งานออกแบบพื้นที่สาธารณะไทยๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบ แต่เป็นเรื่องของทุกคน - Urban Creature

คุณเคยคิดไหมว่า พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ
และในประเทศไทย มีเพียงพอต่อการใช้งานแล้วหรือยัง?

ในบ้านเรามีจำนวน Public Space น้อยมากๆ ถ้าพูดถึงสถานที่ที่คนเมืองใช้นัดพบปะ และพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนใหญ่ตัวเลือกแรกๆ ที่พอจะนึกออกก็คือ ห้างสรรพสินค้า

ถ้าไม่ใช่ห้างฯ เราจะไปเจอกันที่ไหน?
‘พื้นที่สาธารณะ’ กลายเป็นโจทย์ของพื้นที่อันท้าทาย ทำยังไงให้ประชาชนได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมอันหลากหลาย เพราะสถานที่ที่มีอยู่ในบ้านเราก็ยากที่จะเรียกว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ได้อย่างเต็มปาก ด้วยเงื่อนไข กฎ เกณฑ์ และเวลาที่ไม่ได้เอื้อต่อประชาชนคนทั่วไปใช้งานได้อย่างเต็มที่จริงๆ

จึงเป็นที่มาของโจทย์และจุดประสงค์หลักให้กับงานประกวดที่ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดโครงการประกวดการออกแบบ ‘Uniquely Thai การประกวดแบบ Civic Center ในศตวรรษที่ 21 ของกรุงเทพมหานคร’ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ทางความคิดสร้างสรรค์ และไอเดียที่จะสะท้อนมุมมอง ‘พื้นที่สาธารณะแบบไทยๆ’ ว่า สถานที่นั้นจะออกมาเป็นอย่างไรด้วยจินตนาการอันโลดแล่นของนักออกแบบรุ่นใหม่ ทั้งในระดับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป

เราได้มีโอกาสคุยกับทางคณะกรรมการ และผู้ชนะการประกวดครั้งนี้ จึงอยากชวนทุกคนมาเจาะลึกถึงที่มาที่ไปความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ และเปิดมุมมองจากไอเดียที่ตอบโจทย์ความเป็นไทยจนคว้าใจกรรมการ ไม่แน่เหมือนกันว่าบางผลงานอาจจะเป็นพื้นที่จริงในอนาคตให้ประชาชนอย่างเราได้มีส่วนในการใช้งานสาธารณะที่แท้จริงก็เป็นได้

‘Uniquely Thai’ งานประกวดสะท้อนความเป็นไทย

รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) หนึ่งในคณะกรรมการได้เล่าให้เราฟังว่า หลังจากที่ได้เคาะโจทย์ครั้งนี้ออกมา ‘Uniquely Thai’ สิ่งที่กรรมการคาดหวังคือ อยากเห็นความแปลกใหม่ในการตีโจทย์ ‘พื้นที่สาธารณะแบบไทยๆ’ โดยเฉพาะความเป็นไทยที่คณะกรรมการอยากเห็นสิ่งต่างๆ มากกว่าแค่จั่ว ชฎา เจดีย์ วัด หรือวัง แต่เป็นสิ่งที่เรามองแล้วสนุก ฟังก์ชัน และรีเฟอร์ถึงความเป็นไทยได้

ต่อมาคือเรื่องรูปแบบของพื้นที่ ว่าจะสามารถพลิกแพลงเป็นอะไรได้บ้าง นอกจากห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ ที่เรามักจะเห็นในต่างประเทศ พื้นที่แบบไหนที่จะสะท้อนความเป็นไทยได้น่าสนใจที่สุด สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการอยากเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากการประกวดงานออกแบบครั้งนี้

ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) หนึ่งในคณะกรรมการโครงการประกวดครั้งนี้ เล่าเสริมว่า ด้วยความคาดหวังที่อยากจะเห็นนักออกแบบรุ่นใหม่ได้รังสรรค์ผลงาน การมีเวทีหรือพื้นที่ประเภทนี้จึงสำคัญมาก เพราะจะเป็นพื้นที่ที่ให้นักออกแบบได้เข้ามาร่วมพัฒนาเมือง ผ่านการเสนอไอเดียและมุมมองของตัวเองต่อคณะกรรมการ และภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ รวมถึงการสื่อสารไปถึงภาครัฐและการขอความร่วมมือไปยังคณะสถาปัตยกรรมในสถานศึกษาต่างๆ ให้ลองนำโจทย์นี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา

.และตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน ผู้เข้าร่วมประกวดแบบจะได้รับความรู้ใหม่และแรงบันดาลใจเพื่อนำไปต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์ผลงานจาก ‘Lecture Series’ โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและระดับโลกกับหัวข้อการบรรยายและพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ให้เป็นงานประกวดที่พิเศษกว่างานประกวดทั่วไปอีกด้วย

แต่เดี๋ยวนะ Civic Center มันคืออะไร และกลายเป็นอะไรได้บ้าง?

