Cloud Markt ร้านชำคราฟต์ฟู้ดแห่งภูเก็ต - Urban Creature

เมื่อช่วงต้นปี 2021 ทีมงาน Urban Creature แวะเวียนไปเยือนเมืองภูเก็ตมา ซึ่งหนึ่งในจุดหมายปลายทางก็คือ Cloud Markt (คลาวด์-มาร์ต) ร้านชำเล็กๆ ที่สรรหาฟู้ดคราฟต์จากกิจการท้องถิ่นไทยมาให้คนภูเก็ต รวมถึงคุณได้อุดหนุน

ผมพูดคุยกับเจ้าของร้านจนติดลม พลางจิบคราฟต์เบียร์ ลิ้มรสคราฟต์ฟู้ดแสนอร่อย พร้อมบันทึกเสียงสนทนาไปด้วย เพื่อที่กลับมากรุงเทพฯ จะได้นั่งถอดเทปอย่างสบายใจ

Cloud Markt

ตู้ม! คลัสเตอร์ภูเก็ตมาเยือน ภูเก็ตต้องเปิด-ปิด เกาะอยู่หลายครั้ง พวกเราจึงตัดสินใจพักงานชิ้นนี้ไว้ก่อน และรอวันที่สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น วันแล้ววันเล่า รอนานจนไม่รู้ว่าจะได้กลับไปเตร็ดเตร่ที่ภูเก็ตอีกเมื่อไหร่

แม้โควิดจะเป็นอุปสรรคในการปล่อยงานชิ้นนี้ แต่เชื่อไหมว่า โควิดไม่ใช่ปัญหาหลักของชาว Cloud Markt แต่กลับเป็นทั้งสารตั้งต้นของร้าน และด่านสำคัญที่เจ้าของร้านชำจะต้องผ่านไปให้ได้ ซึ่งทันทีที่เปิดประเทศ ผมก็ไม่รอช้า รีบหยิบเรื่องราวของ Cloud Markt ที่เราดองไว้ มาเสิร์ฟ เอ้ย! มาถ่ายทอดให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับร้านชำแห่งนี้

01
เหล่ามนุษย์ภูเก็ตที่ไม่พร่องเรื่องกิน

เมื่อผมและทีมมาถึง ป้ายร้าน Cloud Markt สีส้มก็เด่นชัดมาแต่ไกล เหล่าเจ้าของร้านชำต้อนรับพวกผมอย่างเต็มใจ และไม่รีรอที่จะแนะนำตัวให้ผมทราบว่า หุ้นส่วนร้านชำแห่งนี้มี 3 คน ซึ่งทุกคนล้วนเป็นชาวภูเก็ต

เริ่มที่ มอนด์-สุวิจักขณ์ กังแฮ เชฟผู้คลุกคลีตีโมงอยู่ในวงการอาหารมาตั้งแต่จำความได้ แถมมีดีกรีไปเยือน Iron Chef Thailand มาแล้ว มิว-ภาสกร กัจฉปะรักษ์ เจ้าของร้านชานมในภูเก็ต ที่แตกไลน์แบรนด์น้ำเต้าหู้ชื่อ Tiāntiān 天天 ออกมาในช่วงโควิด และ ณัฐ-ณัฐนรี ใจอาจ ที่ลาออกจากการเป็นแอร์โฮสเตสก่อนโควิดจะมาเยือนไทยแบบเฉียดฉิว ก่อนจะเปิดแบรนด์ขนมปังโฮมเมดเล็กๆ ชื่อว่า montbaking ซึ่งทำร่วมกับมอนด์

Cloud Markt
มอนด์-สุวิจักขณ์ กังแฮ, ณัฐ-ณัฐนรี ใจอาจ และ มิว-ภาสกร กัจฉปะรักษ์

จะเห็นว่าจุดร่วมกันของทั้งสาม คือความเป็นมนุษย์ผู้เทใจให้อาหารการกิน จนถึงขั้นเปิดแบรนด์ขนมนมเนยขายในช่องทางออนไลน์ แล้วไอเดียร้านชำ Cloud Markt มาอยู่ในแผนชีวิตของทั้งสามได้ยังไง เหล่าเจ้าของร้านค่อยๆ ปะติดปะต่อที่มาให้ผมฟัง

