Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ - Urban Creature

ในฐานะคนที่เรียนหนังสือแบบท่องจำมาตลอด การได้ฟัง ‘มิรา เวฬุภาค’ ผู้ก่อตั้ง Mappa และทีมเล่าเรื่องราวการเรียนรู้แบบใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยนั้นช่างน่าฉงนสงสัย ในขณะเดียวกันก็น่าตื่นเต้นเหลือเกิน

เราเคยได้ยินเรื่องโรงเรียนทางเลือก โฮมสคูล และแอปฯ ส่งเสริมการเรียนรู้มาบ้าง ทั้งยังเคยฟังเด็กๆ โอดครวญด้วยความห่อเหี่ยวใจเรื่องระบบการศึกษาบ้านเราหลายหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ Pain Point และแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิด Mappa ในวันนี้

หลายคนรู้จักพวกเขาในฐานะสื่อออนไลน์ที่ผลิตคอนเทนต์สนุกๆ บนพื้นฐานความเชื่อว่าความรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ และสร้างได้จากทุกสิ่ง แต่แท้จริงแล้ว Mappa ไม่ใช่แค่สื่อ พวกเขาคือแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาที่อยากผลักดันให้การเรียนรู้ของเด็กไทยไปไกลกว่ากรอบเดิมๆ ผ่านเครื่องมืออันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ บอร์ดเกม สื่อการเรียนรู้ ไปจนถึงคอร์สอบรมมนุษย์ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณครู หรือคนที่มีพื้นที่เรียนรู้

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

ไม่ได้เรียนแค่เรื่องวิชาการจ๋า แต่อยากให้เด็กๆ ได้มีสกิลซึ่งโรงเรียนอาจจะลืมสอนไป เช่น การสร้างความสัมพันธ์ การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม สุนทรียภาพ กระบวนการคิด ฯลฯ

มากกว่านั้น ผู้ก่อตั้งอย่างมิรายังอยากปลุกปั้น ‘Learning Designer’ หรือ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาในอนาคตให้เด็กเจเนอเรชันต่อไปได้มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายกว่าเก่า

เช้านี้ที่น่าฉงนสงสัยและน่าตื่นเต้นเป็นพิเศษ ทีม Mappa เปิดบ้านต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง แล้วเริ่มเล่าสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ในการเดินทางอายุ 3 ขวบปีให้ฟัง

เพิ่มความหลากหลายให้การเรียนรู้

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ความสนใจและแพสชันเรื่องการเรียนรู้ถูกจุดขึ้นในใจของมิราเมื่อสมัยเธอยังทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกที่มีรูปแบบการเรียนการสอนเฉพาะตัว และเชื่อว่าเด็กทุกคนมีวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง

และเธอยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ ทำให้ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนหลายแห่งพร้อมกับครูและนักเรียน เคยทำโปรเจกต์เรื่องการศึกษาของเด็กพิเศษเพื่อสังเกตว่าพวกเขาเรียนรู้ต่างจากเด็กปกติอย่างไร การทำงานเหล่านี้ชวนให้เธอทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

“มนุษย์เรียนรู้ยังไง กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ยังไง นั่นคือคำถามหลักที่เกิดขึ้น”

มิราตกตะกอนว่า มนุษย์ทุกคนมีความหลากหลายเช่นไร รูปแบบการเรียนรู้ก็แปรผันไปแบบนั้น

เมื่อมีลูก หญิงสาวจึงตัดสินใจจัดการศึกษาในครอบครัว (Homeschool) และดีไซน์หลักสูตรเอง มากกว่านั้นคือร่วมสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ เพื่อทำกิจกรรมกับครอบครัวอื่นๆ ที่เลี้ยงลูกแบบโฮมสคูลเหมือนกัน ทั้งหมดนี้ทำให้มิราเห็น Pain Point ที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ในบ้านเรา ทั้งในมิติเชิงปัจเจกและเชิงโครงสร้าง

ในเชิงปัจเจก เธอเห็นว่าองค์ความรู้ที่พูดถึงการพัฒนามนุษย์ (Human Development) ไม่ถูกนำเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาบ้านเราเลย เพราะครูไม่ได้ถูกสอนหรือสังเกตสิ่งเหล่านี้ “ยกตัวอย่างบทเรียนจากรัฐออนแทรีโอ สหรัฐอเมริกา เขาจะสอนเด็กว่า ถ้าเด็กได้เรียนรู้ทักษะฝีมือ (Ability) แล้ว เขาจะพูดว่าอะไร แสดงกิริยายังไง เพื่อให้ครูสังเกตการเรียนรู้ของเด็กได้ ซึ่งมิตินี้มีน้อยมากในไทย”

