ย่าน ‘เจริญรัถ’ แหล่งหนังและงานคราฟต์ของกรุงเทพฯ - Urban Creature

ถ้าอยากทำกระเป๋าหนังสักใบ หรือหาอะไหล่นำกลับไปทำงาน DIY ที่บ้านในวันที่ไอเดียพรั่งพรู เหล่านักประดิษฐ์ตัวยงหรือดีไซเนอร์มือฉกาจต่างแนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เจริญรัถ’ คือคำตอบชนิดที่มาครบจบในที่เดียวได้

ย่านเจริญรัถ ใกล้กับวงเวียนใหญ่ ในฝั่งธนบุรี เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมกิจการร้านค้างานหนังแบบครบวงจรที่ขึ้นชื่อลือชามานานหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหนังแท้และหนังเทียม สารพัดอุปกรณ์ตัด ตอก หรืออะไหล่ตกแต่งกระเป๋าให้สวยเก๋ ไปจนถึงร้านลับคมกรรไกรที่แทบไม่ค่อยเห็นแล้วในทุกวันนี้ ต่างแทรกตัวอยู่บนถนนเจริญรัถทั้งสิ้น

คอลัมน์ Neighboroot ชวนสาวเท้าก้าวตามเจ้าของโรงเรียนสอนทำกระเป๋าบนถนนเจริญรัถ ฟังความเป็นมาของย่าน ทำความรู้จักร้านขายหนังและสารพัดอุปกรณ์รุ่นเก๋าที่เด็ดดวงสุดในย่าน จากปากของคนพื้นที่ที่คัดสรรมาให้แล้ว

 

ย่านเจริญรัถ กรุงเทพฯ เครื่องหนัง งานคราฟต์

MHA Art & Craft : โรงเรียนสอนทำกระเป๋าหนังแห่งย่านเจริญรัถ

MHA Art & Craft โรงเรียนสอนทำกระเป๋าหนัง ย่านเจริญรัถ

“เคยพูดเล่นๆ ว่า ถ้าหาหนังแล้วที่อื่นไม่มี และที่นี่ก็ไม่มี ก็ไม่ต้องหาละ” เจ้าของ MHA Art & Craft โรงเรียนสอนทำกระเป๋าอย่าง ‘พี่แบงค์-บุญชัย บุญนพพรกุล’ บอกอย่างติดตลก ถึงนิยามความเป็นย่านเจริญรัถ ย่านค้าหนังอันเลื่องชื่อของไทย 

บทสนทนานี้เกิดขึ้นใต้ชายคาของตึกแถวที่เป็นทั้งโรงเรียนสอนทำกระเป๋า คาเฟ่ และประตูบานแรกก่อนเข้าสู่ถนนเจริญรัถ จากปากของทายาทโรงงานทำกระเป๋าหนังส่งออกและเจ้าของโรงเรียน เวิร์กช็อปสเปซสำหรับผู้สนใจและหลงใหลในงานหนัง ซึ่งเข้าสู่ขวบปีที่สิบแล้วในวันนี้

“ช่วงนั้นเกิดปรากฏการณ์ใหม่ คนสร้างแบรนด์เองง่ายขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย จังหวะนั้นก็เลยเกิดโรงเรียนของเรา เพราะรถไฟฟ้ามาถึง ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ที่มาพร้อมกับคอนโดฯ แต่ไม่รู้ว่าย่านนี้คืออะไร พี่เลยเกิดความคิดว่าอยากทำให้คนยังรู้จักเจริญรัถอยู่”

MHA Art & Craft โรงเรียนสอนทำกระเป๋าหนัง ย่านเจริญรัถ

MHA Art & Craft อยู่ซอยเจริญรัถ 4 หรือซอยกรุงธนบุรี 1 ซึ่งเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสวงเวียนใหญ่พอดิบพอดี ตรงจุดนี้จึงเปรียบเสมือนประตูบานใหญ่ที่พร้อมเปิดต้อนรับคนนอกพื้นที่ที่โดยสารรถไฟฟ้าเข้ามาย่านนี้

ดังนั้นมากกว่าความเป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้ ความตั้งใจของพี่แบงค์คือบทสนทนาเริ่มต้นเพื่อให้คนภายนอกรู้จักกับเจริญรัถ ทั้งการมาเวิร์กช็อปเรียนทำกระเป๋าหนังจากคนในครอบครัวที่มีความรู้และประสบการณ์ และการพานักเรียนเดินสำรวจย่านเพื่อทำความรู้จักร้านค้าในย่านไปพร้อมกัน

