‘Made in Song Wat’ ผู้พัฒนาทรงวาดให้กลับมาคึกคัก - Urban Creature

หากนึกถึงถนนทรงวาดในอดีต เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึงภาพถนนที่เต็มไปด้วยร้านค้าของเหล่าอากงอาม่ากับบรรยากาศเงียบๆ ที่ผสมผสานความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมมากมาย

แต่ด้วยมนตร์เสน่ห์ของถนนทรงวาดที่ต่อให้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน ย่านนี้ก็เป็นที่รักของคนรักเมืองมาเสมอ และปัจจุบันก็กลับมาคึกคักกว่าเดิมและกลายเป็นจุดเช็กอินของเหล่าวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวนับไม่ถ้วน จากการมีธุรกิจใหม่ๆ อย่างร้านอาหาร คาเฟ่ และแกลเลอรีเข้ามาสร้างชีวิตชีวาให้ตัวพื้นที่ โดยที่ยังไม่ทิ้งความน่ารักอบอุ่นของบรรยากาศเก่าๆ ไป

คอลัมน์คนขับเคลื่อนเมืองครั้งนี้ จะพามารู้จักกับ ‘Made in Song Wat’ กลุ่มคนที่ทำให้หัวใจของถนนทรงวาดกลับมาเต้นแรงอีกครั้ง จากการรวบรวมเหล่าผู้ประกอบการมาช่วยกันพัฒนาดีเอ็นเอของทรงวาดให้แข็งแรงขึ้น รวมไปถึงจับมือกันโปรโมตย่านนี้ผ่านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจนดึงดูดให้คนนอกอยากเข้าไปสัมผัสย่านนี้สักครั้ง

รวมตัวผู้ประกอบการและโปรโมตย่าน

‘ทรงวาด’ คือหนึ่งย่านเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมทางเชื้อชาติอันหลากหลายที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ แม้ในมุมของคนนอกอย่างเรานั้นอาจจะมีภาพจำว่าย่านนี้เป็นย่านแห่งการค้าขาย แต่ความจริงแล้วทรงวาดยังมีเสน่ห์อื่นๆ ซุกซ่อนอยู่อีกมากมายที่รอให้หลายคนเข้าไปค้นหา

Made in Song Wat

ด้วยกลิ่นอายของความเก่าแก่และความน่าสนใจของย่านนี้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนที่ทั้งเกิด เติบโต หรือตั้งถิ่นฐานในย่านนี้มานานอยากตอบแทนทรงวาดด้วยการพัฒนาพื้นที่ที่พวกเขารักให้ดีขึ้น

ผู้ประกอบการเหล่านั้นรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม ‘Made in Song Wat’ ในปี 2565 โดยมี ‘อุ๊ย-เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ’ นายกสมาคมผู้เป็นคนแรกที่ริเริ่มเชิญชวนคนอื่นๆ ได้แก่ ‘เอ๋-พัชรินทร์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ’, ‘ป็อก-สุขสันต์ เอื้ออารีชน’, ‘อิน-อินทุกานต์ คชเสนี สิริสันต์’ และ ‘อาร์ท-อรองค์ ประสานพานิช’ ร่วมกับสมาชิกผู้ก่อตั้งในปีแรก ทั้ง บุญปิติ สุนทรญาณกิจ และ พิชญา อุทารธรรม จากร้าน Potong, ศิริวรรณ ธรณนิธิกุล จากร้าน อีกา, วิภาวี กิตติเธียร จาก Luk Hostel, ปุญพิชชา เตชคุณวุฒิ จาก Urby Hostel, Myriam Rueda จากร้าน Mesa312, มนรดา บูรณะเศรษฐกุล จากร้าน Woodbrook, พัชรกันย์ โรจน์วัชราภิบาล จากร้าน FV, สุวรรณี เจริญเลิศทวี จากร้าน เจริญเลิศทวี และร้านอื่นๆ ในย่านที่มาลงมือพัฒนาย่านนี้ด้วยกัน 

