ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่าน ‘มอ’ไซค์ไทย’ - Urban Creature

“บ้านเช่าได้ แต่มอเตอร์ไซค์ต้องซื้อ”

นี่คือประโยคเปรียบเปรยที่ดูไม่ไกลเกินจริง เพราะเราเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ทั้งความสะดวกและความคล่องตัวในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ารถยนต์หรือขนส่งสาธารณะ และการใช้ประกอบอาชีพต่างๆ

หลายครอบครัวจำเป็นต้องมียานพาหนะประเภทนี้ เพราะบริเวณที่พวกเขาอาศัยอยู่ไม่มีขนส่งมวลชนที่เข้าถึงได้เลย ความต้องการที่เยอะขึ้นและประโยชน์ของมอเตอร์ไซค์ที่ตอบโจทย์ชีวิตคนในประเทศนี้ ทำให้ในปัจจุบันไทยมีการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มากกว่า 22 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 กว่า 4.5 แสนคัน

คนไทยใช้มอ’ไซค์มากที่สุดในโลก

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

ใครที่ต้องเดินทางออกจากบ้านเป็นประจำโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ คงเคยสังเกตว่าท้องถนนมีมอเตอร์ไซค์ขวักไขว่เต็มไปหมด ส่วนในซอยต่างๆ ก็มียานพาหนะสองล้อเข้าออกให้เห็นตลอดทั้งวัน หรือแม้แต่ตอนเดินอยู่บนทางเท้า จู่ๆ ก็มีคนขี่มอเตอร์ไซค์สวนมาเสียอย่างนั้น ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมบ้านเราถึงมีมอเตอร์ไซค์เยอะขนาดนี้

หลายคนไม่ได้คิดไปเองแน่นอน เพราะข้อมูลจาก Pew Research Center ปี 2023 เปิดเผยว่า ประเทศไทยมี ‘การใช้งานจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก’ โดยสัดส่วนของครัวเรือนในประเทศไทยที่เป็นเจ้าของจักรยานยนต์อย่างน้อยหนึ่งคันมีมากถึง 87 เปอร์เซ็นต์ พูดให้เห็นภาพคือ จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดราว 18 ล้านครัวเรือน จะมีจักรยานยนต์รวมกันอย่างน้อย 15 ล้านคัน

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

สถิตินี้ยังพบว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกอยู่ในภูมิภาค ‘เอเชียแปซิฟิก’ โดยประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนการถือครอบครองมอเตอร์ไซค์รองจากไทย ได้แก่

1) ไทย 87%
2) เวียดนาม 86%
3) อินโดนีเซีย 85%
4) มาเลเซีย 83%
5) จีน 60%
6) อินเดีย 47%
7) ปากีสถาน 43%
8) ไนจีเรีย 35%
9) ฟิลิปปินส์ 32%
10) บราซิล 29%

มอ’ไซค์ไทยเต็มถนน ต้นตอมาจากไหน

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

การที่ไทยได้แชมป์อันดับ 1 มาครองไม่ใช่เพราะคนไทยเป็นสิงห์นักบิดแต่อย่างใด แต่หลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยต้องขี่มอเตอร์ไซค์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ มีตั้งแต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงโครงสร้างของเมือง แบ่งเป็น 3 ข้อหลักๆ ได้แก่

1) ระบบขนส่งมวลชนไม่ครอบคลุม : กรุงเทพฯ คือเมืองหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น แต่ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนในมหานครแห่งนี้คือระบบขนส่งมวลชนที่มีอย่างจำกัดและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ รถไฟฟ้าและรถเมล์เข้าถึงเฉพาะถนนสายหลัก แต่ไม่สามารถเข้าไปในตรอกซอกซอยจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วเมืองได้ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือมอเตอร์ไซค์แทน

ปัญหาการเดินทางในต่างจังหวัดยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่าตัว ในหลายพื้นที่ไม่มีขนส่งสาธารณะเลยด้วยซ้ำ มอเตอร์ไซค์จึงกลายเป็นยานพาหนะหลักที่คนต่างจังหวัดใช้เดินทางในแต่ละวัน

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

2) ประหยัดเงินและเวลาเดินทาง : สำหรับกรุงเทพฯ กลุ่มคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลักในการเดินทางคือผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางที่อาศัยอยู่ทั้งในและนอกเมือง เนื่องจากมอเตอร์ไซค์มีราคาถูกกว่ารถยนต์หลายเท่าตัว ค่าผ่อนที่เริ่มต้นหลักร้อยหรือหลักพันต่องวดอาจจะเทียบเท่าหรือถูกกว่าค่าเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทั้งเดือน แถมยังใช้งานได้ไม่จำกัดรอบด้วย

มากไปกว่านั้น การขี่มอเตอร์ไซค์ยังช่วยให้การเดินทางคล่องตัว หาที่จอดรถง่าย รวมถึงประหยัดค่าน้ำมันและเวลาในการเดินทางมากกว่ารถยนต์ส่วนตัวและขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

3) ปัญหาซูเปอร์บล็อก : หนึ่งในต้นตอที่ทำให้กรุงเทพฯ เผชิญปัญหาการจราจรติดขัดกันมาหลายสิบปี เกิดจากการออกแบบผังเมืองยอดแย่ที่สร้างเฉพาะถนนสายหลักเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาซูเปอร์บล็อก (Super Block) ที่มีขนาดใหญ่เกินไป หมายถึงระยะทางจากบ้านที่อยู่ไกลจากถนนสายหลักหลายกิโลเมตร ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณซูเปอร์บล็อกไม่สามารถเดินเท้าออกมาขึ้นขนส่งสาธารณะที่ปากซอยได้

