LED Farm ปลูกพืชด้วย PFAL - Urban Creature

เมื่อไรก็ตามที่เราได้ยินคำว่า ‘อาหารที่ผลิตจากโรงงาน’ ถึงจะไม่รู้สึกแย่สักเท่าไหร่ แต่ก็คงไม่ใช่ตัวเลือกต้นๆ สำหรับคนรักสุขภาพแน่นอน ยิ่งนักเขียนนิยายคนไหนใช้คำบรรยายว่า ‘โรงงานผลิตพืช’ ผู้อ่านอย่างผมคงนึกไปถึงสถานที่แออัดซอมซ่อ บรรยากาศทะมึนๆ มีคนงานใช้สารพันสารเคมี แล้วประกอบผักสักต้นขึ้นมาทีละส่วนบนสายพานการผลิตเป็นแน่แท้

แต่นับเป็นโชคดีของคุณผู้อ่าน Urban Creature ที่เฟซบุ๊กมีระบบโชว์ภาพปกก่อนจะลิงก์เข้ามายังบทความเรื่องนี้ เพราะคุณคงเห็นแล้วแน่ๆ ว่าโรงงานผลิตพืชแห่งนี้เป็นคนละเรื่องกับที่ผมเคยนึกถึง เพราะดูสะอาดสบายตา มีผักสีเขียวที่ดูสดกรอบ หน้าตาไม่เลว แถมพนักงานยังไม่ทำหน้าทำตาอึมครึมใส่กันอีกด้วย

ผมจึงอยากชวนมารู้จักฟาร์มผักใจกลางเมืองที่ใช้หลอดไฟแทนแสงอาทิตย์ ผ่านมุมมองของ วา-ยวิษฐา คนธรรพ์สกุล กรรมการผู้จัดการ LED Farm ที่มีผักสดคุณภาพดีให้เรากินตลอดปี คุณภาพเหมือนกันทุกล็อต แถมควบคุมสารอาหารได้อย่างกับออกมาจากโรงงาน (ก็ออกมาจากโรงงานนั่นแหละ)


อดีตผลิตหลอดไฟ ปัจจุบันทำโรงงานพืช


การต่อสู้ด้วยราคาเป็นสนามที่บรรดาผู้ประกอบการไม่อยากลงไปเล่นมากที่สุด เช่นเดียวกับ ซีวิค มีเดีย จำกัด บริษัทแม่ของ LED Farm ที่เคยเป็นเต้ยในธุรกิจผลิตจอภาพ หลอด LED แต่โดนอุตสาหกรรมใหญ่จากแดนมังกรเข้ามาแข่งขันเรื่องราคาที่ถูกกว่าถึงเท่าตัว จึงเลือกเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจใหม่ เริ่มศึกษาวิธีคิดและนวัตกรรมใหม่โดยยึดพื้นฐานเดิมเป็นตัวตั้ง 

ทายาทรุ่นลูกอย่างวาเล่าให้ฟังว่า ชิงชัย คนธรรพ์สกุล คุณพ่อของเธอไปเห็นโมเดลการปลูกพืชด้วยหลอดไฟแอลอีดีจากประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกว่า PFAL (Plant Factory with Artificial Lighting) หรือโรงงานปลูกพืชด้วยแสงประดิษฐ์ จึงกลับมาปรึกษากับทีม R&D ว่าบริษัทเราจะทำได้บ้างหรือเปล่า เพราะไหนๆ ก็ทำหลอดไฟแอลอีดีขายอยู่แล้ว 

“คุณพ่อเชื่อว่าเราทำได้ เพราะมีทีมวิจัยที่แข็งแกร่ง และมีอุตสาหกรรมเดิมเป็นต้นทุน เพียงแต่ขาดความรู้เรื่องการเกษตร จึงไปขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สำคัญคือศึกษาจาก ดร.โตโยกิ โคไซ ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่ง PFAL

“หลักในการปลูกพืชก็คล้ายกับที่เราเรียนในห้องเรียนเลยว่าต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง แสงแดด อากาศ สารอาหาร หรืออุณหภูมิที่เหมาะสม เพียงแต่ว่ามีการเก็บดาต้าขึ้นไปบนคลาวน์และมี AI คอยเรียนรู้ เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์และแปรผลออกมาว่าชั่วโมงการให้แสงต้องนานเท่าไหร่ หรือการให้ปุ๋ยแบบไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ” 

เริ่มแรกคุณพ่อของวาและทีมงานได้ทำการทดลองบริเวณพื้นที่ว่างของโรงงานผลิตหลอดไฟ เมื่อลองผิดลองถูกมาราว 1 ปีจนมีผลประกอบการเป็นผักสดคุณภาพดีหลากหลายชนิด จึงมั่นใจและลดจำนวนการผลิตหลอดไฟ LED ลง และส่งสปอตไลต์ไปฉายให้ธุรกิจใหม่อย่าง LED Farm ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา 


