‘วาดรูป’ บางคนจัดหมวดให้เป็นเพียงวิชาหนึ่งในห้องเรียน มีบ้างที่ติดป้ายเป็นเพื่อนซี้ยามว่าง แต่สำหรับบางคน ยกให้การวาดรูปเป็น ‘ส่วนหนึ่งของชีวิต’
“เราว่าเราคงเลิกวาดรูปไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้วาดรูป ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกิน เราวาดรูปทุกวันจนมันเป็นส่วนหนึ่งไปแล้ว”
‘นัท-ณัชณิชา แก้วมังกร’ นักวาดภาพประกอบสาวเจ้าของลายเส้นยุกยิกน่ารักในนาม ‘Monsty Planet (มอนสตี้ แพลนเน็ท)’ ก็เป็นหนึ่งคนที่เลือกวาดฝัน และเขียนชีวิตให้มีความสุขด้วยการวาดภาพ เราจึงชวนนัทมาเดินเล่นย่านอารีย์ พร้อมแวะร้าน ‘Tham.Ma.Da’ เพื่อพูดคุยเรื่องวันวานสมัยเริ่มจับดินสอ จนกลายเป็นนักวาดภาพที่เพลินใจกับการขีดเขียนคาเฟ่ เครื่องดื่ม และขนมกระจุกกระจิก
| วันแรกเริ่มของการวาดภาพ
นัท : เราวาดรูปตั้งแต่เด็ก แต่ก่อนยายเป็นคนเลี้ยง เพราะพ่อกับแม่เราทำงานประจำ เขาก็จะอยู่กับเรา บอกว่ามีกล่องสีให้นะ วาดรูปเล่นไหม แล้วยายเป็นช่างเย็บผ้าด้วย เขาก็จะวาดเป็นพวกตัวการ์ตูน โครงตุ๊กตา เราเลยได้วิชาวาดรูปจากยาย ก็เลยเริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น อีกอย่างคือเราชอบที่ครูจะถามว่า ตอนปิดเทอมไปเที่ยวไหนมา แล้วก็จะมีสมุดการบ้านเป็นช่องให้วาดสิ่งที่เจอ อันนั้นมันสนุกมากๆ เลยนะ
| คำพูดคนคือจุดเปราะบางที่ทำให้เกือบทิ้งศิลปะ
นัท : ตอนมัธยม ช่วงจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราไปเรียนติวเข้านิเทศศิลป์กับพี่ติว แต่กลับไปเจอคำพูดแรงๆ บอกว่า ‘เนี่ย เธอไม่ติดหรอก’ รู้สึกว่าตรงนั้นมันมีผลกับเรา เด็กในวุฒิภาวะตอนนั้นอะ มันเปราะบาง เลยคิดว่าลองไปทำอย่างอื่นดีกว่า ตอนนั้นเราหลงทางมาก ก็เลยไปเรียนติวเพิ่มหลายอย่าง ติวนิติศาสตร์ด้วยนะ คือยากมาก ไม่ได้เหมาะเลย (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็เลือกเข้าคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย เพราะถ้าเราไม่ชอบวาดรูป เราก็จะชอบอ่านหนังสือ มันเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีอีกอย่างหนึ่ง
| ช่วงที่แพชชั่นวาดรูปถูกกระตุ้นกลับมาอีกครั้ง
นัด : เป็นช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว มีงานเปิดหอพักนักศึกษา แล้วนิสิตคณะศิลปกรรมมาแสดงแฟชั่นโชว์ พอเห็นตรงนั้น เรารู้สึกว่า ‘เหย ! เจ๋งอะ เรามาทำอะไรตรงนี้วะ’ เราเริ่มอยากมีชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่ โชคดีที่ม.เรามีวิชาโทเรียนศิลปกรรมได้ เราเลยเรียนเอกไทย โทศิลปกรรม คือเราเป็นคนเดียวในเอก และในคณะที่ไปเรียนโทศิลปกรรม แต่มีเพื่อนต่างคณะนะ