“ช่วงโควิดเนี่ย คนทำงานครัวไม่มีอะไรทำกันเลย ทุกอย่างมันชะงักไปหมด เราเห็นโอกาสตรงนี้ที่คนเริ่มมาเปิดแบรนด์ออนไลน์กันเยอะ เราก็ทำแบรนด์ขนมปัง เพื่อนก็ทำแบรนด์น้ำเต้าหู้ ก็เลยชวนมาเปิดร้านนี้ขึ้นมา” มอนด์เกริ่น ก่อนผมจะถามต่อด้วยความสงสัยว่า เปิดร้านออนไลน์ก็ดูเหมือนจะไปได้ดี แต่ทำไมถึงนึกคึกมาเปิดร้านออฟไลน์ท่ามกลางร้านรวงต่างๆ ที่ทยอยกันปิดตัว

“เวลาคุยกับเพื่อนที่ทำแบรนด์ออนไลน์มาพร้อมกัน ทุกคนเจอปัญหาเดียวกันหมดเลย คือมีปัญหาในการส่ง คือถ้ามันเป็นสินค้าที่ส่งง่าย ไม่เสียง่าย อย่างพวกของใช้ ก็คงไม่เป็นไร แต่พอมันเป็นอาหารปุ๊บ เมสเซจบางอย่างไม่สามารถสื่อไปถึงลูกค้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติผมทำขนมปัง ผมเริ่มส่งสี่โมง บางทีลูกค้าเลตเป็นห้าโมง แปลว่าขบวนแถวที่มันจะส่งต่อไปมันรวนหมด กลายเป็นคนแรกที่ผมส่งยังอร่อยอยู่ แต่คนสุดท้ายที่ผมส่งกลายเป็นไม่อร่อยแล้ว

มิว-ภาสกร กัจฉปะรักษ์ 

“หรืออย่างการคุกกิ้งในอุณหภูมิที่ถูกต้อง เจ้าของแบรนด์ก็อยากให้ลูกค้าอุ่นในอุณหภูมิประมาณนี้เพื่อให้มันเพอร์เฟกต์ที่สุด แต่เข้าใจว่าลูกค้าแต่ละคนคงอุ่นไม่เหมือนกัน ถ้าเราเปิดร้าน มันก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เราจะคุกกิ้งอาหารให้มันเพอร์เฟกต์ตามที่แต่ละแบรนด์เขาอยากให้มันเป็น” มอนด์เล่าถึงเหตุผลในการเปิดร้านแบบออฟไลน์ ที่บางอย่างออนไลน์ก็ให้ไม่ได้

“ช่วงหนึ่งโควิดที่เกิดขึ้นในภูเก็ตมันหนักมาก ถึงขั้นห้ามเดลิเวอรีข้ามเขตข้ามตำบลกันเลย เราเลยต้องหาทางที่จะส่งด้วยตัวเอง ทำแพ็กเกจจิ้งใส่ขวดต่างๆ นานา และแตกไลน์เป็นแบรนด์น้ำเต้าหู้เพื่อที่จะมีสินค้าให้คนได้เลือกมากขึ้น” มิวแชร์ปัญหาในการขนส่งยุคโควิด และความกระตือรือร้นให้แบรนด์ของตัวเองอยู่รอดในยุคนี้

Cold Cut

02
ชำแบบไม่จำเจ

มีแบรนด์ออนไลน์อยู่ในมือ มีเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการอาหาร และมีความคิดที่พ้องต้องกันว่าเราต้องมีหน้าร้าน ทั้งสามไม่ลังเลใจ ก่อร่างสร้างไอเดีย Selected Grocery Store ให้เป็นรูปเป็นร่างภายในระยะเวลา 3 เดือนเศษ

