วัยเกษียณไม่มีจริงของ ‘ผู้สูงวัย’ ในเมืองแรงงาน - Urban Creature

ในวันหยุดแสนสบาย อากาศแจ่มใส เมฆหนาลอยเกลื่อนอยู่บนฟ้า เราพาตัวเองออกเดินไปในเมืองตามย่านต่างๆ เพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของผู้คน และได้พบว่า ‘กรุงเทพฯ’ นั้นมีผู้คนมากหน้าหลายตาพลัดถิ่นเข้ามาใช้ชีวิตและทำงาน ไม่ใช่แค่วัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังแรงหลัก ทว่าผู้สูงวัยในเมืองนี้ก็ยังคงต้องทำงานเช่นกัน

เราแวะทักทายคุณลุงคุณป้าที่เดินสวนกัน บางคนกำลังเข็นรถขายของ บางคนกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการงานตรงหน้า เรามองเห็นผิวหนังกรำแดด ร่องรอยเหี่ยวย่นของกาลเวลา และพบเจอบางสิ่งบางอย่างจากแววตาของลุงๆ ป้าๆ ที่สะท้อนให้รู้ว่า ‘ชีวิตคือความลำบาก’ เพราะในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำมีระยะห่างมากเกินไป แม้สังขารจะไม่เที่ยง ร่างกายจะชำรุด หรือเรี่ยวแรงเหลือน้อยเต็มที แต่ผู้สูงวัยหลายคนเหล่านั้นล้วนห่างไกลจากคำว่า ‘ชีวิตหลังวัยเกษียณ’ และอาจต้องทำงานไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อดูแลตัวเองให้ไม่เดือดร้อนใคร

พาไปสำรวจความเป็นอยู่ของผู้คนสูงวัยในมหานครแห่งนี้ ผ่านบทสนทนาอันหวานขมของชีวิต พร้อมกับคำอวยพรจากคนวัยเก๋าที่ฝากให้คนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้ สู้ สู้กันต่อไป

6 คำอวยพรจากคนรุ่นนู้นถึงคนรุ่นนี้
วัยเกษียณที่ไม่มีอยู่จริงของ ‘ผู้สูงวัย’ ในเมืองแรงงาน

ชื่อ : ลุงเกียรติ พรมรุกชาติ
อาชีพ : ปั่นรถถีบสามล้อ
อายุ : 64 ปี
ภูมิลำเนา : บุรีรัมย์

ดวงตะวันเกือบตรงหัว บนถนนที่รถราแล่นสวนกันไปมามุ่งหน้าสู่จุดหมาย ‘ลุงเกียรติ พรมรุกชาติ’ เองก็กำลังปั่นสามล้อคู่ใจมองหาผู้โดยสาร เราโบกมือให้ลุงจอดและเอ่ยทักทายพูดคุยกับเขา

“ชีวิตคนเราต้องดิ้นรน จากบุรีรัมย์ผมก้าวเข้ามาอยู่ที่นี่ (ตัวเมืองพระประแดง) ราวปี 2539 เมื่อก่อนเศรษฐกิจดี รายได้ของสามล้อดีกว่าวันนี้เยอะ เป็นเมืองเงินเมืองทอง ใครมาอยู่ที่นี่ไม่มีตกอับหรอก เรียกว่าถ้าล้อหมุนยังไงก็ไม่อดตาย รายได้ขั้นสูงสุดเคยทำได้หนึ่งพันถึงสองพันบาทต่อวัน แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน

“ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์เยอะ รายได้ก็ไปตกอยู่ตรงนั้น เพราะสะดวกรวดเร็ว สามล้อจึงมีรายได้น้อยกว่า มันก็เป็นผลกระทบซึ่งกันและกันนั่นแหละ เมืองก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นปกติ แต่ในเรื่องเศรษฐกิจคือลดลงมา ไม่ดีเท่าที่ควร มันเกิดจากหลายปัญหา ก็อย่างที่รู้กัน ขอสงวนสิทธิ์ไม่ตอบให้ไปศึกษาด้วยตัวเองดีกว่า”

