“จะแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ยังไงดี”
คำถามคาใจที่หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว เราเป็นใครถึงจะเข้าไปแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ แต่เชื่อหรือไม่ว่าคำถามเดียวกันนี้เป็นคำถามเดียวกันที่ MuvMi เคยตั้งไว้เป็นโจทย์ในการแก้ไข
เพื่อหา Solution ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ จนพบจุดที่น่าสังเกตของกรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองที่มีรถไฟฟ้าก็จริง แต่ผู้คนยังประสบปัญหาการเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าอยู่ดี
จากคำถามเล็กๆ นี้ได้นำมาสู่การคิดค้นและให้บริการขนส่งสาธารณะรูปแบบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ภายใต้แนวคิด Microtransit หรือการขนส่งและบริการขนาดเล็กที่ยืดหยุ่น และกลายเป็นทางเลือกให้คนกรุงเทพฯ ที่ใช้บริการได้ทุกวัน และมีส่วนสำคัญในการคืนชีวิตให้ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนขับรถตุ๊กตุ๊ก รวมถึงยกระดับให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
หลังจากเปิดให้บริการมา 3 ปี MuvMi มียอดการใช้งานไปแล้วมากกว่า 1 ล้านทริปในกรุงเทพฯ และยังอยู่รอดได้ท่ามกลางธุรกิจแชร์ริงที่ล้มหายตายจาก Urban Creature ชวน ตี้-ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ คุยถึงก้าวต่อไปของผู้ที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ให้บริการตุ๊กตุ๊ก (ทั้งที่มีรถวิ่งทั่วเมือง) พวกเขาแตกต่างจากผู้ให้บริการประเภทอื่นด้วยอะไร ทำไมถึงตอบโจทย์สำหรับคนกรุง แก้ปัญหารถติดได้หรือยัง และจะมูฟไปทางไหนต่อ มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันดีกว่าครับ
3 ล้อของ MuvMi
MuvMi บอกว่า จริงๆ แล้วปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากการเดินทางสาธารณะที่มารองรับการใช้งานขนส่งสาธารณะหลักยังไม่ตอบโจทย์เพียงพอ ไม่เชื่อมต่อและไม่ครอบคลุม พวกเขาจึงอยากเชื่อมคนกับขนส่งสาธารณะหรือการเดินทางไมล์สุดท้าย (First Miles, Last Miles) กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น
“เราอยากจะสร้างทางเลือกใหม่ที่จะเข้ามาเสริมระบบการเดินทางของ Mass Transit อย่างรถไฟฟ้า จนกลายเป็น MuvMi ที่อยากจะแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรให้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ และก็แก้ไขปัญหาการจราจรไปด้วยในตัว”
MuvMi จึงไม่ใช่แค่บริการรับส่งคนธรรมดา แต่คือความฝันที่อยากเปลี่ยนแปลงเมืองนี้ให้ดีขึ้น
“ชื่อของ MuvMi มาจากชื่อที่พยายามจะคิดถึงอะไรสักอย่างที่เป็น Movement คือเราอยากบอกว่า มาเคลื่อนที่ฉันไปหน่อย พาฉันไปหน่อย พาฉันไปยังจุดต่างๆ เพราะเรามองว่าจริงๆ แล้ว Mobility ของคนเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างเมืองให้เติบโตและมีชีวิตชีวามากขึ้น ก็เลยกลายเป็น MuvMi”
ตุ๊กตุ๊ก Solution การเดินทางที่อยู่คู่มหานครกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน
ก่อนที่จะได้พูดคุยกับ MuvMi เราสงสัยมาตลอดว่าทำไมต้องเป็นรถตุ๊กตุ๊ก ทั้งๆ ที่มีรถรูปแบบอื่นให้เลือกตั้งเยอะแยะ เพราะถึงจะเป็นภาพลักษณ์ในการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ที่ชาวต่างชาติอยากจะขึ้นดูสักครั้ง แต่สามล้อติดเครื่องยนต์ไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่คนไทย เพราะมักจะมีปัญหาทั้งในเรื่องของมาตรฐานราคา หรือการให้บริการ
“เราต้องการที่จะแก้ปัญหาการเดินทางในกรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งที่นี่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวคือ หนึ่ง ถนนสายเล็ก คดเคี้ยว สอง รถติดมาก ก็เลยคิดว่ารถอะไรที่จะพาคุณซอกแซกไปในถนนหนทางในเมืองนี้ได้ เวลาเจอทางไหนที่มันติดเราก็กลับรถได้ เคลื่อนที่ไปได้รวดเร็วก็คือตัวตุ๊กตุ๊กนี่แหละ ที่มันอยู่คู่กับกรุงเทพฯ มานาน การที่มันคงอยู่มันก็มีเหตุผลของมันอย่างที่บอก คือมันเหมาะกับสภาพถนนและสภาพเมืองของเรา”
MuvMi เริ่มจากการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับรถตุ๊กตุ๊ก และเพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางของคนในเมืองให้สะดวกสบายไปพร้อมกัน เพราะเข้ากับสภาพถนนและสภาพเมืองของเราได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยขนาดรถที่เล็กกะทัดรัด ลัดเลาะเข้าซอยต่างๆ ของมหานครซอยตันได้เป็นอย่างดี และแปลงโฉมรถตุ๊กตุ๊กไท้ยไทยให้กลายมาเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ถ้าใช้รถตุ๊กตุ๊กทั่วไปก็จะมีอีกปัญหาหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกันคือมลภาวะ ฉะนั้นเราเองก็ไม่อยากแก้ปัญหาหนึ่งด้วยปัญหาอีกอันหนึ่ง เลยมองว่าถ้าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนจริงๆ บริการของเราเองก็ต้องไม่ก่อปัญหาในทางมลภาวะไปด้วย”
MuvMi บอกเล่าถึงข้อดีของการเลือกใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าว่า ค่าซ่อมบำรุงรักษาถูก อุปกรณ์ กลไกมีน้อยลง ทำให้ดูแลจัดการได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังออกแบบตัวรถใหม่ให้นั่งได้ถึง 6 คน ปรับดีไซน์ใหม่ แต่ยังคงนั่งสบาย และที่สำคัญ เดินขึ้นลงสะดวกโดยที่ไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นเหมือนเดิม คนสูงอายุก็ขึ้นได้สะดวก
การเปลี่ยนจากรถตุ๊กตุ๊กธรรมดามาเป็นรถไฟฟ้าของ MuvMi ไม่ได้เป็นแค่ลูกเล่นที่ดึงความสนใจให้ตอบโจทย์เทรนด์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนามันทำให้บริการดีขึ้น กลบข้อเสียเดิมที่มีรูปแบบราคาที่ไม่แน่นอน ให้เป็นธรรมมากขึ้นผ่านการคิดตามระยะทางจริง
“จุดแข็งที่ทำให้ MuvMi แตกต่างด้วยดีไซน์แบบรถตุ๊กตุ๊กให้นั่งสบาย เงียบ หมดปัญหากลิ่นท่อไอเสียโดนเสื้อผ้า และที่สำคัญคือมันโปร่งมาก คือนั่งไปลมโกรกตัวไป ไม่ใช่นั่งไปมองเห็นแต่หลังคา แล้วก็มีแดดส่องหลังคามาร้อนๆ มันเป็นความรู้สึกใหม่เมื่อสิ่งที่เราคุ้นเคยแต่ถูกอัปเกรดขึ้นมา”
แตกต่างด้วยการวิ่งเฉพาะโซน
ย้อนกลับไปราวสามถึงสี่ปีที่แล้ว บริการแชร์ริงในไทยเฟื่องฟูมาก เราเห็นจักรยานสำหรับการท่องเที่ยวถูกนำไปตั้งตามจุดศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ สกูตเตอร์ไฟฟ้ามีให้เห็นทั่วทองหล่อ-เอกมัย เวลาหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนบางธุรกิจกลับล้มหายไปตามกาลเวลา แล้วอะไรที่ทำให้ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ายังอยู่ได้?