ระหว่างทางพวกเขาโยนไอเดียกันเยอะมาก มอนด์พูดติดตลกว่า “งานนี้ใช้สมองเยอะเหมือนกัน” เพราะไหนจะต้องสร้างแบรนดิ้งออกมา วางแผนว่าต้องขายใคร วางสินค้าอะไร เหล็กฉากหรือตู้แช่ต้องจัดวางตรงไหน ดีไซน์หน้าร้านให้ออกมามีหน้าตาที่ถูกใจ ไปจนถึงการตั้งชื่อร้าน

Cloud Markt

จนมาลงเอยที่ชื่อ Cloud Markt ซึ่ง Markt ในภาษาเยอรมัน แปลว่า Market พอดี เลยหยิบชื่อนี้มาใช้ให้คนงงเล่นว่าเขียนผิดไหม เพราะถ้าดูเผินๆ คงมีแอบคิดบ้างว่าจะ Mart ก็ไม่ Mart จะ Market ก็ไม่ Market

ส่วน Cloud ก็แปลตรงตัวว่า ก้อนเมฆ ซึ่งพวกเขาก็ตีความอย่างน่ารักว่ามันคือความอิสระ และอยากให้พื้นที่นี้เป็น Free Space ที่จะเป็นอะไรก็ได้ตามใจฉัน และเป็นอะไรก็ได้สำหรับคนที่สนใจในตัวร้าน ใครจะเอาของมาลง หรืออยากทำอะไรสนุกๆ ก็มาคุยกันได้ แถมไม่ลืมใส่ความหมายให้แต่ละตัวอักษรในชื่อร้าน ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการคัดสรรข้าวของภายในร้านด้วย

ร้านชำ

CLOUD
Creative – Local – Original – Unique – Drink & Food

“ความตั้งใจแรกเลยคืออยากสนับสนุนสินค้าโลคอล ไม่รู้ว่าผมคิดถูกหรือผิดนะ แต่ Gen เรา คือเด็กที่โตมากับของกินในห้างฯ ที่เป็นของอุตสาหกรรม เรามีความเชื่อว่าของที่ผ่านอุตสาหกรรมมาแล้วมันต้องสด สะอาดแน่เลย 

“ขณะเดียวกัน เราอยู่ในช่วงที่เห็นคนใกล้ตัวเจอเอฟเฟกต์จากการบริโภคของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรืออะไรก็ตาม เลยทำให้แบรนด์โลคอลเริ่มมีน้ำหนักในการกลับมา” มอนด์ย้ำถึงความตั้งใจ

มอนด์-สุวิจักขณ์ กังแฮ

“เคยไปโคเปนเฮเกน เราจะตกเครื่องแล้ว ยังไม่ได้กินอะไรเลย หิวก็หิว เราต้องรีบซื้ออะไรรองท้อง เลยรีบวิ่งเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตเผื่อมันจะมีอะไรกินบ้าง ที่ว้าวเลยคือซูเปอร์ฯ บ้านเขามีของที่มันดูเทสต์ง่าย กินได้เลย และเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่ดีต่อสุขภาพ 

“แต่ถ้าเป็นซูเปอร์ฯ ในไทยส่วนใหญ่ เราก็ต้องมาจับมิกซ์นู่นนี่นั่นเอง มาเป็นซองบ้างล่ะ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะ Ready to Eat ได้จริง ที่ชอบอีกอย่างคือเขาไม่ใช่ร้านรายใหญ่ แต่เป็นร้านเล็กๆ แถม Grab and Go ได้ด้วย” ณัฐเล่าจนเห็นภาพ ซึ่งเธอก็หยิบยืมไอเดียนี้มาใช้กับ Cloud Markt ผ่านการดีไซน์โต๊ะให้เป็นแบบบาร์สูง เพื่อให้สะดวกยามที่คุณเร่งรีบ เรียกได้ว่า กินเสร็จก็บึ่งไปทำงานได้เลย

