‘Locall’ เดลิเวอรี่ช่วยชุมชน ส่งความอร่อยย่านประตูผี-เสาชิงช้าถึงมือคุณ - Urban Creature

คุณรู้สึกอย่างไร…ถ้าเห็นร้านค้าบ้านใกล้เรือนเคียง
ต้องถูกปิดตัว เพราะไม่มีรายได้?

คงเป็นเวลาที่ใครๆ ต่างต้องปรับตัว เพื่อหาทางอยู่รอดในสถานการณ์ไวรัสระบาดที่ไร้วี่แววจะคลี่คลายเร็ววัน โดยเฉพาะ ‘ร้านอาหาร’ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนต้องบริโภคอยู่เป็นประจำ กลับซบเซาไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ เลย บ้างก็ยอมลดจำนวนพนักงาน บ้างก็เปลี่ยนจากการ ‘ขายหน้าร้าน’ มาเป็น ‘ออนไลน์’ แทน แต่ไม่ใช่กับทุกคนที่จะปรับตัวเป็นระบบออนไลน์ มาพร้อมจัดส่งได้ทันที ทำให้ ‘Locall (โล-คอล)’ แพลตฟอร์มส่งอาหารได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่ออาสาเป็น ‘ตัวกลาง’ ระหว่างลูกค้า และชุมชนประตูผี-เสาชิงช้า ที่กำลังประสบปัญหาให้ ‘อยู่รอด’ ต่อไปได้

| จาก ‘Once Again Hostel’ สู่ ‘Locall’

Photo : amazingthaitour.com

หลังจากนักท่องเที่ยวหดหายและผู้คนเริ่มกักตัวอยู่บ้าน บรรยากาศของย่านประตูผี-เสาชิงช้า กลับดูเงียบเหงาและผู้คนบางตาลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ ‘Once Again Hostel’ โฮสเทลขนาดกลางจากซอยสำราญราษฎร์ต้องปิดตัวลงชั่วคราว และมองหาธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยพยุงกลุ่มคน 3 กลุ่ม ให้ผ่านพ้นวิกฤตตามคอนเซปต์ของโฮสเทล คือ พัฒนาธุรกิจกับย่านควบคู่ไปด้วยกัน

โดยกลุ่มแรก คือ Once Again Hostel กลุ่มที่สอง คือ ร้านค้า หรือร้านอาหารในชุมชน และกลุ่มที่สาม คือ คนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ หรือตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อประคับประคองให้ทั้งสามกลุ่มนี้ มีอาชีพและรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองต่อไป ซึ่งมี ‘คุณเพียงพลอย จิตรปิยธรรม’ ผู้ก่อตั้งร่วม พร้อมกับทีมอีก 4 คน เข้ามาดูแลโปรเจกต์นี้

Photo : รูปทีมงาน Locall

และอย่างที่เรารู้กันดีว่าย่านเก่าพระนคร เป็นละแวกเมืองเก่าที่มีร้านรวงขายอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคุณลุงคุณป้า ทำให้บางร้านค้าไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างการจัดส่งเดลิเวอรี่ออนไลน์ และอาจมองว่ายุ่งยากบ้าง ทำไม่เป็นบ้าง ทีมจึงอาสาเข้ามาเป็นลูกหลานที่ดูแลเรื่องนี้ให้

ซึ่งการดึงกลุ่มชุมชนมาเข้าร่วมโปรเจกต์นั้น เกิดจากความร่วมมือของ ‘Trawell’ และ ‘Once Again Hostel’ ที่ทำงานร่วมกับชุมชนประตูผี-เสาชิงช้า มานานกว่า 5 ปี ดังนั้นการติดต่อจึงไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถเปิดธุรกิจนี้ขึ้นมาช่วยเหลือชุมชนได้อย่างรวดเร็ว

| โทรฯ สั่งจาก ‘ชุมชน’ ถึง ‘ครัวเรือน’

คุณพลอยเล่าให้ฟังว่า อยากทำให้ทุกอย่างในแพลตฟอร์มนี้มันง่ายคล้ายกับการยกหูโทรฯ สั่งอาหารเพียงกริ๊งเดียว จึงใช้คำว่า ‘Call’ แปลว่า การโทรฯ เอามาผนวกกับ ‘Local’ ที่แปลว่า ชุมชน รวมกันออกมาเป็น ‘Locall (โล-คอล)’ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เวลาระดมความคิดไม่ถึง 2 นาที แต่บ่งบอกตัวตนของธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี โดยมีสโลแกนยึดถือว่า ‘เราตั้งใจจะส่งทุกอย่างจากทั้งย่าน ถึงบ้านคุณ’