Made in Song Wat

เกียรติวัฒน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มว่า เขาเองคุ้นเคยกับย่านทรงวาดดีอยู่แล้วเพราะเกิดและโตที่นี่ รวมถึงมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทำให้ได้เห็นภาพรวมในช่วงหลังโควิด-19 ที่ทุกคนต้องเผชิญกับความยากลำบาก กระทั่งหลายร้านไม่ได้ไปต่อ ทำให้เขาตัดสินใจลงมือรวบรวมสมาชิกกลุ่ม ซึ่งในปีแรกนั้นมีสมาชิกที่เข้าร่วมเพียงแค่สิบกว่าร้านเท่านั้น จนในปัจจุบันนี้ Made in Song Wat มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 60 ร้านแล้ว

“จุดประสงค์ของเราคือ อยากรวบรวมผู้ประกอบการทางธุรกิจและต้องการโปรโมตย่านทรงวาดให้เป็นที่รู้จักในเชิงท่องเที่ยวและวัฒนธรรมด้วย เพราะที่นี่มีตึกเก่าและศาสนสถานที่น่าสนใจ เสน่ห์อีกอย่างคือการมีธุรกิจรุ่นใหม่และรุ่นเก่ามาคละกัน ทำให้มีความรู้สึกที่ไม่เหมือนที่อื่น” ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Made in Song Wat ย้อนความให้เราฟัง

ขับเคลื่อนเพื่อมอบความสุขให้ทรงวาด

“เราไม่ต้องการเป็น ‘ใหม่’ ที่มาลบ ‘เก่า’ ออกไป แต่เราต้องการเป็นใหม่ที่มากลมกลืนกับธุรกิจเก่า เราไม่เคยมองว่าความเก่าหรือความแก่คือเอาต์” เกียรติวัฒน์เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจของกลุ่ม Made in Song Wat เมื่อเราถามถึงแนวคิดของการทำงาน

เป้าหมายหลักของพวกเขาคือการทำให้ย่านนี้มีความป็อปมากขึ้นด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวของทรงวาด ซึ่งใช้หลักการ ‘Old Meets New’ เหมือนในประเทศญี่ปุ่นที่นำธุรกิจใหม่มาคละกับธุรกิจเก่าแก่ในย่าน จนเกิดเป็นจุดแข็งที่ทำให้ทรงวาดไม่เหมือนกับที่อื่น

Made in Song Wat
Made in Song Wat

พวกเขาเล่าว่า ทุกคนในกลุ่มมีความสุขกับการอาศัยอยู่ในทรงวาด และอยากตอบแทนย่านด้วยการพัฒนาที่นี่ให้มีเสน่ห์ขึ้น ซึ่งสมาชิกในกลุ่มต่างรวมตัวกันได้จากการเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนี้และมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ อยากทำให้บ้านของพวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น

“สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเมืองคือ การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และต่างคนต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายกันอย่างเต็มที่ อีกอย่างคือในกลุ่มอุปนายกของทีม Made in Song Wat จะมีการประชุมไอเดียกันอยู่เสมอ และคอยอัปเดตกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้งานเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ของการทำงาน” พัชรินทร์เสริมถึงหลักสำคัญของทีมในการสร้างทรงวาดให้เติบโตขึ้น

สร้างกิจกรรม ต่อยอดให้ย่าน

นอกเหนือจากการเป็นตัวกลางรวบรวมผู้ประกอบการเพื่อทำให้ย่านแข็งแรงขึ้นแล้ว Made in Song Wat ยังมีโปรเจกต์อื่นๆ ที่เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยโปรโมตย่านให้ไปถึงคนภายนอก รวมถึงเป็นการดึงดูดและเชิญชวนให้คนต่างย่านได้ลองมาสัมผัสชีวิตในชุมชนนี้