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

ส่วนในเชิงโครงสร้าง เธอมองว่าปัญหาเรื่องการศึกษาเดิมๆ ที่มีมาแทบทุกปีนั้นแก้ไขได้ยาก อาทิ นักเรียนเรียนรู้แบบท่องจำมากกว่าการได้ทักษะที่สามารถนำไปใช้ชีวิต จริงอยู่ที่มีหลายคนพยายามแก้ไข ยกระดับการศึกษาใหม่ ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว นั่นเพราะมีการดำเนินการที่ล่าช้าของรัฐราชการเป็นคอขวด

มิราผู้เป็นหนึ่งในคนที่พยายามแก้ไขมองว่า ระบบการศึกษาไทยใหญ่เกินกำลังคนตัวเล็กๆ อย่างเธอ แต่เป็นไปได้ไหมที่จะทำระบบนิเวศการเรียนรู้อื่นให้แข็งแรง นั่นคือตอนที่ไอเดียของ Mappa เปล่งประกายขึ้นมา

Mappa แพลตฟอร์มที่ชวนเรียนรู้สกิลซึ่งถูกหลงลืม

สารภาพตามตรง เราเข้าใจผิดมาตลอดว่า Mappa คือสื่อผลิตคอนเทนต์ออนไลน์แห่งหนึ่ง

จริงๆ ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะสื่อออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Mappa ซึ่งอยู่ใต้ร่มของบริษัท Flock Learning ที่ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการศึกษาอีกหลายโปรเจกต์ โดยมีความเชื่อร่วมกันคือ พวกเขาไม่เชื่อในการเรียนรู้แบบ One Solution Fits All

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

ที่เซอร์ไพรส์เรากว่านั้นคือ Mappa ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดสื่อออนไลน์เลย แต่สื่อออนไลน์เกิดขึ้นเพื่อซัปพอร์ตแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของน้องๆ วัย 3 – 8 ขวบ ที่เริ่มจากแอปพลิเคชันในชื่อเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ทีมกำลังปลุกปั้นอย่างแข็งขัน ใกล้เวลาปล่อยให้ทุกคนเปิดใช้เต็มที

มิราเล่าถึงความตั้งใจของแอปฯ Mappa ว่าอยากให้เป็นแอปฯ ที่เปิดให้ใช้ฟรี โดยกลุ่มเป้าหมายหลักๆ คือผู้ปกครองและเด็ก ซึ่งในแอปฯ จะไม่ได้สอนวิชาตามตำราเรียนทั่วไป แต่จะรวบรวม 9 ทักษะทางปัญญา 9 กระบวนการคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้า (Executive Functions) และ 4 เสาหลักการเรียนรู้ ที่อาจถูกลืมในระบบโรงเรียน

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

ตรรกะและคณิตศาสตร์ ดนตรี ธรรมชาติวิทยา ภาษา มิติสัมพันธ์ การเข้าใจตนเอง มนุษยสัมพันธ์ ร่างกายและการเคลื่อนไหว รวมถึงการเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับสิ่งต่างๆ รอบตัว คือ 9 ทักษะแรกที่ว่า

ความสามารถในการจดจำ การยืดหยุ่นความคิด ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง ความใส่ใจจดจ่อ การควบคุมอารมณ์ การสะท้อนประเมินตนเอง การริเริ่มลงมือทำ การวางแผนจัดระบบ และการมุ่งเป้าหมาย คืออีก 9 กระบวนการคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้า (Executive Functions) 

และ 4 เสาหลักสุดท้ายของแอปฯ นี้ คือ การรู้ภาษาและคณิตศาสตร์ การเป็นส่วนหนึ่งและการมีส่วนร่วมในสังคม การแก้ปัญหาและความคิดเชิงนวัตกรรม การจัดการตัวเองและการดูแลสุขภาวะ ทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมและออกแบบเป็นหลักสูตรให้ง่ายที่สุดและพร้อมใช้งานที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่

ที่สนุกคือไม่ได้เป็นการเรียนการสอนแบบท่องจำ แต่เน้นทำกิจกรรมซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่และเด็กได้สวมบทเป็นคู่หูนักผจญภัย ไปเก็บไข่ตามแผนที่ในแอปฯ เพื่อช่วงชิง ‘สปิริต’ (คือตัวละครลับที่ซ่อนอยู่ในดินแดน Mappa) ร่วมกัน

