ปีนี้ ‘ย่านนางเลิ้ง’ ได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งย่านใหม่ของเทศกาล Bangkok Design Week 2023 ด้วย นอกจากการเป็นต้นตำรับความอร่อยและบรรยากาศชุมชนเก่า ย่านนี้ยังมีอะไรอีกมากมายให้ไปทำความรู้จักและเรียนรู้
กว่าสิบกิจกรรมในย่านนางเลิ้งเกิดขึ้นโดยคนในชุมชน ศิลปิน ผู้ประกอบการภายในย่าน ไปจนถึงหน่วยงานมากมายที่มุ่งมั่นอยากทำให้ย่านนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น รวมถึงทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้พื้นที่ที่อุดมไปด้วยชุมชนเก่าและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่า
กิจกรรมที่ว่ามีตั้งแต่นิทรรศการศิลปะ การแสดงศิลปะชุมชนผสมผสานกับละครชาตรี การจัดแสดงแสงสีกับพื้นที่ของเมืองและอาคารเก่า การสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเมืองรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อนำเสนออาหารในย่าน
ใครที่เลือกไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะไปย่านไหนในงานนี้ดี แถมเวลาก็เหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ตามลิสต์นี้มาได้เลย
ชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมเก่า ที่บ้าน Bangkok 1899
เริ่มต้นกันที่บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่มีอายุมากกว่าร้อยปี และออกแบบโดย ‘มาริโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno)’ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ปัจจุบันที่นี่ได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นศูนย์กลางทางด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรม โดยประกอบไปด้วยที่พักสำหรับศิลปินนานาชาติ คาเฟ่ พื้นที่จัดนิทรรศการ และพื้นที่สวนสาธารณะ ภายใต้ชื่อโครงการ Bangkok 1899
นอกจากความสวยงามของสถานที่แล้ว ที่นี่ก็มีนิทรรศการ ‘A New Thai Alphabet Typography’ โดย Elvire Bonduelle ที่นำเสนอการออกแบบตัวอักษรไทยในรูปแบบใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการสำรวจพื้นที่ชุมชนนางเลิ้งและชุมชนเพื่อนบ้าน และออกแบบตาม Grid และ Elements ต่างๆ ในเมือง
ส่วนใครที่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ งานนี้ก็มีเวิร์กช็อปพิเศษที่จะพาไปจินตนาการถึงตัวอักษรไทยในรูปแบบใหม่ๆ ในวันที่ 11 และ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น.
สัมผัสพื้นที่สีเขียวจิ๋วกับสวนเคลื่อนที่ ‘Park Pods’
ไม่ไกลนักจากบ้านเจ้าพระยาฯ จะพบกับ ‘Park Pods’ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กร และนักออกแบบ ในการร่วมกันออกแบบพื้นที่สาธารณะ เช่น สวน ห้องสมุด เครื่องเล่น พื้นที่กิจกรรมต่างๆ บนรถเข็นอุตสาหกรรม (Push Cart) ขนาด 1.2 x 1.2 เมตร โดยเคลื่อนย้ายการติดตั้งในแต่ละวันไปยังสถานที่ต่างๆ รอบย่านนางเลิ้ง
อย่างวันที่เราไปทัวร์เดินก็พบกับเจ้าสวนน้อยถึงสองจุด ซึ่งอีกแห่งคือแถวๆ หน้าคาเฟ่ Lost & Found Nang Loeng โดยทีมผู้จัดทำผลงานชิ้นนี้ได้ให้เหตุผลไว้ว่า เนื่องจากกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่กิจกรรมสาธารณะและพื้นที่สีเขียว ทำให้พวกเขาต้องการที่จะนำเสนอแนวคิดที่พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งของเคลื่อนที่ได้ และมีรูปแบบบริการที่หลากหลายปรับเปลี่ยนไปตามสภาพบริบทพื้นที่ให้ตอบโจทย์ความต้องการ รวมถึงบริบทของสังคมและเศรษฐกิจต่างๆ
ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้นจะลองไปใช้บริการดูก็ไม่เสียหาย เท่าที่สังเกตดู มีหนังสือในกล่องให้หยิบมาอ่าน กับกระดานหมากรุกให้เล่นด้วยนะ
สถาปัตยกรรมซุ้มที่ช่วยเพิ่มสีสันและความมีชีวิตชีวาให้กับย่าน
สำหรับ ‘Scene of Light-Scene of Life’ โดย ขวัญพร บุนนาค และกลุ่มศิลปิน อีเลิ้ง ที่เป็นสถาปัตยกรรมซุ้มไฟสีสันสวยงามนี้ จะไม่ได้มีแค่จุดเดียวให้เราเดินไปเช็กอิน เพราะแต่ละแห่งได้กระจายไปอยู่ตามบริเวณต่างๆ ของย่าน ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคลองจุลนาค ถนนนครสวรรค์ ถนนจักรพรรดิพงษ์ และคลองวัดสิตาราม ถนนหลานหลวง
ผลงานชิ้นนี้เกิดจากการออกแบบพื้นที่ว่างที่สามารถสร้างเป็นพื้นที่กิจกรรม ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้พื้นที่ในเวลากลางวันและกลางคืนได้ บนเส้นทางการเดินในย่านและพื้นที่ที่ควรมีแสงสว่าง เพื่อทำให้เกิดฉากที่มีชีวิตหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่อนุญาตให้คนนอกพื้นที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนได้
ด้วยความที่เราไปในช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างเย็นกับค่ำ ทำให้มองเห็นและรับรู้ความรู้สึกที่แตกต่างกันของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ที่ทำงานกับพื้นที่โดยรอบ อย่างตอนที่มีแสงธรรมชาติจะรู้สึกว่างานชิ้นนี้ดูน่ารัก น่าไปสัมผัสลองใช้งานใกล้ๆ แต่เมื่อเป็นในยามกลางคืนที่ไฟของชิ้นงานได้ทำงาน ก็ให้ความรู้สึกที่เก๋เท่ ลึกลับ ซึ่งอีกข้อดีคือทำให้ทางเดินที่ปกติค่อนข้างมืดมีแสงสว่าง รวมถึงสร้างบทสนทนาให้คนที่ผ่านไปผ่านมา
หยิบเอาสิ่งของในย่านมาพัฒนาเป็นชิ้นงานตรอกคุณเลิ้ง
นอกจากตัวสถาปัตยกรรมซุ้มแล้ว ยังมีชิ้นงานตรอกคุณเลิ้งที่ส่องแสงไฟ สร้างสีสันให้ย่านนางเลิ้งได้ไม่แพ้กัน จนเรามั่นใจว่าใครที่เป็นสายถ่ายภาพต้องชื่นชอบงานนี้แน่นอน
ความเก๋ของตรอกคุณเลิ้งคือ การปรับปรุงพื้นที่เดิมที่กระจายตัวในย่านให้เกิดเป็นพื้นที่กิจกรรมสาธารณะชั่วคราว เพื่อส่งเสริมกิจกรรมและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน จากการออกแบบพื้นที่ด้วยภาษาเรียบง่ายอย่างการนำสิ่งที่พบเห็นได้ในตลาดนางเลิ้งอย่างลังพลาสติก ปี๊บขนม หรือสีสันของงานผ้ามาถ่ายทอดตามคาแรกเตอร์ของพื้นที่แต่ละจุด และจะมอบคืนให้คนในชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปเมื่อกิจกรรมสิ้นสุดลง
กินเพลินเลินเลิ้งที่บ้านนางเลิ้ง
หลังจากเดินชมเมืองมาพักใหญ่ๆ ก็มาถึงบ้านเก่าซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ‘กินเพลินเลินเลิ้ง’ ที่เป็นการกินแบบผสมผสานวัฒนธรรมของชุมชนกับอาหารเข้าด้วยกัน ผ่านการออกแบบที่เน้นดีไซน์ของอาหารคาวหวานในชุมชนนางเลิ้ง โดยนำมาต่อยอดขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิด ‘SENSE OF NANG LOENG’ ที่เชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมสัมผัสหน้าตาของอาหารและรสชาติอันกลมกล่อมผ่านการเล่าเรื่องหัวข้อ ‘ปั้นคำหอม หยอดคำหวาน ละเลิงรส ดื่มด่ำความสุข’
ใครที่สนใจอยากมาลองชิม กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นอีกทีในวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.00 – 19.00 น.