ณัฐ-ณัฐนรี ใจอาจ

03
แหล่งรวมคราฟต์ฟู้ดทั่วไทย

สินค้าแบรนด์แรกๆ ที่มอนด์ มิว และณัฐเลือกมาวางในร้าน คงหนีไม่พ้นแบรนด์ขนมปัง และน้ำเต้าหู้โฮมเมดของตัวเอง ชาว Cloud Markt ไม่รอช้า เดินหน้ามองหาแบรนด์ต่อๆ ไป ซึ่งคัดสรรมาจากคนใกล้ตัวที่ทำแบรนด์ของกิน และจากการโดนยิง Ads ของเพจต่างๆ 

อย่างแบรนด์สังขยาอาม่า ที่พวกเขาเห็นอาม่าเก็บใบเตยหลังบ้าน กวนสังขยาด้วยเตาถ่าน และทำกินเองในบ้านมานานหลายสิบปี จากที่ยังไม่มีตัวตนในตลาด พอวันหนึ่งคนเริ่มหันกลับมากินมาใช้ของโลคอล อาม่าจึงทำสังขยาขาย และนำมาวางจำหน่ายที่ร้านชำแห่งนี้

ซีอิ๊วขาว ตรารถยนต์แห่งภูเก็ต ชาว Cloud Markt ไม่พลาดนำมาวางบนเชลฟ์ เพราะเป็นซีอิ๊วขาวที่ทุกบ้านต้องมี รวมถึงร้านอาหารส่วนใหญ่ในภูเก็ตก็เลือกใช้จนทำเอานักกินหลายต่อหลายคนติดใจ

ปลาทูต้มหวาน หิว (Hungry.hc) จากชุมพร นี่ก็ฮิตไม่แพ้ใคร เคยลงสื่อมาหลายสำนัก ซึ่งความดีงามของเจ้านี้คือนำปลาบ้านๆ หน้าตาธรรมดามาสร้างมูลค่าให้เข้าถึงคนทุกวัย แถมยังปรุงรสจนถูกใจสายกิน

กระปุก

Romkwan รมณ์ควัน จากกรุงเทพฯ ก็นำ Duck Prosciutto มาวางขาย เป็น Cold Cut ชั้นดีที่กินคู่กับไวน์แล้วฟินสุดๆ มอนด์บอกว่า ถ้าไม่ใช่ร้าน Fine Dining จะหากินยาก ซึ่งกระบวนการเหมือนกับทำพาร์มาแฮม แต่เปลี่ยนมาใช้อกเป็ด ผ่านการหมักกับเกลือบ่อหัวแฮดและมะแขว่น กว่าจะได้ลิ้มชิมรสก็ต้องนำไปตากจนแห้งนานถึง 3 เดือน

หรือจะเป็นพาสต้าจาก Marcopolo Trading Phuket ที่ยังไม่มีสื่อสำนักไหนเข้าไปทำความรู้จัก มอนด์เล่าว่า นี่คือซัปพลายเออร์ที่เจ้าของเป็นฝรั่งซึ่งมาลงหลักปักฐานในภูเก็ต ที่ผลิตโปรดักต์หลากหลาย และมาพร้อมคุณภาพที่เด็ดดวง

ยัง…ยังไม่หมด ยังมีน้ำอ้อยดำ เล้งเต๋ ของดีเมืองภูเก็ตที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น หมี่สั่วภูเก็ต ตรานกพิราบ ชีสจากเมืองเชียงใหม่ เกลือสินเธาว์แดนอีสานจากหมู่บ้านบ่อหัวแฮด ซอสถั่วเหลืองต้าเหยินจากเบตง น้ำปลาแท้ตราสามกระต่ายจากตราด คราฟต์ช็อกโกแลต คราฟต์เบียร์ ยัน Natural Wine จาก Mandarin Wine House และอีกมากมาย

มอนด์ยังแอบบอกอีกว่า ใครอยากจะกินอาหารตามรถเข็น หรือซาเล้งที่ขับผ่านไปมา ก็สามารถซื้อและเอามานั่งกินที่ Cloud Markt ได้เช่นกัน-สนับสนุนโลคอลแค่ไหนคงไม่ต้องอธิบาย

อกเป็ด

04
คอมมูนิตี้สร้างสรรค์ของคนภูเก็ต (และคุณ)