เพราะก่อนจะมีกลุ่ม Made in Song Wat ที่นี่เคยมีอีเวนต์ Play Around ที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินนำผลงานมาจัดแสดงที่แกลเลอรี โดยด้านหน้ามีการนำอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมที่เป็นของดีจากร้านเก่าแก่ในย่านมาเปิดบูทขายด้วย

ถึงแม้ว่างานนี้จะจัดขึ้นเพียง 2 วันเท่านั้น แต่กลับมีคนสนใจและชื่นชอบกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นไอเดียรวบรวมร้านรวงในทรงวาด เพื่อมาเป็นสมาชิกร่วมกับทีม Made in Song Wat ในการสร้างย่านนี้ให้แข็งแรงขึ้น

Made in Song Wat

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างในการผลักดันทรงวาดเห็นจะเป็น ‘Song Wat Guidebook’ ที่ผู้ประกอบการรวมตัวกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแนะนำสถานที่ต่างๆ ภายในย่าน ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ที่เที่ยว หรือแม้แต่ที่พัก

“ตอนแรกทุกอย่างอยู่กันอย่างกระจัดกระจายใช่ไหม พอคนเข้ามาเที่ยวก็ไม่รู้จะต้องเดินไปตรงไหน ไปอย่างไร เราก็เลยทำเป็นแผนที่ขึ้นมา โดยนำร้านที่ร่วมอยู่ใน Made in Song Wat เข้ามาใส่ในแผนที่ เพื่อให้คนเดินหากันง่ายขึ้น” อรองค์เล่าถึงที่มาของไกด์บุ๊กเล่มนี้

นอกจากนี้ยังมีอีเวนต์อีกมากมายที่ทางทีม Made in Song Wat ร่วมกับองค์กรภายนอก เช่น การคอลแลบกับภาพยนตร์ ‘แมนสรวง’ ที่ช่วยโปรโมตทั้งย่านและความเป็นไทยออกไปสู่กลุ่มแฟนคลับของภาพยนตร์เรื่องนี้ การจัดงานวิ่งร่วมกับ Nike ช่วงอีเวนต์ใหญ่ของย่านอย่าง ‘Song Wat Week’ หรือการดึงคาแรกเตอร์ ‘BOB The Nice Guy’ มาคอลแลบกับร้านต่างๆ ในย่าน สร้างสีสันช่วงวันคริสต์มาสปีที่แล้ว

Made in Song Wat
Made in Song Wat

เมื่อย่านเก่าแก่มาพร้อมความสร้างสรรค์ที่ดึงความทันสมัยและป็อปคัลเจอร์เข้ามารวมไว้ด้วยกัน โดยไม่ได้ทอดทิ้งความเก่าแก่ไป ส่งผลให้ทรงวาดกลายเป็นอีกหนึ่งย่านสำคัญที่มีไวบ์เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาใช้เวลาอย่างไม่เร่งรีบ

สร้างย่านให้กลายเป็น ‘ย่านที่ดี’

เมื่อเราถามกลุ่มขับเคลื่อนเมืองแห่งย่านทรงวาดถึงความหมายของนิยามย่านที่ดี อินทุกานต์ก็แย้มยิ้มก่อนตอบ “ย่านที่ดีคือการรวมตัวกัน ทั้งคนที่อยู่มาก่อนและคนใหม่ๆ เพราะถนนตรงนี้มีชาวบ้านดั้งเดิม เมื่อเมืองเจริญขึ้น ถนนเจริญขึ้น มันก็เป็นไปตามกระแส มีร้านตรงนู้นตรงนี้ผุดขึ้นมา การที่ชุมชนจะอยู่ดีได้ต้องประสานงานระหว่างคนเก่าคนใหม่ในพื้นที่แห่งนี้ให้กลมเกลียวและอยู่กันด้วยความสุข มีความเอื้อเฟื้อ”

Made in Song Wat

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของย่าน จึงเป็นคนที่อยู่อาศัยหรือเข้ามาทำงานในชุมชน เมื่อ Made in Song Wat ได้ดึงกลุ่มร้านรวงต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่แล้ว ย่อมต้องไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ไอเดียการยกระดับย่านเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการช่วยเหลือแบ่งปันและคอยถามไถ่แสดงความเป็นห่วงกันและกันอีกด้วย

