5 จัดอันดับจุดเช็กอิน ‘รถติด’ ในกรุงเทพฯ - Urban Creature

ถนนกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งเคยขึ้นชื่อเรื่องรถติดที่สุดในโลกมาแล้ว ไม่ว่าใครก็ปวดใจหากอยู่ในสถานการณ์ติดไฟแดงบนถนนเป็นเวลาหลายชั่วโมง มิหนำซ้ำรายงานจาก TOMTOM องค์กรผู้ให้บริการข้อมูลทางสัญจรทั่วโลกยังเผยว่า ปี 2564 คนกรุงเทพฯ เสียเวลาบนถนนไปทั้งหมดเฉลี่ย 71 ชั่วโมง/ปี หรือประมาณ 3 วันเต็มเลยทีเดียว

ถนนกรุงเทพฯ ทั้งจราจรติดขัดและเสียเวลารอนาน จึงไม่แปลกใจถ้าจะมีคนหัวร้อนกับรถติดบนถนน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะระบายความอัดอั้นในใจก็คงมีแค่กดเช็กอินสถานที่และแชร์ความรู้สึกออกไปผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และแน่นอนว่า ถนนที่เป็นขวัญใจมหาชนที่เจอรถติด ได้แก่…

‘ถนนลาดพร้าว’ กับประโยคที่ว่า ‘รถติดนรกแตก แดงชาตินี้ เขียวชาติหน้า’ รวมจำนวนคนเช็กอิน ‘รถติดถนนลาดพร้าว’ จาก Facebook ทั้งหมดประมาณ 92,000 ครั้ง

รองลงมาเป็นถนนพระราม 2 ทางด่วนพระราม 9 ถนนเพชรเกษม และถนนประชาอุทิศ 9 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ย. 2565) ซึ่งสาเหตุที่ถนนเหล่านี้รถติดจนคนต้องพูดถึง เป็นเพราะอะไรตามไปหาคำตอบกัน 

จัดอันดับจุดเช็กอิน ‘รถติด’ ในกรุงเทพฯ

ถนนเส้นหลักเส้นเดียว เชื่อมหลายย่าน 

สาเหตุที่ถนนดังกล่าวขึ้นชื่อเรื่องรถติดสุดเรื้อรัง ส่วนใหญ่มีลักษณะถนนเป็นเส้นวิ่งตรงยาวๆ ทำหน้าที่เป็นเส้นหลักเพียงเส้นเดียวที่เชื่อมต่อย่านอื่นๆ ในพื้นที่ ไม่มีถนนสายรองตัดผ่านเพื่อระบายรถยนต์ออกจากถนนหลักเป็นระบบ จึงทำให้รถในพื้นที่ทั้งหมดจำเป็นต้องขับเส้นหลักเพื่อเดินทางไปย่านอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากอธิบายให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างถนนลาดพร้าว เป็นถนนเส้นใหญ่ที่วิ่งเชื่อมตั้งแต่ย่านจตุจักร ย่านลาดพร้าว ไปจนถึงย่านบางกะปิ รอบข้างรายล้อมไปด้วยที่อยู่อาศัย ชุมชน และคนทำงานในหลากหลายพื้นที่ ลองนึกถึงสภาพจราจรตอนเช้าและตอนกลับจากที่ทำงาน ที่รถหลายแสนคันพร้อมใจเข้าออกบนถนนเส้นเดียวจนปริมาณหนาแน่นสูง จึงไม่แปลกใจถ้าถนนลาดพร้าวจะได้ฉายา ‘รถติดนรกแตก’ ตามที่ชาวเมืองว่ากันมา

พื้นที่ถนนน้อย และถนนตันเยอะ

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 1,568 ตารางกิโลเมตร และมีคนอยู่อาศัยประมาณ 5 ล้านคน สวนทางกับระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนที่มีพื้นที่จำกัดน้อยกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความเป็นจริงเกณฑ์มาตรฐานของสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองไม่ควรต่ำกว่า 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเมืองมีคุณภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานถนนที่เหมาะสม

อ้างอิงจากกรมการขนส่งทางบก ปัจจุบันมีจำนวนรถทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ประมาณ 12 ล้านคัน นับว่าเพิ่มมากขึ้นจากปี 2018 ที่มีประมาณ 9 ล้านคัน หมายความว่าจำนวนรถมากยิ่งขึ้น ถนนมีเท่าเดิม จึงทำให้รถติดหนาแน่นมากกว่าเคย

มากไปกว่านั้น ถนนรองและถนนย่อยในกรุงเทพฯ ส่วนมากมีลักษณะเป็นซอยตัน ซึ่งถนนดังกล่าวเปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอยของเมืองที่ช่วยถ่ายเทการจราจรได้สะดวก ทว่าซอยตันทำให้ระบบถนนไม่สามารถเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายคมนาคมและระบายรถจากถนนหลักได้ จึงทำให้รถรวมกันบนเส้นหลักเป็นส่วนใหญ่

ทางออกปัญหารถติดกรุงเทพฯ

ตามหลักวิชาการแล้ว กรุงเทพฯ ควรเพิ่มพื้นที่ถนนให้มากกว่าเดิม เนื่องจากเมืองมีสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ในทางกลับกัน การสร้างถนนก็เป็นโครงการที่ไม่สามารถทำได้ทันที ต้องใช้เวลาศึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และใช้เวลาพิจารณาตัดถนนในพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างละเอียดนานหลายปี

ในต่างประเทศแก้ปัญหาโดยการจูงใจให้คนลดใช้รถยนต์น้อยลง โดยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสาร ทางจักรยานหรือทางเดิน เพื่อให้คนเมืองมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลายวิธี รวมไปถึงการตั้งค่าโดยสารในราคาถูก จึงทำให้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ เพราะมันคุ้มค่ากว่าการขับรถยนต์เข้าออกเมืองที่ต้องเสียค่าจอดรถและค่าดูแลในราคาสูง

สำหรับบ้านเรา ทุกวันนี้คนเมืองมีทางเลือกในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าอดีต เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสาร รถสองแถว หรือเรือโดยสาร ที่ช่วยแบ่งเบาความหนาแน่นการจราจรในระดับหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบคมนาคมกรุงเทพฯ ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งหมด และบางคนก็ไม่สามารถเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้สะดวกสบาย 

มิหนำซ้ำคนเมืองมีแนวโน้มซื้อรถยนต์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเทียบความสะดวกสบายระหว่างนั่งขนส่งสาธารณะที่บางคนเข้าถึงลำบากและเดินทางหลายต่อกว่าจะถึงรถไฟฟ้า สู้ขับรถยนต์ส่วนตัวออกจากบ้านแค่ต่อเดียว ซึ่งสำหรับบางคนเรื่องรถติดอาจจะเป็นสิ่งที่อดทนได้มากกว่าการเดินทางเข้าถึงขนส่งสาธารณะที่แสนลำบากและเข้าไม่ถึง

Sources :
GoodwalkThailand | shorturl.asia/zsebm
The Standard | shorturl.asia/Aidu9
กรมการขนส่งทางบก | web.dlt.go.th/statistics/

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.