สถิติคนหายกำลังบอกอะไรกับเรา - Urban Creature

“ทุกสี่ชั่วโมง มีคนหนึ่งคนกำลังหายออกจากบ้าน”

คำพูดสั้นๆ นี้คือสิ่งที่ ‘เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข’ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา หนึ่งในสปีกเกอร์ของงาน dataCon 2024 บอกกับเราระหว่างช่วง Talk ในหัวข้อ ‘ข้อมูลคนหาย อะไรอีกที่หายนอกจากคน’

เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่มูลนิธิกระจกเงามีบทบาทสำคัญในการตามหาคนหาย ที่นอกจากจะพบคนหาย ยังทำให้พบ ‘ความจริง’ บางอย่างที่สะท้อนเบื้องหลังสังคมไทย

เมื่อพูดถึงคนหาย สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นกระบวนการค้ามนุษย์หรือการลักพาตัว แต่หลังจากเอกลักษณ์ก่อตั้งโครงการนี้และย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้พบว่าการหายตัวของบุคคลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย

คนหาย

โดยระยะเวลา 5 ปี ในระหว่างปี 2563 – 2567 พบว่า 5 อันดับสาเหตุการหายของคนไทยนั้น อันดับหนึ่งคือ การสมัครใจหนีออกจากบ้านด้วยตนเอง จำนวน 2,458 ราย และอันดับสองคือ จิตเวช จำนวน 1,933 ราย ตามมาด้วยสาเหตุ ขาดการติดต่อ 1,802 ราย, โรคสมองเสื่อม 634 ราย และพัฒนาการทางสมองช้า 384 ราย ตามลำดับ

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบฐานข้อมูล (Database) ระบบดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูลก็ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการตามหาคนหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เห็นว่าคนหายไม่ได้ผูกติดแค่กับการค้ามนุษย์เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นจากความตั้งใจและเรื่องสุขภาพเป็นหลักด้วย

คนหาย

อีกทั้งความน่าสนใจของการสร้างเว็บไซต์ติดตามคนหายชื่อ ‘Back to Home’ อันได้แรงบันดาลใจจากวลี ‘Back to School’ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบฐานข้อมูลระบบดิจิทัล ทำให้พบว่าจากสถิติ 21 ปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิพบตัวคนหายแล้วกว่า 16,315 ราย จากผู้แจ้งคนหายทั้งหมด 18,887 ราย คิดเป็น 86 เปอร์เซ็นต์ของการแจ้งเหตุ โดยยังอยู่ระหว่างการติดตามอีก 2,232 ราย ถือเป็นตัวเลขที่ทำให้เชื่อมั่นว่ามูลนิธิกระจกเงามีฐานข้อมูลคนหายที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

โดยภายในงาน dataCon 2024 ยังบอกกับเราว่า โครงการ ‘ริสแบนด์ หาย(ไม่)ห่วง’ เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของมูลนิธิกระจกเงาที่ได้รับการสนับสนุนจากนักพัฒนาโปรแกรมจากบริษัท เอ็นเนอร์จีทิค อิเล็คทริคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในการออกแบบริสต์แบนด์พร้อม QR Code ในรูปแบบของระบบทะเบียน ที่ช่วยติดตามผู้สูงอายุที่พลัดหลง และช่วยเหลือผู้สูงอายุที่หายตัวไปจากการหลงลืมหรือป่วยเป็นอัลไซเมอร์ 

คนหาย

และจากการดำเนินโครงการมาตลอด 4 ปี พบว่า ในแต่ละเดือนมีผู้สูงอายุประมาณ 5 – 10 ราย จากครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุประมาณ 3,000 ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รับการช่วยเหลือให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยจากการสวมใส่ริสต์แบนด์ ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มูลนิธินำระบบข้อมูลมาใช้ต่อยอดจนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณคนหายในแต่ละปีลง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งสำคัญที่มูลนิธิกระจกเงาย้ำเตือนคือการใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาสังคม ไม่เพียงแค่ความสามารถด้านเทคนิคหรือการจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่หัวใจของการทำงานนี้คือความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้คนและคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวคนหายที่เกิดการสูญเสียด้วยนั่นเอง


Sources : 
งาน dataCon 2024 หัวข้อ ‘ข้อมูลคนหาย อะไรอีกที่หายนอกจากคน’
ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา | t.ly/1Qb9b

Writer

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.