พอไปเรียน มันมีจุดพีคที่วิชาเกี่ยวกับ branding แล้วมันต้องใช้คอมฯ ทำ จากที่เราไม่เคยวาดคอมฯ มาก่อน วาดไม่เป็น ก็ต้องไปจ้างพี่ที่รู้จักกันมาสอนที่บ้าน แล้วค้นพบว่า มันโคตรสนุก ก็วาดต่อมาเรื่อยๆ จนประมาณปี 3 เพื่อนเราบอกให้เปิดเพจ ให้คนอื่นดูบ้าง ก็เลยหาพื้นที่ทำเพจ แล้วอีกอันคือ พี่ที่คณะเขาแนะนำให้รู้จักกับกลุ่มนักวาดภาพประกอบ ซึ่งเขาจะมีกลุ่มเฟสบุ้ก แชร์งานงานวาดตัวเองลง เราเห็นคนทำงานหลายแบบ โพสต์งานวาดตัวเองบ้าง ก็เรียนรู้ และมีกำลังใจในการวาดรูปต่อ
ทำไมต้องชื่อ ‘Monsty Planet’
นัท : มันคือชื่อเมลเราสมัยตอนมัธยม (หัวเราะ) ตอนนั้นมีการ์ตูน Cookies Monster แล้วเราชอบมากๆ พอทำเพจเลยเอา monsty กับ planet มารวมกัน ให้มันเป็นพื้นที่ทำงานของเรา แต่ก็แอบคิดนะว่า แก่ไปเราจะเอาไปพรีเซนต์ยังไงวะ (หัวเราะ)
| ‘เจ้า Bobby’ คาแรกเตอร์คอร์กี้ตัวกลม
นัท : Bobby (บ๊อบบี้) เกิดจากเราอยากทำคาแรกเตอร์อะไรสักอย่างขึ้นมา เพราะว่าการมีคาแรกเตอร์ มันเหมือนเป็นตัวแทนเรา ซึ่งตอนแรกวาดหลายตัวมาก แต่ก็ยังไม่ทำสักที คือเรามองว่าคาแรกเตอร์มันเป็นแพชชั่นที่เราอินกับอะไรสักอย่าง เลยมานั่งคิดว่า เราอินกับอะไรมากที่สุด คำตอบที่ได้คือ น้องหมา เพราะบ้านเราเลี้ยง เลยเลือกเป็นหมาพันธุ์คอร์กี้ที่เราชอบ
| Bobby กับบทบาทพนักงานร้านเบเกอรี่
นัท : เราตั้งใจวางให้บ๊อบบี้เป็นหมาที่ทำงานในร้านเบเกอรี่ชื่อ Monsty Planet แต่ทีนี้มันบอกว่าอยากออกไปเปิดร้านเอง เป็น ‘Bobby Bakery’ มันก็เลยเข้ามาฝึกงาน เรียนรู้งานในนี้ก่อน คือเรามองมันแล้วคิดถึงตัวเองที่อยากไปทำอะไรที่เป็นของเรา ซึ่งตัวบ๊อบบี้เองเราทำคอลเลกชันต่างๆ ด้วย เช่น Hello Bobby ก็คือแนะนำอุปนิสัย ชอบนอน ชอบกินแพนเค้ก หน้ามันก็จะกวนๆ หน่อยหรือ Bobby Back to School ไปโรงเรียน แต่งเป็นลูกเสือ เราอยากเติบโตไปพร้อมกับบ๊อบบี้
| เพลินไปกับการวาดคาเฟ่ เครื่องดื่ม และขนมกระจุกกระจิก
นัท : เอาจริงๆ มันเริ่มจากเราชอบกิน จะพูดยังไงให้ตัวเองดูดีอะ (หัวเราะ) อีกอย่างคือแม่เราทำขนมอยู่แล้ว เป็นโฮมเมดเบเกอรี่ มีบราวนี่ บลูเบอร์รีชีสเค้ก หรือพายแอปเปิ้ล แล้วเราชอบบรรยากาศเวลามานั่งคาเฟ่มาก บางทีเราได้ยินเรื่องต่างๆ ผ่านหู มันทำให้เราคิดว่า ‘มันมีชีวิตแบบอื่นที่ไม่ใช่แบบที่เราเป็น ทำไมเราต้องมานั่งทุกข์ขนาดนี้วะ ทั้งทีบางทีคนอื่นเขามีเรื่องหนักกว่าเราให้คิด’ ไปคาเฟ่มันจะได้อะไรพวกนี้ อย่างคาเฟ่แถวอารีย์ โดยเฉพาะร้าน ‘Tham.Ma.Da’ เรามาบ่อยมาก เพราะมันเป็นร้านที่เงียบ ยิ่งถ้าเป็นวันธรรมดาจะยิ่งเงียบมาก เราเลยชอบนัดมาคุยงานที่นี่ มาหาไอเดีย หรือวาดรูป แล้วคุณป้าเจ้าของร้านก็น่ารักมาก
