MUSEUM OF TEEs มิวเซียมเสื้อยืดแห่งแรกในไทย - Urban Creature

“ไม่ต้องใส่สูทผูกไทด์ให้หรูหรา แค่ใส่ ‘เสื้อยืด’ ตัวเดียวมาก็เจ๋งแล้ว !”

ประโยคเด็ดจากพระเอกดังยุค 50s อย่าง “James Dean” ที่เป็นคนปลุก “วัฒนธรรมเสื้อยืด” ให้ไรซ์อัพในวงการแฟชั่น ซึ่งก่อนหน้านี้ การใส่เสื้อยืดเริ่มต้นมาจากทหารอเมริกัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุคนั้นเหล่าทหารอเมริกันเห็นทหารฝั่งยุโรปใส่เสื้อด้านในที่ผลิตจากผ้าฝ้ายมีน้ำหนักเบา และซับเหงื่อได้ดี เลยหยิบมาสวมใส่ และเรียกว่า “เสื้อยืด (T-Shirt)” ตามลักษณะเนื้อผ้า พร้อมหอบหิ้วกลับไปใส่ในทุกๆ วัน จนเป็นที่นิยมในคนทั่วไป เอาไปใส่ทำงาน ไปเรียน จนถึงเป็นยูนิฟอร์มให้เด็กนักเรียน

ต่อเนื่องมาปลายยุค 50s เมื่อวงดนตรีต่างๆ สกรีนชื่อวง และรูปพวกเขาลงเสื้อยืดเพื่อทำเป็นของที่ระลึกให้แฟนเพลงสะสม โดยเฉพาะฝั่งวงร็อกที่สร้างตำนานอย่าง THE ROLLING STONES บวกกับช่วงท้ายยุค 60s – 90s ที่เสื้อยืดกลายเป็น “สตรีทคัลเจอร์” ผ่านการสกรีนงานป็อปอาร์ต โควทคำพูด ภาพคนดัง รวมถึงภาพของบุคคลที่มีความชัดเจนในความคิด ตัวตน และอุดมคติทางการเมือง  เสื้อยืดจึงกลายเป็นหนึ่งสัญญะในการเรียกร้อง และแสดงตัวตน

จากเบสิกไอเทมที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และใส่กันทั่วทุกมุมโลกมาหลายยุคหลายสมัย สู่ “MUSEUM OF TEEs THAILAND : MOTT” – มิวเซียม ‘เสื้อยืด’ แห่งแรกในไทย ที่ย่านลาดปลาเค้าของ “คุณเบียร์-พันธวิศ ลวเรืองโชค” แกนนำแห่ง Apostrophys Group เหล่านักสร้างประสบการณ์ที่เสกงานอีเว้นท์สุดเจ๋ง  ซึ่งตอนนี้คุณเบียร์ยังรับอาชีพเสริมเป็น ‘นักสะสมเสื้อยืด’ และ ‘ภัณฑารักษ์มาดเท่’ ที่จะพาทุกคนเปิดประสบการณ์การเสพศิลปะแบบใหม่ผ่าน “เสื้อยืด” ตั้งแต่ราคาหลักสิบไปจนถึงหลักล้าน !

| อาณาจักรเสื้อยืด ที่เริ่มต้นจากแพชชั่น

คุณเบียร์ : เราใส่เสื้อยืดมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ว่าพอถึงยุคทำงานมันก็ต้องเปลี่ยนการแต่งตัว ให้ดูน่าเชื่อถือ เลยเปลี่ยนมาใส่เสื้อเชิ้ตบ้าง เสื้อโปโลบ้าง แต่ว่าสุดท้ายแล้วใจเราก็ยังอยู่ที่เสื้อยืด เลยเริ่มสะสมเสื้อมาได้ประมาณปีนึง ตอนนี้มีอยู่ 1000 ตัว มันมาที่หลังสุด แต่ใจมันเรียกร้อง หักโหมมาก (หัวเราะ)

| เปิดกระสอบเสื้อยืดครั้งแรกไปแบบไม่ต้องคาดหวัง แต่จะเซอร์ไพร์ซทุกครั้งที่คุ้ยกองเสื้อ

