“เป่งอ๊าน เป่งอ๊าน” ประโยคนี้หลายคงมองหน้ากันครั้งแล้วครั้งเล่าพร้อมคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัว แต่สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนแล้วล่ะก็ต้องร้องอ๋อยิ้มรับคำนี้กันแบบหน้าชื่นตาบาน ซึ่งคำว่า ‘เป่งอ๊าน’ เป็นคำอวยพรที่แปลว่า ‘ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข’ โดยจะได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงเทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีน เมื่อนึกถึงจังหวัดภูเก็ตเทศกาลที่ขึ้นชื่อมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘การถือศีลกินผัก’ หรือที่เรารู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อว่า ‘กินเจ’ สำหรับเทศกาลนี้ นอกจากตั้งใจถือศีลและงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์เพื่อลดการเบียดเบียนแล้ว ยังเป็นการทำบุญเพื่อเสริมสร้างศิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัวด้วย
ถ้าเป็นคนไทยก็คงไปวัด คนจีนก็ต้องไปอ๊ามสิ แล้วอ๊ามคืออะไรน่ะเหรอ สำหรับคนภูเก็ตเขาเรียกศาลเจ้าว่า ‘อ๊าม’ ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนแต่ละอ๊ามนั้นจะมีองค์เทพเจ้าจีนประดิษฐานอยู่ ซึ่งแต่ละองค์ช่วยเสริมสิริมงคลในด้านที่แตกต่างกันไป ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ผสมผสานวัฒนธรรมและการออกแบบที่มีความหมายเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม
อ๊ามปุดจ้อ
หากจะพูดถึงที่มาที่ไปของ ‘อ๊าม’ คงต้องย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 ที่เราเริ่มทำการค้ากับชาวจีนมากขึ้น ทำให้หลังจากนั้นชาวจีนเริ่มหลั่งไหลเข้าประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนก็มาถึงจุดพีคคือในยุคที่ภูเก็ตทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นอุตสาหกรรมหลัก ส่งผลให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัดชาวจีนจึงอพยพเข้ามาจำนวนมาก
ซึ่งชาวจีนเวลาเข้ามาไม่ได้มาแค่ตัวกับเสื่อผืนหมอนใบอย่างที่เราเข้าใจ แต่ยังเอาวัฒนธรรมไปจนถึงเรื่องราวของความเชื่อ และศิลปะทางการแสดงอย่างอุปรากรจีน หรืองิ้วมาทำการแสดงด้วย ต่อมาได้เกิดโรคระบาดขึ้นชาวจีนเจ็บไข้ได้ป่วยจำนวนมาก พวกเขาจึงฉุกคิดว่าอาจเป็นเพราะพวกเขาละเลยการถือศีลกินผักที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเมื่อครั้งอยู่ประเทศจีน จึงได้มีการจัดสร้างอ๊ามและเทศกาลถือศีลกินผักตั้งแต่นั้นเป็นเวลากว่า 190 ปีแล้ว
อ๊ามจะกระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัดภูเก็ต หากมีโอกาสแวะไปบริเวณย่านเก่า ลองลัดเลาะไปบนถนนระนองจะมองเห็นสถาปัตยกรรมโทนสีแดงแซมสลับกับสีทองของอ๊ามโดดเด่นมาแต่ไกล ซึ่งจะเห็นโทนสีเหล่านี้เป็นหลักในการตกแต่งของชาวไทยเชื้อสายจีนที่เชื่อกันว่าเป็นสีนำโชคนั่นเอง และสถานที่ที่อยู่ตรงหน้าเราคือ ‘อ๊ามปุดจ้อ’ ชาวภูเก็ตนิยมมากราบไหว้ในโอกาสสำคัญ เช่น คู่แต่งงานมาไหว้ขอพร สามีภรรยามาขอลูก พ่อแม่พาลูกแรกเกิดมาขอพรให้พระคุ้มครองหรือขอชื่อมงคลภาษาจีน แม้กระทั่งคนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีเรื่องทุกข์ใจมาเสี่ยงเซียมซีขอคำชี้แนะได้
ซึ่ง ณ อ๊ามปุดจ้อแห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของการรักษาโรคด้วยยาจีน โดยจะมีการวิเคราะห์โรคและให้ใบบอกตัวยาจีน เพื่อไปซื้อหายาจีนแล้วนำมาต้มทานบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้ทุเลาลง จะเห็นได้ว่าอ๊ามมีความผูกพันอยู่ในทุกช่วงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ที่อยู่ : ซอยภูธร ถนนระนอง ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
เวลาเข้าชม : 08.00 – 17.00 น.
