ก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราเปิดโลกกว้างและสามารถเข้าถึงความรู้ได้อิสระ อย่างในวงการดนตรีที่ใครก็สามารถศึกษา ทดลอง สร้างสรรค์ และปล่อยผลงานได้เองบนยูทูป ในขณะเดียวกันดนตรีในยุคโลกาภิวัฒณ์ไม่ได้จำกัด อยู่แค่แนวเพลงใดแนวเพลงหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นดนตรีหลากหลายที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหมายถึงโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงคู่แข่งของคนทำเพลงยุคนี้ก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ในเมื่อใครก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง จึงเกิดคำถามที่ว่าแหล่งบ่มเพาะคนคุณภาพในวงการดนตรีอย่าง หลักสูตรดุริยางคศิลป์ยังมีความสำคัญในปัจจุบันอยู่หรือไม่ ? คนที่จะมาคลายคำถามน่าคิดนี้คือ ‘ดร. ณรงค์ ปรางค์เจริญ’ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรดุริยางคศิลป์ในยุคนี้ว่า รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ลองไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย !
| โรงเรียนดนตรีไทยระดับสากล
ก่อนจะเข้าถึงดีเทลชวนไปทำความรู้จัก ‘วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล’ โรงเรียนดนตรีที่ได้การรับรองจาก ‘MusiQuE’ (Music Quality Enhancement) เพียงสถาบันเดียวในประเทศไทย ซึ่ง MusiQuE เป็นองค์กรประเมิน คุณภาพการศึกษาทางดนตรีของสหภาพยุโรป
การันตีจากผลงานเด็กมหิดลที่คว้ารางวัลระดับโลกมาหลายตำแหน่ง อย่างปี พ.ศ. 2561 นักศึกษาดุริยางศิลป์ชนะการประกวด ‘The Winds and Brass American Protégé’ การแข่งขันเครื่องดนตรีเป่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา และในขณะเดียวกันก็มีวงดนตรีระดับโลกมากมายที่เคยมาแสดง ในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์อีกด้วย
Mission 1
“ตั้งใจเป็นสถาบันแรกใน South East Asia
ที่ได้รับรองคุณภาพจากยุโรปทุกหลักสูตร”
เบื้องหลังความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับระดับสากล เริ่มต้นมาจากหลักสูตรที่ทันสมัย ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ลบภาพจำสมัยก่อนไปได้เลยที่มาเรียนดนตรีเพื่ออ่านโน้ตได้ หรือสอนจับเครื่องดนตรีให้เป็น เพราะทักษะเหล่านี้ ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ใครก็ศึกษาเองได้แล้ว แต่สิ่งที่ที่นี่สอนในห้องเรียนคือเทคนิคที่ทำให้ผู้เรียนไปได้ไกล เหมือนกับครูสอนเทนนิสที่เด็กจะได้เรียนรู้ทริกเพื่อชนะคู่แข่งได้อยู่หมัด
| หลักสูตรที่เน้น ‘สร้าง’ มากกว่า ‘สอน’
Mission 2
“เราไม่ผลิตเด็กเพื่อแข่งแรงงานในประเทศ
แต่เราสร้างเพื่อไปแข่งกับแรงงานระดับโลก”
ดร. ณรงค์เล่าถึงหลักสูตรของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ในปัจจุบันมี 9 สาขา อย่างดนตรีคลาสสิก, ดนตรีแจ๊ส, การประพันธ์ดนตรี, ละครเพลง, ดนตรีสมัยนิยม, ดนตรีไทยและตะวันออก, ธุรกิจดนตรี, ดนตรีศึกษาและการสอน และเทคโนโลยีดนตรี
“หลักสูตรของศตวรรษที่ 20 สังเกตว่าเดี๋ยวนี้เด็กไม่ได้อยากทำของเพียงแค่ชิ้นเดียวแล้ว สถาบันก็ไม่ควรสอนเด็ก ให้ทำของเพียงแค่อย่างเดียว เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตอีก 5 ปีอาชีพของเขาจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า เช่น ถ้าเราเป็นล่ามแปลภาษาแล้วในอนาคตอาจจะไม่ต้องการแล้วก็ได้ เพราะมี Google Translate แปลได้รวดเร็วกว่า รวมทั้งเด็กเราเองอย่างสาขาละครเพลง เด็กคนหนึ่งนอกจากโชว์การแสดงเก่งแล้ว เขาก็ต้องร้องเพลงเก่งด้วย คือต้องเป็นได้ครบทุกด้านและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ”
เราถามอาจารย์ณรงค์เกี่ยวกับ COVID-19 จะเข้ามามีผลกระทบกับการสอนหรือไม่ ? เขามองว่าโรคระบาดไม่ใช่อุปสรรคและสามารถปรับตัวให้เท่าทันได้ ซึ่งแน่นอนว่าการสอนออนไลน์เข้ามามีบทมากยิ่งขึ้น และทำให้เห็นความสำคัญในการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่าเคย
