ย่ำสนธยาวันนั้นฟ้าสีสวย นกหลายฝูงกำลังบินกลับรัง เบื้องหน้าภูเขาสูงซ้อนกัน ดวงจันทร์กลมโตลอยเด่นในวันพระใหญ่
“ความงามทั้งหลายที่เราเห็นต่างบันทึกกันคนละแบบ ช่างภาพลั่นชัตเตอร์ จิตรกรละเลงสีบนเฟรมผ้าใบ ศิลปินบรรเลงเป็นบทเพลง และนักเขียนบันทึกผ่านตัวอักษร”
เรานึกถึงประโยคนี้อีกครั้งยามสามนาฬิกา หลังปิดหน้าสุดท้ายของ ‘นกก้อนหิน’ ที่เขียนโดย ‘บินหลา สันกาลาคีรี’ นวนิยายแอ็กชันลุ้นระทึกที่เคลือบด้วยเรื่องรักแสนโรแมนติก
นกก้อนหิน พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์วงกลม ในปี 2552 อีกสามปีถัดมาพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์ไรท์เตอร์ และในเดือนมิถุนายนปีนี้ หนังสือเล่มนี้ก็พิมพ์เป็นครั้งที่สามโดยสำนักพิมพ์บางลำพู (banglumpoo) ของ ‘หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์’
“เมื่อคุณบอกว่าอยากพิมพ์ หนึ่ง, ผมดีใจ สอง, ผมต้องกลับไปขวนขวายอ่าน ประเมินมัน ว่ามันยังอยู่ในวิสัยที่คนจะเสพสุนทรียะหรือเสพความคิด เรื่องเล่าที่เราต้องการส่งมอบและตั้งคำถามให้เขาได้อยู่มั้ย ถ้าได้ก็โอเค…กับ ‘นกก้อนหิน’ ผมไม่คิดว่ามันจะมีคำถาม หรือมีปัญหาในเรื่องที่ผมกังวลอยู่ โดยสรุปก็คิดว่าน่าจะยังผ่านอยู่ ยังอ่านได้ แต่บางทีผมก็ไม่กล้าพูดตรงๆ” – บางบทสนทนาของบินหลา ที่วรพจน์บันทึกไว้ในช่วงท้ายเล่มนกก้อนหินพิมพ์ครั้งล่าสุดว่าไว้แบบนี้
จากการสอบถามผู้อ่านหน้าใหม่วัยละอ่อน หลายคนเห็นด้วยกับข้อความของนักเขียนว่านิยายเล่มนี้ยังไม่ตกยุคสมัย และยังทำหน้าที่มอบสุนทรียะระหว่างบรรทัดให้ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเรื่องเล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อ 14 – 15 ปีที่แล้ว
“เบรกแตก, รวดเดียวจบ, โคตรมัน, สนุกฉิบหาย, เดือดสัส ฯลฯ” บางส่วนรีวิวจากชาวนักอ่าน
เนื่องจากอ่านจบอีกครั้งกับพิมพ์ใหม่ครั้งนี้ เราอยากชวนมาทบทวน สำรวจ และศึกษาดู ‘ของ’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของ ‘บินหลา สันกาลาคีรี’ นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่ใช้ประกอบในการเล่าเรื่องนิยายที่หลายคนยกให้เป็นหนังสือในดวงใจเล่มนี้
ตัวละครของบินหลา
บินหลาเคยบอกว่าสำหรับนิยาย บรรยากาศ ฉาก เนื้อเรื่อง หรือการสื่ออารมณ์ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ‘ตัวละคร’ นกก้อนหินก็เป็นเช่นนั้น เมื่ออ่านไล่เรียงหน้ากระดาษไปเรื่อยๆ ทุกตัวละครในเรื่องล้วนค่อยๆ มีตัวตนขึ้นมาในใจของผู้อ่าน เกิดเป็นความเกลียดชัง โกรธแค้น ความเศร้า หดหู่ น่าสงสาร ความสุข สนุก อิ่มเอมใจ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสะท้อนกลับมาทุกครั้งที่พลิกหน้ากระดาษ เราและตัวละครเติบโตไปพร้อมกัน
นกก้อนหินมีตัวละครหลัก 3 คน ได้แก่