‘Civic Center’ ถ้าแปลความหมายตรงตัวก็จะหมายถึง พื้นที่ของประชาชน พื้นที่ที่ให้พลเมืองในเมืองนั้นได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งส่วนของรูปแบบ กิจกรรม หรือการออกแบบ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของเมือง บางเมืองอาจเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือบางเมืองก็อาจเป็นห้องสมุด หรือบางเมืองอาจเป็นที่โล่งกว้างให้ประชาชนได้มาใช้พื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และที่สำคัญคือความต้องการของประชาชนในเมืองนั้นๆ ด้วย

“อิสระในการใช้พื้นที่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ถ้าลองจินตนาการว่า พื้นที่ไหนที่เราต้องขออนุญาตทุกครั้ง เราก็รู้สึกไม่อยากใช้พื้นที่เหล่านั้น จริงๆ ผมมองว่าพื้นที่ในบ้านเรามีเยอะมาก แต่พื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ กลับน้อย เพราะเรามีรั้วกั้น มีเงื่อนไข เราอาจจะไม่เคยเปิดให้มันเป็นพื้นที่สาธารณะของผู้คนจริงๆ” รศ. ดร.พีรดร แก้วลาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองและนักวิจัย จากคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกรรมการกล่าว

.ในงานประกวดครั้งนี้ มีไอไอเดียจำนวนมากที่สะท้อนความเป็นประเทศไทยหลายรูปแบบผ่านปัญหา อย่างเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ปัญหาการจัดการน้ำ และอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่านักออกแบบรุ่นใหม่ได้ตีความโจทย์ไปไกลกว่าแค่การดีไซน์แบบเดิมๆ

‘ความเหลื่อมล้ำทั้ง 5 ที่สื่อสารผ่านพื้นที่สาธารณะ’
มนัสนันท์ เดชะสุวรรณ ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนิสิตนักศึกษา เล่าให้ฟังว่า ผลงานพื้นที่สาธารณะที่เธอตีโจทย์ ‘ความเป็นไทย’ นั้น ตีความผ่านผู้ใช้งานที่เป็นประชาชนไทย ด้วยการศึกษาและสังเกตไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการเข้ามาใช้งานในพื้นที่จริงๆ จึงคิดว่าควรมีกิจกรรมแบบไหนบ้างที่จะมาที่รองรับคนทุกคน ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับมาต่อยอดสู่การดีไซน์ที่สะท้อนความเป็นไทยโดยเธอหยิบเอา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ มาเป็นแกนหลักของผลงาน

เล่าผ่าน 5 เรื่องราวได้แก่

  1. สังคมวัฒนธรรม
  2. ความคิด ความรู้
  3. สุขภาวะ
  4. ระบบเศรษฐกิจ
  5. ปฏิสัมพันธ์

และนำเอาประเด็นต่างๆ มาถ่ายทอดสู่การเรียนรู้ภายในอาคารทั้ง 4 เส้นทาง 

  1. เส้นทางวัฒนธรรม (CULTURAL LOOP)
  2. เส้นทางการศึกษา (EDUCATION LOOP)
  3. เส้นทางเศรษฐกิจ (COMMERCIAL LOOP)
  4. เส้นทางสันทนาการ (RECREATION LOOP)

นอกจากนี้ กระบวนการออกแบบยังใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาคมาสอดแทรกเข้ากับความเป็นไทยในปัจจุบัน แล้วประยุกต์ให้เข้ากัน จนกลายเป็น ‘พื้นที่สาธารณะแบบไทยๆ’ ในสไตล์ของเธอเอง

แล้วอาคารที่เราสร้าง เราออกแบบ มันจะมีส่วนช่วยพัฒนาคน พัฒนาเมืองได้อย่างไร?

