมืองนี้ และทำให้เมืองหลวงแห่งใหม่นี้มีเศรษฐกิจและสังคมที่มีชีวิตชีวา

เมืองที่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า?

NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ อินโดนีเซีย นูซันตารา เมือง ไฮเทค ยั่งยืน

แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียตั้งใจออกแบบนูซันตาราให้เป็นเมืองป่าไม้ที่โอบรับความยั่งยืนอย่างรอบด้าน แต่หลังจากเริ่มก่อสร้างไม่นาน เมืองหลวงใหม่ก็โดนวิจารณ์ว่ากำลังทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทบความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองและสัตว์ป่าหลายชนิด

ในปี 2023 Uli Arta Siagian นักรณรงค์ป่าไม้จากองค์กรพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมชื่อ WALHI เตือนว่า โครงการนี้จะเป็น ‘หายนะทางระบบนิเวศครั้งใหญ่’ จากการเร่งตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งคาดว่ามีอายุมากกว่า 100 ล้านปี

มากไปกว่านั้น นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายคนยังกลัวว่า กิจกรรมของมนุษย์ในนูซันตาราอาจเป็นอันตรายต่อที่อยู่อาศัยของ ‘สัตว์พื้นเมือง’ เช่น อุรังอุตังและหมีหมา เพราะว่าเมืองใหม่ตัดผ่านทางเดินของสัตว์เหล่านี้พอดี

NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ อินโดนีเซีย นูซันตารา เมือง ไฮเทค ยั่งยืน

Dwi Sawung ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานจาก Indonesian Forum for Living Environment อธิบายเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วทางการควรย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่ก่อน แต่เนื่องจากต้องการเร่งสร้างเมืองให้เสร็จ พวกเขาจึงดำเนินการโดยไม่ย้ายสัตว์ออกไปก่อน

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ‘การคุกคามชนพื้นเมือง’ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีบางกลุ่มที่สูญเสียที่ดินบางส่วนไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขากลัวว่าการขยายตัวของเมืองใหม่อาจทำให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลง

ทุกวันนี้โครงการนี้กำลังกระทบความเป็นอยู่ของชนพื้นเมือง เช่น มลพิษทางเสียงจากการก่อสร้าง หรือแม้แต่การปิดกั้นแม่น้ำ ทำให้คนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่พวกเขาใช้อาบน้ำและทำอาหารมาโดยตลอด เท่านั้นไม่พอ ชนเผ่าพื้นเมืองยังกลัวว่าพวกเขาจะต้องสูญเสียบ้านและพื้นที่เพาะปลูกจากการย้ายเข้ามาของคนจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ทางการอินโดนีเซียให้คำมั่นสัญญาว่า พวกเขาจะเคารพสิทธิของชนพื้นเมือง และมอบเงินชดเชยให้กับผู้ที่สูญเสียบ้าน ทว่าขั้นตอนนี้อาจทำได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกส่งต่อให้ครอบครัวชนพื้นเมืองโดยไม่มีเอกสาร และตอนนี้ยังมีชนพื้นเมืองหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

NUSANTARA เมืองหลวงใหม่ อินโดนีเซีย นูซันตารา เมือง ไฮเทค ยั่งยืน

Sources :
Al Jazeera | bit.ly/4dzokCS
ANTARA News | bit.ly/3QHRSod, bit.ly/3UDwi5p
AP | bit.ly/3wwoj1O
BIMP-EAGA | bit.ly/44AKC37
CNBC | bit.ly/4amBIaC
Equal Times | bit.ly/3QIFdBn
France 24 | bit.ly/3ygNztA
PBS NewsHour | shorturl.at/oHK13
Reuters | shorturl.at/biQS1
The Jakarta Post | bit.ly/3ycTrnI
The Japan Times | bit.ly/3UVmftx
The New York Times | bit.ly/4bg45IK
The Wall Street Journal | bit.ly/3wwor1

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.