บางเวลาวาด บางเวลาชง เรื่องเล่าความสุขปลายปากกา ของ ‘น้อยหน่า’ นักเขียนการ์ตูนแห่งขายหัวเราะ - Urban Creature

เราเชื่อว่าทุกคนล้วนมีความฝันในวัยเด็กว่าอยากเป็นอะไร บางคนอยากเป็นหมอรักษาชีวิต บางคนอยากเป็นพ่อครัวคอยทำอาหารอร่อยๆ มาเสิร์ฟลูกค้า หรือบางคนอยากเป็นนักบินอวกาศเจ๋งๆ ที่ได้ออกนอกโลกไปสัมผัสอวกาศ แต่สำหรับ ‘น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี’ ความฝันแรกและความฝันเดียวของเขาคือการเป็น นักเขียนการ์ตูน

| เวลาแห่งความฝัน

“พี่จำไม่ได้แล้วว่า ไม่ได้วาดมาเมื่อไหร่”

หนึ่งประโยคบอกเล่าแต่กินใจคนฟังไม่น้อย เพราะถ้าเราย้อนวันวานในวันที่เป็นเด็กตัวเล็กๆ การได้จับดินสอขีดเขียน หรือละเลงสีแนวแอ็บแสตร็กทำให้เราหลุดเข้าไปในโลกจินตนาการของตัวเอง ราวกับว่าความสุขของวันนี้ คือการได้นั่งวาดภาพดั่งที่ใจต้องการเท่านั้นเอง แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร … พอเราโตขึ้น การจับดินสอวาดภาพกลับสวนทางกับอายุที่ถูกบวกขึ้นในทุกๆ ปี แต่สำหรับพี่น้อยหน่านั้น การวาดภาพไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเก่า

“พี่เชื่อว่าเด็กทุกคนน่าจะชอบวาดรูป อยู่ที่ว่าใครจะหยุดวาดเมื่อไหร่ แต่ส่วนตัวพี่ไม่ได้หยุดวาดตามอายุ แล้วพอเราเริ่มอ่านออก ก็หันไปอ่านขายหัวเราะตามร้านตัดผม พอเราอ่านแล้วก็อยากสร้างเรื่องและอยากเล่าเรื่องของเราเองบ้าง”

แม้ความฝันจะชัดเจนมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่ระหว่างทางไปถึงฝันกลับต้องเผชิญสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา อาจด้วยเรื่องของ ‘กาลเวลา’ ที่ทำให้เมืองจันทบุรีสมัยก่อนไม่มีติวเตอร์ศิลปะเหมือนสมัยนี้ ดังนั้นวิทยาลัยช่างศิลป ในกรุงเทพฯ น่าจะพอเป็นลู่ทางให้ได้เรียนศิลปะอย่างจริงจังบ้าง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้พี่น้อยหน่าจำเป็นต้องทิ้งการเรียนศิลปะไป

“ตอนนั้นผู้ปกครองคิดว่าพี่เกเร แต่จริงๆ พี่ชอบโดดเรียนไปช่วยงานเพื่อนไม่ให้ติด ร. ทำให้เขารู้สึกว่า ถ้าปล่อยไปกรุงเทพฯ คนเดียวพี่อาจจะเสียคนก็ได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ เลยต้องอยู่จันท์ต่อไปแล้วหันไปเรียนเทคนิคก่อสร้าง เพราะอย่างน้อยก็พอได้จับดินสอวาดบ้าง”

แน่นอนว่าชีวิตคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสวยงามตลอดทาง และก็คงไม่ได้เหมือนซูเปอร์ฮีโร่ที่เมื่อต่อสู้กับปัญหาแล้วจะเกิดฟ้าหลังฝนทันที แต่พี่น้อยหน่าก็ยังคงมองหาหนทางต่อไป เพื่อให้ได้เล่าเรื่องของตัวเองสักครั้งหนึ่ง ณ เวลานั้นวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรีจึงเป็นทางออกของเขา เมื่อเราได้ยินแบบนั้นคำถามต่อไปก็ถูกโพล่งออกไปทันที เพราะ ‘การเขียนแบบ’ กับ ‘การวาดการ์ตูน’ มันคนละเรื่องกันเลย

“ใช่ มันไม่เหมือนกันเลย แต่เราคิดว่ามันไม่มีสาขาอื่นในจันทบุรีอีกแล้วที่พอจะสอนวาดรูปได้”

| เวลาบ่มฝัน

ถึงแม้การเรียนเขียนแบบก่อสร้าง จะแตกต่างจากการวาดการ์ตูนไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ได้ทำให้การสั่งสมประสบการณ์ของพี่น้อยหน่าหดหายลงไป กลับเพิ่มแพสชั่นในการทำมากขึ้นอีกเท่าตัว จนกระทั่งเวลาปล่อยฝีมือนั้นมาถึง เร่ิมจากการส่งประกวดเรื่องสั้น แล้วได้ตีพิมพ์ลง Thai Comics ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ จึงหันเหหัวเรือจากเขียนแบบ ไปเขียนการ์ตูนทันที