เราถามลุงว่า ในวัยนี้ชีวิตยังมีความตื่นเต้นอยู่บ้างมั้ย และได้คำตอบตลกร้ายกลับมา “ก็ทำงานไปปกติ แต่ขับรถสามล้อแบบนี้ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ นั่นแหละสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เพราะว่าต้องเคลียร์ปัญหากัน ถ้าเราผิดเราก็ไม่รู้จะทำยังไง ประกันสุขภาพหรืออุบัติเหตุไม่มี มีแค่ประกันสังคมมาตรา 40 จ่ายเดือนละหนึ่งร้อยบาท จริงๆ มันก็ไม่มีผลอะไรหรอก แต่อย่างน้อยก็ยังชื่นใจที่มีประกันไว้บ้าง”

และนี่คือสิ่งที่ลุงเกียรตินักปั่นสามล้อรับจ้างรุ่นเก๋าวัย 64 ปี ฝากมาให้กับคนรุ่นใหม่

“จากใจของลุง ขอให้ลูกหลานทุกๆ คนรักษาตนให้พ้นภัย ให้รักชีวิตของตนเอง และดูแลพ่อแม่ผู้มีพระคุณกับเรามาตลอด ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จทุกๆ ประการเทอญ”

6 คำอวยพรจากคนรุ่นนู้นถึงคนรุ่นนี้
วัยเกษียณที่ไม่มีอยู่จริงของ ‘ผู้สูงวัย’ ในเมืองแรงงาน

ชื่อ : ป้ารัตนา แซ่ลิ้ม
อาชีพ : ขายเสื้อผ้า
อายุ : 78 ปี
ภูมิลำเนา : กรุงเทพฯ

ในเมืองที่ผู้คนเดินสวนไหล่ผ่านไปผ่านมา ‘ป้ารัตนา แซ่ลิ้ม’ มองเห็นการเคลื่อนไหวนี้มาตลอด 50 ปีที่เปิดแผงขายเสื้อ บ้านเกิดของป้าอยู่แถวป้อมปราบศัตรูพ่าย ก่อนหน้าจะมาขายเสื้อผ้าป้าเคยขายปาท่องโก๋มาก่อน “ฉันทำงานมาตั้งแต่อายุสิบสองจนถึงวันนี้” ป้าเล่า

“ตอนนี้มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่ได้อยากคิดอะไรมากมาย เรามีเวลาเหลือน้อยแล้ว ถ้าคิดแล้วไม่สบายใครจะมาช่วยเรา พี่น้องมีจริงแต่เขาก็มีครอบครัวของเขาที่ต้องห่วง เขาจะมาห่วงอะไรเรา คนเราก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ต้องแข็งแรง อย่าไปเป็นหนี้สิน ต้องประหยัด อย่างป้าก็เอาข้าว เอาน้ำ เอาขนมมากินเอง ไม่เคยซื้อหรอก ถ้าจะไปซื้อเดี๋ยวนี้มื้อหนึ่งสี่สิบห้าสิบบาท

“สมัยสามสิบกว่าปีก่อนขายดีแบบไม่มีเวลากินข้าว ตอนนี้แตกต่างกันแบบฟ้ากับดิน จะไม่ออกมาขายก็ไม่ได้ ของเราเหลือเยอะแยะ ยังไงเราก็ต้องออกมา บางวันได้สี่ร้อยถึงห้าร้อยบาท บางวันได้ร้อยกว่าบาท ถูๆ ไถๆ ไป คิดว่าเอาน่ะ ออกมานั่งขายของดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีใครให้คุย ถ้าอยู่บ้านอย่างเดียวเดี๋ยวก็ป่วย เราออกมาขายก็มีกิน ถ้าไม่ออกแล้วใครจะให้กิน ใครบอกว่าอายุมากให้เลิกทำงานได้แล้ว แต่เขาไม่มาเจอเองไม่รู้หรอก คนมีสตางค์ก็พูดได้”