“นี่คือความหมายสำคัญของโรงเรียน MHA เลยนะ เพราะพี่มาเดินๆ แถวนี้ก็รู้สึกว่ามันขาดจิ๊กซอว์ที่ทำให้คนรู้จักแถวนี้”

เมื่อลูกศิษย์สำนัก MHA มีเพิ่มมากขึ้นจนถึงหลักพันคน เมื่อไรที่อยากจะคราฟต์งานกระเป๋าสักใบ ก็มักกลับมาหาซื้อของที่ย่านนี้ รวมถึงแวะมาที่โรงเรียนด้วย เมื่อ 6 ปีที่แล้ว พี่แบงค์จึงมีความคิดทำคาเฟ่เพิ่มเข้ามา เพื่อเป็นที่พักเหนื่อยในยามแดดเปรี้ยง จิบกาแฟเย็นๆ แก้กระหาย และเป็นจุดเริ่มสำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปซื้อของแถวไหน ก็สามารถมาไถ่ถามขอคำแนะนำจากทั้งพี่แบงค์ ครูในโรงเรียน หรือบาริสต้าในร้านก็ได้

“บางคนมาย่านนี้ ไม่รู้จะเริ่มต้นเดินยังไง ถ้ารู้จักร้านพี่ก็มาถามบาริสต้า ถามพี่ หรือถามครูเอา ก็เป็นความภูมิใจนะ มันคือโซเชียลเอนเกจเมนต์ของย่าน มันได้ความสุขที่ทำให้คนรู้จักบ้านเกิด มาเดินเล่นพูดคุยกัน” เขาเล่ายิ้มๆ

ดี เฮง อุปกรณ์ : ร้านอะไหล่กระเป๋าแบบเฮฟวี่ ที่มีตั้งแต่ของพื้นฐานยันของหายาก

ดี เฮง อุปกรณ์ ร้านอะไหล่กระเป๋าแบบเฮฟวี่ เจริญรัถ

เพื่อนบ้านใกล้ชิดกับ MHA Art & Craft ห้องติดกันที่ห่างเพียงซอกตึกเล็กๆ กั้นอย่างร้าน ‘ดี เฮง อุปกรณ์’ คือร้านแรกที่พี่แบงค์พาเราเดินเข้าไปทำความรู้จัก

หากเดินสำรวจย่านเจริญรัถมาพอประมาณ คงจะงงไม่น้อยที่ทำไมไกด์ของเราถึงพามาร้านขายอุปกรณ์ทำกระเป๋าที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป แน่นอนว่าเหตุผลไม่ใช่เพราะระยะทางใกล้กับโรงเรียนของเขาเพียงแค่ 2 – 3 ก้าว แต่ความน่าสนใจของร้านค้าอุปกรณ์ที่อายุจะเข้า 20 ปีแห่งนี้คือ ประสบการณ์ความเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ส่งสินค้าไปตามร้านรวงทั่วย่านแห่งนี้ รวมทั้งมีสินค้าจำนวนมากให้เลือกสรร

“ร้านนี้มีเกือบทั้งหมดเลย เพราะเป็นร้านที่ทำแล้วส่งขายแถวนี้ด้วย บางร้านหาอะไรไม่ได้ ขนาดเป็นร้านค้าด้วยกันก็มาถามร้านนี้เหมือนกัน เพราะเขาเป็นโรงงานใหญ่และมีหน้าร้านของตัวเอง”

ดี เฮง อุปกรณ์ ร้านอะไหล่กระเป๋าแบบเฮฟวี่ เจริญรัถ
ดี เฮง อุปกรณ์ ร้านอะไหล่กระเป๋าแบบเฮฟวี่ เจริญรัถ

สไตล์ของอุปกรณ์ที่ภาษาของคนทำหนังเรียกว่า ‘อะไหล่’ จากร้านดี เฮง มีมากมายหลายหลาก แต่ส่วนใหญ่เป็นงานแนวเฮฟวี่ มีสารพัดตราโลหะและบักเกิลปรับสายสำหรับตกแต่งกระเป๋าหนังของเหล่าไบเกอร์ให้เลือก แถมความพิเศษของร้านนี้คือมักมีของหายากที่ไม่ค่อยพบเจอตามร้านทั่วไป

