มาถึงวันหนึ่งที่เราเปิดอ่าน E-Book แล้วรู้สึกว่าสะดวกดี เพราะหยิบจับถนัดมือและพกไปไหนมาไหนสบายตัว จึงทำให้ E-Book เข้ามาคว้าใจในการอ่านแทนหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งปัจจุบันธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวลงไปมากมาย และไลฟ์สไตล์ของคนอ่านที่เปลี่ยนไปเสพคอนเทนต์ในสมาร์ทโฟนมากกว่าเคย ซึ่งหลายคนมองว่าต่อไป E-Book จะเข้ามาแทนที่หนังสือ และอาจจะทำให้คุณค่าของหนังสือลดลงไป แต่หากมองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมการอ่าน ทั้งคนอ่านและคนเขียนหนังสือในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ซบเซาให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง
ชวนเปิดโลกหนังสือออนไลน์กับ meb แอปฯ E-Book ที่รวบรวมหนังสือไว้เกือบทุกประเภท ตั้งแต่นิยาย การ์ตูน หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือพัฒนาตนเอง หนังสือวิชาการ ไปจนถึงหนังสือทั่วไป ผ่านคุณไช้ รวิวร มะหะสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งแอปฯ meb ที่การคุยกับเขาครั้งนี้เหมือนเป็นการอ่านหนังสือเเนวผจญภัยในโลกความเป็นจริง ตั้งแต่ความชอบอ่านหนังสือ การจัดตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง ไปจนถึงการทำแพลตฟอร์มสำหรับ E-Book ของเหล่าหนอนหนังสือมานานกว่า 9 ปีแล้ว
บทเรียนคนทำหนังสือสู่ E-Book
ตอนเจอคุณไช้ครั้งเเรกเราขอเดาว่า สาเหตุที่มาทำธุรกิจ E-Book คงเป็นเพราะชอบอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกแน่ๆ แต่คำตอบของเขามันยิ่งกว่าคำว่า ชอบ เพราะเขาถึงขั้นเคยจัดตั้งสำนักพิมพ์เพื่อทำหนังสือเเนวที่เขาชอบเลยทีเดียว
“ก่อนหน้านี้เราเป็นคนทำหนังสือเลยนะ เกี่ยวกับวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เเนวกระเเสหลัก เเต่ก็มีกลุ่มคนอ่านที่เหนียวแน่นอยู่เหมือนกัน ซึ่งในยุคทำหนังสือเล่มมันทำให้เราเห็นอุปสรรคหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การพิมพ์หนังสือก็ต้องคิดหนักว่าจะขายได้คืนทุนไหม เพราะการผลิตมีต้นทุนสูง สั่งพิมพ์ทีก็ต้องปริมาณมาก 1,500-2,000 เล่มขึ้นไป
“พอถึงขั้นตอนการไปวางขายในร้านหนังสือ ก็ต้องกังวลกับตำเเหน่งวางหนังสือในร้าน ถ้าเล่มไหนดังหรือขายดีก็จะนำมาโชว์เด่นๆ เล่มไหนไม่ดีก็จะไม่ค่อยได้โชว์เท่าไหร่นัก แถมตอนนั้นเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ก็ไม่มีอำนาจการต่อรองเข้าไปอีก ซึ่งทำให้เรารู้ว่าการทำหนังสือมันไม่ง่ายเลย เพราะถึงจะควบคุมคุณภาพจากเราได้ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสิ่งรอบตัวให้เป็นไปในสิ่งที่เราคิดได้”
และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องวางมือจากการทำสำนักพิมพ์ลง แต่ความรักในหนังสือยังคงอยู่ในใจ บวกกับการที่คุณไช้จบวิศวะมาก่อน เขาเลยมีความตั้งใจจะเริ่มต้นใหม่ด้วยการทำ E-Book เพื่อเเก้ปัญหาสิ่งที่เขาเจอก่อนหน้านี้ให้ได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชัน meb
