คุณรู้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2562 ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน แต่มาจากการเห็นชอบของ 250 ส.ว. หรือสมาชิกวุฒิสภา ที่ประยุทธ์มีส่วนร่วมในการคัดเลือกเข้ามา
โดยทั่วไปแล้วอำนาจหน้าที่ขององค์กรนี้ที่คนอาจจะนึกถึงคือ การกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจอื่นที่สำคัญเพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น อำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อำนาจตั้งกระทู้ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไปจนถึงอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีอำนาจในประเทศไทยมาจนถึงตอนนี้
เพราะอำนาจนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งการให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ นั้นทำให้ ส.ว. ขาดความเป็นกลางทางการเมือง จึงทำให้เกิดแคมเปญ ‘ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี’ เพื่อคืนอำนาจนี้กลับสู่มือประชาชน
หลักการของแคมเปญคือ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว โดยกลุ่มผู้จัดทำแคมเปญได้ให้เหตุผลถึงการแก้ ม.272 ว่าถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า รัฐบาลชุดต่อไปจะทำหน้าที่ได้อย่างภาคภูมิตามวิถีประชาธิปไตย ส.ว. เองก็ทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกมองเป็นนั่งร้าน สืบทอดอำนาจ อีกทั้งยังเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น
ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ที่ www.nosenatevote.net/
Source : ilaw.or.th/node/5395