คุณเบียร์ : ตอนนั้นเครียดๆ ทำงานหนักจนเซ็ง ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยลองไปเดินเล่นตลาดนัดรถไฟดู แล้วก็ไปเจอโมเมนท์นี้ คือไปเจอเสื้อยืดลายศิลปินที่เราเคยชอบเด็กๆ การ์ตูนที่เราเคยดูเรื่อง อากิระ ในปี 80 เราก็ไปคุ้ยได้มาสองตัว พอมันได้มาปุ้บ มันเหมือนมันติดใจ แล้วทุกครั้งที่ไป ได้ความสนุก ได้อะไรที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เจอ เป็นประสบการณ์แรกที่รู้สึกแฮปปี้กับมันนะ เราไปเจออะไรที่ไม่ได้คาดหวังว่าต้องเจอ คือเวลาเราไปซื้อของ เราก็คาดหวังว่าอยากได้อะไร แต่การไปซื้อเสื้อยืด มันจะเซอร์ไพร์ซทุกครั้งที่ไปเปิดกระสอบ

พอไปบ่อยๆ จนสนิทกับเจ้าของร้าน เขาก็เริ่มถามว่า ทำอาชีพอะไร ทำไมถึงมาซื้อของพวกนี้ ไม่ไปซื้อของแบรนด์เนม ตามห้างใหญ่ๆ คือส่วนตัวเราคิดอย่างนี้นะ

“ของแบรนด์เนมมันใช้เงินซื้อได้ แต่เสื้อยืดบางตัว ต่อให้มีเงินมากมายบางทีมันซื้อไม่ได้”

มันมีตั้งแต่ตัวราคาไม่แพงไปจนถึงหลักแสนหลักล้าน คือมันมีจังหวะที่เจอเสื้อบางตัว ซึ่งมันเป็นเสื้อที่มีมูลค่าอันดับสองของโลก แต่เราไปเจอในกองนั้น ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ามันมีค่า แต่พอมาศึกษาก็แบบอ้าว เห้ย ! เราเลยเริ่มจากไปเดินซื้อเองก่อน พอหลังๆ เริ่มหาของที่เป็นแรร์ไอเท็มจริงจัง ซึ่งการที่จะครอบครองของพวกนี้ มันต้องเป็นกลุ่มคนเฉพาะ เราก็จะเริ่มมีสาย มี hunter ที่ช่วยหามาให้

| เพราะใกล้ตัว เข้าถึงง่าย และไม่ว่าอีกกี่สิบปีก็ยังใส่ “เสื้อยืด”

คุณเบียร์ : ที่เลือกเสื้อยืดมาจัดเป็นสิ่งแรก เพราะมันเป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย ใครก็ใส่เสื้อยืดกัน มันเหมือนเราได้ย้อนไปปี 80s 70s 60s ที่เสื้อยืดเป็นคัลเจอร์อย่างหนึ่ง ฉะนั้นยังไงมันก็ไม่ตาย แล้วเรารู้สึกว่า คนทั่วไปเขาจะเก็ทแมสเสจ เลยเลือกมาทำพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างแรก ประกอบกับทำงานออกแบบ และงานอีเว้นท์ ซึ่งต้องสร้างประสบการณ์ให้กับสินค้า และลูกค้า ต้องหาของหรือไอเทมต่างๆ มาตกแต่ง พอใช้เสร็จก็เอาไปเก็บตามโกดัง แต่พอเราย้ายออฟฟิศใหม่มาที่ลาดปลาเค้า มันมีพื้นที่ให้เราเล่น เลยคิดที่จะหยิบของในโกดังมาโชว์ เพราะของบางอย่างมันมาจากการเดินทางทั่วโลก ไม่อยากปล่อยไว้ในโกดังเศร้าๆ แล้ว ซึ่งเสื้อยืดเป็นหนึ่งในนั้น เลยหยิบมาจัดแสดงให้คนได้สร้างประสบการณ์ศิลปะแบบใหม่

คือเราจะให้คนที่มาสามารถจับต้องของได้ ไม่ได้ใส่ไว้ในกล่องแล้วแปะป้ายว่าห้ามแตะ คือก็เข้าใจอะไรแบบนั้นนะ แต่ในความคิดเรา มันยิ่งทำให้ของพวกนี้เป็นงานศิลปะที่จับต้องยากกับคนทั่วไป เราเลยจะมีเสื้อยืดที่เรียกว่า “แก๊งเบญจภาคี” เสื้อ 5 ตัวที่เป็นลาย OPV (Overprint) หรือลายสกรีนทั้งตัว ซึ่งราคารวมกันหลายแสนเลยนะ ให้คนที่มาได้สัมผัสกับศิลปะ และก็จะมี tag บอกข้อมูลต่างๆ ตามมาตรฐานของมิวเซียม พร้อมทั้งทำ booklet เก็บเรื่องราวของเสื้อยืดเป็นฐานข้อมูล เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้กับคนที่สนใจ

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราไม่ใส่เสื้อยืด อีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า เราก็ยังใส่เสื้อยืดกันอยู่ ต่อให้มันจะมีผ้าที่พิเศษแค่ไหน ก็ต้องใส่เสื้อยืดอยู่ดี ”

| เสื้อยืดตัวไฮไลท์ ที่จะต้องมาให้เห็นกับตาให้ได้ที่ MUSEUM OF TEEs THAILAND

Run D.M.C.