แต่จุดพลิกผันที่ทำให้ได้ร่วมงานกับขายหัวเราะ เกิดจากการชักชวนของพวกเพื่อนที่รู้จักกัน ให้ลองสเก็ตช์งานส่ง ปรากฎว่าผ่าน จึงเริ่มเขียนมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ความท้าทายสำคัญคือ ‘ความคิด’ เพราะรูปแบบการเขียน ‘Gag’ สั้นๆ นั้นแตกต่างจากการเขียนการ์ตูนยาวพอสมควร

“พี่เคยคิดการ์ตูนรายสัปดาห์ บางทีเรามี Gag เดียว แต่สามารถยืดเป็นสิบหกหน้าก็ได้ แต่พอมาเขียน Gag 1  Gag มันคือ 1 หน้า ถ้าเราจะเขียนสิบหกหน้าเท่ากับเราต้องคิดทั้งหมด 16 Gag ซึ่งมันยากคนละอย่าง”

แล้วพี่น้อยหน่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน ?

“พี่มีความสุขกับการเขียน Gag มากกว่าเรื่องยาว”

คำถามที่คนถูกถามใช้เวลาคิดเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถตอบถึงความต้องการ และแพสชั่นอย่างแรงกล้าที่อยากปล่อยจินตนาการที่มี ให้โลดแล่นบนกระดาษแต่ละหน้า ซึ่งพี่น้อยหน่าเสริมว่า การเขียน Gag ไม่ได้มีข้อจำกัดตายตัวทั้งด้านเทคนิค หรือความคิด ทำให้ใส่ตัวตน และความเป็นศิลปะลงไปได้อย่างไม่จำกัด

“Gag มันเขียนกันหน้าต่อหน้า ทำให้เราสามารถลองเทคนิคใหม่ๆ ได้ทุกหน้าเลย อย่างลายเส้นดินสอ สีอะคริลิค มันก็สนุกตรงที่เปลี่ยนวิธีการทำงาน แล้วเราไม่ได้ต้องเน้นรายละเอียดภาพมาก ซึ่งสามารถใส่ความเป็นศิลปะลงไปได้เยอะ”

| เวลาหาแรงบันดาลใจ

ไม่ว่าจะทำอาชีพไหน ก็ย่อมมีเวลาที่ความคิดมาถึงทางตัน จากที่เคยคิดได้เป็นสิบๆ อย่าง อาจต้องค่อยๆ เคาะสนิมกันเล็กน้อย หรือการอยู่ในสถานที่เดิมๆ เหมือนที่นั่งออฟฟิศตัวเดิมจะทำให้เราคุ้นชินกับบรรยากาศ จนความขี้เกียจตัวร้ายโผล่ออกมาทักทายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งพี่น้อยหน่าเลือกใช้ ‘การเดินทาง’ เป็นตัวค้นหาแรงบันดาลใจ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองมากที่สุด และปล่อยตัวเองให้อยู่ท่ามกลางความคิด

“ช่วงที่คิด Gag ได้เยอะ มันเกิดจากการนั่งรถไฟ รถทัวร์ อย่างพี่นั่งไปเชียงใหม่แล้วมองทางเรื่อยๆ ก็มีอะไรไหลผ่านตาไป เพราะว่าถ้าเราอยู่กับที่เราจะไม่ค่อยได้อยู่กับตัวเอง มันจะมีอะไรเข้ามาเยอะ แต่การนั่งรถคือการได้อยู่กับตัวเองนี่แหละ พี่ชอบคิดอะไรคนเดียว”

| เวลา ‘ส่วนตัว’

‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอสไตน์ บอกว่ายิ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากขึ้นเวลาก็จะยิ่งเดินช้าลง เธอบอกว่าเวลาของเธอเดินช้าลง เมื่อเธอเริ่มมีความรัก ไม่ต้องอ้างอิงทฤษฎีทางฟิสิกซ์ใด เธอเรียกมันว่าทฤษฎีสัมพันธภาพ …’

หนึ่งในโพสต์ของ ‘โรงบ่มฝัน’ ที่พี่น้อยหน่าใช้พื้นที่เฟซบุ๊กเป็นเครื่องบันทึกเรื่องราว ความคิด และปลดปล่อยความเป็นนักเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ทั้งยังเปรียบเสมือนพื้นที่ของ ‘ความสบายใจ’ มากกว่า อาจด้วยนิสัยที่รักความเป็นส่วนตัว จึงทำให้เป็นมิตรกับคนแปลกหน้ามากกว่าคนรู้จักเสียอีก ซึ่งเรื่องเล่าที่ถูกบันทึกลงไปนั้น พี่น้อยหน่าอยากให้คนตีความในแบบของตัวเอง เพราะแต่ละคนอ่านแล้วรู้สึกไม่เหมือนกัน

“พี่ชอบไปไหนไกลๆ เพราะเรารู้สึกปลอดภัยกับสิ่งเหล่านี้ จะคุยเรื่องอะไรก็ได้ แล้วบางทีงานที่เราลง ก็ไม่อยากให้คนเข้ามาถามว่าเขียนอะไร เพราะแต่ละคนอ่านจะรู้สึกไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าเราไปตอบมันก็เหมือนว่าจำกัดความคิดให้เขาคิดแบบนั้นแบบนี้