เราขอให้ป้าช่วยเขียนคำอวยพรให้กับคนรุ่นใหม่ ป้าตอบกลับอย่างรวดเร็วว่าป้าไม่รู้จักหนังสือ แต่ถึงอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่ป้ารัตนาวัย 78 ปีส่งเสียงฝากบอกถึงคนรุ่นใหม่ “อดทน อย่าแพ้ อย่าถอย เวลาทำได้ขอให้ประหยัด ขยันมีกิน งานอะไรก็ทำไป อย่าไปโกงใครก็พอ”

6 คำอวยพรจากคนรุ่นนู้นถึงคนรุ่นนี้
วัยเกษียณที่ไม่มีอยู่จริงของ ‘ผู้สูงวัย’ ในเมืองแรงงาน

ชื่อ : ลุงกลาง-สมชาย กระต่ายแก้ว
อาชีพ : เจ้าของร้านอาหารและขายของชำ
อายุ : 70 ปี
ภูมิลำเนา : กรุงเทพฯ

ยามบ่ายแก่แดดร่มลมตก กลิ่นฉุนความอร่อยลอยข้ามคลองมาเชื้อเชิญให้เราเดินไปหาต้นตอ จนพบร้านอาหารเล็กๆ ริมน้ำที่บริหารงานโดย ‘ลุงกลาง-สมชาย กระต่ายแก้ว’ วัย 70 ปีและภรรยาวัยใกล้กัน

ลุงเล่าความหลังให้ฟังว่า เดิมทีเขานั้นเป็นชาวสวน ปลูกส้ม ขึ้นตาลมะพร้าว พอมีถนนตัดผ่านและมีการเกิดขึ้นของหมู่บ้านจัดสรร น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่เคยใช้ทำสวนก็กลายเป็นน้ำเสีย และความเจริญของหมู่บ้านจัดสรรก็ปิดล้อมพื้นที่สวน วิธีเดียวคือการย้ายออก ลุงกับป้าจึงมาเปิดร้านอาหารเล็กๆ ข้างคลองวัดบางประทุนนอกตั้งแต่ พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน

“ทำธุรกิจขายของชำกับร้านอาหารดีกว่าทำสวนมั้ย” เราเอ่ยถาม “ไม่ดีกว่าทำสวนหรอก ขายของอาจจะได้ทุกวัน แต่ทำสวนมันได้เป็นเดือน เวลาจะเก็บขาย เถ้าแก่จากสี่แยกมหานาคจะวิ่งรถมารับซื้อที่สวนเลย ขายทีหนึ่งมันได้เป็นหมื่น สมัยก่อนถือว่าเยอะนะ บางปีมีสองหมื่นสามหมื่น แต่พอมาขายของก็ได้เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ส่งลูกเรียนมหา’ลัยสามคน คนโตจบ ป.โท ที่เซนต์จอห์น คนที่สอง ม.สยาม ลูกสาวคนสุดท้าย ม.กรุงเทพ ก็ส่งจนจบทุกคน”

“ผ่านมาถึงวันนี้ ชีวิตวัยนี้มีข้อดีบ้างมั้ย” เราชวนคุยต่อ “มีดิ (ยิ้ม) ตอนนี้เป็นกระดูกทับเส้นประสาท มันนั่งนาน ชา พอลุกขึ้นกระดูกแตกดังเปรี๊ยะ แต่ดีที่ยังแข็งแรงอยู่ เพราะเป็นคนสวนมาก่อน” 

เราถามต่อด้วยความสงสัยว่าดูแลตัวเองยังไง เนื่องจากเห็นรูปร่างที่ทะมัดทะแมงแข็งแรงสวนทางกับเลขอายุที่ได้ยิน “ลุงไม่มีโรคไม่มีภัย เป็นอะไรไม่เคยไปหาหมอเลย นอกจากจะปวดหนักๆ ก็ซื้อยาชุดมากินสักชุด หยุดไปสามสี่วันถ้าไม่ดีก็กินอีกสักชุด แต่ไม่ได้กินติดต่อกัน ถ้าตายก็บอกลูกว่าไม่ต้องสวดไม่ต้องอะไร เพราะบริจาคร่างกายไว้ที่โรงพยาบาลแล้ว