คุณเบียร์ : ขอเริ่มจากคอเลเลคชั่น “Run D.M.C.” ศิลปินฮิปฮอปฝั่งอเมริกาตะวันออกที่รันวงการในยุค 80s เพลงเขาเป็นตำนานฮิปฮอปที่เราได้ยินกันจนทุกวันนี้ คือเขาเป็น homeless ในสลัม ติดสารเสพติด แล้วก็กลับตัวมาเป็นศิลปิน ซึ่งเสื้อที่เรามี คือเสื้อตัวที่เขาใส่ในมิวสิกวิดิโอเพลง “My Adidas” เพราะทางแบรนด์เซ็นสัญญากับ Run D.M.C. หลังจากที่เขาให้แฟนเพลงชูรองเท้า Adidas ตอนเล่นคอนเสิร์ต ที่เสื้อจะมีโลโก้ของ Adidas คู่กับ Run D.M.C. ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกที่ฮิปฮอปถูกยอมรับจากคนทั่วโลก ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของคนสลัมอย่างเดียว มันมีการพัฒนาทางชนชั้นแล้ว มันเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเก็บเสื้อตัวนี้

แล้วเมื่อก่อน Adidas เป็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาที่อยู่ในหนึ่ง American Dream เขาเลยแต่งเพลงแนวๆ ว่า การที่จะได้เสื้อสักตัวหนึ่งของ Adidas มาใส่ ต้องต่อสู้ผ่านอะไรมา ฝ่าฟันอะไรมา อันนี้เลยประเด็นสำคัญ ซึ่งเป็นตัวที่เคยแพงอันดับสองของโลกที่ประมูลแย่งกันที่ 13,000 เหรียญ us หรือ 440,000 บาทไทย

Pushead

ต่อมาเป็นคอลเลคชั่น “Pushead” หรือ Brian Schroeder เขาเป็นมือเบสวง Septic Death วงเมทัลยุค 80s แล้วเขายังเป็นศิลปินด้วย ชอบวาดอะไรที่มันดาร์กๆ อย่างหัวกะโหลก พอแบรนด์ Metallica มาเห็นก็เลยขอให้วาดหัวกะโหลกที่เป็นซิกเนเจอร์ อาร์ตเวิร์คหลักของแบรนด์ก็เลยเป็นของ Pushead ซึ่งจะมีลายเซ็น Pushead กำกับอยู่ จริงๆ นะ แค่เอาภาพเขาไปวางในมิวเซียม แล้วติด tag  มันก็คือศิลปะมากๆ แล้ว ซึ่ง Pushead ที่เรามีในมิวเซียมเป็นตัวท็อปๆ ของโลกเลยครับ

แล้วก่อนที่ทีมจะมา เราเพิ่งได้ตัวท็อปที่สุดของ Pushead มา ชื่อว่า “SANDA KUWAIT PUSHEAD” ถูกทำขึ้นมาผ่านแรงบันดาลใจจากสงครามคูเวต ที่เรียกได้ว่าเป็นสงครามแบบเลือดเย็นนะ เหมือนทางฝั่งมหาอำนาจกำลังบอกว่า การทำสงครามแล้วมันจะดี เหมือนได้ให้ของขวัญกับประชาชนทั่วโลก แต่จริงๆ แล้ว มันคือการฆ่าแกงกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ลายสกรีนเลยเป็นรูป ‘หัวกะโหลกซานต้าคลอส’ กำลังให้ของขวัญผู้คน มีพวกของขวัญ มีแหวน ตกอยู่ที่พื้น

| เสื้อยืดที่ใส่มาวันนี้ เรื่องราวความเจ๋งอยู่ที่ลวดลาย

คุณเบียร์ : มันเป็นลายสกรีนของ Pushead ที่ทำให้กับวง Testament เป็นวง Thrash metal เพลงอาจจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันเป็นหนึ่งในวงที่ทำให้เกิดวงยุคสมัยใหม่ อย่าง Slipknot ซึ่งตัวที่เราใส่เป็นลายหนึ่งเดียวของ Pushead ที่ทำให้ Testament

| ไม่ได้มีดีแค่เสื้อยืด แต่ยังมีทุ่งรองเท้า แผ่นเสียง และมุมจิบกาแฟที่จะเปลี่ยนคอนเซปต์ทุกเดือนให้มาเปิดประสบการณ์