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เพราะเกิดในช่วงวิกฤต พลอยและทีมมีเวลาเตรียมตัวแค่ 7 วัน ก่อนปล่อยแพลตฟอร์มนี้
สู่สาธารณะ รวมเวลาตอนนี้ก็เข้าสู่วันที่ 17 แล้ว”

| การเดินทางของอาหาร – โฮสเทล ร้านอาหาร คนส่ง ลูกค้า

ปัจจุบันมีร้านค้าจากประตูผี-เสาชิงช้า ทั้งหมด 20 ร้าน รวมกว่า 300 เมนู และมีการขยายพื้นที่จัดส่งไปอีก 16 พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบางพลัด สาทร ปทุมวัน หรือราชเทวี โดยมีการกำหนดขั้นต่ำ 300 บาทต่อการซื้อ 1 ครั้ง แต่ลูกค้าสามารถคละร้านได้ตามใจชอบ หรือจะเลือกซื้อจากร้านเดียวครบ 300 บาทก็ได้

ซึ่งวิธีการทำงานของแพลตฟอร์มส่งอาหารโลคอล เริ่มต้นที่โฮสเทลเป็นคนทำหน้าที่ประสานงานให้ทุกฝ่าย เมื่อมีออเดอร์จากลูกค้า ทางโฮสเทลจะโทรฯ สั่งอาหารจากร้านค้าในชุมชน และจัดการคนส่งอาหารให้ไปตามจุดต่างๆ รวมถึงดูแลระบบออนไลน์หลังบ้านทั้งหมดด้วย

Photo : Locall.BKK

ถัดมาคือกลุ่มร้านค้าที่ทำอาหารตามออเดอร์ที่เข้ามา จากนั้นจะเอามาส่งให้กับทางโฮสเทล หรือแจ้งทางโฮสเทลให้เข้าไปรับสินค้าก็ได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ คนส่งอาหาร ส่วนมากจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับผลกระทบในย่านนั้นๆ เป็นคนรับสินค้าแล้วส่งต่อให้ถึงมือลูกค้านั่นเอง

| ชุมชนได้ประโยชน์ คือสิ่งสำคัญที่สุด

“เพราะค่าคอมมิชชันที่สูง ทำให้กลุ่มร้านค้าท้องถิ่นจ่ายไม่ไหว”

นอกเหนือจากการทำงานร่วมกับชุมชนมาหลายครั้งหลายคราเสมือนครอบครัว การที่ชุมชนหันมาใช้แพลตฟอร์มโลคอลจะได้ผลตอบแทนที่เต็มหน่วย และเข้าถึงลูกค้าผ่านเดลิเวอรี่ออนไลน์ได้อย่างว่องไว ซึ่งแตกต่างจากเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่บางเจ้าที่มีค่าคอมมิชชันต้องจ่ายมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับเงื่อนไขขั้นต่ำของการสั่งออเดอร์ ยิ่งฟังยิ่งดูยุ่งยากเกินกว่าจะทำไหว จึงทำให้ร้านค้าเห็นว่าขายหน้าร้านดังเดิมจะดีเสียกว่า

Photo : Locall.BKK 

ซึ่งคุณพลอยบอกกับเราว่า เมื่อโลคอลมาคำนวณต้นทุนแล้ว เข้าใจว่ามันมีราคาที่ต้องจ่าย แต่จะทำอย่างไรให้ร้านค้าจ่ายค่าคอมมิชชันที่ไม่แพงจนเกินไป แถมยังช่วยให้พวกเขามีรายได้ต่อไปด้วย เพราะถ้าเกิดคิดราคาที่แพงเกินไปร้านค้าก็สู้ไม่ไหว รวมถึงลูกค้าก็ไม่อยากอุดหนุน จึงเป็นสาเหตุของการสั่งซื้อขั้นต่ำราคา 300 บาทขึ้นไป โดยไม่จำกัดร้านค้า ไม่จำกัดประเภทของอาหาร สั่งกี่เมนูก็ได้ไม่ว่ากัน ส่งผลให้ต้นทุนต่อการสั่งหนึ่งครั้งลดลง และสามารถคิดค่าคอมมิชชันที่ 15 เปอร์เซ็นต์ได้ ส่วนวินมอเตอร์ไซค์จะได้ขั้นต่ำวันละ 350 บาท แถมข้าวกลางวันให้อิ่มท้องอีก 1 มื้อ