อันดับแรก เรามองว่ารูปแบบการให้บริการของ MuvMi แตกต่างจากบริการขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เพราะเลือกที่จะกำหนดขอบเขตเป็นย่านเพื่อรองรับและเสริมการเดินทางจาก Mass Transit อย่างรถไฟฟ้าให้ผู้คนได้เดินทางไปทำงาน เข้าออกตามตรอกซอกซอยที่ต้องการในลักษณะ Microtransit ได้อย่างสะดวกปลอดภัย
ตี้เล่าว่า คาแรกเตอร์ของ MuvMi คือมีความเป็นท้องถิ่นสูงมากและเข้าถึงโครงสร้างของกรุงเทพฯ ได้ดี เพราะการเดินทางแต่ละรูปแบบอาจจะเวิร์กในบางประเทศ หรืออาจจะได้ผลในบางพื้นที่ของเมือง ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนกัน
“อย่าลืมว่าการเดินทางจะต้องแชร์โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งบางครั้งไม่ใช่โจทย์ที่ผู้ประกอบการจะเข้าไปเปลี่ยนได้ เช่นคุณอยากจะเดินทางด้วยสกูตเตอร์ไฟฟ้า ต่อให้คุณจะทำสกูตเตอร์ดีแค่ไหนก็ตาม แต่คุณไม่สามารถตัดถนนใหม่ คุณก็ต้องยอมให้ลูกค้าวิ่งผ่านฝาท่อที่คุณไม่สามารถเปลี่ยนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะกลับมาที่เรื่องพื้นฐานที่สุดของการเดินทางคือมันมีความปลอดภัยแค่ไหน
“เรามองว่าการเดินทางที่ดีในอนาคต คืออิสระในการมีทางเลือก ไม่ใช่เลือกเดินทางแบบไหนก็ตามเพราะไม่มีอะไรจะเลือก ในอนาคตถ้าวิถีชีวิตของคุณเปลี่ยนเป็นแบบไหน การเดินทางต้องปรับไปให้เป็นแบบนั้น”
ย่านแรกที่ MuvMi เปิดให้บริการก็คือ จุฬาฯ-สามย่าน ย่านศักยภาพที่มีคนสัญจรมากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ และเป็นย่านที่บรรดาผู้ก่อตั้งเติบโตมาด้วยกัน
“เริ่มแรกเราทดสอบ Business Model ก่อนว่าถ้าเอารถตุ๊กตุ๊กเข้ามาจะมีคนนั่งหรือเปล่า แต่มันเลยจุดนั้นไปแล้ว ทีนี้เราก็มีโจทย์สำหรับแต่ละพื้นที่ในการที่จะขยายออกไป เริ่มแรกเราเชื่อมกับระบบขนส่งที่เป็น Mass Transit ก่อน เพราะเราอยากตอบเรื่อง First miles, Last miles แต่ความจริงพื้นที่มันมีชีวิตกว่านั้น เราอยากเป็นขนส่งที่ทุกคนสามารถขึ้นได้จนชุมชนมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วย”
User Experience จึงเป็นเรื่องสำคัญมากกับธุรกิจนี้ MuvMi พยายามบาลานซ์ความสำคัญทุกอย่างของการเดินทางทั้งราคา ความสะดวก ความปลอดภัย เพราะต้องทำให้ผู้ใช้บริการพึงพอใจเพียงพอที่จะใช้งานได้ในทุกวัน ทีนี้พอเบิกร่องเส้นทางแรกได้สำเร็จก็ค่อยๆ ขยับขยายไปเส้นทางอื่นตามแนว Mass Transit หรือรถไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมีรถพร้อมให้บริการกว่า 150 คัน และวิ่งทั้งหมด 5 พื้นที่คือ จุฬาฯ-สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์, รัตนโกสินทร์, อโศก-นานา, พหลฯ-เกษตร และกำลังพัฒนาต่อไปยังย่านอื่นๆ อีกในอนาคต
“ข้อดีของ MuvMi คือไปได้ทุกที่ ทุกสเกล เราไม่ได้มองว่าตัวเองถูกจำกัดอยู่ที่ในเมือง หรือจะทำแค่ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าอย่างเดียว เราเป็นผู้ให้บริการเป็นเซอร์วิส เพียงแต่ตอนนี้เราเลือกพื้นที่ที่ทดลองได้ก่อนเพราะว่ามีทรัพยากรอยู่จำกัด เลยนำมาใช้ตรงพื้นที่หนาแน่นและมีศักยภาพก่อน”
