คอลัมน์ Neighborhood กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้เราเปลี่ยนบรรยากาศจากกรุงเทพฯ ลงใต้ไปที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน กับ ‘TBEX (Thailand Blogger Exchange)’ ทริปส่งเสริมการท่องเที่ยวและเปิดมุมมองใหม่ๆ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดงานระดับโลกอย่าง ‘TBEX Asia’ ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้รับเลือกให้จัดงานนี้อีกครั้งในปี 2021 ภายใต้คอนเซปต์ Diversity of South : Phuket & Beyond ทำให้การออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านภูเก็ตครั้งนี้เราได้มุมอะไรมากกว่าที่คิด
เล่าเรื่องเมืองเก๋าที่ไม่เก่าเลย
‘ภูเก็ต’ กลายเป็นหนึ่งจังหวัดจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะมือใหม่หรือมืออาชีพ หลายคนเฝ้านึกถึงหาดทรายขาวละมุนเคียงข้างท้องทะเลอันสวยงาม แต่สำหรับการไปออกทริปที่ภูเก็ตครั้งนี้ สิ่งแรกที่เราได้เรียนรู้จากการเดินทอดน่องท่องย่านเมืองเก่า คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของภูเก็ตจากรากที่แท้จริงในมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อนจากปากของเจ้าถิ่น ทำให้การท่องเที่ยวครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเดินถ่ายรูปสวยๆ แล้วจบ แต่ภายใต้ภาพสวยงามของสถาปัตยกรรม และสีสันที่สดใสของตึกรามบ้านช่อง ยังคงแฝงไปด้วยเรื่องราวมากมายที่รับรองว่าเป็นมุมที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน
หลังจากออกเดินชมเมืองกันไปได้ไม่นานนัก เราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘คุณจุ๋ม-อรสา โตสว่าง’ สาวภูเก็ตแท้ๆ ที่หันกลับมาโอบกอดและพัฒนาบ้านของครอบครัวที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“เราคิดว่าการที่ภูเก็ตจะเปลี่ยนแปลงไปมันเป็นเรื่องธรรมดา จริงๆ ภูเก็ตก็เหมือนคนนะ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ซึ่งภูเก็ตก็เคยตายมาแล้ว คือเราคิดว่ามันคือวงจรปกติที่เป็นไปแต่จะดีกว่าไหมถ้าเราแค่ เกิด แก่ แต่ไม่เจ็บ ไม่ตาย
“เพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้ตายแล้วกลับไปเกิดใหม่อีกครั้งได้ ซึ่งการเกิดครั้งนี้คือห้วงเวลาของคนรุ่นใหม่ เพราะถ้าคนแก่ไม่รู้จักโน้มตัวเข้าไปหาเด็กรุ่นใหม่ เราก็จะไม่ได้มุมมองความคิดในรูปแบบใหม่ ซึ่งมันอาจจะเอามาพัฒนาเมืองภูเก็ตของเราให้ดีขึ้นก็ได้ ถ้าย้อนกลับไปในสมัยก่อนคนเล่าเรื่องจะเป็นคนเฒ่า คนแก่ นั่งเล่าให้ฟัง แต่เราคิดว่าตอนนี้คนที่เราอยากให้เล่าเรื่องคือเด็กๆ คนรุ่นใหม่ เล่าว่าอาม่า แม่ คนในครอบครัวของเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาด้วยวิธีไหน แล้วเขาจะเดินไปสู่อนาคตได้อย่างไร แล้วภูเก็ตจะเต็มไปด้วยเสน่ห์ของลูกๆ หลานๆ คนรุ่นใหม่”