คุณเบียร์ : ในมิวเซียมยังมีโซน Sneaker field เป็นรองเท้าที่เราเก็บสะสมมา 7 ปี มีประมาณ 700 คู่ คือบางคู่เป็นลิมิเต็ทมากๆ อย่างมีรองเท้าคู่นึงของ Gucci ของเราเป็นตัวต้นแบบปี 1980 ที่ถ้าเห็นในช็อปจะเป็นล็อตใหม่แล้ว วันนั้นเราใส่ไปช็อป Gucci ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คือไม่ได้ตั้งใจ ไปประชุมงงานแถวนั้นพอดี พอเข้าไปในช็อป เมเนเจอร์เขาเดินมาคุยด้วยเลย ถามว่าเอามาจากไหน เพราะว่าคู่นี้มันอยู่ในมิวเซียมเขานะ แล้วก็จะมีแผ่นเสียงที่เราก็สะสมมาเหมือนกัน เอามาเปิดให้ฟัง เพราะเราค้นพบว่า ลายเสื้อยืดต่างๆ ที่มันมีมูลค่าขนาดนี้ ส่วนใหญ่มักจะได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจมาจากเสียงเพลง

ยังมีโซนคาเฟ่เปิดรองรับให้คนที่มาเป็นครอบครัว มีกิจกรรมที่ให้ทุกคนมาแล้วแฮปปี้ แม่มาเช็คอินที่คาเฟ่ มาถ่ายรูป เด็กๆ มาวิ่งเล่นได้ มีของเล่น ในขณะที่พ่อก็อินกับเสื้อยืด กับศิลปะของเขาได้ ซึ่งทุกอย่างมันจะถูดจัดและเปลี่ยนไปตามธีมที่เราว่าง อย่างครั้งแรกที่เปิด เราจะเปิดในธีม ‘Rock &Metal TEEs’ ครับ

| อยากสร้างให้ MOTT เป็นจุดเริ่มของ “การรับรู้งานศิลปะ” แบบใหม่

คุณเบียร์ : โปรเจ็กต์เราจะไม่จบแค่มิวเซียมตรงนี้ เราจะขึ้นเฟสสองในปีหน้า ทำคล้ายๆ MUJI’s House เป็นพาร์ทของไลฟ์สไตล์ มีสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันคน จำลองบ้าน มีเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นจัดวางอยู่ ทั้งจาน ช้อน ส้อม ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ แล้วทั้งหมดในนั้น เราจะเรียกมันว่า “งานศิลปะ”

เพราะเราอยากพูดถึงการรับรู้งานศิลปะในรูปแบบใหม่ เป็นเรื่องของ art appreciation เราว่าคนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่าศิลปะจริงๆ พอไม่เข้าใจแล้วจะรู้สึกว่า มันสำคัญไหมอะ คือเราไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น มิวเซียมเสื้อยืดก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยผลักดันการมองคุณค่าศิลปะของคนไทย ให้เขาถึงได้ ให้มันอยู่ใกล้ตัวคนจริงๆ ไม่ใช่มีเพื่อให้สินค้าแพงขึ้นหรือไม่ใช่ทำแค่เอาสวยเท่านั้น แต่ศิลปะมันจำเป็นในชีวิต แล้วถ้าเกิดเรามีของพวกนี้ให้เขาเห็น แล้วเปิดให้เขาชม มันจะกลายเป็นงานศิลปะที่อยู่ใกล้ตัวคน

“งานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพวาดในแกลเลอรี แต่มันเป็นงานศิลปะที่จับต้องได้ มันอยู่ในเสื้อผ้า รองเท้า ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคน แค่ตั้งคำถามกับอะไรสักอย่าง ก็เป็นศิลปะแล้ว มันเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตคน ทั้งคุณภาพชีวิต และจิตวิญญาณ”

| MOTT ไม่ได้เป็นแค่จุดเริ่มของโสตใหม่แห่งงานศิลป์ แต่ยังเป็นฉนวนครีเอทีฟที่จะสร้าง “Happening ลาดปลาเค้า”