| มาเดินย่านอารีย์บ่อย จนอยากขอเปลี่ยน ‘ทางเท้า’
นัท : เอาจริงๆ อารีย์เนี่ย พื้นไม่เรียบเลยนะ (หัวเราะ) คือเราเดินแล้วหน้าแหกบ่อยมา ตอนเดินมาก็สะดุดไป (หัวเราะ) คือเราว่าอารีย์มันดีมากเลยนะ ที่มันมีต้นไม้แทรกตามมุมต่างๆ อย่างเราเดินมาก็เจอต้นเฟื่องฟ้า เป็นมุมที่สวยอะ เลยอยากปรับให้พื้นมันเดินง่าย อีกอย่างคือเราเพิ่งกลับมาจากไต้หวัน เราเห็นเขาพาหมาไปเดิน เอนจอยด์กับการจูง หรือพาน้องใส่รถเข็นไปที่ต่างๆ คือเรารู้สึกว่ามันดีมาก อยากให้กรุงเทพฯ เป็นแบบนั้นด้วย ให้คนมีความสัมพันธ์กับหมา พามันไปนั่นนี่ได้ แต่คือพื้นมันควรจะน่าเดินไง
| เปิดประสบการณ์ พาความฝันไปวาดในโลกกว้าง
นัท : มันเริ่มจากตอนเราไปงาน ART GROUND ปีที่แล้ว ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นคนกลัวการออกบูธมากอะ เพราะกลัวคิดตังไม่ถูก (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นเรามีโอกาสได้เจอ ‘พี่ธร’ จากแซลมอนบุ๊คส์ พี่เขาชวนก็ไปทำหนังสือ อีเวนต์นี้เลยเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เรากล้าไปต่างประเทศ กล้าไปอีเวนต์อื่นๆ
เราอยากจะบอกทุกคนที่ทำงานแบบเราว่า การพาตัวเองไปต่างประเทศมันเป็นเรื่องที่ดีโคตรๆ คือที่เราเคยไป ‘Unknown Asia Art Exchange Osaka’ อีเวนต์นั้นเราได้เพื่อน เหมือนเปิดโลก ได้เห็นคนทำงานเจ๋งๆ ยิ่งคุณออกไปเยอะเท่าไหร่คุณจะรู้ว่าเราตัวเล็กลง คือคนที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วพอไปเจอเราจะรู้เลยว่า เราขาดตรงนี้ เราดีตรงนี้ แล้วเอากลับมาพัฒนา
“ทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบินกลับ ในหัวมันคิดแค่ว่าเมื่อไหร่จะถึงกรุงเทพฯ อยากกลับไปทำงาน เพราะเรามีภาพสเกตช์ในหัวเต็มไปหมดเลยว่ากลับมาจะต้องทำแบบนี้ๆ”
| ไทยแลนด์ยังคงขาดความเข้าใจ และการให้คุณค่างานศิลปะ