MuvMi สู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อเมืองที่ดีขึ้น
MuvMi เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ตอนที่พวกเขาเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เรายังอยู่ในช่วงตั้งคำถามกันอยู่ว่าอะไรคือ Smart City เทรนด์ยังพูดถึงคำว่า AEC กันอยู่เลย แล้วหลังจากนั้นก็มาพูดเรื่อง 4.0 คำว่า EV ยังเป็นอะไรที่ไกลตัวมาก
“ตอนนี้จากคำว่าสงสัยกลายเป็นเข้าใจแล้ว เพียงแต่ว่าหลายธุรกิจยังไม่ได้ลงมือจริง ถามว่าทำไมเราที่มองว่าตัวเองเป็นเซอร์วิสต้องทำทั้งแอปฯ ทั้งรถ ก็เพราะว่าตอนนั้นไม่มีใครทำเลย แต่เราก็อยากเป็นเคสที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าคนสี่คนปลูกปั้นสิ่งนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้น คนอื่นหรือคนที่อยู่ในองค์กรมหาชนและมีกำลังมหาศาลอยู่ในมือก็ทำได้เช่นกัน”
ไม่ต่างกับหลากหลายธุรกิจ ผู้บริโภคพร้อมซื้อ ธุรกิจพร้อมขาย แต่ MuvMi ก็ยังต้องการการปลดล็อกจากภาครัฐ
“ถ้าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ปลดล็อกหลายธุรกิจก็คงยังไม่ลงมาทำหรือทำเต็มตัวไม่ได้ สิ่งที่เราพยายามทำก็คือการพยายามเข้าไปให้ข้อมูลกับภาครัฐ เพราะอย่างน้อยสิ่งที่เขาร่างออกมาก็คงทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ต้องเจอปัญหาแบบเดียวกับที่เราเจอ”
เราถามทาง MuvMi ว่า มีคู่แข่งมากมายที่กำลังปรับตัวเข้าสู่รถไฟฟ้ามากขึ้น มองสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่าอย่างไร
“เรากลับมองว่าเขาไม่ได้เป็นคู่แข่งเรานะ การที่มีคนเปลี่ยนจากรถน้ำมันมาเป็นรถไฟฟ้ามากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งดีถ้าพูดในเชิงสิ่งแวดล้อม ทุกคนในโลกได้ประโยชน์ สองคือ ในเชิง Mobility การแก้ไขปัญหาการจราจร ภาพที่เราอยากให้เกิด มันแก้ไขไม่ได้ด้วย MuvMi เพียงคนเดียว ไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่จะเข้ามาตอบโจทย์ทุกการใช้งาน
“วันนี้เราเป็น Mobility Service จาก EV ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตอนนี้เราอยากจะขยายไปหัวเมืองต่างจังหวัดให้ได้ เราตั้งเป้าอยากเป็น Microtransit อันดับหนึ่งใน SEA เราเห็นคนที่มีปัญหาเดียวกัน จากโครงสร้างเดียวกัน รูปแบบเดียวกันจากที่ต่างๆ ทั่วโลก”
เรื่องราวของ MuvMi ทำให้เราเห็นถึงกลุ่มคนที่พยายามผลักดันให้เมืองดีขึ้น ผลักดันให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความรู้สึกที่ดีขึ้นในการอยู่อาศัยในเมือง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างอย่างการแก้ไขถนนหนทาง ผังเมือง แต่เป็นการประยุกต์นำเอาการแก้ไขปัญหาแบบเดิมมาเติมแต่งจินตนาการ ความรู้ จนกลายเป็นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างน่าสนใจ