ผมใช้เวลาอยู่ในร้านชำแห่งนี้สักพักใหญ่ จนซึมซับความรู้สึกอิ่มๆ และฟูลฟีลอย่างบอกไม่ถูก เพราะถ้าพูดกันตามตรง ภูเก็ตยังไม่มีร้านแนวนี้ หรือมีคอมมูนิตี้สร้างสรรค์ นั่นทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของชาว Cloud Markt ในการเป็นคนภูเก็ตที่อยากทำให้บ้านเกิดมีชีวิตชีวา และเชื้อเชิญแขกไปใครมาให้เข้ามารักภูเก็ตในมุมมองใหม่ๆ

“ถนนแถวนี้ คนภูเก็ตเขาเรียกกันว่า ‘วงเวียนโอเชียน’ ยุคหนึ่งใครๆ ก็ต้องเข้ามาซื้อของแถวนี้ เพราะเป็นเหมือนสยามสแควร์ของภูเก็ต พอวันหนึ่งมันก็เปลี่ยนไปตามเวลา จากแต่ก่อนที่คนทำธุรกิจเหมืองแร่ ก็กลายมาเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ความเจริญมันก็กระจายไปโซนทะเล เช่น กะตะ กะรน กมลา เส้นในเมืองก็เลยตาย

Cloud Markt

“พอการท่องเที่ยวเริ่มบูม บวกกับคนเริ่มหันกลับมานิยมอะไรที่มัน Boutique เลยทำให้ย่านเมืองเก่ากลับมาป็อป แต่เส้นนี้ตายไปแล้ว (บริเวณถนนภูเก็ต และถนนมนตรีที่เหงากว่าเส้นอื่นๆ ในย่านเมืองเก่า) พอวันหนึ่งต้องเลือกโลเคชันร้าน ก็นึกย้อนกลับไปว่าเราโตมากับเส้นนี้ ก็เลยอยากกลับมาปั้นย่านนี้ให้มันกลับมาอีกครั้ง เพราะพื้นที่ทุกอย่างมันสวยงามอยู่แล้ว” มอนด์เผยอีกหนึ่งความตั้งใจในฐานะเจ้าถิ่น

วันที่ผมได้พูดคุยกับมอนด์ มิว และณัฐ Cloud Markt ยังเป็นร้านชำเล็กๆ คูหาเดียว แต่วันนี้ได้ขยายเพิ่มอีกหนึ่งคูหา เพื่อต้อนรับเหล่านักสร้างสรรค์ที่อยากทำโปรเจกต์มันๆ และอยากมีพื้นที่ปล่อยของ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ก็มีร้านกาแฟ Grind Size BKK จากกรุงเทพฯ แวะเวียนมาตั้ง Pop-up Store หรือจะเป็นร้าน จง กิน ดีย์ ที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับ Cloud Markt พร้อมเสิร์ฟแกงกะหรี่รสหรอยแรงให้ทุกคนให้ลิ้มลอง

คำคม

มีเหตุผลมากมายที่ผมเก็บ Cloud Markt ไว้ใน List of Places หากต้องมาภูเก็ต ไม่ใช่แค่อาหารคราฟต์ๆ จากแบรนด์ท้องถิ่นแสนอร่อยที่ดึงดูดใจ แต่เป็นความตั้งใจ ใส่ใจ และความสดใหม่ที่เราจะได้รับจาก Cloud Markt อยู่เสมอหากมาเยือน

งั้นผมขอถามทุกคนเล่นๆ ถ้า Cloud Markt จะเป็นพื้นที่อะไรก็ได้ตามใจคุณ คุณอยากให้ที่นี่เป็นแบบไหน และคุณอยากมาปล่อยของอะไรที่ร้านชำภูเก็ตแห่งนี้?


CLOUD MARKT
พิกัด : ถ.มนตรี
เปิดทำการ : เวลา 10.00 – 23.00 น. (ทุกวัน)
ติดตามชาว Cloud Markt ได้ทาง Facebook หรือ Instagram

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.