“ความสุขวัยนี้คือจะได้หลานแล้ว ได้เตรียมพร้อมสิ่งต่างๆ ไว้ให้หลาน ส่วนความทุกข์ไม่มี จะเป็นจะตายไม่เคยนึกถึงเลย ขอแค่ถ้าตายอย่าให้ลูกต้องเป็นภาระดูแล และฉันก็เตรียมของฉันไว้หมดแล้ว ตั้งแต่ได้เงินคนสูงวัยตอนอายุหกสิบ ผ่านมาสิบปีแล้วยังไม่เคยเบิกเลย ก็กังวลอยู่ว่าถ้าไม่เคยเบิกจะมีปัญหาอะไรมั้ย แต่ที่ทำแบบนี้เพราะไม่อยากให้เดือดร้อนลูกหรือเดือดร้อนใครทั้งสิ้น”

การเป็นคนสวนที่เดินทางยากในสมัยก่อน ส่งผลให้ลุงไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน เขียนหนังสือไม่ได้ ลุงจึงขอฝากคำพูดมาถึงคนรุ่นใหม่แทน “อยากให้คนรุ่นใหม่ขวนขวายในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ทำอะไรด้วยตัวเราเอง ถึงจะเกิดผลและเราจะได้ภูมิใจ”

6 คำอวยพรจากคนรุ่นนู้นถึงคนรุ่นนี้
วัยเกษียณที่ไม่มีอยู่จริงของ ‘ผู้สูงวัย’ ในเมืองแรงงาน

ชื่อ : ลุงบุญประจวบ เสือมัจฉะ
อาชีพ : รถเข็นไอศกรีม
อายุ : 65 ปี
ภูมิลำเนา : อยุธยา

บนทางเท้าหลังนักศึกษาสองคนเดินผ่านไป เราเจอกับรถเข็นขายไอศกรีมของ ‘ลุงบุญประจวบ เสือมัจฉะ’ ในตู้มีไอศกรีมอยู่หลายรสชาติ ทั้งชาไทย ทุเรียน เผือก รวมมิตร และอื่นๆ เมื่อคุยกันถึงได้รู้ว่าลุงบุญประจวบเป็นคนอยุธยา เข้ามาขายหอยทอดใน กทม. เมื่อตอนอายุ 38 ราว 10 ปี ปัจจุบันขายไอศกรีมรถเข็นมาได้ 3 เดือนแล้ว

เรากัดไอศกรีมชาไทยหนึ่งคำ พร้อมกับถามหนึ่งคำถาม “ทำไมอายุปูนนี้ยังมาเดินเข็นรถขายของ…” ลุงตอบกลับมาแบบไม่ต้องคิด “เพราะว่างานไม่มี เมียตายแล้ว ลูกสองคนก็ไปมีครอบครัวหมดแล้ว ลุงไม่รู้จะไปพึ่งใคร ต้องดูแลตัวเอง หาเงินได้ก็ทำไป”

หลังจากนั้นลุงก็เล่าถึงการงานของชีวิตในวัย 65 ปีให้เราฟัง “ตอนตีห้าครึ่งออกจากบ้านที่พระประแดง มารับรถเข็นไอติมแถววงเวียนใหญ่และเข็นไปเรื่อยๆ ถึงสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางลำพู ฯลฯ พอขายหมดก็เอารถมาจอดขึ้นไอติมใหม่ วันหนึ่งเข็นไปเข็นมาสามสี่รอบ ถ้าขายไม่หมดก็เอารถมาส่งคืน เขาให้เวลาถึงสองทุ่ม ช่วงนี้ขายดีเพราะอากาศร้อน ฝนตกจะขายไม่ดี”

เราถามต่อว่า ในความชรามีข้อดีบ้างหรือไม่ ลุงตอบกลับมาว่า ก็มีดีบ้าง อย่างเมื่อใครเห็นว่าแกเป็นคนแก่ก็จะมาช่วยอุดหนุนไอติม บางทีซื้อแท่งละ 12 บาทให้เงินมา 20 บาทไม่ต้องทอน หรือบางทีเจอคนใจดีซื้อเป็นสิบๆ แท่งและยังให้ข้าวกินด้วย