“เวลาเราทำงาน แบบของกระเป๋ามีเยอะแยะเลย สไตล์เฮฟวี่ มินิมอล วินเทจ ของหายากคือไม่ซ้ำกับเจ้าอื่น สมมติเราทำมาแล้วได้อะไหล่เหมือนชาวบ้านเขาก็เหมือนๆ กันไปหมด แต่ที่นี่เราจะมาเจอแบบที่ร้านอื่นไม่มี ร้านนี้เท่านั้นที่หาได้” พี่แบงค์ให้ข้อมูล “อะไหล่พวกนี้มีความพิเศษของมันอยู่ จริงๆ คนทำงานหนัง นอกจากฝีมือกับเลือกหนังเป็น ก็ต้องเลือกของที่มาตกแต่งได้ด้วย”

หากใครมีไอเดียในใจ แต่ไม่อยากได้อะไหล่ที่เหมือนคนอื่น หรือกำลังมีแพลนทำแบรนด์กระเป๋า อยากผลิตงานออกมาจำนวนมาก ทางร้านยังรับทำตามออเดอร์ ขึ้นรูปให้ได้ทุกรูปแบบตามสั่ง ลองเข้ามาพูดคุยขอคำปรึกษาได้เลย

“งานพวกนี้ต้องมาดูบ่อยๆ แล้วจะมีไอเดีย วิธีการเลือกคือต้องดูการเก็บงาน ความสะอาด ความคมของชิ้นงาน การชุบหนาชุบบาง ดูความสวยงาม

“งานกระเป๋าเป็นงานทักษะศิลปะ งานศิลปะงานช่างต้องทำบ่อยๆ จนเรามีความชำนาญ หลังจากชำนาญแล้วก็กินกันที่แบบด้วย” พี่แบงค์ทิ้งท้ายเคล็ดลับการเลือกอะไหล่กระเป๋า

ย่านเจริญรัถ กรุงเทพฯ เครื่องหนัง งานคราฟต์

ย่านเจริญรัถมีชื่อเรื่องหนัง ไม่เพียงแค่หนังแท้ แต่หนังเทียมก็ไม่เป็นสองรองใคร เห็นได้จากร้านรวงที่ตั้งเรียงรายอยู่สองฟากถนน รวมถึงซอกซอยที่แยกย่อยไปอีกนับไม่ถ้วน แต่ว่าความเป็นย่านหนังอันโด่งดังของชาวกรุงเทพฯ และอาจรวมถึงของประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นมานานเท่าไรนัก หากย้อนไปเกิน 50 ปี ที่ดินแถบนี้ยังเป็นสวนผลไม้ไกลสุดลูกหูลูกตา และย้อนไปประมาณ 40 ปีที่แล้ว ตลาดวงเวียนใหญ่เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้น พร้อมกับการขยับขยายของกลุ่มชาวจีนจากเยาวราชที่มาอาศัยอยู่ในฝั่งธนบุรี จนกลายเป็นย่านการค้าอาหารทะเลที่มากับรถไฟ โดยยังไม่มีวี่แววของหนังวัวสักผืนอย่างที่เห็นทุกวันนี้

ย่านเจริญรัถ กรุงเทพฯ เครื่องหนัง งานคราฟต์

‘แล้วความเป็นเจริญรัถแบบทุกวันนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่’

พี่แบงค์เล่าให้ฟังว่า ทั้งหมดนี้มีที่มาจากการเกิดขึ้นของแหล่งผลิตรองเท้าและกระเป๋าในย่านนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ช่วงปีท่องเที่ยวไทย ซึ่งชาวต่างชาติได้เข้ามาเที่ยวในบ้านเรามากขึ้น โดยเฉพาะแถบบางลำพู-ข้าวสาร ที่มีร้านขายรองเท้าจำนวนมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์หนังคุณภาพดีฝีมือคนไทยเป็นที่ต้องการในหมู่นักท่องเที่ยว

“พ่อค้าย่านนั้นก็รับออเดอร์แล้วมาผลิตที่เจริญรัถ เพราะพ่อค้าเขามีบ้านอยู่ตรงนี้ แรงงานก็มากับรถไฟ ตรงนี้จึงกลายเป็น SMEs ขนาดย่อย” ทายาทโรงงานกระเป๋าหนังย้อนความหลัง “จำได้ว่าเด็กๆ ไม่ต้องนอนเลย พ่อแม่พี่ทำรองเท้า ทำงานหนังกันทั้งวันทั้งคืน”