นอกจากเฟซบุ๊กโรงบ่มฝัน พี่น้อยหน่ายังมี ‘บางเวลาคาเฟ่’ ที่เปิดให้บริการมาเกือบ 5 ปี ตั้งอยู่ที่ชุมชนริมน้ำจันทบูร ซึ่งเกิดจากการอยากมีร้านขายโปสการ์ด หรืองานที่ทำ กับมีแกลเลอรีเล็กๆ ไว้โชว์งาน อีกทั้งยังเป็นคนชอบดื่มกาแฟด้วย จึงผุดไอเดียของร้านกาแฟขึ้น แต่ตอนแรกคิดว่าจะทำแบบเรียบง่าย ถ้ามีลูกค้าก็ออกไปชง ถ้าไม่มีก็แค่นั่งวาดรูปส่งต้นฉบับไป ซึ่งพี่น้อยหน่าพูดติดตลกว่า พอมาเปิดจริงๆ กลับผิดคาด เพราะมันขายดีมากกว่าที่คิด

“พี่ไม่คิดว่าจะขายของได้ เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ชอบเห็นหน้าตาของคนซื้อที่จะผิดหวังในราคา เรามองว่าคุณค่างานมันอยู่ที่คนรับงาน ก็เลยรู้สึกว่าเราพอใจที่เขาจะซื้อของอะไรเราในราคาที่เขาพอใจ อย่างกาแฟทุกวันนี้พี่ยังไม่รู้เลยว่าพี่ได้กำไรแก้วละเท่าไหร่ คือตั้งราคาเอาที่เราสามารถกินทุกวันได้ แต่เราไม่รู้หรอกว่าต้นทุน กำไรเท่าไหร่ แค่เราอยากมีร้านที่ขายพวกโปสการ์ดและงานที่เราทำเท่านั้น”

| เวลาปรับตัว

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ยุคสมัยย่อมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบจาก ‘สิ่งพิมพ์’ ไปเป็น ‘ดิจิทัล’ ต่างส่งผลให้กับคนในวงการเหล่านั้นต้องปรับตัวตาม ซึ่งในมุมมองของนักเขียนการ์ตูนก็มีช่องทางการปล่อยงานน้อยลง เพราะหนังสือต่างๆ ลดจำนวนปล่อยแต่ละเดือนลงไป

“อย่างขายหัวเราะ จากเมื่อก่อนเดือนละ 4 เล่ม มหาสนุก 4 เล่ม มีที่ระบายงาน 8 เล่ม ตอนนี้เหลือเพียงเล่มเดียว แต่นักเขียนจำนวนเท่าเดิม ต่อให้ฝีมือดียังไงก็ไม่มีทางอยู่ในเล่มเดียวได้ทั้งหมด มันต้องเฉลี่ยกันวาดไป เท่ากับเราหวังพึ่งสิ่งพิมพ์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัว บางคนไปเป็นวิทยากร บางคนสอนศิลปะ หรือบางคนทำหนังสือของตัวเอง ต้องพึ่งรายได้ทางอื่นเข้ามา”

เคยอยากย้อนเวลาไปแก้ไขอะไรไหม ?

“ถ้าจะให้ย้อนจริงๆ มีเยอะแยะจนขี้เกียจย้อน เอาง่ายๆ ว่าในความเป็นเรา เราผ่านมาหมดแล้ว เรารู้หมดแล้ว เราก็อยากไปทำอะไรที่ไม่เหมือนที่เราเคยทำ แต่ถ้าย้อนกลับไปแล้วตัดความรู้ที่เราได้รับมาทั้งหมดจนปัจจุบันเราก็ยังทำแบบเดิมอยู่ เลยรู้สึกว่าปล่อยให้มันเป็นไปเถอะ เพราะเราได้รู้แล้วว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง”

“อย่างวันนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้มันจะเป็นยังไง ถ้าเกิดเราไม่มีตรงนี้อยู่ เราก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตไปทำไม”

| เวลาแห่งความสุข

ความสุขของพี่น้อยหน่าคืออะไร ?

คนถูกถามยิ้มรับก่อนตอบด้วยความจริงใจ ว่าความสุขที่เขาต้องการคือ ‘การวาดรูป’ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ความรู้สึกต่างๆ ภายในใจกลับฟูขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว ลองคิดดูว่าจะมีอะไรดีไปกว่าการได้ทำในสิ่งที่เรารัก บางครั้งไม่ต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก แต่เป็นสิ่งเล็กๆ ที่สร้างความสุขอย่างใหญ่โตให้เราได้ก็พอ

“เอาแค่ทุกวันนี้จะเห็นว่าพี่มีจานสีน้ำวางอยู่ข้างๆ กระดาษ สมุด คือแค่ได้วาดรูปมันก็มีความสุข อย่างเมื่อวานวาดอยู่เหมือนคนบ้าเลย มีความรู้สึกฟูๆ ขึ้นมาในใจ แค่นั่งแต้มสีก็แบบ เห้ย! มันแค่นี้เอง ไม่ได้มีอะไรมากมาย”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.