ส่วนคำถามถึงความสุขความทุกข์ในวัยนี้ ลุงตอบว่าไม่มีความสุขอะไรเป็นพิเศษ แค่ขายไอศกรีมไปเรื่อยๆ แต่วันไหนที่ขายไม่ออกก็ทุกข์หน่อยเพราะไม่มีเงิน

ไอศกรีมชาไทยหมดแท่งพอดี ก่อนจากกันลุงได้ฝากข้อความถึงคนรุ่นใหม่ “อยากให้ทำมาหากิน สู้ต่อไป อย่าท้อ อะไรที่แล้วก็แล้วไป ล้มต้องลุกได้”

6 คำอวยพรจากคนรุ่นนู้นถึงคนรุ่นนี้
วัยเกษียณที่ไม่มีอยู่จริงของ ‘ผู้สูงวัย’ ในเมืองแรงงาน

ชื่อ : ป้าบัวคำ ขำจิตร
อาชีพ : ขายลอตเตอรี่
อายุ : 76 ปี 
ภูมิลำเนา : นครพนม

พลบค่ำพระอาทิตย์ลาลับ นีออนประกายแสงเด่นบนเสาไฟ และบางดวงแขวนอยู่หน้าแผงลอตเตอรี่บนรถสองล้อที่ขับเคลื่อนด้วยแรงถีบ “งวดนี้เลขอะไรขายดีครับป้า” เราเอ่ยทักทาย “เลขของตาทักษิณไง อยู่ประเทศนอกมาสิบเจ็ดปี”

เรากวาดตามองแผงลอตเตอรี่และชวน ‘ป้าบัวคำ ขำจิตร’ เจ้าของแผงพูดคุย เลยได้รู้ว่าแกเป็นคนจังหวัดนครพนม พ่อแม่เสียชีวิต และที่ดินซึ่งเป็นมรดกครอบครัวก็ถูกพี่น้องแบ่งกันไป ป้าจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นสาวโรงงานตั้งแต่อายุสิบเก้าปี แต่งงานมีลูกสามคน สามีแกเสียไปแล้วราวห้าสิบหกสิบปี

ป้าเล่าว่า แกทำงานหลายอย่าง จากโรงงานเย็บผ้า เปลี่ยนมาขายหมูปิ้ง ขายข้าวเหนียวหมูฝอย จนเก็บขวดขาย และเพิ่งเริ่มขายลอตเตอรี่ได้ไม่กี่เดือน ใช้ชีวิตคนเดียว เช่าห้องเล็กๆ รวมค่าน้ำค่าไฟตกเดือนละ 2,000 กว่าบาท ตื่นตีห้าจูงจักรยานบุโรทั่งออกไปขายลอตเตอรี่ ทำงานถึงสองสามทุ่ม และบางค่ำคืนก็ต้องนั่งแม็กลอตเตอรี่ติดกับแผงจนดึกดื่นเที่ยงคืนบ้าง ตีหนึ่งบ้าง

“ขายไม่ดีเลย ขายจนทุนไม่มีจะเก็บ เขามีเงินสำหรับผู้สูงอายุให้กู้ได้สามหมื่นไม่เสียดอก ให้เวลาสามปี ลูกสาวก็ไม่เซ็นให้ เพราะกลัวแม่ตายก่อนแล้วต้องมาเป็นภาระผ่อนต่อ เราก็เลยไม่ได้เงินใช้”

ฟ้ามืดมากแล้ว แต่บนทางเดินยังคงมีลูกค้ามากหน้าหลายตามุ่งมาหารางวัลจากป้าอยู่ไม่น้อย ก่อนจากกันป้าบัวคำฝากข้อความถึงลูกๆ หลานๆ ตามที่เราขอมา “อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ ตั้งใจเรียนให้สูงๆ ช่วยเหลือพ่อแม่ ฟังครูและผู้ปกครอง เป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่”