เขาเล่าที่มาของชื่อ meb แบบติดตลกว่า “อย่างเเรกคืออยากได้ชื่อที่มันสั้นๆ ง่ายๆ ตอนนั้นมันมีคำว่า เมพ ที่เเปลว่าเทพมาก ซึ่งเป็นขั้นกว่าของคำว่าเทพ ก็เลยคิดว่าเอาคำว่าเมพก็ดีนะ ก็เลยหาคำอะไรที่มาเกี่ยวข้องกันเป็นคำว่า meb ซึ่งก็มาจาก Mobile E-book”
meb คล้ายกับร้านหนังสือขนาดใหญ่ในรูปแบบออนไลน์ ที่รวบรวมหนังสือไว้หลากหลายประเภททั้งนิยาย การ์ตูน หนังสือวิชาการ หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือพัฒนาตนเอง หนังสือธรรมะ หรือแม้กระทั่งพจนานุกรม ซึ่งข้อดีคือมีพื้นที่โชว์หนังสือได้มากต่างจากร้านหนังสือที่มีพื้นที่แสดงสินค้าจำกัดและค้นหายาก
แต่ถ้าเป็นสายเอาใจวัยรุ่นชอบแต่งนิยายก็ต้องเข้าแอปฯ ReadAWrite ที่เป็นเหมือนพื้นที่อิสระทางตัวอักษรที่ใครก็สามารถสวมบทเป็นนักเขียนแต่งเรื่องราวของตัวเองได้ไม่จำกัด มีทั้งนักเเต่งรุ่นจิ๋วไปจนถึงวัยผู้ใหญ่เขียนนิยายมาให้อ่านกันได้ฟรีๆ อย่างนิยายรักคู่จิ้น นิยายจีน นิยายแฟนตาซี นิยายลึกลับ นิยายเสียดสีสังคม หรือจะเป็นไดอารี่ที่อยากเล่าเรื่องตัวเองก็มีพร้อม แถมยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหมือนเป็นคอมมูนิตี้ของคนชอบอ่านเเละคนเขียนมาเจอกัน
หนังสือไม่ใช่หน้าตา แต่คือจิตใจ
จากคนเคยทำหนังสือและ E-Book มาแล้วทั้งสองประเภท คุณไช้เปรียบเทียบให้ฟังว่ามีข้อดีเเตกต่างกัน “ถ้าเป็นหนังสือจุดเด่นคือ การสัมผัส เพราะมันมีรูปลักษณ์ที่หยิบจับได้ เช่น น้ำหนักและกลิ่นอายของหนังสือ แต่ก็จะมีข้อจำกัดในการดูแลรักษา อย่างการหาพื้นที่เก็บภายในบ้าน และถ้าอยากให้คงสภาพดีก็ต้องใส่ซองป้องกันความชื้น แต่ถ้าเป็น E-Book คือพกพาไปไหนสะดวกและง่ายในการใช้งาน อย่างการหยิบการ์ตูนขึ้นมาดูในสมาร์ทโฟนได้เลย หรือการเลือกอ่านหนังสือได้หลากหลายประเภท ทั้งกระเเสหลัก รอง หรือเฉพาะทางได้ในเครื่องเดียว”
เราถามต่อว่าถ้าให้เขาเลือกระหว่างหนังสือและ E-Book เขาชอบอ่านแบบไหนมากกว่ากัน ?
เขาคิดสักพักก่อนจะตอบว่า “ถ้าเรามองหนังสือเป็นเครื่องประดับ เราก็อาจจะมองว่าหนังสือกระดาษ หรือ E-Book มันให้คุณค่ากับเราได้ไม่เท่ากัน แต่ถ้ามองว่าหนังสือเป็นสื่อหนึ่ง ที่พาเนื้อหาจากคนเขียนมาสู่คนอ่าน เพื่อที่เราจะได้ซึมซับมันเนี่ย ไม่ว่าคุณจะซึมซับด้วยวิธีอะไรคุณก็ยังต้องการสิ่งนั้นอยู่”
“แก่นแท้ของหนังสือ คือ เนื้อหา
และหนังสือ คือ สิ่งที่พาเนื้อหามาหาเรา”
“ไม่ว่าหนังสือจะหน้าตาเป็นแบบไหนก็ตาม แต่หัวใจของมันคือเนื้อหาข้างในมากกว่า เพราะถ้ามันเป็นหนังสือกระดาษ แต่ว่าเนื้อหาข้างในคุณไม่อยากอ่าน ถ้าผมเอามาให้คุณ คุณก็ไม่อ่าน และถ้าเป็น E-Book หากเป็นสิ่งที่อยากอ่านมาก แต่หาอ่านไม่ได้เเล้ว เเต่มันเป็น E-Book คุณก็อ่าน เพราะเนื้อหามันไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน
“เว้นเเต่ว่าคุณจะซื้อหนังสือเพราะดูที่หน้าปก คุณคงไม่ได้ตัดสินว่าเล่มนี้ใครเขียน เล่มนี้สื่อถึงอะไร ซึ่งถ้าคุณให้คุณค่ารูปลักษณ์จากภายนอก คุณก็คงเลือกที่จะปักใจกับอันใดอันหนึ่ง แต่ผมก็เชื่อลึกๆ นะว่า คนอ่านหนังสือถ้ามองถึงแก่นแท้ของมัน ถ้าให้เลือกทั้งสองเเบบ เขาคงเลือกรูปแบบที่เขาถนัดมากกว่า”
คนไทยรักการอ่าน
ในโลกการอ่านของคนไทย คิดว่าพวกเขาชอบอ่านไหม ? เขาตอบอย่างมั่นใจว่า คนไทยรักการอ่านมาก และยังเล่าให้ฟังอีกว่ามีช่วงหนึ่งที่คนไทยเคยติดอันดับ 1 เล่นโซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลก เช่น การเสพคอนเทนต์ในเฟซบุ๊กและอัปเดตข่าวสารต่างๆ ในทวิตเตอร์ สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนการอ่านในบ้านเราว่าพวกเขาอ่านเก่งมากขนาดไหน
ซึ่งเขามองว่า จริงๆ แล้วหนังสือก็นับว่าเป็นสื่อบันเทิงประเภทหนึ่งในการอ่าน แต่ทุกวันนี้คนอ่านคอนเทนต์ในสมาร์ทโฟนมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต อย่างสมาร์ทโฟนที่สามารถทำได้ทุกอย่าง เช่น กดเอทีเอ็ม จ่ายสินค้า ทำงาน หรืออ่านหนังสือได้ ซึ่งเทคโนโลยีในการอ่านเองก็พัฒนาให้มีการเข้าถึงเนื้อหาได้หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเเค่รูปแบบเล่มเพียงอย่างเดียวเเล้ว แต่ก็ยังมีรูปแบบ E-Book หนังสือเสียง พอดเเคสต์ ยูทูบ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ทำให้เราเสพเนื้อหาต่อไปได้เรื่อยๆ
“ถึงสื่อที่ใช้อ่านจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่คนไทยก็ไม่เลิกอ่านหรอกครับ แถมยังอ่านเยอะขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย และสิ่งที่เราควรจะทำ คือทำอย่างไรให้คนอ่านได้ประโยชน์ ให้เขามีความสุข อ่านเเล้วทำให้เขาได้คิดอะไรบางอย่างที่อาจจะพัฒนาตัวเองได้ หนังสือก็เป็นสื่อหนึ่งที่จะพาเขาไปจุดนั้นได้เหมือนกัน”
คุณไช้ในวัยผู้ใหญ่ แต่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างแอปฯ ReadAWrite สำหรับแต่งนิยายวัยรุ่น เราอยากรู้ว่าเขาเคยเข้าไปอ่านนิยายของเด็กๆ บ้างไหมแล้วรู้สึกอย่างไร ? เขาพยักหน้าและบอกว่า
“เคยอ่านครับ บางอย่างก็รู้สึกว่าพวกเขาคิดได้อย่างไร มันเกินกว่ากรอบความคิดที่ผมคิดออกมาก คือมีความเซอไพร์สอยู่เสมอในงานเขียน อย่าง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ก็มีรูปแบบการอ่านใหม่ๆ อย่างนิยายเเชท จนคนยุคหนึ่งมองว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร รุ่นผู้ใหญ่หน่อยก็จะมองว่าเหมือนอ่านไลน์กรุ๊ปนั่งฟังเพื่อนเมาท์ไปเรื่อยๆ นิยายเเชทก็เป็นอย่างนั้น เเต่เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมา เราว่ามันเหมือนสายน้ำที่พาเราไหลไปเรื่อยๆ ในการอ่านรูปแบบใหม่ ซึ่งมันก็อ่านง่าย เข้าใจง่าย ดีเหมือนกันนะ ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นคำบรรยายหรือบทสนทนา”
ในเมื่อเป็นคนสร้างพื้นที่ให้คนอื่นแต่งนิยายของตัวเองได้ ถ้าให้เขาได้ลองแต่งหนังสือของตัวเองบ้าง มันจะออกมาเป็นเเนวไหนกัน ?
