NASA x SpaceX ปล่อยยาน Crew Dragon ก้าวใหม่ของอนาคตการท่องเที่ยวอวกาศ - Urban Creature

มนุษยชาติต้องจารึก! ครั้งแรกที่บริษัทเอกชน ‘SpaceX’ ของเจ้าพ่อธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ‘อีลอน มัสก์’ ส่งมนุษย์สู่อวกาศได้สำเร็จ และเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังจากที่ NASA ปลดระวางกระสวยอวกาศตั้งแต่ปี 2011 ส่งนักบินอวกาศจากแผ่นดินสหรัฐฯ ไปบนสถานีอวกาศอีกครั้ง

ไม่กี่วันที่ผ่านมาคนทั่วโลกได้ชมการถ่ายทอดสด SpaceX ปล่อยจรวด Falcon 9 และยาน Crew Dragon แบบมีมนุษย์ควบคุม พร้อมนักบินอวกาศ 2 คน ได้แก่ โรเบิร์ต เบห์นเคิน และดักลาส เฮอร์ลีย์ กับภารกิจ Demo-2 เพื่อไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ฐานปล่อย LC-39A ณ Kenedy Space Center ในรัฐฟลอริด้า ถือเป็นก้าวแรกของ NASA ที่เปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาท ทำให้การท่องเที่ยวในอวกาศไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป

• ทำไม NASA เลือกใช้ยานของเอกชน

สาเหตุที่ NASA ไม่ส่งกระสวยจากแผ่นดินสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2011 เป็นการตัดสินใจเมื่อปี 2004 เนื่องจากกระสวย Columbia ที่มีภารกิจขึ้นไปสร้างสถานีอวกาศต้องใช้เงินมหาศาลในการซ่อมบำรุง จอร์จดับเบิลยู. บุชจึงตัดสินใจว่าควรนำเงินส่วนนั้นำไปใช้กับโครงการกลุ่มดาว (Constellation program) เพื่อส่งนักบินอวกาศกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง

กระทั่งสถานีอวกาศเสร็จสมบูรณ์ในปี 2011 กระสวยดังกล่าวก็ถูกปลดระวาง อย่างไรก็ตาม โอบามาก็ตัดสินใจยกเลิกโครงการที่จะพาคนไปดวงจันทร์ด้วยเหตุผลว่ามันแพงเกินไป หลังจากนั้น NASA ก็ต้องซื้อตั๋วที่นั่งบนจรวด Soyuz และยานอวกาศของรัสเซียในราคาแพงอยู่หลายปี เพื่อส่งนักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศ

ในที่สุด NASA ก็ได้เริ่ม ‘Commercial Crew Program’ หรือให้บริษัทเอกชนเข้ามาผลิตยานอวกาศ ซึ่งถูกกว่า  NASA พัฒนาเอง โดยภายใต้การบริหารของทรัมป์ ยังหวังที่จะกระตุ้นให้มีการเดินทางสู่สถานีอวกาศเชิงพาณิชย์เพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น

• ยาน Crew Dragon และ จรวด Falcon 9 ต่างจากรุ่นเก่าอย่างไร

ยานที่ใช้มนุษย์ควบคุมนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Dragon 2’ เป็นเวอร์ชันอัพเกรดของยาน Dragon 1 ซึ่งเป็นยานแบบไม่มีมนุษย์ควบคุมใช้ขนส่งเสบียง โดย Dragon 2 นี้รองรับได้มากถึง 7 ที่นั่ง มีขนาดใกล้เคียงกับแคปซูล Apollo ที่นำนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 แต่ภายในไม่มีจอแผงควบคุมเทอะทะเหมือนในอดีต เพราะเปลี่ยนมาเป็นจอระบบสัมผัส อีกทั้งมีระบบการเชื่อมต่อยานเข้ากับสถานีอวกาศแบบอัตโนมัติ

ส่วนจรวดนำส่งระยะแรก ‘Falcon 9 stage 1’ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยหลังจากที่มันส่งจรวดนำส่งระยะที่ 2 พร้อมยานเพื่อขึ้นสู่วงโคจรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้กลับมาลงจอดบนเรือโดรนอัตโนมัติ ‘Of Course I Still Love You’ กลางมหาสมุทรแอทแลนติก ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนในการส่งยานอวกาศหรือดาวเทียมครั้งใหม่

• เป้าหมายต่อไปของ NASA และ SpaceX

ภารกิจในครั้งนี้ของนักบินอวกาศทั้งสองคือการขึ้นไปช่วยเหลือนักบินอวกาศอีก 3 คน จากทีม Expedition 63 ที่ประจำการบนสถานีอวกาศอยู่ก่อนแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือนเพื่อเสร็จสิ้นภารกิจและกลับมายังโลก ส่วนแพลนต่อไปของ Crew Dragon คือการขนส่งนักบินอวกาศของ NASA จำนวน 4 คน ขึ้นไปบนสถานีอวกาศ โดยจะเริ่มเที่ยวแรกในเดือนสิงหาคม

แน่นอนว่าทั้ง SpaceX และ NASA จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะอีลอน มัสก์ ตั้งเป้าไว้ว่าจะเดินทางสู่ดาวอังคารให้ได้ ส่วน NASA เองก็เตรียมภารกิจในโปรแกรม Artemis เพื่อส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024


Sources :

The New York Times | https://nyti.ms/2ySH4yG
The Verge | https://bit.ly/2AxHdZ2
SpaceX | https://bit.ly/2Bfrzl9
SpaceX | https://bit.ly/3gFmjaO
Thairath Online | https://bit.ly/2XWUbYm

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.