เมื่อโรงงานผลิตมาอยู่ในฝั่งธนฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดร้านค้าหนังและอุปกรณ์สำหรับทำเครื่องหนังบนถนนเจริญรัถขึ้น โดยมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อความสะดวกของผู้ผลิตในการเลือกหาของมาทำงาน ไม่ต้องข้ามฝั่งไปหาซื้อของถึงถนนเสือป่า ย่านค้าหนังเดิมของกรุงเทพฯ

พอต้องรับออเดอร์เยอะๆ ผู้ผลิตก็ไม่มีเวลาข้ามฝั่งไปซื้อ ร้านค้าไม่กี่ร้านในย่านนี้จึงขายดิบขายดี ร้านทางเสือป่าเห็นโอกาสก็มาตั้งร้านแถวนี้บ้าง เลยกลายเป็นว่าจากที่มีอยู่สามสี่ร้านก็ขยายมาเรื่อยๆ จนเต็มทั่วทั้งถนนและซอยแยก

ศรีเจริญ เศษหนังชั่งกิโล : ร้านเศษหนังสำหรับผู้เริ่มต้นเรียนรู้ทำกระเป๋า

ย่านเจริญรัถ กรุงเทพฯ เครื่องหนัง งานคราฟต์

“เดี๋ยวพาไปร้านหนังที่ขายเศษหนังด้วย” เจ้าถิ่นเดินนำพร้อมชักชวนให้เราเดินตามออกจากซอยเจริญรัถ 4 ก่อนมาหยุดที่หัวมุมถนน หน้าร้าน ‘ศรีเจริญ เศษหนังชั่งกิโล’ หนึ่งในร้านค้าหนังจำนวนมหาศาลของย่านเจริญรัถ ที่มีอายุกว่า 30 ปี ความโดดเด่นของร้านนี้คือ ‘เศษหนังแท้’ นานาแบบ ที่มีมาจำหน่ายให้ผู้ที่เริ่มต้นอยากลองทำงานหนัง ประดิษฐ์กระเป๋าใบจิ๋ว หรือฝึกฝนฝีมือ

“ในวงการผลิตภัณฑ์หนัง เมื่อหนังถูกส่งให้โรงงานผลิตโซฟาใหญ่ๆ เขาก็จะบอกว่ามีหนังชนิดไหนออกใหม่บ้าง และเอาหนังดีๆ ส่งไปเหมือนเป็นแค็ตตาล็อก พอหนังเหลือเยอะมาก ร้านเหล่านี้ก็เอามารีไซเคิลขายอีกที เพื่อไม่ให้สูญเสียเป็นขยะ” พี่แบงค์เล่าถึงที่มาของเศษหนังหลากสีและชนิดที่มี ทั้งม้วนใส่ตะกร้าขายเต็มหน้าร้าน รวมถึงมัดเป็นตั้งๆ วางขายเป็นกิโลกรัม

ทั้งนี้ ความดีงามของการใช้เศษหนัง นอกจากเราจะได้ความหลากหลายของชิ้นงานเล็กๆ แล้ว ยังเป็นการรักษ์โลกตามแนวคิด Zero Waste ด้วย แต่บอกก่อนเลยว่าต้องเผื่อใจสักนิด เพราะแลกมาด้วยความเป็นงานลิมิเต็ด หากติดใจในสีของหนังหรืออยากได้เพิ่มเติม กลับมาอีกครั้งอาจไม่มีหนังแบบที่ต้องการแล้ว

ช้อปอะไหล่บิวตี้สารพัดแบบที่ ‘ศิริชัยอุปกรณ์เครื่องหนัง’

ศิริชัยอุปกรณ์เครื่องหนัง อะไหล่เครื่องหนัง เจริญรัถ

 เจ้าของ MHA Art & Craft ยังบอกอีกว่า เสน่ห์ของการเดินถนนเจริญรัถคือคุณจะเกิดไอเดียอยากทำของ จากความหลากหลายของวัสดุและอุปกรณ์ที่มีเยอะ ในมุมมองของเขา ที่นี่จึงมีความเป็นย่านครีเอทีฟของกรุงเทพฯ ที่ไม่เหมือนใคร

“ไม่อยากบอกว่าเจริญรัถคือย่านหนัง มันแคบไป เจริญรัถคือย่านครีเอทีฟที่คนจะมาทำอะไรขายได้อีกเยอะ มาแล้วเกิดไอเดีย มาแถวนี้ร้อยคน เก้าสิบคนจะรู้สึกว่าอยากทำอะไรขายสักอย่าง เพราะเป็นที่รวมอุปกรณ์ทั้งหมด มาที่นี่แล้วจบเลย”

