ไม่กี่ปีมานี้ ‘สุขุมวิท-บางนา’ ได้ชื่อว่าเป็นย่านที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สุขุมวิทเป็นย่านธุรกิจ CBD (Central Business District) ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตทันสมัย และแหล่งรวมคาเฟ่ทุกสไตล์ตามซอกซอยต่างๆ หรือเมื่อขยับออกไปอีกนิดแถบชานเมืองอย่างบางนา ก็เต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนเก่า รวมทั้งศูนย์รวมงานอีเวนต์ที่ไบเทค บางนา ที่คึกคักอยู่ตลอดปี
เพราะสุขุมวิท-บางนา มีขนาดที่ใหญ่มาก ไหนจะยังมีย่านรองอย่างเช่น ลาซาล พระโขนง อุดมสุข ปุณณวิถี ฯลฯ ที่ล้วนอัดแน่นไปด้วยสถานที่และเรื่องราวต่างๆ อีกเพียบ
สบโอกาสเปิดศักราชใหม่ คอลัมน์ Neighboroot ได้เจ้าบ้านย่านนี้อย่าง SUNAneighbormove แพลตฟอร์มออนไลน์น้องใหม่ที่ตั้งใจสร้างคอมมูนิตี้ย่าน ‘สุนา’ (สุขุมวิท+บางนา) ให้เป็นที่รู้จักและขับเคลื่อนชุมชนให้สนุกกว่าเดิม มาเป็นผู้พาออกสำรวจและทำความรู้จักความพิเศษของย่านนี้มากขึ้น ผ่านสถานที่ต่างๆ แบบพอเรียกน้ำย่อย เพื่อช่วยปรับมุมมองที่มีต่อย่านนี้ใหม่
เพราะโซนสุนายังมีอะไรมากมายที่ชวนให้ค้นหา ทั้งเรื่องราววัฒนธรรมย่อย ร้านรวงอาหารรสเด็ด และธุรกิจของคนในย่านที่กำลังโตวันโตคืน เป็นมูฟเมนต์ใหม่ๆ ที่กำลังเติมชีวิตชีวาให้ย่านนี้มีสีสันยิ่งขึ้นกว่าที่เคย
เริ่มต้นวันดีๆ ที่ ‘Roots’
ร้านกาแฟเมล็ดไทยที่ใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ก่อนจะเริ่มต้นสำรวจย่านสุนา หากได้เครื่องดื่มเย็นๆ ปลุกความสดชื่นสักแก้วคงจะดีไม่น้อย พอดีกับที่ทางเพจ SUNA พาเรามาเริ่มต้นทริปที่ Roots at Lasalle
Roots ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการ และน่าจะคุ้นหูคอกาแฟชาวไทยมาพอสมควร ยิ่งเป็นสาย Specialty เมล็ดไทยด้วยแล้ว เราเชื่อว่าร้านเชนกาแฟที่มีอยู่ทั่วเมืองนี้ต้องอยู่ในลิสต์ร้านโปรดของใครหลายคน เพราะนอกจากจะได้รับเครื่องดื่มที่รสชาติดีแล้ว ยังแฝงไปด้วยความใส่ใจตั้งแต่การปลูกไปจนเสิร์ฟให้ลูกค้าหน้าร้าน ผ่านโปรเจกต์ต่างๆ ที่ร้านคิดขึ้นเพื่อต่อยอดการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟทางภาคเหนือ และยังคืนผลกำไรที่ได้กลับไป เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน ผลิตเมล็ดกาแฟดีๆ ต่อไป
นอกจากนี้ กาแฟของร้านยังมีกิมมิกเก๋ๆ ด้วยการตั้งชื่อตามชื่อเกษตรกรที่ทำงานด้วย เช่น ช่างเปา พี่จรูญ ที่หากได้รู้ที่มาแล้ว รับรองว่าต้องอมยิ้มไปกับความใส่ใจของร้านไม่น้อยเลย
อีกความพิเศษของ Roots at Lasalle ที่เราได้มาเยือนวันนี้ คือการเป็นทั้งสำนักงานใหญ่ โรงคั่ว และครัวกลางของกาแฟแบรนด์ Roots เพื่อเป็นฮับสำหรับกระจายสินค้า เมล็ดกาแฟ และเบเกอรีไปยังสาขาต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ
แน่นอนว่าที่นี่ยังคงคอนเซปต์ความใส่ใจในการผลิต เห็นได้จากการออกแบบระบบร้านที่มีโรงคั่วอยู่ภายใน โดยลูกค้าสามารถมองผ่านกระจกเข้าไปเห็นทุกกระบวนการระหว่างนั่งจิบกาแฟหอมๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟทั่วร้าน