ผลที่ตามมาคือ ผู้คนต้องนั่งรถสี่ล้อขนาดเล็ก รถเมล์เล็ก และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อเดินทางไปขึ้นขนส่งสาธารณะ ทำให้พวกเขาต้องเสียพลังงาน เสียเวลา และเสียเงินหลายต่อให้กับการเดินทางในทุกๆ วัน

ไม่ได้เป็นเจ้าของมอ’ไซค์ แต่ก็ต้องนั่งอยู่ดี

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะไม่ครอบคลุมและการออกแบบผังเมืองไม่ดี ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเมืองจำนวนไม่น้อยซื้อรถจักรยานยนต์เป็นของตัวเอง แต่ต่อให้ไม่ได้เป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ ชีวิตของชาวกรุงส่วนใหญ่ก็ยังต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์อยู่ดี เห็นได้จากวินมอเตอร์ไซค์ที่กระจายตัวอยู่แทบทุกปากซอย คอยรับ-ส่งผู้โดยสารไปยังเส้นเลือดฝอยที่ขนส่งสาธารณะอาจเข้าไม่ถึง 

รายงานจากกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2562 เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ มีรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 93,077 คัน มีจำนวนวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมด 5,575 วินฯ จํานวนผู้ขับขี่ 84,547 ราย คิดเป็นค่าเฉลี่ย 15 รายต่อวิน โดยสามเขตในกรุงเทพฯ ที่มีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมากที่สุด ได้แก่ เขตจตุจักร 220 วินฯ เขตราชเทวี 217 วินฯ และเขตบางรัก 197 วินฯ

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

มากไปกว่านั้น ในยุคที่ธุรกิจออนไลน์และบริการเดลิเวอรีกำลังรุ่งเรือง มอเตอร์ไซค์ยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น Grab, LINE MAN, foodpanda, Robinhood, Lalamove และ SCG Express ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีผู้ขี่รถจักรยานยนต์เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร อาหาร พัสดุ รวมถึงขนย้ายสิ่งของ

สถิติและเทรนด์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตของคนเมืองไม่ได้ยึดโยงกับการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยานพาหนะสองล้อนี้ยังเป็นเหมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเมืองและหล่อเลี้ยงไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ด้วย

อันตรายจากมอ’ไซค์ ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

แม้ว่าการขับขี่มอเตอร์ไซค์จะเป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีราคาจับต้องได้และสะดวกรวดเร็ว แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือความเสี่ยงและอันตรายบนท้องถนน เพราะผู้ขับขี่มีโอกาสลื่นล้ม ตกหลุม และเฉี่ยวชนจนได้รับบาดเจ็บ หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เราจึงมักได้ยินประโยคเปรียบเปรยที่ว่า ‘มอเตอร์ไซค์เหมือนเนื้อหุ้มเหล็ก’ เพราะแทบจะไม่มีอะไรป้องกันตัวผู้ใช้งานได้เลย

เมื่อปี 2015 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดรายงานที่ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากมอเตอร์ไซค์มากเป็นอันดับ 1 ของโลก และเมื่อปี 2022 เว็บไซต์ Zutobi ยังรายงานว่า ไทยมีท้องถนนที่อันตรายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 32.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

ในบรรดาสถิติเหล่านี้ กลุ่มคนที่เสี่ยงอันตรายที่สุดคือผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ เพราะข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2018 – 2021 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย และจากจำนวนนี้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

เพื่อลดอุบัติเหตุให้กับผู้ใช้ยานพาหนะสองล้อ สิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการคือ การสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมถนน ป้าย และสัญญาณไฟจราจรที่เสียหาย รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การสวมหมวกกันน็อก การตรวจสอบสภาพมอเตอร์ไซค์ การเคารพกฎจราจร การลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย ฯลฯ

ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย

นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและมีราคาที่จับต้องได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่ต้องรวมถึงระบบขนส่งมวลชนในอีก 75 จังหวัดที่ยังห่างไกลความเจริญ

รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างรอบด้านโดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และทำให้คนอีกหลายๆ กลุ่มเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างขนส่งสาธารณะได้

Sources :
Bangkokbiznews | bit.ly/3JKOPrR
Bangkok Post | bit.ly/44AOHmL
Ch7HD News | bit.ly/3XCtAOA
HealthServ | bit.ly/3D2sp1u
Isranews Agency | bit.ly/3pzy0sQ
KiNdconnext | bit.ly/44eihyo
KomChadLuek | bit.ly/44e4Gap
Mashable SEA | bit.ly/3JL2sY0
Nation Thailand | bit.ly/3D11uD3
Pew Research Center | bit.ly/3NJe0vU
Statista | bit.ly/3ObW3rz
TDRI | bit.ly/44wgKUb
Thaihealth Resource Center | bit.ly/3O1Z3Xa
The New York Times | bit.ly/3O0OxPQ
The Thaiger | bit.ly/46DITL6, bit.ly/3pD1Cpk
Zutobi | bit.ly/3ptQyed
กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก | bit.ly/3NZhQT4
ศิลปวัฒนธรรม | bit.ly/3PE2CUO

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.