อย่างร้าน ศิริชัยอุปกรณ์เครื่องหนัง น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของความหลากหลายในด้านวัสดุอุปกรณ์ของย่านนี้ มองภายนอกเพียงผิวเผินเหมือนเป็นร้านขายอะไหล่ทั่วไป แต่เมื่อผลักประตูเข้าไปจะพบกับเหล่าอะไหล่ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่มีสไตล์แฟชั่นทันสมัย ต่างไปจากร้านดี เฮง ที่เน้นงานแนวเฮฟวี่เท่ๆ มากกว่า

“ร้านศิริชัยออกแนวแฟชั่นหน่อย เป็นอะไหล่บิวตี้ อะไหล่แฟชั่น ขายอุปกรณ์เป็นกลุ่มๆ พวกอะไหล่ตัวดี ตัวคล้อง ไกปืน บัตทอน จริงๆ พวกโรงงานมาซื้อที่นี่หมดเลยนะ”

ศิริชัยอุปกรณ์เครื่องหนัง อะไหล่เครื่องหนัง เจริญรัถ

สินค้าของร้านเรียงกันเป็นคอลเลกชันบนชั้นวาง บางชิ้นหน้าตาเหมือนกันมาก ต่างกันแค่ขนาดระดับมิลลิเมตร เป็นตัวเลือกให้เหล่านักสร้างสรรค์สามารถมาหยิบจับแมตช์เข้ากับผลงานของตัวเองอย่างสนุกสนาน

“ต้องเดินดูบ่อยๆ เดินดูจนเราจำได้ว่าอย่างนี้เคยเห็นแถวไหนวะ อาจจะมีเบอร์ที่ต่างออกไป ดูเผินๆ มันจะเหมือนกัน แต่จริงๆ ต่างกันที่สไตล์ด้วย เวลาใช้ต้องใช้ครบชุด ให้ไปด้วยกันได้”

ย่านเจริญรัถ กรุงเทพฯ เครื่องหนัง งานคราฟต์

ถนนเจริญรัถดำรงความเป็นย่านค้าส่งใหญ่มากว่า 30 ปี จนกระทั่งยุคหนึ่งที่เริ่มมีอุปกรณ์จากจีนและหนังที่ไม่ได้ฟอกในไทย ผ่านการนำเข้าของนายทุนจีนมาที่นี่ ทำเอาเจ้าถิ่นเอ่ยปากว่าตลาดปั่นป่วนไม่น้อย เพราะถึงแม้คุณภาพของไม่ดี เปราะบาง และไม่ได้มาตรฐาน แต่พอราคาถูกและมีทุนใหญ่ จึงเริ่มมีร้านที่ขายของเกรดจีนเป็นจำนวนมาก และที่แย่ไปกว่านั้น ในตอนนี้บนถนนเจริญรัถก็พอพบเห็นร้านของคนจีนมาเปิดหน้าร้านเองบ้างแล้ว ไม่ต่างจากเยาวราชและสำเพ็ง ที่กำลังพบเจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน

วิบูลย์กิจ : ร้านค้าอุปกรณ์ทำหนังฝีมือช่างไทย

ย่านเจริญรัถ กรุงเทพฯ เครื่องหนัง งานคราฟต์

พี่แบงค์พาเรามาที่ร้านวิบูลย์กิจ ซึ่งขายอุปกรณ์จำพวกส้อมตอก ตัวตอกหมุดย้ำ และตัวตอกตาไก่ต่างๆ ถือเป็นตำนานของย่านที่ยังมีอุปกรณ์งานช่างไทยให้กลุ่มช่างหนังได้มาเลือกซื้อสินค้าคุณภาพกันอยู่

“ร้านนี้เป็นอุปกรณ์งานช่างไทย เป็นงานฝีมือ ซึ่งสิ่งที่ช่างหนังต้องมีคือส้อม เราจะเห็นว่าต่อให้ซี่ฟันเหมือนกัน แต่ระยะห่างไม่เท่ากัน พวกนี้จะมีเบอร์ของมัน เราจะซื้อเป็นชุดสองชิ้น อย่างน้อยๆ มีสี่ฟัน กับสองฟัน เวลาเราตอกเดินเข็มไปเรื่อยๆ และมีหัวโค้งใช้สองฟัน แล้วก็จะถึงขั้นตอนเย็บเชือกร้อยให้หนังสองชิ้นติดกัน เพราะหนังไม่สามารถเอาเข็มแทงผ่านได้ เลยต้องตอกเป็นแนวก่อน” 