นอกจากความรักษ์โลกที่ลูกค้าทุกคนจะได้สัมผัสผ่านฉากหน้าอย่างแคปซูลกาแฟและแก้วพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือหลอดจากวัสดุธรรมชาติ ที่ร้านตั้งใจพยายามให้ทำร้ายโลกน้อยที่สุด เบื้องหลังการผลิตที่นี่ก็ยังเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านชาวย่านรอบๆ เพราะด้วยทำเลร้านอยู่ท่ามกลางชุมชนย่านลาซาล การทำโรงคั่วด้านในจึงวางโครงสร้างบำบัดควันจากโรงคั่วและน้ำเสีย ก่อนจะออกสู่ภายนอกซึ่งเป็นแหล่งชุมชน
หลังจากฟังเรื่องราวของร้านกาแฟรักษ์โลกที่พิถีพิถันในทุกขั้นตอนที่ย่านลาซาลกันอย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางไปยังจุดหมายถัดไปใน #SUNAว่าดีTour ภายใต้คอนเซปต์ Local-Eco-Friendly กับรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า MuvMi ที่คอยรับ-ส่งเราตลอดการเดินทางวันนี้ ซึ่งนอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเดินทางแบบเดียวกับที่ชาวย่านใช้สัญจรกันในชีวิตประจำวัน
‘ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์’
ห้องสมุด (ไม่) ลับของชาวอุดมสุข
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีห้องสมุดแทรกตัวอยู่ท่ามกลางชุมชนหลายแห่ง อย่างริมถนนวชิรธรรมสาธิต ไม่ไกลจากย่านอุดมสุข ก็มี ‘ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์’ ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครตั้งอยู่เงียบๆ ซึ่งหากไม่ใช่คนในท้องที่ก็อาจไม่ทันรู้ว่ามีคลังความรู้อยู่ตรงนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านของหม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ อดีตองคมนตรี และท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสองมีปณิธานอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของประชาชน จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายบ้านและที่ดินให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนที่ต่อมาจะเปิดเป็นห้องสมุดและ Co-working Space ถึงวันนี้ก็เข้าปีที่ 10 แล้ว
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ น่าจะถูกใจหนอนหนังสือหรือใครที่กำลังมองหาที่ทำงานเงียบๆ ไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีหนังสือทุกหมวดหมู่ให้ค้นคว้าแล้ว ยังมีโซนหนังสือเก่าของท่านเจ้าของบ้าน และพื้นที่ทำงานที่สะดวกสบายน่านั่ง
ด้านหลังห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ เป็นที่ตั้งของบ้านสไตล์โมเดิร์นที่สร้างขึ้นจากความนิยมกันในสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์
“บ้านนี้อายุประมาณห้าสิบกว่าปีแล้ว เรื่องราวของบ้านมีมากมาย แต่การจัดบ้านยังคงทำเหมือนตอนที่ท่านเจ้าของบ้านยังมีชีวิตอยู่ เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ แต่คนอาจไม่รู้ว่ามีแลนด์มาร์กที่น่าสนใจอยู่ในชุมชนนี้” วิทยากรประจำพิพิธภัณฑ์บรรยายประวัติของบ้าน
ตัวบ้านแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โถงกลางชั้นล่างเป็นห้องรับแขก ยังคงเฟอร์นิเจอร์เดิมของบ้าน ของสะสมอย่างคันฉ่องสมัยโบราณ และภาพถ่ายเก่า