คุณเบียร์ : Apostrophys เป็นหนึ่งใน case study ของโครงการ Creative City เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างจุดศูนย์กลางอยู่ที่สุขุมวิท บริษัทส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณนั้น พอบริษัทโตมาระดับหนึ่ง ก็จะขยับขยายออกมาให้ไกลกว่าหน่อย เพื่อลดคอร์สค่าเช่า เป็นแถว RCA, พระราม 3 เถิบออกมาอีกก็จะเป็นเส้นเลียบด่วน ทาวน์อินทาวน์ ลาดพร้าว บางกะปิ

และที่ ลาดปลาเค้า เป็นช่วงที่ 3 คือเป็นกลุ่มของการพัฒนาเมืองระดับที่ 3 มันก็จะมีศักยาภาพคล้ายๆ แถวพระราม 3, ราชพฤกษ์ ทำนองนั้น แต่จะเห็นได้ชัดเจนว่า คนที่มาอยู่แถวๆ นี้ เป็นบริษัทที่มีคาแร็กเตอร์คล้ายๆ กัน มันจะมีความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน มีความยูนีคเฉพาะตัว เราเลยทำโปรเจ็กต์ร่วมกับบริษัท Design Ideas ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำ Product design ระดับโลกจากอเมริกา และตั้งชื่อว่า “Happening ลาดปลาเค้า”

เพราะฉะนั้นมันจะไม่ได้เป็นกิจกรรมอะไรซ้ำๆ อย่างอารีย์ที่มีร้านกาแฟขึ้นเพียบเลย หรือถ้าเป็นสุขุมวิท มันก็จะมีโปรแกรมคล้ายๆ กัน มี co-working space เยอะๆ แต่ลาดปลาเค้าจะเป็นโปรแกรมเฉพาะทางมากๆ เช่น คาเฟ่ SIX BREW Coffee เขาเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ขายงานดีไซน์ไอเดีย คู่กับกาแฟ แล้วข้างในก็เปิดเวิร์คช็อปสอนทำเฟอร์นิเจอร์ หรืออย่าง At East ร้านออกแบบและจำหน่ายโคมไฟ ที่มีเวิร์คช็อปเพื่อรองรับแอคทิวิตี้ต่างๆ ด้วย นั่นหมายความว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น จะเป็นอะไรที่ experience หน่อย มันจะค่อนข้างยูนีค

| เมื่อ “Happening ลาดปลาเค้า” ถึงจุดเพอร์เฟ็กต์ คงมีคาแร็กเตอร์คล้ายกับ ย่านไดคังยามะ (Daikanyama) ของญี่ปุ่น

คุณเบียร์ : ในวันข้างหน้า ย่านลาดปลาเค้า อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะคล้ายกับ ย่านไดคังยามะ หมายถึงถ้าให้เราพูดตอนนี้นะ มันมีความเป็นไปได้มากกว่าย่านอื่นๆ ในกรุงเทพ ฯ แต่เราอาจจะตามเขาอยู่สัก 20 ปี แต่มันเป็น ไดคังยามะ ได้ มีฟีลแบบธรรมชาติ ชุมชนดั้งเดิม คือที่นู้นบางร้านเป็นบ้านคนด้วยซ้ำ ข้างบนเขาอยู่ ส่วนข้างล่างเปิดประตูมาก็กลายเป็นช็อปกระเป๋า ซึ่งครอบครัวนั้นทำเองทั้งหมด ของจะเน้นงานแฮนด์เมด มันจะมีแฟล็กชิปเท่ๆ อยู่ข้างบ้านคน

เราว่าลาดปลาเค้ามันเป็นได้ แต่ต้องยอมรับว่าอากาศบ้านเราไม่เหมือนเขา ความหนาแน่นไม่เหมือนเขา เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ได้ถึงขั้น walkable กางแมพเดินตามทาง แต่คาแร็กเตอร์และสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น มันจะมีความคล้ายแบบนั้น เพราะเราจะสร้างสเปซหนึ่งไว้จัดกิจกรรม มีมินิคอนเสิร์ต มีงานการกุศล จัดเวิร์คช็อป เน้นเรื่องการสร้างประสบการณ์ให้กับคน และเมือง


Sources : https://men.mthai.com/aluremag/style/112632.html

http://www.cheeze-looker.com/Article/Details/2854/004-plain-t-shirt-james-dean-justin-bieber

https://www.mendetails.com/style/greasers-style/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.