ในฐานะนักออกแบบ อาคารเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เอื้อให้คนเกิดความคิด เกิดการตั้งคำถาม ได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความรู้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาคน พัฒนาเมือง มนัสนันท์พูดปิดท้าย

เราลองโยนโจทย์ให้กับทีม Cosmic I Civic Center ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไป ว่า

ถ้าผลงานของพวกเขาได้สร้างขึ้นมาจริงๆ และมีลุง มีป้าที่ไม่เข้าใจเรื่องดีไซน์เลยถามว่า มันคืออะไร?

“มันคือสวรรค์…สวรรค์ที่เราสามารถเดินเข้าไปได้ มีอะไรมากมายอยู่ในนั้นให้เราได้เรียนรู้มัน” 

พื้นที่สาธารณะเพื่อกรุงเทพฯ เริ่มมาจากไอเดีย ‘กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง’ 

และเราตีความ Civic Center คือศูนย์กลางของประชาชน เมืองของประชาชน 

สู่การต่อยอดกับคำถามที่ว่า แล้วถ้ามนุษย์เราสามารถที่จะอวตารไปสู่สวรรค์ได้บ้างล่ะ?

ในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้ เรากำลังเข้าใกล้ความจริงนี้ผ่าน Metaverse จึงนำแกนของความเป็นโลกเสมือนมาเป็นไอเดียหลักของการดีไซน์ จากนั้นจึงหยิบจับคอนเซปต์ คติความเชื่อของ ‘เขามอ’ ซึ่งเป็นสวนภูมิทัศน์จำลองของไทย ได้ขมวดมาเป็นแนวคิด เพื่อวางอาคารให้ลอยอยู่เหนือพื้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่คนไทยเราได้ปรับตัวอยู่กับน้ำตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยการใช้เสาสูงและยังมีพื้นที่ใต้ถุนไว้ใช้งานต่างๆ นอกจากนี้ ตัวพื้นที่โครงการยังเป็นพื้นที่สำหรับรองรับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเมืองด้วย

พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่อัปเดตอยู่เสมอ เป็น Big Data หรือคลังความรู้ของคนกรุงเทพฯ และยังเป็นพื้นที่ให้ทดลองเปิดประสบการณ์โลก Metaverse ซึ่งสามารถต่อยอดได้หลากหลาย และมาปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างไร้ขีดจำกัด และดึงศักยภาพของคนไทยออกมาได้อย่างเต็มที่ผ่านพื้นที่สาธารณะของเรา

แล้วการประกวดงานออกแบบนี้มันเกี่ยวข้องกับเราทุกคนอย่างไร? 

เพราะงานประกวดเหล่านี้จะทำให้เกิดการตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า…

“สร้างได้จริงเหรอ?”

“อยู่ที่ไหน?”

“นี่คือพื้นที่สาธารณะเหรอ?”

“พื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่สวนสาธารณะเหรอ?”

“มีอะไรแบบนี้ในพื้นที่สาธารณะได้ด้วยเหรอ?”

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่จะช่วยให้สังคมเราพัฒนาขึ้น และจะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของพื้นที่สาธารณะ และคำถามเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปถึงอนาคต ว่าถ้าเรามีการสร้างพื้นที่ขึ้นมาใหม่ชีวิตของคนไทยทุกคนจะดีขึ้นมากแค่ไหน 

การเรียกร้องหรือการวิพากษ์ย์วิจารณ์ที่มีผลต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะก็จะเป็นประโยชน์กับเรามากขึ้น ในฐานะประชาชนและพลเมืองที่เข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะจริง ถ้าเรามองผ่านๆ ก็อาจจะคิดว่านี่เป็นเพียงงานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับคนในวงการสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่จริงๆ พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนเมืองทุกคน

น่าสนใจขนาดนี้ เราเลยอยากจะเชิญชวนทุกคนให้ลองไปเยี่ยมชม โครงการประกวดการออกแบบ ‘Uniquely Thai การประกวดแบบ Civic Center ในศตวรรษที่ 21 ของกรุงเทพมหานคร’ ด้วยตาตัวเองในรูปแบบ Virtual Exhibition
.

สามารถติดตามข่าวสารได้ผ่านช่องทางเพจ 

Bangkok Civic Center Architectural Design Competition 2021

https://www.facebook.com/BKKCivicCenter2021

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.