– ‘อังโตน’ ช่างซ่อมรองเท้านัยน์ตาสีสนิมอมความโศก ผู้มีพาหนะคู่ใจเป็นจักรยานเสือภูเขา
– ‘เยจิน’ หญิงสาวทายาทบริษัทจักรยานชื่อดังในประเทศเกาหลี
– ‘ผาฝน’ นางแบบวัยรุ่นชาวเชียงใหม่ที่ใช้ชีวิตรายล้อมด้วยวัตถุนิยม เธอมีชายหนุ่มวัยใกล้กันชื่อ ‘พร่างฟ้า’ เป็นคนรักแสนดีที่คอยหยิบยื่นสิ่งของราคาแพงให้
นอกจากนี้ยังมีตัวละครสมทบอีกมากมายซึ่งมีความหลากหลายทางอาชีพและสำเนียงภาษา เราคิดว่าเหตุผลที่ตัวละครของบินหลามีเสน่ห์มาก น่าจะมาจากการที่เขาศึกษาผู้คนผ่านนิสัยช่างสังเกต รวมถึงจดจำรายละเอียดจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ การได้พูดคุยและเรียนรู้วิถีชีวิตอื่นๆ ทำให้เรื่องเล่าของเขาเข้มข้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ความเชื่อท้องถิ่น เรื่องลับๆ ในวงสนทนา หรือแม้แต่การจำลองตัวเองให้เป็นใครคนนั้น เพื่อนำมาใช้สร้างตัวละครที่มีมิติแตกต่างหลากหลาย
“ปีหนึ่งมีสี่ฤดู ต่อให้อีกสี่ปีก็แค่สี่ฤดู ฉันไม่ได้รอเธอนานกว่านี้”
ประโยคบนหน้าปกหนังสือ คือคำพูดของเยจิน หญิงสาวคนรักของอังโตน ทั้งคู่สัญญาว่าจะจากกัน 5 ปีโดยไม่มีจดหมายและโทรศัพท์ เพื่อพิสูจน์ความรักที่มีต่อกัน
“คนทั้งโลกปลูกดอกไม้ แต่ใครบางคนเลือกที่จะปลูกก้อนหิน อย่าคิดว่าก้อนหินไม่มีชีวิต หินบางก้อนมีชีวิต เพียงแต่ต้องอดทนรอคอย และอาจต้องรอคอย” (จากหน้า 193)
ในปีสุดท้ายของการรอคอย อังโตนผู้ซื่อสัตย์ในคำมั่นสัญญาต้องตกกระไดพลอยโจนไปกับการช่วยเหลือผาฝน ที่ประสบชะตากรรมในต่างแดน วันเวลาล่วงเลยผ่านไปความชิดใกล้ก่อตัวขึ้นเป็นความผูกพันครั้งใหม่ เกิดเป็นเรื่องราวการผจญภัย เอาชีวิตรอด ที่ลุ้นระทึกในทุกบรรทัด
บรรยากาศและสถานที่ของบินหลา
บินหลาคือนักเขียนผู้ชำนาญด้านการเดินทางด้วยจักรยาน รู้ได้จาก ‘หลังอาน’ หนังสือบันทึกการเดินทางของเขาที่ขี่รถถีบจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ด้วยความเร็วในระยะการปั่น สองตาและสองเท้า ทำให้เขาจดจำรายละเอียดระหว่างรายทางได้เป็นอย่างดี
เพราะแบบนั้นเขาถึงบรรยายหลายฉากในนกก้อนหิน จนทำให้ผู้อ่านจินตนาการภาพตามได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดฉากในจังหวัดที่เคยมีบ้านอยู่ที่นั่นอย่างเชียงใหม่ หรือฉากในต่างประเทศที่เดิมทีจะเป็นญี่ปุ่นแต่เจ้าตัวไม่เคยไป จึงเปลี่ยนเป็นเกาหลีที่เคยได้ทุนไปเรียนรู้วัฒนธรรม และอีกฉากหลักของเรื่องคือหลวงพระบาง สถานที่ที่ช่วงหนึ่งของชีวิต บินหลาเคยถีบจักรยานล่องสำรวจวิถีชีวิตผู้คนริมน้ำโขง นับว่าเป็นนิยายที่อิงจากตัวตนของนักเขียนจริงๆ
นอกจากนี้ บินหลายังเป็นนักเขียนที่มีคลังข้อมูลแน่นคนหนึ่ง อาจเพราะจากเคยเป็นพนักงานพิสูจน์อักษรและคอลัมนิสต์ที่นิตยสาร ‘ไปยาลใหญ่’ ทำอาชีพผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สายเศรษฐกิจที่ ‘มติชน’ และนักข่าวหนังสือพิมพ์ ‘ข่าวสด’ รวมถึงทำหน้าที่กัปตันสำนักนิตยสาร ‘ไรท์เตอร์’ ทั้งยังเคยรับจ็อบเป็นไกด์พิเศษนำเที่ยวต่างแดน ฯลฯ