6 คำอวยพรจากคนรุ่นนู้นถึงคนรุ่นนี้
วัยเกษียณที่ไม่มีอยู่จริงของ ‘ผู้สูงวัย’ ในเมืองแรงงาน

ชื่อ : ลุงเอี่ยม ยิ่งใหญ่
อาชีพ : รถเข็นไข่ปิ้ง
อายุ : 64 ปี
ภูมิลำเนา : สุรินทร์

บนถนนรถราที่เคยพลุกพล่านค่อยๆ ทยอยบางตา หลังม่านควันจากท่อไอเสียของรถเมล์คันเก่าจางหาย พ่อค้าร่างสันทัดกำลังเข็นรถขายของที่มีไข่ปิ้ง ข้าวเกรียบว่าว มะพร้าวเผา และอื่นๆ ลงจากสะพานมาบนทางเท้า

พ่อค้ารถเข็นเร่ขายของไปตามทางคันนี้ชื่อว่า ‘ลุงเอี่ยม ยิ่งใหญ่’ เป็นคนสุรินทร์ เข้ามากรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 40 กว่าๆ ทำอาชีพเข็นรถเร่ขายของมาหลายอย่าง ตั้งแต่เข็นขายขนมไข่หงส์ ขายผลไม้ของดอง ขายก๋วยเตี๋ยว และมาเข็นรถขายไข่ปิ้งได้ 10 กว่าปีแล้ว

แกเล่าให้เราฟังถึงการงานที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ “เดินเข็นทุกวันไปเรื่อยๆ เข้าซอยออกซอย เดินตั้งแต่เช้ายันมืดค่ำ เข้าบ้านก็เกือบห้าทุ่ม กลับมาทำนู่นทำนี่เตรียมของ นอนตีสามกว่า ตื่นประมาณหกโมงบางทีก็เจ็ดโมง บางวันต้องตื่นไปตลาดซื้อของตอนตีหนึ่ง มีเมียอยู่ที่บ้านนอก และมีลูกสี่คน เสียไปแล้วคนหนึ่ง ทุกวันนี้อยู่ตัวคนเดียวในบ้านเช่าเดือนละหนึ่งพันห้าร้อยบาท ทำงานอยู่เพราะอยากให้ครอบครัวอยู่รอด หากินไปวันๆ พอได้กิน ได้ใช้ก็พอ

“ได้เงินประชารัฐช่วยสามร้อยบาท มีเงินคนแก่เดือนละหกร้อย ยังไงก็ไม่พอหรอก เดี๋ยวนี้ก๋วยเตี๋ยวชามละสี่สิบห้าสิบบาท” ลุงพูดด้วยท่าทีสบายๆ ขณะเอามีดเฉาะมะพร้าวเผาส่งให้ลูกค้า

แม้จะเข้าวัย 64 ปีแล้ว แต่ร่างกายที่ยังเดินเหินคล่องแคล่ว ทำให้เราอยากรู้ทริกในการดูแลตัวเอง ลุงให้คำตอบหลังเสียงหัวเราะร่วนว่า ถึงเวลาก็กินข้าว ไม่สบายก็ซื้อยามากิน สิ้นเสียงหัวเราะ เราเอ่ยถามลุงต่อว่า อยู่มาจนถึงวัยนี้ รู้หรือยังว่าชีวิตคืออะไร

แกหัวเราะนำแล้วยิ้มตาม “ชีวิตคือความลำบาก อายุจนป่านนี้ยังไม่เคยประสบความสบายเลยหนา ต้องหากินทุกวัน ถ้าไม่หาก็ไม่ได้”

ก่อนจากกัน พ่อค้าอารมณ์ดีคนนี้ก็ทิ้งท้ายด้วยการฝากข้อความมาถึงคนรุ่นใหม่ “ขอฝากถึงลูกๆ หลานๆ รุ่นใหม่ทุกคน จงมีความอดทน ต่อสู้ชีวิต ให้มีชีวิตที่ดี ขยันและอดทน ขอให้ตั้งใจทำแต่สิ่งดีๆ”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.