ขณะที่ด้านบนปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของท่านเจ้าของบ้าน เช่น โต๊ะทำงาน หนังสือหายากอย่างปทานุกรมที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 สมุดเตรียมถวายการสอนสมเด็จพระเทพฯ
นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงเรื่องราวต้นราชสกุลนพวงศ์ที่สืบมาตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสิ่งของสำคัญหลายชิ้นที่หาชมไม่ได้จากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารต่างๆ ระหว่างรับราชการเป็นองคมนตรี ชุดครุยจากสถาบันต่างๆ และเครื่องเรือนภายในห้องนอน ที่ยังคงสภาพเดิมไว้เมื่อครั้งท่านเจ้าของบ้านยังมีชีวิตอยู่
และด้วยความที่ท่านเจ้าของบ้านทั้งสองเป็นปราชญ์ด้านการศึกษา หม่อมหลวงจิรายุเป็นนักภาษาศาสตร์ด้านบาลี สันสกฤต ภาษาไทย ทั้งยังเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ส่วนท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เป็นนักวิชาการการศึกษา ภายในบ้านและห้องสมุดจึงเต็มไปด้วยตำรับตำราหนังสือเก่าทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือวิชาการด้านภาษาศาสตร์
เดินทางด้วยกันมาถึงตรงนี้ เราเชื่อว่าต้องมีคนสงสัยถึงความเป็นมาของคำว่า ‘สุขุมวิท’ และ ‘บางนา’ ชื่อถนน ชื่อย่าน และส่วนหนึ่งของคำว่า SUNA แน่ๆ
‘อาจารย์นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา’ ชาวสุนาเนี่ยนผู้เป็นวิทยากรประจำทริปเล่าเกร็ดความรู้ให้เราฟังว่า คำแรกของ SUNA มาจากราชทินนามของพระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) นายช่างใหญ่กรมทางหลวง ผู้ตัดถนนที่เชื่อมตั้งแต่ใจกลางกรุงเทพฯ แถวนานา-เพลินจิต ไปจนถึงจังหวัดตราด เดิมเรียกว่าถนนกรุงเทพฯ-ตราด ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นถนนสุขุมวิทในเวลาต่อมา
ขณะที่คำหลังนั้นเป็นชื่อบ้านนามเมืองเก่าตั้งแต่สมัยโบราณที่เรียกกันสืบต่อมานานแล้ว
“ความหมายของคำว่า ‘บาง’ แปลว่าเป็นที่ลุ่มน้ำ เราเจอคำว่าบางเยอะแยะไปหมดเลยในกรุงเทพฯ ส่วนคำว่า ‘นา’ มาจากพื้นที่ตรงนี้ที่เป็นที่ลุ่ม ซึ่งเป็นทุ่งนาทั้งนั้นเลย คุณแม่ของพี่อยู่ตรงพิบูลเวศม์เมื่อปี 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้การเคหะฯ มาสร้างบ้านให้คนที่เจอภัยสงคราม และเช่าซื้อในราคาถูก จึงตั้งชื่อแถวนั้นว่า พิบูลเวศม์ โดยพิบูลมาจากพิบูลสงคราม และเวศม์ที่แปลว่าที่อาศัย คุณแม่เล่าให้ฟังว่า ตรงสะพานข้ามคลองพระโขนงลงมาเป็นทุ่งนายาวเลย และเป็นที่อยู่ของพวกทหารเรือ” อาจารย์นัทเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เราฟังในฐานะคนย่านนี้
แวะคลายร้อนด้วย ‘ไอศครีมกะทิ อบเทียน อุดมสุข’
เดินทางต่อมาถึงถนนสรรพาวุธ อีกเส้นเลือดสำคัญของชาวบางนา แม้จะมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ตรงสี่แยกบางนาและสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา ตรงท่าเรือสรรพาวุธ แถววัดบางนานอก ทว่าเส้นทางสั้นๆ เส้นนี้กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์ไม่แพ้ใคร