ดื่มด่ำการแสดงและการออกแบบฉาก Sartorial
เดินลึกเข้าตลาดนางเลิ้ง มาชมการออกแบบฉากและการแสดงที่มีชื่อว่า Sartorial (ซาโทเรียล) ที่เป็นการสะท้อนภาพของชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดำรงไปด้วยศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติอย่างละครชาตรี ที่เริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทย
งานนี้ BKKDW 2023 ร่วมทำงานกับชุมชนนางเลิ้ง นำเอารากวัฒนธรรมของไทยและละครชาตรีมานำเสนอผ่านการออกแบบจากนักออกแบบวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างพื้นที่และประสบการณ์ใหม่ผ่านท่วงท่าและเสียงดนตรี พร้อม Projection Mapping ท่ามกลางบรรยากาศชุมชนดั้งเดิมของเหล่าศิลปินนักดนตรีไทยและนางรำ
แม้ว่าตอนที่เรามาจะไม่ได้ชมการแสดงแบบเต็มๆ แต่คุณแม่ผู้เป็นหัวเรือของละครชาตรีในชุมชนนางเลิ้งก็ได้มาแนะนำตัวเป็นทำนองของละครชาตรีให้เราฟัง ถือเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ จากที่ไหน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ยุคนี้
งานออกแบบ จุบจิบจับใจ เพื่อเปิดประสบการณ์อาหารในนางเลิ้ง
ใครที่ไปตลาดนางเลิ้งแล้วกลัวว่าจะกินได้ไม่เต็มอิ่ม ชุดบรรจุภัณฑ์ ‘จุบจิบจับใจ’ ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ เพราะฟังก์ชันคือการมัดรวมอาหาร น้ำ และขนม ไว้ด้วยกันแล้วใน 1 ชุด โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Party Tray
ชุดบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยแก้วกับหลอด ถ้วยกระดาษ 8 ใบ และถาดกระดาษที่พับได้ เพื่อเป็นฐานรองให้ภาชนะทั้งหลายนั่นเอง พูดง่ายๆ ว่าในขณะที่เดินชมงานในย่าน เราก็สามารถเดินถือสิ่งนี้โดยไม่เกะกะ ทั้งยังได้กินอาหารคาวหวานและดูดน้ำชื่นใจได้พร้อมๆ กัน อีกทั้งยังมีข้อแนะนำการแยกขยะตามประเภท และนำกลับมารีไซเคิลที่จุดทิ้งขยะด้วย
‘อุฬารพัชร นิธิอุทัย’ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ชุดนี้ยังคาดหวังว่า หลังจากผู้มาเยือนได้ชิมอาหารอย่างละนิดละหน่อยจากจุบจิบจับใจแล้ว เมื่อเกิดถูกใจเมนูไหนเป็นพิเศษ จะได้กลับมาซื้อกินอีกหรือซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านนั่นเอง
ตื่นตาตื่นใจไปกับ Nang Loeng Memory Wall
ผลงานชิ้นนี้จัดแสดงในบ้านเก่าที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายอดีต โดยนักออกแบบ ‘ชานนท์ วาสิงหน’ ได้ตั้งใจให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่แสดงออกถึงการตกทอดของมรดกครอบครัว จนกลายเป็นมรดกของชุมชนและของชาติได้ โดยดึงเอาคอลเลกชันภาพถ่ายของแต่ละครอบครัวมาเล่าเรื่อง เพื่อให้เห็นไดนามิกความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดเป็นความงามและคุณค่าในเชิงศิลปะแบบใหม่
นอกจากนี้ยังมีอินสตอลเลชันที่ค่อยๆ ต่อเติมจิ๊กซอว์ของ ‘อินทรีแดง’ ที่รับบทโดยดาราดังในตำนานอย่าง ‘มิตร ชัยบัญชา’ เพื่อเป็นตัวแทนของอดีตทั้งในแง่ของพื้นที่ย่านและประเทศไทย เพราะวัดสุนทรธรรมทานหรือวัดแคนางเลิ้ง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานศพของเขาก็อยู่ในย่านนี้
ย้อนวันวานความทรงจำกับ Enlighten Nang Loeng ที่โรงเรียนร้าง
ปิดท้ายที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ด้านหลังบ้าน Bangkok 1899 ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยคุณหญิงไฉไล เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้เป็นลูกสาวของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และเปิดทำการมาหลายยุคสมัย จนสุดท้ายต้องปิดตัวไปเมื่อช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
เนื่องจากตัวเซตติงเป็นโรงเรียนเก่า ทำให้ศิลปิน KIMBAB 🙂 and friends ได้รังสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ จากตัวสถาปัตยกรรม โดยจะพาให้ผู้ชมนึกถึงเรื่องราวและประสบการณ์ของแต่ละคนในยุคสมัยของชีวิตวัยเรียน ผ่านแสงและอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมโรงเรียน รวมถึงความเก่าแก่ของอาคารหลังนี้ที่อยู่คู่ย่านนางเลิ้งมาอย่างช้านาน
ภายในนิทรรศการนี้ มีชิ้นงานจัดแสดงทั้งหมด 4 โซน ได้แก่ บริเวณสนาม ทางเดินบริเวณชั้น 2 ห้องเรียนบนชั้น 3 และตรงบันไดที่ชั้น 4 ก่อนขึ้นไปชมวิววัดภูเขาทองบนชั้นดาดฟ้า
‘Bangkok Design Week 2023 – Nang Loeng’ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 12 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกิจกรรมจะมีทั้งที่จัดเป็นรอบการแสดงและจัดเฉพาะช่วงกลางวันหรือกลางคืน ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ bit.ly/3K8JLyz