คำตอบของพี่จุ๋มทำให้เราเห็นว่า เรื่องราวเมืองเก่าของภูเก็ตยังมีอะไรมากกว่าความสวยงาม ซึ่งลึกลงไปนั่นคือคุณค่าในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่พร้อมส่งต่อไปถึงเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ที่คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยียนภูเก็ตกันอย่างไม่ขาดสาย
เข้านอกออกในบ้านเก่าชาวภูเก็ต
หลังจากการพูดคุยกับพี่จุ๋มแล้ว ระหว่างนั้นเราก็ออกเดินชมเมืองภูเก็ตไปพร้อมๆ กัน แวะดูนั่นดูนี่ไปเรื่อยๆ ถึงแม้เมืองจะเก่าแค่ไหน เรากลับรู้สึกว่าการสร้างบ้านเรือนของคนภูเก็ตมีเอกลักษณ์ที่ค่อนข้างแปลกตากว่าที่เคยเห็น ‘คุณภูมิกิตติ์ รักแต่งาม’ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ก็เลยเล่าให้ฟังว่า “จากบ้านเรือนที่เราเห็นกันค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สังเกตได้จาก 3 อย่างหลักๆ เลย คือส่วนแรก ‘หน้าบ้าน’ หรือในภาษาจีนเรียกว่า ‘หงอกากี่’ ซึ่ง ‘หงอ’ แปลว่าห้า ‘กากี่’ แปลว่าศอก มีความหมายว่าพื้นที่ขนาด 5 ศอกที่เจ้าของบ้านเว้นเอาไว้ให้คนเดิน เวลาแดดร้อนก็เข้ามาหลบแดด ฝนตกก็เป็นที่หลบฝนได้
“ส่วนที่สองคือ ‘ความยาวของตัวบ้าน’ โดยส่วนใหญ่ตัวบ้านจะมีความยาวเป็นหลัก ไม่ว่าจะรูปทรงไหนก็ได้แต่ต้องยาว เพราะส่วนใหญ่จะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ทำให้มีสมาชิกในบ้านเยอะ และด้วยความยาวของบ้านที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้อากาศภายในบ้านไม่ถ่ายเทและค่อนข้างอับ เลยทำให้เกิดเป็นส่วนที่สาม คือการเจาะพื้นที่กลางบ้านเพื่อให้มีพื้นที่มากขึ้น มีบ่อน้ำส่วนตัว แถมยังประยุกต์ให้เป็นพื้นที่ซักล้างหรือในภาษาจีนที่เรียกว่า ‘จินแจ้’ ซึ่งสามอย่างนี้แหละคือภูมิปัญญาของคนจีน”
จากที่เราฟังเรื่องเล่าจากคุณภูมิกิตติ์ทำให้การเดินชมเมืองภูเก็ตในครั้งนี้มีความหมายมากกว่าทุกครั้ง และสิ่งที่เราว้าวมากๆ
คือสถาปัตยกรรมที่เราเห็นในจังหวัดภูเก็ตที่ความจริงแล้วไม่ได้เรียกว่า ‘ชิโนโปรตุกีส’ เพราะประเทศโปรตุเกสไม่มีอะไรเกี่ยวกับภูเก็ตเลย แต่ต้องเรียกว่า ‘ชิโนยูโรเปียน’ หรือ ‘ชิโนโคโลเนียล’ แทน ซึ่งนี่คือสไตล์ของสถาปัตยกรรมในจังหวัดภูเก็ตที่ถูกต้อง
ซึ่งที่เราเห็นนอกจากวัฒนธรรมจีนที่ผสมผสานอยู่ในจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังมีมลายู แขก อังกฤษ และอีกมากมายเติมเข้ามา และด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติจึงส่งผลถึงการใช้ภาษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในภาษาภูเก็ตบางคำเป็นคำที่ผสมกับภาษาอื่นจนใช้เป็นคำสากลไปแล้วก็มี ดังนั้นเราจะเห็นความเป็นนานาชาติของภูเก็ตสูงมาก
| เมืองเก่าภูเก็ต
ที่ตั้ง : ถนนถลาง-ซอยรมณีย์, ถนนกระบี่, ถนนพังงา, ถนนดีบุก-ถนนเทพกระษัตรี, ถนนมนตรี, ถนนภูเก็ต, ถนนสตูล, ถนนเยาวราช อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
มองวิถีชีวิตผู้คนผ่านส่วนผสมจากวันวาน
