ความล้มเหลวในการจัดการปัญหาวิกฤติการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย ที่นับวันตัวเลขการติดเชื้อพุ่งกระจายขึ้นเหมือนดอกเห็ดจนอาจจะมากถึงหลักหมื่นต่อวัน ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขอาจจะล่มสลายได้
ทว่าความรุนแรงของพิษจากไวรัสร้ายโควิดกลับมากไปกว่าการเกาะกินสุขภาพของประชาชน แต่หมายรวมถึงการเกาะกิน ‘ระบบเศรษฐกิจไทย’ อย่างไม่มีชิ้นดี
รายงานของกระทรวงแรงงานเผยว่า ในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 มีผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมจำนวน 303,984 คน และผู้ว่างงานจากสาเหตุการถูกเลิกจ้างจำนวน 91,794 ซึ่งหากดูเพียงตัวเลขและกราฟจะเห็นว่าสถานการณ์ในภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น เพราะตัวเลขผู้ว่างงานลดลง
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนกันยายนปี 2563 ที่ผ่านมา จะเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีอัตราการว่างงานจากสาเหตุการเลิกจ้างสูงถึง 242,114 คน นับเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ของประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รุนแรงเสียยิ่งกว่า วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ปี 52 ที่มีสถิติคนตกงานสูงสุดอยู่ที่ 83,109 คน และวิกฤติการณ์น้ำท่วมปี 54 ที่มีสถิติสูงสุดที่ราว 42,689 คนเสียอีก
แต่ความน่ากังวลใจคือ แม้อัตราว่างงานกำลังลดลง ก็นับว่าสูงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่น้อยเลยทีเดียว มากไปกว่านั้น สถิติตัวเลขคนว่างงานจากสาเหตุคนเลิกจ้างของกรมแรงงาน เป็นการอ้างอิงสถิติจากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยสาเหตุเลิกจ้างในระบบประกันสังคม ยังไม่นับรวมถึงพ่อค้าแม่ค้า คนประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถระบุเข้าระบบว่ามีอีกเท่าไหร่ที่บาดเจ็บล้มตายจากพิษเศรษฐกิจและพิษของเชื้อไวรัส
เป็นที่น่าเศร้าใจว่าท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ตัวเลขการติดเชื้อพุ่งเป็น New High ในแต่ละวัน จนอาจจะถึงหมื่นคนในอนาคต หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เราคงจะได้เห็นการทำลายสถิติของตัวเลข New High ทั้งจากจำนวนผู้ติดเชื้อและตัวเลข New High ของคนว่างงานเร็วกว่าที่คิด ถ้าภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
Sources :
ระบบเตือนภัยด้านแรงงาน | http://warning.mol.go.th
ศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ | http://nlrc.mol.go.th/research/OEBLtc4/04OEBLtc4.pdf