ทุกวันนี้เทรนด์รักษ์โลกไม่ได้อยู่แค่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่เราสามารถเลือกชีวิตหลังความตายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน เราจึงได้เห็นการพัฒนาทางเลือกใหม่ๆ ในการฝังศพเกิดขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะการฝังศพให้กลายเป็นปุ๋ยที่ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว และก็ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่มีหลายองค์กรทั่วโลกที่ออกมาขับเคลื่อนทางเลือกนี้ให้ทำได้จริง สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนา และทำให้ผู้คนเปิดรับกันมากขึ้น
Living Cocoon คืออีกหนึ่งทางเลือกในการฝังศพที่ลดทั้งการใช้พื้นที่และเวลา เป็น ‘โลงศพมีชีวิต’ ชิ้นแรกของโลกที่ย่อยสลายตัวเองได้ภายใน 30 – 45 วัน จากการทดลองในเนเธอร์แลนด์ (ระยะเวลาย่อยสลายขึ้นอยู่กับดิน น้ำ และสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่)
เหตุผลที่เรียกว่า ‘โลงศพมีชีวิต’ เป็นเพราะว่าวัสดุที่ใช้ในการทำโลงทำมาจาก ‘ไมซีเลียม (Mycelium)’ หรือ ‘เส้นใยเห็ดรา’ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดลูป (Loop) หรือวัฏจักรการย่อยสลาย ตัวโลงจะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่ในการฝังกลบ ช่วยย่อยศพให้กลายเป็นปุ๋ยและกลับคืนสู่ธรรมชาติได้เร็วขึ้น และยังมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นรอบๆ หลุมฝังศพอีกด้วย
Living Cocoon ผลิตโดย Loop Biotech บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่หาทางออกให้กับวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คิดค้นและออกแบบโดยบ็อบ เฮนดริกซ์ (Bob Hendrikx) ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง นักออกแบบ และสถาปนิก ที่สนใจและเชี่ยวชาญในนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
เฮนดริกซ์ กล่าวว่า “การคิดค้นผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ใช้เวลานานมาก เพราะมันเป็นแนวทางใหม่ที่เราต้องทำงานร่วมกับสิ่งมีชีวิต (ไมซีเลียม) ไม่เหมือนกับการใช้วัสดุอื่นๆ ที่เคยทำมา พวกเรามองธรรมชาติเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้พบว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดสัมพันธ์กัน ทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังสามารถขยายพันธุ์ และรักษาตัวเองให้ฟื้นคืนชีพได้”
การทดลองและมองหาวัสดุจากธรรมชาติ ทำให้เฮนดริกซ์ได้พบกับไมซีเลียม ซึ่งเปรียบเสมือนผู้รีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในธรรมชาติ และยังเป็นวัสดุที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพราะไมซีเลียมเป็นวัสดุที่กำลังมาแรง ถูกขนานนามว่าเป็นวัสดุสีเขียวที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต ปัจจุบันไมซีเลียมถูกนำมาใช้ในหลายวงการ เช่น ก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ แฟชั่น ความงาม อาหาร ไปจนถึงการแพทย์
ไมซีเลียมเป็นเส้นใยเห็ดราที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติ และนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อกันว่าเส้นใยเล็กๆ เหล่านี้คือเครือข่ายเล็กๆ ที่เชื่อมการสื่อสารและแลกเปลี่ยนทรัพยากรของต้นไม้ (Wood Wide Web)
เฮนดริกซ์ บอกว่า ไมซีเลียมสามารถย่อยสลายสารหลากหลายชนิดและชำระล้างสิ่งปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงสารพิษ เช่น โลหะหนัก สีย้อมสิ่งทอ เภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืช ซึ่งหมายความว่าโลงศพจากไมซีเลียมจะสามารถช่วยย่อยสลายศพได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงย่อยสลายทรัพย์สินและสิ่งของหลายชนิดที่ครอบครัวใส่ลงไปในโลงศพด้วย เมื่อย่อยสลายแล้วยังมีประโยชน์ต่อดินและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย
Living Cocoon เปิดตัวครั้งแรกต้นปี 2021 และได้พิสูจน์แล้วว่านี่ไม่ใช่แค่ไอเดียล้ำๆ แต่เป็นทางเลือกใหม่ที่ทำได้จริงและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อโลงศพจากในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเบลเยียม ซึ่งบริษัทมีแผนจะผลิตเพิ่มอีก 100 ใบในอีก 3 – 6 เดือนข้างหน้า และขยายพื้นที่โรงงานให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย ซึ่งวิธีสั่งซื้อโลงศพในยุคนี้ก็ไม่ยากเลย เพียงเข้าไปกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ก็รอรับได้ที่บ้าน
ปัจจุบันต้นทุนของโลงศพ Living Cocoon อยู่ที่ประมาณ 1,600 ดอลลาร์ หรือราวๆ 54,000 บาท เฮนดริกซ์คาดว่าในอนาคตอาจจะราคาลดลงเมื่อเขาผลิตได้มากขึ้น และมีการปลูกไมซีเลียมได้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว รวมถึงในอนาคตอาจจะมีการผลิตโลงศพรูปทรงต่างๆ เพิ่มขึ้น ออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมงานศพให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ผ้าห่อศพ โกศ และมีแผนจะทำโลงศพสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย เพราะสามารถฝังไว้ในสวนหลังบ้านได้เลย
Sources :
Loop | www.loop-of-life.com
Treehugger | t.ly/KTzWQ