นัท : เรารู้สึกว่า คนไทยยังไม่เข้าใจค่าของงานศิลปะ เขาไม่เข้าใจว่า กว่าเราจะวาดรูปหนึ่งรูป เราใช้กี่ชั่วโมงในการพัฒนาตัวเองเพื่อจะมาเป็นวันนี้ เราเสียไปเยอะมาก วาดแล้วลบทิ้ง มันไม่ใช่ว่าวาดเดี๋ยวก็ได้แล้ว แล้วคือคนไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของตัวละครนั้นๆ หรือเบื้องหลังการทำงาน เขาจะคิดแค่ว่า ก็แค่คุณวาดภาพหรือเปล่า ใครๆ ก็วาดได้ เราโดนบ่อยมากเวลาออกบูธ บางทีเราขายโปสการ์ด 50 บาท แล้วมีคนมีอายุมาซื้อ เขาจะถามเราว่าปึ๊งนี้ 50 บาทเหรอ เขาก็จะแบบทำไมขายแพงจัง คนไทยชอบต่อราคางานศิลปะ เราไปต่างประเทศไม่เคยเจอต่อราคาเลย จะมีก็แบบโปรโมชั่น 3 ชิ้น 100 ชอบก็ซื้อ
มีคนถามเราว่า เราทำงานอะไร เราก็ตอบว่านี่ไง ‘เราวาดรูปขาย’ คนที่ถามก็แบบ ไม่ๆ งานจริงๆ อะ เราก็แบบงานจริงๆ คืออะไร ก็นี่ไง เพื่อนเรายังเคยถามเลย ยิ่งทัศนคติของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ยิ่งยาก เมื่อก่อนเขาก็ไม่เข้าใจว่าเราจะอยู่ได้จริงๆ เหรอ แต่ตอนหลังพ่อแม่เราก็ปรับมากขึ้น
| เพิ่มความเข้าใจให้ไทยเห็นคุณค่างานศิลป์
นัท : การจะทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของงานศิลปะมากขึ้น อาจจะต้องทำตั้งแต่สมัยเรียนเลยหรือเปล่า อย่างในชั่วโมงศิลปะ มันไม่มีโรงเรียนไหนที่บอกว่าศิลปะเป็นเรื่องจริงจัง ทุกคนก็แค่รู้สึกว่าต้องเรียนจะได้ผ่าน ทำงานก็จ้างคนอื่นทำ ไม่ได้มีความรู้สึกว่า เห็นค่าตั้งแต่ตอนเรียน มันก็เลยเป็นค่านิยมที่ปลูกฝังมาว่า ตอนโตคุณเห็นคนทำงานศิลปะ คุณก็คิดว่างานนี้มันง่าย ใครๆ ก็ทำได้
| อนาคตของ Monsty Planet และ Chubby Bobby
นัท : เรามีแพลนว่าจะทำสองไอจี อันหนึ่งคือ Monsty Planet ไว้สำหรับวาดรูป วาดคาเฟ่ ไลฟ์สไตล์ ส่วนอีกอันจะเปิดเป็น Chubby Bobby เพราะว่าการทำแยกคนจะได้ไม่สับสนว่าตกลงวันนี้จะดูคอนเทนต์อะไรดี แล้วก็จะพัฒนาโปรดักต์ต่อ อย่างของบ๊อบบี้ ก็มีผ้าพันคอ มีโน้ตแพดเช็กลิสต์ที่เป็นลายบ๊อบบี้หมดเลย อีกอย่างคือเราอยากจะทำอีเวนต์ ไปต่างประเทศ อยากจะเอางานไปหลายประเทศ แล้วเราก็อยากพัฒนาคาแรกเตอร์ตัวนี้ไปเรื่อยๆ
| ฝากถึงคนที่ยังไม่รู้ และอยากจะเริ่มวาดภาพ
นัท : คนที่อยากเริ่มวาดภาพต้องหาก่อนว่า จริงๆ แล้วเราชอบวาดอะไร ชอบวาดคน ชอบวาดสัตว์ วาดของกิน มันต้องเจอแพชชั่นตัวเองก่อนว่า เราชอบวาดไอนี่จังเลย ไม่งั้นแปบเดียวก็เบื่อ แล้วอีกอย่างคือต้องหาจุดยืนให้ตัวเอง
คำว่า ‘แพชชั่น’ นี่แหละ ทำให้เราทำทุกอย่างได้เรื่อยๆ เคยได้ยินไหมว่า คนประเภทเดียวกันจะคอนเนกเข้าหากัน ยิ่งเราอินกับสิ่งนี้มาก มันก็จะพาเราไปเจอคนที่คล้ายกับเรา หรือมีความชอบใกล้เคียงกัน มันจะต่อยอด แล้วเราจะมีแรงบันดาลใจกับคนนั้นว่าเขาทำแบบนี้ได้ เราก็อยากทำของเรา มันจะเป็นแบบนี้ไม่มีวันหมด