ถึงเวลาของอาหาร ก้าวแรกที่เราเดินทางมาถึง ‘บ้านอาจ้อ’ เรารู้สึกว่าเหมือนมาบ้านญาติด้วยความรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ตัวบ้านสีขาวโดดเด่นตัดกับสีเขียวสดของสนามหญ้า ทำให้รู้สึกผ่านคลาย โดยคำว่า ‘อาจ้อ’ ในส่วนของชื่อร้านแปลว่า ‘ทวดผู้หญิง’ ซึ่งท่านคือผู้ส่งต่อบ้านหลังนี้ผ่านกาลเวลามากว่า 84 ปีแล้ว ปัจจุบันบ้านหลังนี้ก็อยู่ในมือของทายาทรุ่นที่ 4 ซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจเนรมิตบ้านเก่าหลังนี้ให้กลายเป็น ‘บูทีกโฮเต็ล’ ที่มีทั้งร้านอาหารและที่พัก เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนในมุมมองใหม่ๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
คุณจุ๋ม อรสา หนึ่งในทายาทของบ้านอาจ้อเล่าให้ฟังว่า “บ้านหลังนี้เป็นส่วนผสมผสานที่หลากหลายทั้งจีน-ไทย-มลายู ซึ่งจะโดดเด่นในเรื่องการออกแบบและการแบ่งพื้นที่ในบ้านมากๆ จะเห็นได้ชัดตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าบ้านมา โถงหน้าบ้านจะถูกจัดให้เป็นสัดส่วนโดยแยกออกจากส่วนอื่น อย่างครัวก็จะถูกแยกออกจากตัวบ้าน เพราะจากความเชื่อที่ว่าครัวจะทำให้บ้านร้อน เมื่อคนในบ้านอยู่แล้วจะไม่สุขสบาย หรือห้องน้ำก็ต้องแยกออกจากตัวบ้านเช่นกัน เพราะเชื่อว่าของสกปรกไม่ควรอยู่ในบ้าน แล้วก็ยังมีอีกหลากหลายความเชื่อที่ส่งผลถึงวัฒนธรรมและผู้คนในสมัยก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดมันมีที่มาที่ไปนะ”
นอกจากการเดินชม ‘บ้านอาจ้อ’ ที่ปัจจุบันเปิดให้เป็นที่พักแล้ว เรายังมีโอกาสได้ทานอาหารในส่วนของครัวที่ถูกแยกออกจากตัวบ้านที่ใช้ชื่อว่า ‘โต๊ะแดง’ เสิร์ฟความอร่อยด้วยสูตรเด็ดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยวัตถุดิบที่ทางบ้านอาจ้อปลูกเองกับมือ ภายในร้านมีโต๊ะยาวสีแดงโดดเด่นเป็นสง่าตั้งอยู่ตรงกลาง บริเวณโดยรอบตกแต่งในสไตล์จีนที่มาพร้อมกลิ่นอายของยุโรปชวนให้เจริญอาหารยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งเวลาล่วงเลยผ่านไปเมนูต่างๆ ถูกจัดเสิร์ฟออกมาไม่ขาดสาย ซึ่งเมนูที่ถูกใจเรามากๆ คือ ‘แกงมอต๊าน’ หรือในภาษากลางเรียกว่า ‘แกงคั่วเงาะ’ รสชาติเข้มข้นที่มีวัตถุดิบหลักเป็นเงาะ ให้รสชาติหวานสอดรับกับพริกแกงคั่วใต้รสจัด บอกเลยว่าถ้ากลับมาอีกครั้งต้องสั่งซ้ำเมนูนี้เลยล่ะ
| บ้านอาจ้อ, โต๊ะแดง
ที่ตั้ง : 102 หมู่ 3 ถนนเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
เวลาเปิด-ปิด : 10.00 – 22.00 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
https://www.facebook.com/BaanArJor/
http://www.baanarjor.com
ตามรอยอดีตเมืองแห่งการทำเหมือง
เมื่อทานอาหารอิ่มแล้ว มาย้อนรอยเรื่องราวในอดีตของจังหวัดภูเก็ต ด้วยเรื่องราวในสมัยที่ภูเก็ตเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งภายหลังเหมืองแร่แห่งนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเข้ามาของผู้คนจากนานาประเทศมาที่จังหวัดภูเก็ต แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ภาพจำเหล่านี้คงเหลือเพียงโรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายที่เปิดมากว่า 80 กว่าปี ‘โรงตีเหล็กไต่สุ่นอั้น’ ที่เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก ด้วยการผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการขุดเหมือง เช่น ตะปู ชะแลง คีมจับเหล็ก ที่เจียเหล็ก