ผักสดกรอบ จากหลอดไฟ 


ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ราชินีแห่งผักอย่าง ‘เคล’ คือสินค้าตัวแรกที่เดบิวต์สู่สายตาผู้บริโภคของ LED Farm เพราะตั้งใจจะปลูกผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง วาบอกว่า ตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จักผักชนิดนี้ หรือระบบปลูกพืชจาก LED เลย 

“ตอนแรกไม่มีใครรู้จัก แต่ตอนนี้ผักเคลในห้างน่าจะมีเจ็ดแปดแบรนด์แล้ว เราจำเป็นต้องปลูกผักที่มีความแตกต่าง จึงเลือกเฉพาะผักเมืองนอก หรือผักเมืองหนาว เพราะการทำฟาร์มแบบนี้มีต้นทุนประมาณหนึ่ง ไม่สามารถปลูกผักชี ต้นหอม หรือผักบุ้งที่มีราคาไม่สูง

“ต้องเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนคนจะกลัวการปลูกพืชด้วยน้ำหรือ Hydroponics เพราะถูกปลูกฝังมาว่ามีสารไนเตรตตกค้างก่อให้เกิดมะเร็ง ต้องพยายามอธิบายให้ฟังว่าเราให้ปุ๋ยตามความจำเป็นของพืช ที่จริง PFAL จะควบคุมสารอาหารในผักได้ สามารถลดโพแทสเซียมในผักลงมาจนผู้ป่วยโรคไตทานได้” 

และไม่เพียงแต่สารอาหารเท่านั้น ความสดกรอบ เคี้ยวอร่อยของผักจาก LED Farm ก็ยืนหนึ่งเหมือนกัน
 


ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของโรงงานพืชคือ ไม่ต้องรอฤดูกาล ปลูกผักชนิดเดิมได้ทั้งปี สามารถควบคุมคุณภาพ ขนาด รสชาติ สารอาหาร ให้เหมือนกันได้ทุกรอบ และที่สำคัญ สะอาดจนหย่อนลงไปในหม้อชาบู หรือกินแกล้มกับหมูย่างได้ทันทีตั้งแต่แกะออกจากห่อ โดยไม่ต้องผ่านน้ำแม้แต่หยดเดียว

“ระบบนี้จะมีความสะอาดเทียบเท่ากับห้องผสมยาเลย เพราะเป็น Medical Grade เราส่งผักไปตรวจค่าแบคทีเรียและพบว่ามีเพียง 260 CFU/g ซึ่งค่ามาตรฐานที่ได้รับการยอมรับคือ 1,000,000 CFU/g ต่างกันหลักร้อยกับหลักล้าน บอกลูกค้าเสมอว่าทานได้เลยไม่ต้องล้าง”


เมื่อผักไม่ต้องเดินทาง 


คอนเซปต์ของ LED Farm คือ Zero Miles Food หรืออาหารที่ไม่ต้องเดินทางเลย ปกติเราต้องซื้อผักจากจังหวัดที่อากาศดี มีอุณหภูมิเหมาะแก่การทำเกษตร ซึ่งกว่าจะเดินทางถึงกรุงเทพฯ ก็ต้องมีหลายร้อยกิโล เสียไปทั้งค่าน้ำมันและความสดใหม่ เธอจึงอยากจำกัดการเดินทางให้เหลือสั้นที่สุด เพื่อให้คนเมืองได้กินผักสดจากแหล่งที่อยู่ใกล้ตัว 

“ข้อดีหนึ่งของการปลูกพืชด้วย PFAL คือใช้น้ำน้อย เป็นการปลูกพืชตามเทรนด์โลก ปลูกในพื้นที่จำกัดอย่างในเมืองได้ อย่าง LED Farm สาขาเจริญกรุง 78 ที่เราเปิดให้คนเข้าไปชมได้ ใช้พนักงานแค่สองคนแต่ปลูกผักได้ร้อยยี่สิบกิโลกรัมต่อเดือน หรือที่สมุทรสาครเนื้อที่ปลูกผักประมาณสี่ร้อยตารางเมตร ใช้พนักงานวันละห้าคน ปลูกได้ถึงพันกิโลกรัมต่อเดือน”

ตอนนี้คุณสามารถหาผักสุดอร่อยมาทานสดๆ ชนิดที่เด็ดจากฟาร์มจากใจกลางเมือง เพราะ LED Farm ได้ไปตั้งแปลงผัก LED ขนาดเล็กไว้ที่ Gourmet Market สาขางามวงศ์วาน