อ๊ามจุ้ยตุ่ย
หากลองสังเกตดูดีๆ ในแต่ละอ๊ามจะมีการออกแบบที่มีความคล้ายคลึงกันด้วยความเชื่อในเรื่องดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งแต่ละที่จะมีความงดงามและเอกลักษณ์แตกต่างกันไป สำหรับอ๊าม ‘เจ้าจุ้ยตุ่ย’ หรือชื่อเต็มว่า ‘จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง’ นั้นมาจากคำว่า ‘จุ้ย’ เป็นภาษาจีน มีความหมายว่า ‘น้ำ’ และคำว่า ‘ตุ่ย’ แปลว่า ‘ครกตำข้าว’ เพราะในอดีตบริเวณหน้าอ๊ามแห่งนี้มีลำคลองขนาดใหญ่ และชาวบ้านก็ได้สร้างกังหันขึ้นเพื่อใช้กำลังจากน้ำมาตำเม็ดข้าวเปลือกให้แตกออก ต่อมาจึงกลายเป็นที่มาของชื่ออ๊ามนั่นเอง
โดยในเทศกาลถือศีลกินผักที่นี่มักเป็นหนึ่งในสถานที่แสดงความบริสุทธิ์ หรือในภาษาจีนเรียกว่า ‘เช้ง’ ซึ่งเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่จัดเทศกาลนี้จะมีการลุยไฟ แทงหน้าหรือร่างกายด้วยของมีคมต่างๆ ที่เป็นความเชื่อที่ส่งต่อถึงปัจจุบันแต่ใช่ว่าใครก็สามารถทำพิธีการเหล่านี้ได้ เพราะต้องเป็นคนที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเท่านั้น
ที่อยู่ : 283 ซอยภูธร ถนนระนอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
เปิดให้เข้าชม : 08.00 – 17.00 น.
อ๊ามกะทู้
มาจนถึงที่สุดท้ายไฮไลท์สำคัญ ‘อ๊ามกะทู้’ ถือเป็นศาลเจ้าแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันภายในยังมีโรงงิ้วเก่าตั้งอยู่ด้วย ทั้งยังมีเทพเจ้าจีนหรือที่เรียกว่า ‘กิมซิ้น’ มากมายรอให้ผู้คนเข้าไปสักการะบูชา ตามแต่ความเชื่อในแต่ละด้านของเทพแต่ละองค์
แต่ที่เป็นไฮไลท์ที่สุดนั่นคือ ‘รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม’ ส่วนใหญ่ผู้คนนิยมมาขอพรกับเจ้าแม่กวนอิมในเรื่องของการทำธุรกิจและการขอบุตรเป็นส่วนใหญ่ หากใครแวะมาภูเก็ตนอกจากไปเที่ยวชมวิวกินลมชมทะเลแล้วต้องห้ามพลาดแวะไปสักการะขอพรอ๊ามจะได้ ‘เป่งอ๊าน เป่งอ๊าน’ กันถ้วนหน้า
ที่อยู่ : 37/1 หมู่ 4 ถนนวิจิตรสงคราม อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
เวลาเข้าชม : 08.00 – 17.00 น.