“แถวนี้เป็นเขตทหาร มีอาคารทหารเรืออายุร้อยกว่าปี อนุรักษ์สวยมาก และบ้านพักทหารเก่าๆ แต่ก่อนเด็กที่เรียนโรงเรียนพระโขนงพิทยาลัยเขาจะเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไป ตรงข้ามเคยเป็นองค์การแก้ว คนงานเยอะมาก เวลาพักเที่ยงคนออกมาซื้อของกันเป็นพันคน พอโรงงานเลิกไป แถวนี้ก็ซบเซาลง แต่ผมไม่ทัน” ‘พี่แต้-ณณัฏฐ์ เขมโสภต’ เจ้าของร้านไอศครีมกะทิ อบเทียน อุดมสุข เล่าบรรยากาศของย่านถนนสรรพาวุธ
พี่แต้เผยว่า เจ้าของสูตรไอศกรีมอบควันเทียนตัวจริงคือ ‘ลุงพ้ง-ศิริพงศ์ ลักษมีมงคล’ ที่เริ่มต้นจากการช่วยครอบครัวเปิดร้านไอศกรีมในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนย้ายมาเปิดร้านในกรุงเทพฯ โดยจับเอาตึกตรงหน้าโรงหนังอุดมสุขเป็นสถานที่เสิร์ฟความอร่อยหอมหวานให้ชาวอุดมสุขมาตั้งแต่ปี 2516 กระทั่งเมื่อโรงหนังสแตนด์อะโลนอย่างอุดมสุขเธียร์เตอร์ต้องปิดตัวลง จากความคึกคักในวันวานกลายเป็นความซบเซา เช่นเดียวกับร้านไอศกรีมลุงพ้งด้วย เขาจึงตัดสินใจวางมือเมื่อปี 2557 และมอบสูตรไอศกรีมอบควันเทียนให้พี่แต้ผู้เป็นหลานชายในเวลาต่อมา
“เราไม่เคยทำไอติมเลย แต่มีแรงบันดาลใจเยอะมาก เวลาไปหาลุงพ้งทีไรเราก็อิจฉาแก ตื่นเช้าลงมาทำไอติมหลังบ้าน มาหน้าบ้านขายไอติม เพราะการเดินทางในกรุงเทพฯ มันเหนื่อยมาก เลยอยากทำอาชีพที่อยู่ใกล้บ้าน” พี่แต้เล่าที่มาของการลาออกจากงานประจำ และไปขอลุงพ้งเรียนทำไอศกรีม “ตอนผมเรียนทำไอติมกับแก นอกจากสอนสูตรและส่วนผสมแล้ว แกยังสอนท่าทางทำไอติมด้วย ท่าทางในการหยิบการเท บางทีแกบอกให้หันข้างๆ หน่อย หันตรงทำไม ย่อเข่าหน่อยสิ รู้จักผ่อนแรงหน่อย วันนั้นรู้ซึ้งเลยว่าท่าทางเป็นเรื่องสำคัญมาก”
หลังจากได้รับสูตรไอศกรีมระดับตำนาน พี่แต้ยังคงลองผิดลองถูก ปรับปรุงรสชาติให้หวานน้อยลง ทำให้เนื้อไอศกรีมเนียนน่ากินขึ้น เพิ่มรสชาติให้ถูกใจคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญคือไม่ลืมกลิ่นควันเทียนดั้งเดิมและซิกเนเจอร์ประจำร้านอย่าง ‘มะลาโก้’ มะละกอเชื่อมสัมผัสหนึบหนับสูตรลุงพ้ง เป็นท็อปปิงไอศกรีมที่หากินไม่ได้จากที่ไหน
ทุกวันนี้พี่แต้ปักหลักเปิดร้านไอศกรีมเล็กๆ ตรงถนนสรรพาวุธ แต่ยังคงห้อยท้ายชื่อร้านว่าอุดมสุขตามโลเคชันของร้านต้นฉบับ โดยมีลุงพ้งแวะเวียนมาเป็นกำลังใจและอัปเดตรสชาติอยู่เสมอ
‘สรรพกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต’ ร้านสะดวกซื้อเก่าแก่แห่งถนนสรรพาวุธ
ถัดจากร้านไอศครีมกะทิ อบเทียน อุดมสุข ไม่กี่คูหา มีซูเปอร์มาร์เก็ตรุ่นเก๋าคู่ถนนสรรพาวุธและท่าน้ำวัดบางนานอก ตั้งตระหง่านท้าทายร้านสะดวกซื้อรุ่นใหม่ที่อยู่ไม่ไกลกัน
“เมื่อก่อนชาวเรือจะมาตุนเสบียงที่นี่ เพราะท่าน้ำวัดบางนานอกเป็นจุดจอดเรือ อยากได้อะไรก็ลิสต์มา แล้วทางสรรพกิจจัดให้ได้หมดเลย” ชาวบางนาเนี่ยนคนหนึ่งเอ่ยถึงประวัติของ ‘สรรพกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต’ ร้านสะดวกซื้อรุ่นแรกๆ ที่เจ้าของร้านรุ่นบุกเบิกได้สร้างขึ้นเมื่อปี 2501 และยังคงเปิดทำการจนปัจจุบัน
ด้านในร้านมีจำหน่ายทุกสรรพสิ่ง ไม่ผิดจากชื่อร้านว่าสรรพกิจ เรียกได้ว่าขายกันตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบแบบไม่เกินจริง เป็นร้านคุณยายขายทุกอย่างที่มีทั้งของสด ของแห้ง ของกิน ของใช้สารพัด พร้อมบรรยากาศร้านค้าแบบวินเทจที่ยังคงกลิ่นอายเหมือนในอดีตไม่เปลี่ยนแปลง