“เราขายผักให้ทางกูร์เมต์อยู่แล้ว จนมองเห็นโอกาสร่วมกันเลยเกิดเป็นโปรเจกต์ Vertical Farm ขึ้นมา ทำฟาร์มแนวตั้งและปลูกผักด้วยไฟ LED เพื่อขายประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค ที่จะได้ตัดผักสดๆ จากฟาร์มแล้วนำกลับไปทานที่บ้านเลย ความรู้สึกเวลาที่ได้ทานจะรับรู้ได้เลยว่าสดกว่ามากๆ

“ก่อนสถานการณ์โควิด-19 เป้าหมายของเราคือขยายคีออสให้มากขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ตอนนี้ก็ต้องชะงักไว้ก่อน มาเน้นการขายทางออนไลน์แทน รู้สึกว่าธุรกิจสมัยนี้ต้อง Flexible พอสมควร ไม่งั้นรอดยาก”


แต่ไม่ใช่แค่ใจกลางเมือง ไม่จำเป็นต้องพึ่งเดลิเวอรีเจ้าไหน เพราะถ้า Zero Miles จริง ฟาร์มผักควรจะอยู่ที่บ้านคุณด้วยซ้ำ 

“ตอนนี้บริษัทแม่ซีวิค มีเดีย ก็มีชุดปลูกผัก LED จำหน่ายด้วย เมื่อซื้อไปก็จะแถมเป็นชุดสำหรับปลูกผัก มีเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย แล้วก็คู่มือสำหรับการเริ่มต้นทำฟาร์มเป็นของตัวเอง ผลตอบรับค่อนข้างดีและมีคนสนใจมาก เพราะนำไปปลูกดอกไม้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกผักอย่างเดียว เหมือนกับเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านที่มีชีวิต” 


สุขภาพดีไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นไลฟ์สไตล์


การทานแบบนับแคลอรี อาหารคลีน IF คีโต แอปเปิลวันละผล ผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่ง คุณเคยทดลองวิธีไหนมาแล้วบ้างเพื่อลดความอ้วน หรือทำให้สุขภาพดีขึ้น วาบอกว่า เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมของคนไทยเป็นคนที่รักสุขภาพ โดยเฉพาะเทรนด์ในหลายปีให้หลังก็ยิ่งแสดงออกถึงกระแสรักสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

“เทรนด์สุขภาพเข้ามาในไทยหลายปีแล้ว ยิ่งเจอการแพร่ระบาดของโควิดคนก็รักสุขภาพมากขึ้น ผักของเราขายดีกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนอยากสร้างภูมิคุ้มกันไม่อยากให้ตัวเองป่วย”

ยิ่งเจอวิกฤต ธุรกิจก็ยิ่งหยุดนิ่งไม่ได้ LED Farm เองจึงพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ นำเสนอผักที่มีทั้งสารอาหารพร้อมตอบโจทย์ลูกค้าไปด้วยกัน หรือออกผลิตภัณฑ์ Ready to Eat ตั้งแต่ขั้นเบสิกอย่างน้ำผัก หรือร่วมกับพาร์ตเนอร์เสนอสินค้าแอดวานซ์อย่างขนมปังคีโต โดยไม่ปิดกั้นตัวเอง 

“ทำทั้งน้ำผัก ไอศกรีม หรือขนมที่ดูแลสุขภาพ เพื่อให้คนไปกินหมูกระทะต่อได้ (หัวเราะ) เราตั้งใจทำ Ready to Eat เพราะผักมีอายุการเก็บรักษาแค่สิบวัน แต่ไอศกรีมอยู่ได้ถึงหกเดือน เรามองว่าความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ที่มาจากผักยังเปิดกว้างอีกมาก ขนมปังคีโตทำได้ สกินแคร์ก็ทำได้ พยายามหาวิธีแปรรูปเพื่อยืดอายุสินค้า และตอบโจทย์ผู้บริโภค” 

เพราะเชื่อมั่นว่าสุขภาพจะทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น ปรัชญาหนึ่งที่ทำให้วามุ่งมั่นคือโควตที่จำที่มาไม่ได้ แต่ใจความไม่มีทางลืมคือ ‘Healthy is not a trend, it’s a lifestyle.’ การมีสุขภาพดีไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นวิถีชีวิต 

“อยากให้ทุกคนมองว่าการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีประโยชน์ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ ไม่ได้ทานคีโตหรือ Plant-based เป็นเทรนด์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และ LED Farm ก็จะอยู่คู่กับลูกค้าเหล่านี้ตลอดไป”

Photo Credit : LED Farm

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.