‘ความแคบ’ เป็นคำที่ฟังดูไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ หลายต่อหลายคนเกลียดความแคบจนเกิดเป็นโรคกลัวที่แคบ เพราะใครจะอยากนำตัวเองเข้าไปในที่แสนอึดอัด โดยเฉพาะ ‘ซอยแคบ’ ที่ทั้งเดินเท้าลำบาก รถยนต์เข้ายาก แต่ดันง่ายต่อการหลงทางอย่างที่ Google Maps ก็ช่วยไม่ไหว
ทางแคบเหล่านี้เกิดจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และขาดการจัดการผังเมืองที่ดีจนนำไปสู่ปัญหาซอยขนาดเล็กผุดขึ้นทั่วทั้งเมือง รวมถึงซอยตันซึ่งเกิดจากเอกชน เมื่อดินเริ่มพอกหางหมู ปัญหาอื่นๆ ก็เดินเท้าเรียงตามกันมา แต่ทุกเมืองย่อมมีบริบทที่แตกต่างกัน ในบางครั้งซอยแคบดันกลายเป็นฮีโร่ในการแก้ปัญหาอย่างคาดไม่ถึงทั้งเรื่องความปลอดภัยและมลภาวะ
คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมองว่าซอยแคบเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ดังนั้นคอลัมน์ Curiocity จึงอยากพาทุกคนลงเดินสำรวจซอยแคบทั่วโลก เพื่อส่องปัญหาและการจัดการในแต่ละบริบท จนไปถึงด้านสว่างของซอยแคบ
ซอยแคบ ซอยตัน กับการเป็นปัญหาเรื้อรัง
‘ผังเมืองกรุงเทพฯ’ คือความโกลาหล ซอยเล็กถนนน้อยหรือตึกพาณิชย์ที่ตั้งติดกับบ้านคน อาจเรียกได้ว่าเราเริ่มผิดตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก ซึ่งซอยแคบคือหนึ่งในผลพวงที่ตามมา ทั้งการจราจรที่ติดขัดในซอย ความปลอดภัยในการเดินเท้า ขนส่งสาธารณะที่เข้าไม่ถึง ทำให้รถยนต์กลายเป็นสิ่งจำเป็น
ยังไม่นับรวมความแออัดของชุมชน ลามไปถึงรถพยาบาล รถกู้ภัย หรือรถดับเพลิงที่บางครั้งไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเพราะความคับแคบของถนน ‘ปัญหาเมืองแตก’ เรื้อรังอยู่กับกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน อีกทั้งการคิดแก้ปัญหาโดยการวางผังและรื้อเมืองใหม่ทั้งหมดยิ่งฟังดูเป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่
ตัวอย่างเมืองในต่างประเทศที่เผชิญปัญหาคล้ายๆ กันคือ อิตาลีกับการมีซอยแคบในเขตเมืองเก่า ที่เกิดจากการตัดถนนในสมัยที่ยังไม่มียานพาหนะขนาดใหญ่ แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากสำหรับรถยนต์ในการสัญจรบนทางรถม้าที่คับแคบและถนนไม่เอื้ออำนวย ทำให้บางซอยแคบเสียจนยานพาหนะปัจจุบันไม่สามารถผ่านได้ ส่งผลให้จราจรติดขัดอยู่เป็นครั้งคราว
แต่จะให้มองเพียงแง่ร้ายคงไม่ได้ เพราะซอยแคบตัวแสบกลับใช้ข้อจำกัดของตัวเองสร้างประโยชน์ให้กับเมืองได้อย่างน่าสนใจในหลายๆ ประเทศ
ด้านสว่างจากท้ายซอย
เพียงพลิกมองอีกด้านจากความจำกัดของพื้นที่ ซอยแคบได้กลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการจำกัดการใช้ยานพาหนะขนาดใหญ่ เนื่องจากไปสอดคล้องกับแนวคิด ‘ลดการใช้รถยนต์และเพิ่มพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า’ แบบที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังพยายามตามเทรนด์เพิ่มพื้นที่เดินเท้าให้กับเมือง ยกตัวอย่าง เมืองอัมสเตอร์ดัม ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่สามารถแปรเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองแห่งจักรยานได้อย่างไม่ยากเย็นจากข้อจำกัดของพื้นที่