“ในทุกกิจกรรมจะมีการเก็บ Relationship Score เพราะฉะนั้นยิ่งพ่อแม่กับเด็กเข้าแอปฯ บ่อยก็ยิ่งมีความผูกพัน เด็กได้สกิล พ่อแม่ได้ใช้เวลากับลูก” มิราบอก

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

ทำไมการเรียนรู้กับพ่อแม่จึงสำคัญ มันต่างจากการเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ อย่างไร-เราสงสัย

“ต้องเข้าใจก่อนว่า มนุษย์จะเรียนรู้ไม่ได้เลยถ้าไม่มีความสัมพันธ์ นั่นคือเหตุผลที่จริงๆ ตอนเราเป็นเด็กเราจะประเมินตลอดเวลาว่าครูคณิตศาสตร์จะมองเรายังไง ยอมรับเราไหม เขาเห็นเราไม่เก่งหรือเปล่า หรือถ้าเขาดีกับเรา ต่อให้เราเรียนไม่เก่ง เราก็อยากทำวิชานี้ให้ดี” หญิงสาวผู้ริเริ่มโปรเจกต์อธิบาย

“มนุษย์เรียนรู้ผ่านความสัมพันธ์ ซึ่งระบบการศึกษามักมองข้าม แต่พ่อแม่ไม่มองข้ามเรื่องนี้ พ่อแม่มีความสัมพันธ์กับลูกอยู่แล้ว ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็อาจจะเอาความสัมพันธ์มาใช้ให้เกิดการเรียนรู้ไม่เป็นเพราะวิชาชีพของเขาไม่ใช่ครู แอปฯ ของเราจึงช่วยเขาตรงนี้”

นอกจากผู้ปกครองแล้ว ฟีเจอร์ในอนาคตที่แอปฯ อยากมีคือการช่วยเหลือครู เพราะ Pain Point ที่ทีมมองเห็นคือ จำนวนภาระงานและเอกสารที่ครูต้องทำมีเยอะมากจนอาจจะเยอะเกินไป ทำให้ครูไม่สามารถโฟกัสกับการสอนเด็กได้อย่างเต็มที่ แอปฯ Mappa จึงอยากมีฟีเจอร์ที่ช่วยลดจำนวนเอกสารของครู ทำให้การสอนและการส่งต่องานของครูสะดวกมากขึ้น

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

มากกว่านั้น พวกเขายังเปิดช่องว่างให้องค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ที่อยากแก้ไขปัญหาการศึกษาสามารถออกแบบบทเรียนร่วมกัน

“ยกตัวอย่าง ธนาคารมีความรู้เรื่องการเงิน (Financial Literacy) ที่ดี เขาสอนได้ดีกว่าเราแน่นอน หรือแบรนด์อาหารเช้าที่อยากส่งเสริมความรู้เรื่องสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดี ก็สามารถมาดีไซน์บทเรียนเรื่องอาหารการกินได้”

ออกแบบการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ

สิ่งที่เล่ามาด้านบนไม่ใช่การทึกทักเอาเองว่าแอปฯ เพื่อการศึกษาควรเป็นยังไง แต่ทั้งหมดมาจากการออกแบบอย่างเป็นระบบของ Learning Designer หรือนักออกแบบการเรียนรู้ (ขอสารภาพอีกครั้งว่า เราเพิ่งเคยได้ยินว่ามีอาชีพนี้อยู่บนโลกก็วันนี้)

อย่างฟีเจอร์เพื่อคุณครูก็มาจากการขบคิดและออกแบบของ ‘ปลื้มปีติ เหลืองสุวิมล’ นักออกแบบการเรียนรู้หลักของแอปฯ Mappa ซึ่งได้ไปคลุกคลีและใช้ชีวิตกับครูปฐมวัยทั้งวัน

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

เวลาจะออกแบบการเรียนรู้ให้ใคร เราต้องทำความเข้าใจ (Empathize) เขาก่อน “มันคือการ Walk Through Experience ของเขาว่าเจอกับอะไร เพื่อจินตนาการได้ว่าเขารู้สึกยังไง” นั่นคือสเต็ปแรกของปลื้มปีติ

“การ Empathize ทำให้เราเข้าใจผู้ใช้ และทำให้ตั้งโจทย์ได้ด้วยว่าอยากให้ผู้ใช้ของเราเรียนรู้เรื่องอะไร เมื่อโจทย์ชัด เราก็จะย้อนกลับไปดีไซน์ระหว่างทางได้ว่าจะให้เขามาถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยตัวเองได้ยังไง” หญิงสาวบอก ถึงจุดนี้มิราเสริมต่อว่า