ถึงแม้ตอนนี้จะไม่มีเหมืองแร่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตอีกแห่งหนึ่งของภูเก็ตเลยก็ว่าได้ ซึ่งนอกจากฟังเรื่องเล่าเก็บเกี่ยวประวัติศาสตร์แล้ว เรายังได้มีโอกาสลงมือตีเหล็กด้วยวิธีดั้งเดิมกันจริงๆ ด้วย ทำให้รู้ซึ้งเลยว่า กว่าจะได้อุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้นต้องใช้ความอดทนและแรงกายมากมายแค่ไหน เรียกว่าเป็นหนึ่งในงานฝีมือที่แม้แต่เครื่องจักรก็เทียบไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว
| โรงตีเหล็ก ‘ไต่สุ่นอั้น’
ที่ตั้ง : บ้านเลขที่ 2 ถนนดีบุก เขตเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต
เวลาเปิด-ปิด : สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-4305-3960 / 08-1892-0618
ซึมซับวิถีชีวิตแห่งสายน้ำชาวมอร์แกน
ตกเย็นเรานั่งเรือออกจากฝั่งท่ามกลางสายฝนโปรยปรายพอให้ชุ่มฉ่ำกับเบื้องหลังวิวสะพานสารสินที่บรรยากาศยามเย็นช่วยให้สะพานนี้สวยขึ้นหลายเท่าตัว ไม่กี่อึดใจเบื้องหน้าเรากำลังมุ่งหน้าสู่ ‘บ้านท่าฉัตรไชย’ เยือนถิ่นมอร์แกนชุมชนชาวประมงที่ทำฟาร์มกุ้งล็อบสเตอร์ที่เรากำลังจะได้เห็นตัวเป็นๆ ของเจ้ากุ้งล็อบสเตอร์ก็คราวนี้แหละ นั่งเรือฝ่าเกลียวคลื่นออกมาไม่นานเราก็ถึงกระชังกุ้งพอดี พอไปถึงเรากลับไม่ได้แค่เจอกุ้งชนิดเดียว แต่ยังได้เห็นสัตว์ทะเลอีกหลากหลายชนิดเลย ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่เราสามารถเลือกซื้อและลิ้มลองรสอาหารทะเลสดๆ จากกระชังได้ด้วย
หลังจากตาดูแล้วปากก็ต้องลองชิมสักหน่อย ครั้งนี้มีโอกาสได้ทานเมนูสุดฟินที่ชื่อว่า ‘มังกรเริงร่าป่าโกงกาง’ โดยมีส่วนผสมของความอร่อยจากเนื้อกุ้งล็อบสเตอร์กับใบของต้นโกงกางที่นำมาชุบแป้งทอดในน้ำมันร้อนๆ ให้เหลืองกรอบ จิ้มแกล้มกับน้ำจิ้มเสาวรส ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าทั้งสองวัตถุดิบจะเข้ากันได้ดีขนาดนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตเราที่ได้กินใบโกงกางเลย รสชาติแปลกดีเหมือนกันนะ ระหว่างชิมเมนูนี้ชาวบ้านแอบกระซิบว่า ไม่ได้หาทานกันได้ง่ายๆ เพราะวัตถุดิบอย่างใบโกงกางสมัยนี้หาทานได้ยากแล้ว
การเดินทางไปย่านภูเก็ตในครั้งนี้ สำหรับเราแล้วยังรู้สึกว่าเมืองภูเก็ตยังมีเรื่องราว และสถานที่อีกมากมายรอให้ไปสัมผัสอีกเยอะแยะเลย ทั้งวิถีชีวิต สถาปัตยกรรม เรื่องเล่า อาหาร ไปจนถึงมิตรไมตรีของผู้คน นี่คือส่วนผสมที่สำคัญที่ทำให้เพื่อนบ้านที่ชื่อว่า ‘ภูเก็ต’ กลายเป็นหนึ่งในลิสต์เพื่อนบ้านอันดับต้นๆ ที่ทำให้เราอยากกลับไปหาอีกครั้ง
| บ้านท่าฉัตรไชย
ที่ตั้ง : ท่าฉัตรไชยใกล้กับสะพานสารสิน ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 06-3094-5766