“เราว่ามันคงเป็นการ์ตูนที่ตัวเอกค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนเเรกก็เป็นใครก็ไม่รู้ แต่เขาก็มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง ถึงตอนนั้นก็ยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะเดินทางไปทิศทางไหนดีนะ แต่เขาก็ยังคงทำต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในระหว่างทางก็รวบรวมพรรคพวก ชวนขึ้นเรือ และออกทะเลไปด้วยกัน
“แต่ระหว่างการเดินทางนั้นก็ใช่ว่าจะสะดวกนะ มันก็มีคลื่นลมบ้าง มีกลุ่มก๊วนอื่นมาปะทะเป็นอุปสรรคบ้าง ซึ่งก็ต้องมานั่งขบคิดแก้ไขกัน ถึงเขาจะรู้ว่าการเดินทางออกทะเล มันคงจะเอาความเเน่นอนอะไรไม่ได้หรอก แต่เขาคนนั้นก็ยังมีความเชื่อในจุดหมายที่จะไปให้ถึงฝั่งอยู่นะ แล้วก็ทำใจให้ยืดหยุ่นไว้ว่า…”
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องปรับตัวผ่านมันไปให้ได้”
ติดสมาร์ทโฟนแต่ไม่ติดกรอบความคิด
แน่นอนว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามาอยู่ในรูปแบบ E-Book ซึ่งส่วนใหญ่อ่านในสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต หากมองอีกมุมหนึ่งในภาพจำของผู้ใหญ่บางคน คงเป็นห่วงไลฟ์สไตล์การอ่านของเด็กว่าจะจดจ่ออยู่กับการอ่านการ์ตูนและนิยายในสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา
“ผมว่าเด็กติดมือถือ ถ้าเขาติดในสิ่งที่มีประโยชน์หรือเป็นสิ่งที่ดีต่อเขา ผมมองว่ามันไม่เเย่เลยนะ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ตำราเรียนเพียงอย่างเดียวหรอกนะ มันอาจจะเป็นเเนวคิดหรือบทความอะไรก็ได้ ที่ไม่ถึงกับต้องเรียนเก่งขึ้นเลยทันที แต่มันอาจจะทำให้เขามีความสุข หรือพัฒนาเขาให้ดีขึ้นได้
“หน้าที่ของเราในฐานะคนสร้างคอนเทนต์ในมือถือ ควรจะมีสิ่งที่ดีๆ ให้เขาได้อ่าน หรือมีพื้นที่ให้เขาได้เเสดงความชอบและความคิด ถ้าเขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร หรือมีความรับผิดชอบดูเเลตัวเองได้ ผมว่าแค่อ่านเเล้วมีความสุขก็โอเคเเล้วครับ”
การอ่านไม่มีเเบ่งเเยก
ปัจจุบันแอปฯ meb ดูแลคนอ่านในโลกหนังสือออนไลน์มานานกว่า 9 ปีแล้ว รวมทั้งขยายอาณาจักร ReadAWrite เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ที่รวมคนรักการอ่านตั้งเเต่วัยจิ๋วไปจนถึงวัยเก๋ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมันทำให้เขาเห็นว่า หนังสือไม่ใช่เป็นเพียงเเค่สื่อกลางให้คนอ่านมีความสุข แต่ยังเป็นพื้นที่อิสระทางความคิด ที่ทำให้คนได้เปิดเผยความชอบและความเป็นตัวเอง โดยไม่ปิดกั้นความต่างระหว่างวัย
“สมัยนี้คนอ่านเขาสามารถเลือกสิ่งที่เขาสนใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ คือเขามีอิสระในการคิด และเลือกสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งจะช่วยเปิดกว้างทางความคิดและเกิดการรับฟังกันมากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มันมีข้อจำกัดหลายอย่างในการเเสดงออก แต่สิ่งสำคัญสำหรับเราคือ การสร้างจุดเชื่อมของคนสองวัย ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เขาเกิดมาในยุคอิสระและไม่ถูกครอบงำด้วยข้อจำกัด กับรุ่นผู้ใหญ่ที่ความคิดของเขาเริ่มมีกรอบของตัวเองแล้ว อย่างอายุ การงาน หรือ บทบาทหน้าที่ของตัวเอง
“ซึ่งเราต้องดูเเลคนอ่านสองยุคนี้ให้เชื่อมเข้าหากัน ไม่มีใครอยากแบ่งแยกกลุ่มหรอก ว่าอยากจะอยู่กลุ่มไหน ถึงแอปฯ จะมีคาเเรกเตอร์เเตกต่างกัน เเต่เราก็เชื่อว่ามันยังมีสะพานที่เรียกว่า ‘การอ่าน’ เชื่อมทั้งสองไว้ได้”
หลังจากการคุยกับคุณไช้ เราเห็นเเววตามุ่งมั่นของเขา ที่อยากรักษาโลกของการอ่านให้อยู่กับคนอ่านต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะครั้งหนึ่งเขาก็เคยทำสำนักพิมพ์มาก่อน เเละไม่ยอมแพ้ที่จะลุกมาสร้างโลกของการอ่านขึ้นมาใหม่ ด้วยการทำในสิ่งที่ตัวเองรักและความถนัดจนเกิดเป็น meb ที่ทุกวันนี้เป็นเเพลตฟอร์มหนังสือออนไลน์ ไม่เพียงเเต่สานต่อความเป็นหนังสือเอาไว้ แต่ยังรักษาคนอ่านและสร้างนักเขียนเพื่อต่อลมหายใจหนังสือให้มีชีวิตต่อไปได้อีกครั้ง