“งานของ Learning Designer คือการพาคนจากจุด A ไปจุด B แต่ก่อนจะพาไป B ซึ่งคือเป้าหมาย คนที่ไปต้องรู้ว่า B คืออะไร ที่ตรงนั้นมีความหมายกับเขายังไง อีกเรื่องที่เขาต้องรู้คือ ต้องรู้ว่าตอนนี้เขาอยู่ตรงไหน ซึ่งก็คือรู้ A เรื่องนี้โดยปกติการศึกษาไม่ค่อยทำ เราป้อนความรู้ให้เด็กไปเลยโดยที่เด็กไม่มีโอกาสได้รู้ว่ากำลังจะเอาความรู้นี้ไปสร้างคุณค่ากับตัวเขาเองยังไง แต่นักออกแบบการเรียนรู้ต้องทำ เพราะทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายกับคนเรียนมากขึ้น และเป็นของคนเรียนมากขึ้น”

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

เธอยกตัวอย่างการเรียนเรื่องรูปทรง “วิธีการปกติที่ใช้ในโรงเรียนคือสอนรูปสองมิติก่อนเป็นอันดับแรก เราถูกสอนให้วาดวงกลมก่อนไปปั้นดิน แต่ในมุมมองของเด็ก เด็กปั้นดินได้ก่อนวาดวงกลม เพราะฉะนั้นจริงๆ ถ้าทำให้เด็กเข้าใจเรื่องนี้จากมุมของเด็ก ต้องเรียนสามมิติก่อนสองมิติ อันนี้ก็จะทำให้เด็กบางคนไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ออกแบบจากมุมมองของเด็ก”

“สำหรับเรา การ Walk Through Experience ของคนอื่นเป็นเรื่องยากที่สุด อย่างงานของ Mappa คือต้องพยายามมองผ่านมุมมองของเด็ก ซึ่งที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ในฐานะ Learning Designer เราต้องทำสิ่งนั้นได้ เพราะเราต้องออกแบบการเรียนรู้ให้เขา” ปลื้มปีติสมทบ

คอร์สที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้เรื่องเด็ก (และเรื่องตัวเอง)

นอกจากแพลตฟอร์มอย่าง Mappa แล้ว ทีมนักออกแบบการเรียนรู้ยังมีโรงเรียนเล็กๆ ที่จัดคอร์สอบรมสำหรับผู้ใหญ่ชื่อ SEARCH Academy

“จุดเริ่มต้นคืออยากให้คนเป็นพ่อแม่เข้าใจว่ามนุษย์เรียนรู้ยังไง เพื่อที่พวกเขาจะได้สังเกตว่าลูกเรียนรู้ยังไง” มิราย้อนความ แล้วแจกแจงหัวใจสำคัญของ SEARCH ให้ฟัง

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

“หากถอดฟังก์ชันดู SEARCH สังเคราะห์มาจากบทเรียนเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ S คือ Sensing การสัมผัสรับรู้อารมณ์ความรู้สึก E คือ Empathize การทำความเข้าใจเรื่องบางเรื่องจากมุมมองของคนอื่น A คือ Aspiration การตั้งเป้าให้เด็กรู้สึกเป็นเจ้าของเป้าหมาย R คือ Reconstruct การเปลี่ยนคำตอบเป็นคำถามเพื่อฝึกการคิดของเด็ก C คือ Chance การยืนเคียงข้างใครสักคนในวันที่สุขและทุกข์ H คือ Hearten การรู้ว่าอะไรคือแหล่งพลังงานที่จะเติมพลังกันและกัน”

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม
Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

เวิร์กช็อปของ SEARCH Academy มีทุกเดือน สลับเปลี่ยนหัวข้อไปตามวิทยากรรับเชิญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้ง ‘แหม่ม-วีรพร นิติประภา’ ที่มาสอนเรื่องการ Sensing และความเป็นแม่ หรือ ‘แม่ส้ม-สมพร อมรรัตนเสรีกุล’ ผู้บุกเบิกการทำโฮมสคูลคนแรกๆ ในไทยมาแชร์ประสบการณ์ให้พ่อแม่หลายคนได้ฟัง

ในอนาคต มิราและทีมยังจะมีโปรเจกต์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการสร้างนักออกแบบการเรียนรู้หน้าใหม่ขึ้นมา รวมถึงโปรเจกต์ลับๆ อื่นที่เปิดเผยไม่ได้ จะเป็นอะไรคงต้องรอติดตามกัน

การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ สร้างโดยคนรุ่นใหม่

ไม่ต่างจากเด็กๆ ที่ต้องเติบโตและเรียนรู้ตามวัย ในขวบปีที่ 3 ของ Mappa มิราและทีมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเรียนรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร

“อาจจะฟังดูคลิเช แต่ในออฟฟิศเราจะพูดประโยคนี้กันบ่อยมาก แต่มันจริง” มิรายืนยัน “จริงๆ การเป็น Learning Designer ของเรามันค่อยๆ สะสมมาตามประสบการณ์ชีวิต เราไม่ได้เรียนด้านนี้มา แต่เรียนจากการลงมือทำ มันจึงค่อยๆ เห็นว่าเราไม่รู้อะไร”

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

นั่นไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่มิราได้จากการทำงานในฐานะนักออกแบบการเรียนรู้มาตลอด 3 ปี แต่การอยู่ท่ามกลางคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหาในสังคม ไม่ว่าจะปัญหาด้านการศึกษาและปัญหาอื่น ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเติมไฟฝันให้มิราอยากทำงานต่อไปไม่หยุด

“ภาพที่คิดไว้ตั้งแต่ต้นคือเราอยากเป็นองค์กรที่มีคนรุ่นใหม่มาร่วมแก้ปัญหา สลับสับเปลี่ยนวนเวียนกันเข้ามาเรื่อยๆ เป็นงานของเขา จากความคิดไอเดียของเขา ซึ่งตอนนี้ก็เห็นน้องๆ ทำกันอยู่ เห็นว่าเขามีเสียงที่เขาพูดได้ มีประเด็นที่อยากพูด นี่คือสิ่งที่อยากเห็นมันดำเนินต่อไปเรื่อยๆ” เธอยิ้ม

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม
Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

“ถ้ามองคนรุ่นเราบางคนที่อายุสี่สิบกว่า กลายเป็นคนที่มีช่องว่างระหว่างวัย (Gap) กับเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว แต่เรานี่เพื่อนยังแซวว่ายังทำตัววัยรุ่นอยู่ ไม่ได้ตามเทรนด์ แต่ไม่ได้หลุดเทรนด์ นี่คือสิ่งที่ Mappa ให้เรา อย่างที่สอง เราคิดว่าเวลาที่เราได้แลกเปลี่ยนกัน เราได้รู้ว่าความเห็นน้องๆ ก็ไม่ได้ดีทุกคน และความเห็นเราที่เป็นพี่ก็ไม่ได้ดีทุกอัน แต่ระหว่างนั้นเราจะคุยกันยังไง สร้างความสัมพันธ์กันยังไงต่างหาก สิ่งนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้เข้าใจมนุษย์ เรียนรู้เรื่องปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ได้ลึกมากขึ้น”

“แล้วเป้าหมายในวันนี้ของ Mappa คืออะไร” เราเอ่ยถาม

“สำหรับเป้าหมายองค์กร เราอยากให้น้องๆ คนทำงานมีชีวิตพรีเมียม (หัวเราะ) เราคิดว่าไม่ต้องรอให้องค์กรรวยก่อนด้วยถึงจะให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับคนทำงานได้ เราทำวันนี้เลย” มิราโยงเข้ามายังคำตอบเดิม

Mappa บ้านของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ ที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันดีไซน์การเรียน ชีวิต และสังคมที่ดีกว่าเดิม

“เราอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเรื่องนี้มากขึ้น เพราะคนแก้ปัญหาสังคมหรือคนทำสื่อชีวิตลำบากเหลือเกิน จะรวยตอนไหนก็ไม่รู้ จะชวนมาแก้ปัญหาแต่เงินเดือนหมื่นห้าไปอีกสิบปีมันก็ไม่ใช่ เพราะทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มใหม่ก็ต้องเรียนรู้ใหม่ ซึ่งการเรียนรู้ต้องใช้เงินนะ จะทำงานที่ดีอุปกรณ์ก็ต้องเอื้อ เราเก่งขึ้นได้แต่ต้องมีทรัพยากร (Resource) ด้วย

“ใจจริงเราไม่ได้อยากแก้ปัญหาการศึกษา เพราะเราไม่เชื่อว่ามันจะถูกแก้สำเร็จในรุ่นเรา แต่อยากทำแพลตฟอร์มที่ให้คนรุ่นใหม่สามารถทำงานการศึกษาได้ ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่อยากทำงานใช้ทรัพยากรแล้วทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นหลังๆ เราอยากให้น้องๆ ที่มาทำงานด้านนี้ ทำได้และรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานด้วย” เธอปิดประโยคด้วยรอยยิ้ม

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.