หลายคนอาจไม่ทราบว่าเมืองอัมสเตอร์ดัมอุดมไปด้วยซอยแคบโดยเฉพาะในเขตเมืองเก่า ทำให้การสัญจรส่วนใหญ่ต้องใช้การเดินเท้าและปั่นจักรยาน ผนวกกับการรณรงค์งดใช้รถยนต์และนโยบายที่ช่วยเอื้ออำนวยการเดินทางแบบไร้มลภาวะจากเมือง ยิ่งทำให้จักรยานกลายเป็นพาหนะอันดับหนึ่งในการคมนาคม
หรือลองขยับไปดูเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่มีซอยแคบในเขตเมืองเก่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งซอยเหล่านั้นกลายเป็นลักษณะเด่นของเมืองที่นักท่องเที่ยวใช้สำรวจชุมชนและอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่แบบใกล้ชิด ซึมซับวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมผ่านการเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องกังวลถึงยานพาหนะขนาดใหญ่ จนกลายเป็นเสน่ห์การท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ
จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ซอยแคบเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่ใช้สาธารณประโยชน์ได้ และช่วยสร้างความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง นอกจากช่วยลดมลพิษทางอากาศ เสียง และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว ทั้งเมืองเกียวโตและอัมสเตอร์ดัมเองก็ยังสร้างจุดเด่นของเมืองจากข้อจำกัดของพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ
แต่หลายคนอาจส่ายหัวให้ข้อความข้างต้น โดยเฉพาะชาวเมืองกรุงเทพฯ ที่การมีอยู่ของซอยแคบนั้นส่งผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง หรือจริงๆ แล้วความดีเลวของซอยแคบอาจขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานและการจัดการของเมือง
ดีชั่วอยู่ที่เมืองทำ
‘ต่างบริบทต่างองค์ประกอบ’ นี่คือความจริงในความหลากหลายของแต่ละเมือง อย่างที่รู้กันว่าเราคงไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แม้ในบางเมืองซอยแคบจะสร้างประโยชน์ แต่สำหรับกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย การมีอยู่ของซอยแคบนั้นสร้างความไม่สะดวกสบายอย่างเห็นได้ชัด
แต่การจะให้ซอยแคบในเมืองกลายเป็นแพะรับบาปเพียงผู้เดียวคงฟังดูไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะความจริงประเทศของเราอาจมีปัญหาที่พัวพันจนส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งระบบขนส่งที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้คนหันมานิยมใช้รถส่วนตัว เมืองที่ยังไม่มีทางจักรยานรองรับเพียงพอ หรือต่อให้มีก็คงเต็มไปด้วยจักรยานยนต์ กระทั่งทางเท้าที่ทั้งแคบและชำรุด นี่ยังไม่รวมสภาพอากาศที่ร้อนระอุและฝุ่นควันจากมลพิษทางอากาศที่ทำให้การเดินเท้ากลายเป็นเรื่องท้าทายกว่าเดิม
ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลดันโยงใยพันเกี่ยวส่งผลต่อกันเป็นทอดๆ นั่นแสดงให้เห็นว่า คุณภาพของการใช้ซอยแคบขึ้นอยู่กับการจัดการของเมืองและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน หากเมืองสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซอยแคบอาจกลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างคาดไม่ถึง แต่หากยังย่ำอยู่กับที่ เมืองเองต่างหากที่สร้างซอยแคบให้กลายเป็นตัวร้ายสำหรับคนเมืองอย่างไม่รู้ตัว
Sources :
New World Economics | bit.ly/4gr4f39
Sciencedirect | bit.ly/3B1Bfyz
Strong Towns | bit.ly/3ZpRGPz