อรองค์เสริมว่า การจะสร้างย่านนั้นต้องมีเจตนาที่จะสร้างย่านจริงๆ เห็นผลประโยชน์ของย่านเป็นหลักมากกว่าส่วนตัว เพราะหากทุกคนมองไปถึงจุดประสงค์เดียวกัน การสร้างย่านก็จะเป็นไปได้ด้วยดี และย่านที่ดีในแบบฉบับของแต่ละคนก็จะเกิดขึ้นตามมา

Made in Song Wat

เช่นเดียวกับสุขสันต์ ที่ฝากถึงคนที่มีความคิดอยากริเริ่มพัฒนาย่านว่า การสร้างย่านที่ดีเป็นสิ่งที่ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะบริบทของแต่ละย่านแตกต่างกันออกไป รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างก็ต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของคนในย่านและคำนึงถึงส่วนรวมเป็นหัวใจหลัก

จริงอยู่ที่การมีอยู่และการทำงานของกลุ่ม Made in Song Wat นั้นทำให้ชาวบ้านหลายคนกลับมาเปิดบ้านเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ เพื่อสร้างรายได้ให้ตนเอง แถมสร้างรอยยิ้มให้คนในชุมชน มีคนมาเดินเที่ยวเยอะขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลของการร่วมมือร่วมใจของคนในย่านที่สนับสนุน ยอมรับ และเดินหน้าพัฒนาไปด้วยกัน จนทำให้เมื่อปีที่แล้ว ทรงวาดกลายเป็นหนึ่งใน 40 ย่านสุดเจ๋งที่ได้รับการจัดอันดับจากสื่อระดับโลก ส่งผลให้ผู้คนยิ่งอยากเข้ามาลองสัมผัสความเป็นทรงวาดที่หาจากย่านไหนไม่ได้

ไปทรงวาด อย่าพลาด Hidden Gems

ทรงวาดมีร้านอาหารและร้านขนมมากมายตลอดทั้งเส้น แต่เราขอแนะนำว่าหลังจากเดินเล่นร้อนๆ ให้ลองแวะไปที่ ‘หนูรี่ เกาลัดหิมะ-สูตรเย็นและไอศกรีม’ ร้านไอศกรีมโบราณในตรอกสะพานญวน ที่เปิดขายมานานกว่า 50 ปี

Made in Song Wat

เหตุผลที่อยากให้แวะไปเพราะก่อนหน้านี้ร้านทำกิจการเกาลัดอยู่แล้ว ก็เลยปิ๊งไอเดียนำเศษของเกาลัดที่เหลือไปแช่เย็นให้แข็งเหมือนถั่วลิสงแล้วโรยด้านบนไอศกรีม ซึ่งรสชาติที่ได้ก็จะแตกต่างจากเกาลัดที่นำไปอบหรือคั่วร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟกับท็อปปิงที่หลากหลาย หากกินพร้อมไอศกรีมจะได้เนื้อสัมผัสหอมกลิ่นเกาลัด รับรองว่าถ้าได้ชิมสักคำไม่ผิดหวังแน่นอนหนูรี่ เกาลัดหิมะ-สูตรเย็นและไอศกรีม เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ส่วนวันอาทิตย์เปิดเวลา 08.00 – 12.00 น. แผนที่ : maps.app.goo.gl/9md55hhf7EyLoiHQ7

_______________________________________

‘คนขับเคลื่อนเมือง’ คือซีรีส์บทสัมภาษณ์จาก Urban Creature ที่จะพาทุกคนไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของเมือง กับกลุ่มคนที่รวมตัวกันลุกขึ้นมาพัฒนาย่านของตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าใครก็ทำให้เมืองดีขึ้นได้ โดยอาจจะเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ อย่างในละแวกที่อยู่อาศัยของเราก่อน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.