ช่างทำกระเป๋าหนังแนะนำอุปกรณ์เบสิกที่ช่างหนังจำเป็นต้องมี ก่อนค่อยๆ เลื่อนมือไปหยิบตัวตอกหมุดย้ำประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมมาให้เราดู ทั้งหมุดตอกไปจนถึงสีย้อมหนัง เรียกได้ว่าที่นี่มีครบจบทุกขั้นตอนการทำหนังเลย

ย่านเจริญรัถ วิบูลย์กิจ ร้านค้าอุปกรณ์ทำหนัง

นอกจากหนังและอุปกรณ์แล้ว อีกอาวุธสำคัญคู่ใจของคนทำหนังที่สำคัญไม่แพ้กันคือกรรไกร ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องคมอยู่ตลอด เพื่อความลื่นไหลในการตัดแต่งหนังให้ได้ดั่งใจ 

จากที่ได้เดินสำรวจดู เราพอเห็นร้านลับคมกรรไกรอยู่ 2 – 3 ร้าน ที่มาพร้อมกับเสียงลับคมแสบหู และแสงของสะเก็ดไฟ

“ร้านนี้บอกเลยว่าโคตรเซียน เขารู้วิธีการจัดการ ทั้งลับทั้งตอกให้แน่นขึ้น ซ่อมกรรไกรและปัตตาเลี่ยนได้ อะไรที่เกี่ยวกับของมีคม มาหาเขาได้” พี่แบงค์เกริ่น ขณะเดินพาเราไปดูร้านลับคมกรรไกร ที่ไม่ค่อยได้เห็นที่ไหนแล้ว พร้อมเล่าประสบการณ์ความเซียนของเจ้าของร้าน ที่ช่วยคืนชีวิตกรรไกรหมดสภาพที่เขาได้มาจากเว็บไซต์อีเบย์ ให้กลับมาคมอีกครั้ง ถือเป็น Hidden Gem ในมุมมืดของตลาด ที่พบได้ยากมากแล้วในทุกวันนี้

ร้านอาหาร เจริญรัถ ของกิน

บนถนนสายตรงระยะทางไม่ยาวนัก ทว่ารถรายังคงจอแจอยู่จนฟ้ามืดค่ำ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ขนส่งของที่ยังวิ่งกันขวักไขว่ ย้ำว่าที่นี่คือย่านค้าหนังที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ที่ไม่มีใครเทียบได้

แม้ชาวย่านเจริญรัถเล่าว่า ทุกวันนี้ย่านเงียบลงไปมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะกิจการค้าหนังและอุปกรณ์ต่างๆ กำลังอยู่ในช่วงผลัดใบ เจ้าของร้านรุ่นแรกกำลังส่งต่อให้รุ่นลูก และหากได้มาเดินซื้อสินค้า น่าจะพอสังเกตเห็นการปรับตัวของร้านอยู่บ้าง หรือในขั้นที่แย่ที่สุดคือหลายร้านทิ้งตัวตนเปลี่ยนเป็นค้าขายอย่างอื่นเลยก็มี

แต่ในมุมหนึ่ง นอกเหนือจากเรื่องหนังและอุปกรณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของย่าน เรายังพอเห็นการพัฒนาในแง่อื่นๆ อยู่บ้าง เพราะนอกจาก MHA Art & Craft ประตูบานแรกสำหรับทำความรู้จักย่านนี้ ก่อนเดินเข้าสู่อาณาจักรค้าหนัง ก็ยังมีหลายร้านของคนรุ่นใหม่ ทั้งร้านกาแฟและร้านอาหารที่มีคาแรกเตอร์ผูกโยงเข้ากับพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ ทยอยเปิดร้านประชันคอนเซปต์กันเป็นจำนวนมาก รวมถึงร้านอาหารเก่าแก่หลายร้านก็ยังคงความดีงามของรสชาติและคุณภาพอาหารไว้ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

หวังว่าการผลัดใบของย่านเจริญรัถจะผลิดอกออกใบครั้งใหม่ เป็นย่านครีเอทีฟของกรุงเทพฯ ได้อย่างเต็มรูปแบบในเร็ววันนี้

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.