ทำไมผู้ใหญ่อยากกลับไปเป็นเด็ก ที่เจ็บสุดแค่หกล้ม - Urban Creature

When childhood dies, its corpses are called adults.
เมื่อความเป็นเด็กตายไป ร่างที่เหลือไว้จึงเรียกว่า…ผู้ใหญ่

— Brian Aldiss —

ประโยคจากหนังสือเรื่อง Billion Year Spree : The True History of Science Fiction (1973) ของนักเขียนชาวอังกฤษอย่าง Brian Aldiss คงเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงเสียเท่าไหร่ เพราะผู้คนจำนวนมากที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ต่างร่ำร้องถึงวันที่เคยเป็นเด็กน้อย

ตอนสมัยยังเป็นเด็ก เราเฝ้ารอวันที่จะถูกเรียกว่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ความไร้เดียงสา ความค่อยเป็นค่อยไปแบบฉบับเด็กน้อย กลับกลายเป็นสิ่งที่วัยผู้ใหญ่อย่างเราคิดถึง และมักดึงรอยยิ้ม ความสนุกสนานในวันวานมาเป็นเครื่องมือทุเลาความเจ็บปวด ลบล้างความเปลี่ยวเหงา และวาดความสุขในวิมานได้ชั่วขณะ

Loss of Innocence | ความไร้เดียงสาที่หล่นหาย

ช่องว่างระหว่างความไร้เดียงสาของเด็ก กับการออกตามหาประสบการณ์ในวัยผู้ใหญ่ คงเหมือนหลุมดำที่หาคำตอบให้ไม่ได้ คงคล้ายความห่างของแต่ละซี่ฟันที่ยากจะวัดค่าของมันให้ถูกต้อง เพราะเราคงไม่รู้ตัวว่าความไร้เดียงสาหล่นหายไปเมื่อไหร่กัน

วุฒิภาวะของคนจะเปลี่ยนไปทุกๆ 7 ปี

ทฤษฎี 7 ปี อาจใช้อธิบายภาวะสูญเสียความไร้เดียงสาได้ เมื่อเหล่านักวิทยาศาสตร์วิจัยออกมาว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทุกๆ 7 ปีในหน่วยที่เล็กที่สุดระดับเซลล์ (Cellular Level) ที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของเรา โดยการเติบโตของร่างกาย ริ้วรอยเหี่ยวย่นอาจไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากจนเหมือนว่าเรากลายเป็นคนใหม่ แต่ลึกลงไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า ความคิด ความรู้สึกต่างๆ ก็เปลี่ยนไปทุก 7 ปีด้วยเช่นกัน

คล้ายกับว่าตอนเป็นเด็กที่ยังไม่รู้ประสา เรากำลังเรียนรู้เรื่องพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เมื่อโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็คงพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์และทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่พบเจอเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และในวันที่เราเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ เราเข้าใจความซับซ้อนของการมีชีวิตอยู่จนไม่ตื่นเต้นที่จะเรียนรู้อะไร เหมือนอย่างที่เด็กเล่นสนุกง่ายๆ กับโลกของตัวเองด้วยดินสอสีหนึ่งแท่งและกระดาษเปล่า อาจจะเป็นตอนนั้นที่ความไร้เดียงสาที่เคยมี มันไม่อยู่อีกต่อไปแล้ว

Nostalgia Mode | ฉันคิดถึงเธอคนที่อยู่ไกลแสนไกล

เพราะความไร้เดียงสาขาดหาย หลายคนเลยมีช่วงเวลาคิดถึงวันวาน ซึมซับอดีตที่ไม่สามารถย้อนกลับ ความคิดถึงรูปแบบนี้ทางจิตวิทยาคลินิกเรียกว่า Nostalgia หรือ อารมณ์ถวิลหาอดีต

Nostalgia เป็นแนวคิดย่อยสำคัญในยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีซ โดยเกิดจากการผสมผสานระหว่างคำว่า Nosto แปลว่า Homecoming หรือการกลับบ้าน กับคำว่า Algos แปลว่า Pain หรือความเจ็บปวด

ขณะคิดถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต ส่งผลให้รู้สึกถึงความอบอุ่น

ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ คงจะคล้ายกับอาการ Homesick แต่อยู่ระดับที่เป็นความผิดปกติทางใจ จนถึงขั้นรำลึกนึกถึงอดีต เราจะติดอยู่ระหว่างอดีตและปัจจุบันที่ไม่มีทางออก เอาแต่มองเวลาเป็นวงกลม (Cyclical Perception of Time) จินตนาการถึงโลกที่เราสูญเสียไปแล้ว บ้างเป็นโมเมนต์เล่นสนุกสมัยเด็ก บ้างเป็นรอยยิ้มในวันที่มีแฟนคนแรก หรือบ้างอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานเสียด้วยซ้ำ

ความรู้สึกขาดผสมกับความกดดันที่สังคมตีกรอบ ความผิดหวังเมื่อล้มจากความคาดหวัง และความวิตกกังวลในความมั่นคงที่เลื่อนลอย คงเป็นสูตรสำเร็จคอยขับเคลื่อนให้อาการโหยหาอดีตที่ผู้ใหญ่หลายคนเผชิญเกิดขึ้น ซึ่งคนส่วนมากจะกลับไปหาวันวานยังหวานอยู่โดยใช้จินตนาการหล่อหลอมโลกที่เคยเป็นจริงในวัยเด็กที่ตอนนี้เหลือเพียงความทรงจำให้กลับคืนมา จนบางครั้งเราอาจหมดศรัทธากับความเป็นไปในโลกแห่งความจริง

Obsess with Retro | โอบกอบคืนวันแห่งความสุขในจินตนาการ

ปัจจุบันนั้นขาด จึงสร้างเพื่อทดแทน สู่วัฒนธรรมการบริโภครสนิยมย้อนหลัง (Retro Style) ปรากฏออกมาในรูปแบบของไลฟ์สไตล์ วัตถุ สิ่งปลูกสร้าง เพลง ภาพยนตร์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักของหลายประเทศอย่างการท่องเที่ยวแบบโหยหาอดีต (Nostalgia Tourism)

หากให้ยกตัวอย่างของการท่องเที่ยวแบบ Nostalgia ที่ใกล้ตัวที่สุด คงหนีไม่พ้นการไปเที่ยวสวนสนุก สถานที่ที่ผู้ใหญ่ไปย้อนวัย ให้รู้สึกตื่นเต้นและหัวเราะไปกับโลกของสิ่งจำลองที่ไม่เคยมีอยู่จริง จากที่เคยใส่สูทผูกไททำงาน กลับหยิบเสื้อผ้าสีสันสดใสมาสวมใส่ จับจูงกันไปสวนสนุก แวะซื้อที่คาดผมตัวการ์ตูน กินขนมสายไหมหลากสีสัน ต่อคิวเล่นเครื่องเล่นต่างๆ หรือถ่ายรูปกับมาสคอต

ทิ้งความเครียดและความเจ็บปวดในวัยผู้ใหญ่ หลุดเข้าไปเที่ยวเล่นกับความสนุกแบบเด็กๆ

Nostalgia ยังถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งเรียกว่า การตลาดแห่งความคิดถึง (Nostalgic Marketing) ซึ่งในสังคมไทยบ้านเราคงเห็นกันได้ชัดเจนจากการสร้างตลาดย้อนยุคที่เกิดขึ้นเรียงรายกันเป็นดอกเห็ดในราว 10 ปีที่ผ่านมา

ตลาดย้อนยุคไม่เพียงชักชวนให้วัยผู้ใหญ่นึกถึงวิถีชีวิตในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ยังหยิบจับเอาความเป็นไทยมาสร้างคุณค่าที่มีความหมายเชิงสัญญะของภาวะโหยหาอดีตในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ที่ดึงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมาเป็นจุดขาย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ที่พาเราไปซึมซับกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และงานประเพณีที่แต่ละท้องถิ่นมี

เหล่านั้นคือความสุขแบบฉบับ Nostalgia ที่วัยผู้ใหญ่อย่างเรานึกถึงด้วยรูปแบบหวานปนขม เพราะบางครั้งเมื่อคิดอยากกลับไปเป็นเด็กที่เจ็บสุดแค่หกล้ม แต่เราต่างก็รู้ดีว่าวันนั้น…มันไม่เคยมีอยู่จริง

”Wish I could turn back time, to the good old days.”


Sources :
Psychology Today | shorturl.asia/9BhgT
Semantic Scholar | shorturl.asia/IOnhr
TruePlookpanya | shorturl.asia/9qrwA
วารสารอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน | shorturl.asia/v62mn
หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | shorturl.asia/4jq7S

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.