แต่สิ่งที่ชาวบางนาเนี่ยนแนะนำมาว่าไม่ควรพลาดคือ พายไก่สูตรเด็ดประจำร้านที่มีจำนวนจำกัดในแต่ละวัน แถมราคาย่อมเยา ขอกระซิบว่าหากได้มาเยือนที่ร้านลองซื้อชิมกันได้นะ
ปลายทางของถนนสรรพาวุธคือท่าเรือวัดบางนานอก ซึ่งนอกจากความสงบเงียบของวัดเล็กๆ ที่มีประวัติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อันแสดงถึงความเก่าแก่ของชุมชนรอบๆ วัดแล้ว บริเวณนี้ยังเป็นจุดสำคัญด้านคมนาคม เพราะเป็นท่าเรือสำหรับการเดินทางสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของคนทั้ง 2 ฟากฝั่ง ทั้งจากฝั่งปอดของเมืองหลวงฟากกระโน้นอย่างบางกระเจ้ากับบางน้ำผึ้ง และฝั่งบางนาที่เรากำลังยืนอยู่ ซึ่งยังพอพบเห็นบรรยากาศแบบเก่าที่ผู้คนขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นเรือข้ามฟากเพื่อมาทำงานในเมืองได้อยู่บ้าง
‘ศิลวัฒน์ซีฟู้ด’ ร้านอาหารคู่ย่านระดับตำนานกว่า 50 ปี
“จุดเริ่มต้นมาจากคุณย่า เมื่อก่อนเป็นร้านโชห่วยหนึ่งห้องแถว แล้วเริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหารตามสั่ง จากห้องแถวสองห้อง จนกลายมาเป็นร้านปัจจุบัน” ‘คุณนิค-พงศธรณ์ ศุภขจรวนิช’ เจ้าของร้านรุ่นปัจจุบันย้อนเล่าจุดเริ่มต้น
จากตึกร้านขายของชำสู่ร้านอาหารทะเลที่เลื่องลือแห่งสี่แยกสรรพาวุธ ถึงวันนี้นับได้กว่า 50 ปีแล้วที่ร้านอาหาร ‘ศิลวัฒน์ซีฟู้ด’ ตั้งอยู่คู่ย่าน เป็นสถานที่ฝากท้องยามหิวให้กับทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ที่แวะเวียนมาย่านนี้
แม้ครอบครัวจะส่งไม้ต่อการบริหารร้านมายังทายาทรุ่นที่สาม แต่อาหารยังคงสูตรและรสชาติแบบเดิมไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะฮ่อยจ๊อปู เมนูเด็ดสูตรคุณย่า หมึกไข่นึ่งมะนาว รสชาติเปรี้ยวกลมกล่อม รวมถึงผัดเผ็ดปลาดุกทอด ที่สืบต่อเคล็ดลับการโขลกพริกแกงมาตั้งแต่เปิดร้าน
ถือเป็นการปิดทริปที่สมบูรณ์แบบ ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจที่ได้ร่วมซัปพอร์ตธุรกิจของย่านไปพร้อมกัน
สุขุมวิท-บางนา ก็เหมือนย่านอื่นๆ ทั่วไป ถึงภายนอกจะดูเป็นย่านที่จอแจเต็มไปด้วยรถรา แต่พอเราได้มาลองทั้งเดินและนั่งรถสำรวจในคราวนี้ เลยเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะย่านนี้มีความหลากหลายมากกว่าที่คิด ทั้งชุมชนแนวราบดั้งเดิมปะปนกับตึกสูงทันสมัย ร้านรวงของคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงร้านเก่าที่ยังคงเปิดกิจการ รวมไปถึงสถานที่อีกมากมายที่น่าสนใจและเข้าไปเยี่ยมเยือน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้จักกับย่านสุนาให้มากยิ่งขึ้น SUNA ว่าดี TOUR กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 21, 22, 28 และ 29 มกราคม 2566 ราคาบัตรสำหรับคนทั่วไป 1,400 บาท/คน/รอบ ราคาบัตรพิเศษสำหรับผู้สูงวัย 1,100 บาท/คน/รอบ (ราคาบัตรรวมค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่แล้ว)
อ่านรายละเอียดของทัวร์เพิ่มเติมได้ที่ bit.ly/3WCcBua และลงทะเบียนเข้าร่วมทัวร์ได้ที่ bit.ly/3v855eI