เช่น การซ้อมวงดนตรีขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าไม่สามารถออกจากบ้านมาเจอกัน แต่ก็มีเวลาฝึกซ้อมเพื่อเตรียมตัวดีขึ้น แถมยังมีเวลาประชุมทีมในการคุยไอเดีย แต่ละเพลงให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยต่อไปในวันข้างหน้าการเรียนแบบนี้อาจจะไม่ต้องมารวมวง 4-5 วัน/อาทิตย์แล้ว แต่จะประชุมกันในออนไลน์ให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยมารวมวงเล่นกันได้เลย มันก็จะช่วยประหยัดเวลา ได้มากทีเดียว
“เราไม่อยากสอนน้องให้ทำอาชีพเดียว
อาชีพในฝันก็เป็นเรื่องหนึ่ง
แต่ว่าเขาต้องมีสกิลหลากหลาย
ในการประกอบอาชีพในฝันได้นานที่สุด
และเราต้องเตรียมพร้อมให้พวกเขา”
เพราะทุกวันนี้การแข่งขันในตลาดแรงงาน การทำงานได้หลากหลายย่อมเปิดโอกาสได้มากกว่าคนทำงานได้เพียงด้านเดียว ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์จึงปรับหลักสูตรเป็นแบบ ‘Flexible Education’ ที่ร่วมมือกับคณะต่างๆ ในมหิดลคือ MUIC วิทยาลัยหลักสูตรนานาชาติ และ ICT คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
“จุดประสงค์เพื่อให้เด็กมีมากกว่า 1 สกิลติดตัว เช่น น้องบอกว่าอยากทำเกม แปลว่าน้องต้องเรียน ICT ส่วนหนึ่งเพื่อเขียนโปรแกรมทำโค้ดดิงได้ แล้วเรียนดนตรีส่วนหนึ่งเพื่อเข้าใจองค์ประกอบการทำเพลงได้ด้วย หรือน้องอยากทำธุรกิจ ต้องเรียน MUIC เพื่อศึกษาการทำธุรกิจสตาร์ทอัป
โดยเราทำสิ่งนี้ขึ้นมา เพื่อให้เขาสามารถเลือกชีวิตตัวเองได้ มองอนาคตตัวเองได้ว่าอยากเป็นอะไร ซึ่งเราต้องสร้างหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับเขามากที่สุด และอีกหลักสูตรคือ ‘Lifelong Learning’ มันเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ที่ไม่ว่าใครจะจบออกไปแล้ว ก็สามารถอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ ได้เสมอ เพราะสมัยนี้ต้องรีสกิลตัวเองอยู่ตลอดเวลา”
“เราไม่ได้รับเด็กมาเพื่อสอนแล้ว
แต่เราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา
เพราะเขาคือศิลปิน เมื่อเรารับศิลปินเล็กๆ เข้ามาแล้ว
เราก็ต้องสนับสนุนเขาให้สร้างงานใหญ่ขึ้นไปได้”
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของอาคารเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับของจริงและโชว์ฝีมือออกมาอย่างเต็มที่ อย่างอาคารสิทธาคาร หอประชุมแสดงดนตรีขนาดใหญ่ที่จัดแสดงโชว์ระดับสากลมามากมาย และรู้หรือไม่ว่าสมาชิก ในวงดนตรีที่เล่นเป็นคนไทยทั้งหมด ดังนั้นอาคารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กได้โชว์ศักยภาพ ตัวเองออกสู่ภายนอกมาก ยิ่งขึ้น
รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนที่ส่งเสริมในการเล่นดนตรี หากใครนึกไม่ออกต้องไปดูหนังเรื่อง ‘Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ ที่เล่าถึงความรักของเด็กวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และฉากหนังในมหาวิทยาลัยที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่คอร์ทยาร์ตที่นักเรียนมาทำกิจกรรมรับน้อง และฉากพระเอกและนางเอกฝึกเล่นดนตรีอยู่ริมน้ำ โดยจะเห็นว่าทั้งตัวอาคารสถาปัตยกรรม พื้นที่กิจกรรม และความร่มรื่นของทัศนียภาพเชื้อเชิญให้หยิบเครื่องดนตรีมาเล่น ได้อย่างเพลิดเพลินและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย
| ยุคเทคโนโลยีสู้ด้วยความคิดสร้างสรรรค์
อีกประเด็นที่น่าติดตามคือเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน อย่างในด้านดนตรีเองที่มีโปรแกรมแต่งเสียง ได้สมบูรณ์แบบหรือระบบ AI ที่สามารถสร้างเพลงเพราะๆ ได้ไม่แพ้คนแต่ง เราจึงถามอาจารย์ณรงค์ว่าสิ่งเหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อวงการดนตรีหรือไม่ ?
