ถือเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับหนุ่มสาวขี้เหงา เมื่อ ‘องค์การอนามัยโลก’ (WHO) ประกาศยกให้ ‘ความเหงา’ เป็นปัญหาน่ากังวลด้านสาธารณสุขของโลก
ก่อนหน้านี้ความเหงามักถูกมองเป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ WHO หันมาให้ความสนใจภัยเหงามากขึ้น และตัดสินใจตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศให้จัดการกับความเหงาในฐานะภัยคุกคามด้านสุขภาพ
เนื่องจากภาวะล็อกดาวน์ที่ทำให้เกิดการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ระดับความเหงาของมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการวิจัยพบว่า การอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลานานเป็นอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน จนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมีความเสี่ยงร้ายแรงเทียบเท่าผู้ที่มีโรคอ้วนและผู้ที่ออกกำลังกายน้อย
Murthy ศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 จากทั้งหมดทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความเหงา และความเหงาเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมที่อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบในเวลาต่อมาได้มากขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์
และไม่เพียงแค่ผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับความเหงาเท่านั้น แต่มีวัยรุ่นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ที่กำลังประสบกับภาวะนี้ และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตเช่นกัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจเกิดภาวะเครียดจนมีแนวโน้มที่จะไม่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา นำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการว่างงานในอนาคต
พูดได้ว่า ความเหงาอาจเป็นภัยที่กำลังคุกคามสุขภาพและสังคมอย่างเงียบๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รัฐควรเริ่มมองหาวิธีรับมืออย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ความเหงาจะลุกลามเป็นวงกว้างในสังคม
Sources :
Global News | t.ly/1OmGg
People | t.ly/O4NXz
The Guardian | t.ly/aRzY4