“ถ้าจำกัดให้ลูกค้าซื้อร้านเดียว มันเป็นไปไม่ได้ มันยิ่งทำให้ร้านค้าในชุมชนเสียเปรียบ ลองคิดดูว่าถ้าอยู่คนเดียวเราคงไม่สั่งข้าวแกง 6 – 7 ห่อ ดังนั้นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า
จะทำให้มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนเพิ่มขึ้น แถมลูกค้าก็ได้กินอาหารที่หลากหลายขึ้นด้วย”

| สิ่งที่วัดความสำเร็จของโลคอล

แม้จะเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารเล็กๆ ที่เปิดตัวมาได้ไม่ถึง 3 สัปดาห์ แต่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่วแน่มาเสมอ โดยเฉพาะการเห็นร้านค้าในชุมชนไม่ถูกปิดตัวลง และคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ หรือคนส่งของ มีงาน มีรายได้ไปจุนเจือครอบครัวต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น 

Photo : Locall.BKK

อีกกลุ่มที่วัดความสำเร็จได้ คือ ลูกค้า ซึ่งหลังเปิดตัวได้ 10 วัน จากวันแรกถึงวันนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นวันละ 3 เท่าตัว นอกเหนือจากเรื่องรายได้ นับว่าเป็นสิ่งที่การันตีว่าคนอยากหันมาสนับสนุนชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชุมชนมีเงินไปเลี้ยงปากท้องในยามวิกฤต และที่สำคัญคือการเห็นลูกค้ากลับมาสั่งอาหารกับร้านค้าในชุมชนอีกครั้ง เป็นการทำให้ร้านท้องถิ่นได้พิสูจน์ตัวเองว่าอาหารที่เขาใส่ใจทำลงไปทุกขั้นตอนมีคุณค่า และการกินของลูกค้าได้ช่วยเหลือใครบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งชี้วัดว่าโลคอลกำลังมาถูกทาง

Photo : Locall.BKK

“พลอยไม่ต้องการเห็นลูกค้าซื้อเพราะสงสารคุณลุงคุณป้า แต่อยากให้ซื้อเพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ
ว่ามันอร่อยจริง มีคุณภาพจริง ซึ่งมันดีต่อร้านค้าในระยะยาวด้วย”

ถึงแม้จะเปิดมาได้ไม่นาน แต่เริ่มเห็นผลกับบางร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านศิริซาลาเปาที่ลูกค้าถดถอย มีเพียงขาประจำที่เข้ามาสั่ง ซึ่งการเข้าร่วมกับโลคอลทำให้มีรายได้ดีขึ้นกว่าก่อน เพราะได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น 

หรือร้าน 24/9 ที่ตอนเจอวิกฤตโควิด-19 ช่วงแรก ทำให้ร้านค้าเงียบไป ไม่มีลูกค้าเข้ามา ไม่ว่าจะขายอย่างไรก็ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป ซึ่งการมีช่องทางของโลคอลมาช่วยรับออเดอร์ ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากปกติหยุดวันอาทิตย์ ตอนนี้มาเปิดเต็ม 7 วัน เป็นที่เรียบร้อย

เมื่อเราถามทีมงานโลคอลว่า หลังจากหมดสถานการณ์โควิด-19 จะปิดตัวแพลตฟอร์มไหม ซึ่งทางคุณพลอยพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ถ้ายังพอมีประโยชน์กับใครอยู่บ้าง ทีมงานพร้อมที่จะเปิดต่อไป หรือถ้ามีคนที่ทำได้ดีกว่ามากๆ ก็ยินดีที่จะให้เขานำไปทำต่อ โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ที่สามารถใช้โมเดลนี้ทำร่วมกับชุมชนได้ง่ายกว่าโลคอลมาก แต่ถ้าทำไปแล้ว มันเป็นการเอาเปรียบชุมชน แน่นอนว่าทีมงานคงใช้เวลาน้อยกว่า 7 วัน เพื่อกลับมาเปิดช่วยเหลือชุมชนอีกครั้ง

นอกจากย่านประตูผี-เสาชิงช้าแล้ว ทางโลคอลแอบกระซิบมาว่าภายในสิ้นเดือนเมษายน จะมีร้านอาหารเพิ่มขึ้นอีก 3 ย่าน คือ นางลิ้นจี่ เยาวราช และตลาดพลู รวมทั้งหมดเป็น 4 ย่าน และหลังจากนั้นจะพยายามกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นอดใจรอกันอีกไม่นาน


เลือกสั่งอาหารได้ที่ Line : @Locall.BKK
เปิดทุกวัน | เวลา 10.00 – 19.00 น. 
ดูรายละเอียดได้ที่ Facebook : Locall.bkk หรือเบอร์โทร 09-2620-5445

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.