“คนชอบคิดว่าเทคโนโลยีเข้ามา Disruption แล้วทำให้ชีวิตยุ่งยาก ถ้าถามผมว่ามันยากขึ้นเฉพาะคนเจนฯ เก่า แต่คนเจนฯ ใหม่ไม่ได้เป็นนะ เพราะเขาเกิดมาล้อมรอบด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เขาใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่ปัญหาคือ สถาบันต้องปรับรูปแบบการสอนให้เข้ากับเทคโนโลยีเหล่านั้น ทั้งรีเช็กหลักสูตรและรีสกิลของอาจารย์เองด้วย”
“ไม่ต้องกลัว AI ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์”
“ถ้าสังเกตทุกอย่างได้รับผลกระทบทั้งหมดจากการ Disruption มันถูกเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปตามยุคสมัย ซึ่งจริงๆ มันเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว อย่าง 20 ปีก่อนงานแต่งงานใช้เครื่องดนตรีอิเลกทรอนิกส์ แต่ใช้ไปสักพักพบว่ามันไม่ธรรมชาติ ก็กลับมาเป็นรูปแบบดนตรีสดเหมือนเดิม จนกระทั่งปัจจุบันคนไม่ฟังวิทยุแล้ว แต่ฟังแบบออนไลน์แทน เช่น Podcast, Apple Music และ Spotify”
“ถึงแม้ว่า AI สามารถผลิตเพลงแทนเราได้ และทำออกมาถูกใจคนด้วย ซึ่งมันมาจากการเก็บข้อมูลเก่า ที่รู้ว่าคนส่วนใหญ่ชอบฟังเพลงสไตล์ไหน ในขณะที่มนุษย์เองก็สามารถสร้างงานใหม่ได้เหมือนกัน โดยที่เราไม่มีข้อมูลอ้างอิงอยู่เลย เพราะฉะนั้นงานของเราจะสร้างสรรค์มากกว่า AI อยู่ก้าวหนึ่ง หากเราฝึกความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาสกิลให้หลากหลาย เราไม่ต้องกลัวเทคโนโลยีจะมาเป็นอุปสรรคเลย เพราะ AI จะไม่สร้างรายได้ถ้าไม่มีฐานข้อมูลเก่า รวมถึงมันจะผลิตแต่แนวเพลงซ้ำๆ สุดท้ายมันก็จะน่าเบื่อ และคนฟังก็ไม่ได้อยากฟังเพลงที่มีจังหวะเดิมอยู่บ่อยๆ หรือต้องเพอร์เฟคตลอดเวลาอีกด้วย
| ดนตรีสร้างชาติ
อาจารย์ณรงค์ยังพูดถึงความสำคัญของธุรกิจดนตรีที่น่าสนใจ เพราะผลลัพธ์ของมันมีโอกาสสร้างกำไรให้ประเทศชาติ ได้มากทีเดียว หรือที่เรียกกันว่า ‘Creative Economy’ การสร้างเศรษฐกิจที่มาจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่า
“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุดเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้รับรางวัลหนังภาพยนต์ออสการ์แล้วนะ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อสมัยก่อนประเทศเขาสร้างชาติด้วยอุตสาหกรรมดนตรีเนี่ยแหละ อย่างวงการ K-pop แล้วก็มีละครและสื่อต่างๆ ที่ทำให้เราชื่นชอบในวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวและศิลปะบ้านเขามากๆ รวมถึงทุกวันนี้เรานิยมใช้แบรนด์ของเกาหลีใต้มากกว่าเคย เพราะมันเป็นที่ยอมรับมากขึ้น”
“ถ้าบ้านเรามีบียองเซไทยสักหนึ่งคน
มีไซ คังนัมสไตล์ไทยหนึ่งคน
ลองคิดดูว่า ‘Creative Economy’
จะนำเงินเข้าไทยมากขนาดไหน ?”
“ถ้าถามว่าประเทศไทยทำได้ไหม ตอบเลยว่าได้ เรามีคนความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก เพียงแต่ว่าเราไม่มีระบบบริหารจัดการที่คอยช่วยเหลือเขา ไม่มีระบบการประชาสัมพันธ์อยู่ในระดับนานาชาติ มันเลยไม่สามารถสร้างธุรกิจที่ครบวงจรได้สักที ซึ่งถ้าได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง จะทำให้ระบบเศรษฐกิจ Creative Economy เป็นตัวขับเคลื่อนชาติได้ไกลมากๆ และผลักดันธุรกิจวงการอื่นๆ ได้แพร่หลาย รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กไทยเข้าใจวัฒนธรรมตัวเองได้อีกทางด้วย”
นอกจากนี้อาจารย์ณรงค์ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “เด็กสมัยนี้เข้าถึงสื่อง่าย อาจจะคิดว่าการเรียนไม่มีความจำเป็น ถามผมเห็นด้วยกับส่วนหนึ่งของการเรียนในรูปแบบเดิมมันไม่มีความจำเป็นแล้ว อย่างการมาเรียนเขียนโน้ตหรือจับเครื่องให้เป็น แต่ว่าการเรียนดนตรียังจำเป็นอยู่นะ
เปรียบเทียบผมเป็นโค้ชของภราดร ซึ่งแข่งกับภราดรไม่มีทางชนะหรอก แต่เขามองเห็นว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพเขาให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในแง่การเรียนการสอนพื้นฐานน้องไม่จำเป็นต้องอยู่กับเราก็ได้ แต่ถ้าถามว่าทำเองได้ทั้งหมดไหม ก็คงได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าแข่งขันระดับนานาชาติเราต้องได้รับการเทรนจริงจัง ไม่งั้นมันก็จะโตได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น”