การเดินทางอันยาวนานในสายอาชีพ ทำให้ชีวิตของบินหลาเต็มไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เขามีความรู้รอบตัวจากตำรับตำราหนังสือทั้งหลายที่อ่าน และอีกบางส่วนเป็นประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการถ่ายทอดผ่านตัวอักษรและน้ำเสียงของเหล่าผู้ชำนาญการที่เคยพบปะมา เหล่าวัตถุดิบในชีวิตที่บินหลาเก็บสะสมไว้ถูกนำมาย่อยให้เข้าใจง่าย โดยสอดแทรกไว้ในแต่ละฉากอย่างพอเหมาะพอเจาะ
แต่ละตอนของนกก้อนหินออกแบบไว้กระชับ อ่านสนุกทั้ง 25 ตอน การสลับฉากเป็นไปด้วยความน่าตื่นเต้นทำให้เราอยากรู้ว่าเรื่องราวตรงหน้านั้นจะดำเนินไปแบบไหนอีก
‘นกก้อนหินอ่านแล้วบินได้’ เป็นคำพูดเล่นที่บินหลามักเอ่ยขึ้นเมื่อพูดถึงหนังสือเล่มนี้
เราเองก็คิดเช่นเดียวกันกับผู้เขียน เพราะอ่านทีไรก็อยากโบยบินไปกับเรื่องราวจนวางหนังสือไม่ลง เป็นไปได้ เราอยากเห็นนิยายเล่มนี้ในรูปแบบภาพยนตร์สักครั้ง
ความรักของบินหลา
บินหลาเป็นคนที่มีมุมมองเรื่องความรักที่เด่นชัดมาก ในบรรดาหนังสือกว่ายี่สิบเล่มของเขา เช่น คิดถึงทุกปี (รวมเรื่องสั้น 2541), เราพบกันเพราะหนังสือ (ความเรียง 2552), คนรักของนักเขียน (รวมเรื่องสั้น 2556) ฯลฯ หรือแม้กระทั่งนกก้อนหิน ต่างมีแกนหลักของเรื่องเป็นความรักที่ทำหน้าที่ตั้งคำถามกับผู้อ่านผ่านหลายประโยคสนทนาของตัวละคร
“หนุ่มสาว พวกเธอเชื่อจริงหรือว่าเข้าใจคำว่ารักแท้จริง” (จากหน้า 242)
“คนดีของฉัน คำสัญญาไม่ใช่พันธนาการ เธอต้องเชื่อว่าตัวเธอเป็นอิสระ ปลดปล่อยตัวเองจากสัญญาที่เคยให้แก่กัน ในวันหน้า ถ้าเธอจะกลับมาหาฉันก็เพราะอยากจะกลับมา ไม่ใช่ต้องกลับมาเพราะคำสัญญา ถ้าเธอพบว่าสามารถรักใครบางคนได้มากกว่าฉัน เธอจงรักเขาและเลือกอยู่กับเขา ความรักที่แท้ไม่ใช่ความซื่อสัตย์ ยิ่งไม่ใช่การเรียกหาความซื่อสัตย์ ความรักคือโอกาส ไม่ใช่การจำกัดโอกาส” (จากหน้า 271 – 272)
ทั้งนี้ บินหลาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความรักในชีวิตจริงของเขาไว้ในท้ายเล่มว่า
“ผมล้มเหลวทั้งสองอย่าง ผมเคยสัญญาและรักผู้หญิง แต่ในที่สุดผมก็ไปมีคนใหม่ ก็รู้สึกว่าล้มเหลวและอาจสรุปว่าผมไม่เจอรักแท้ก็ได้”
สำหรับเรา บินหลาเป็นนักเขียนไทยที่ขึ้นชื่อว่าเขียนนิยายได้สนุกมากคนหนึ่ง แม้ ‘นกก้อนหิน’ จะเป็นนิยายเล่มล่าสุดของเขาในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา แต่นักอ่านหลายคนยังคงตั้งหน้าตั้งตารอนิยายเล่มใหม่ของเขาอยู่เสมอ นั่นอาจถือเป็นความสำเร็จที่หนังสือของเขายังมีชีวิตและลมหายใจผ่านยุคสมัยมาจนถึงวันนี้ได้
ถ้าปีหนึ่งมีสี่ฤดู ต่อให้อีกสี่ปีก็แค่สี่ฤดู เราเองก็รออ่านนิยายเล่มใหม่ของบินหลาได้ ไม่ต่างจากเยจินที่รอคอยคนรักเช่นกัน