คน (ไทย) บางคนหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาถ่ายภาพที่ชอบเป็นพิเศษ ส่องไฟฉายเฉพาะมุมที่สนใจ เสพข่าวแค่บางช่อง บูชาบุคคล และบรรจงเก็บเรื่องราวเหล่านั้นให้ขึ้นใจ เพราะ ‘เชื่อ’ ในสาระสำคัญของสิ่งของ ผู้คน ความเชื่อ รวมถึงวัฒนธรรมตรงหน้า ส่วนพื้นที่รอบข้างหลังเลนส์ที่ไม่ถูกส่อง ไม่เลือกส่อง หรือไม่อยากส่อง ก็ปล่อยไว้แบบนั้น
ถึงความจริงจะฟ้องร้องทนโท่เต็มสองตาก็ไม่สน…เพราะอะไร…เพราะบังคับตัวเองให้ไม่เชื่อยังไงล่ะ
“เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ” แปลประโยคอีสานเป็นภาษาภาคกลางได้ว่า ทำในสิ่งที่เชื่อ
ขณะเดียวกันก็เป็นชื่อนิทรรศการศิลปะของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินหญิงที่ฝากลายเซ็น และลายเส้นบนภาพวาดการ์ตูนหัวโตด้วยสีน้ำมัน ซึ่งแฝงเนื้อหาสะท้อนสังคม จิกๆ กัดๆ มันๆ คันๆ ไว้นานถึง 11 ปี
ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งไหน เพราะเป็นครั้งแรกที่เธอเลือกละเลงสีอะคริลิกสีสันฉูดฉาดลงบนผ้าลินิน และทำมันในรูปแบบการ์ตูนช่องที่มีนางแบบ นายแบบเป็นชาวบ้านซึ่งขาดรายได้ช่วงโควิด-19 ในชุมชนอัมพวา โดยหยิบความทรงจำสมัยเด็กที่ชอบนั่งวาดการ์ตูนช่องริมคลอง มาผูกกับเรื่องราวสะท้อนสังคมปัจจุบันให้มีต้น กลาง จบ เหมือนหนังสือขายหัวเราะ หรือมังงะที่ชอบอ่าน
“นิทรรศการเฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ ถูกวาดจากความเชื่อของคนในสังคม เสียดสีสถานการณ์ปัจจุบันและการเมือง ที่แต่ละคนมองเห็นสิ่งเดียวกันแต่กลับมองไม่เหมือนกัน เด็กมองอีกแบบ คนแก่มองอีกแบบ แต่ละชนชั้นก็มองกันอีกแบบ และในบางความเชื่อจะมีความเข้าข้างตัวเอง ศรัทธาในตัวเอง พึงพอใจที่จะเลือกว่าอยากจะเชื่ออะไร ทั้งๆ ที่เห็นปัญหาหรือความจริงตรงหน้าเต็มๆ แต่ก็ยังสะกดจิตว่ามันไม่มีอะไร”
ลำพูบอก ก่อนเปิดประตูหน้า เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ กดลิฟต์ขึ้นไปชั้น 3 พาฉันเดินคุย และเดินชมนิทรรศการทันที
01 เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด
“เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด” เป็นประโยคจากหนังเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบั้งไฟพญานาคซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านบางกลุ่ม เหมือนกับเธอที่เชื่อว่าผีมีจริง และเชื่อว่างานศิลปะจะทำให้เธออยู่รอด แม้คนรอบตัวจะเชื่อว่า ‘ไส้แห้ง’ ซึ่งเหล่าความเชื่อนั้นคือแรงบันดาลใจแรกในการทำนิทรรศการ
กลัวผี?
“ใช่ (หัวเราะ) เราเป็นคนกลัวผีมาก แม้วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ไม่ได้ แต่เรากลับเชื่อคำบอกเล่าของคนอื่นที่เขาเคยเจอ ตอนเด็กๆ เราอาศัยอยู่บ้านไม้ที่มีใต้ถุนสูงที่อัมพวา คนที่บ้านจะบอกว่าอย่าไปไหนนะ เดี๋ยวผีมา คำพูดง่ายๆ ตอนนั้นมันฝังจิตเราว่ามันมี มี มี ทุกวันนี้เลยยังกลัวอยู่
“ได้ยินมาปากต่อปากว่าอย่านอนหงายเดี๋ยวผีอำ เราก็ไม่นอนหงาย หรือเวลานอนกับสามีจะต้องเอามือไปจับ เอาขาไปเขี่ยสามี เพราะว่าถ้ามีคนอยู่ข้างๆ ผีอาจจะไม่หลอก (หัวเราะ) และทำให้เราอุ่นใจ ซึ่งจะมีปัญหาตอนไปต่างจังหวัดคนเดียว เราจะนอนไม่หลับเลย” ลำพูเล่าให้ฟัง
ศิลปินไส้แห้ง?
“เราเรียนมัธยมต้นสายสามัญ แต่พอจะต้องต่อมัธยมปลาย กลับไม่มีภาพตอนเราอยู่ที่โรงเรียนเลย สายวิชาการมันไม่เวิร์กสำหรับเรา สิ่งที่พอเห็นหนทางในการเรียนจึงเป็นการวาดรูป เพราะชอบขีดๆ เขียนๆ วาดการ์ตูนช่องมาตั้งแต่เด็ก เลยตัดสินใจสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง ท่ามกลางคนรอบตัวที่บอกว่า งานศิลปะมันไส้แห้งจะตาย เพราะคนในจังหวัดเราไม่มีใครทำอาชีพวาดรูปจริงๆ จังๆ กันสักคน แล้วก็เชื่อว่าผู้ใหญ่สมัยนี้บางคนก็ยังคิดแบบนี้อยู่”
ลำพู เชื่อมั่นในทางเลือกของเธอ เพื่อก้าวเข้าสู่วงการศิลปะ เธอบอกว่า ทางที่เลือกแทบจะเป็นทางเลือกเดียวเพื่อให้หลุดพ้นจากชีวิตเดิมๆ เธอไม่อยากวนเรียนในสิ่งที่เธอไม่ชอบ ดังนั้นสนามชีวิตครั้งนี้ของเธอ จึงต้อง ‘รอด’
จากภาพวาดการ์ตูนช่องที่เธอนั่งวาดลงบนกระดาษริมคลองอัมพวา เพราะชอบอ่านขายหัวเราะ ต่วย’ตูน และมังงะตาหวาน สู่การเรียนรู้ในวิทยาลัยช่างศิลป ซึ่งทำให้เธอมีพื้นฐานด้านศิลปะมากขึ้น และสอบติดคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ฝึกมือ ฝึกวิชาจากศิลปะหลายแขนง ทั้งงานปั้น งานภาพพิมพ์ งานเพนต์ จนรู้ว่าตัวเองชอบเพนต์ที่สุดตอนเลือกเอกในชั้นปีที่สาม และเมื่อเรียนจบเธอก็เริ่มวาดการ์ตูนเสียดสีสังคมจากการคิดถึงเพื่อนที่นั่งเรียนด้วยกัน
“นักเรียนศิลปะที่เราเจอในแต่ละวันตอนเรียน มีแต่คนหน้าโหด แต่พอเราเป็นเพื่อนกับเขา เราได้เห็นมุมมองความน่ารัก อ่อนโยน ที่หลายคนไม่ได้เห็น จึงเป็นไอเดียว่า ลองทำการ์ตูนหัวโตแบบล้อเลียนดูไหม หัวโต แต่ตัวเล็กเหมือนเด็ก เพื่อสื่อความคอนทราสต์ต่อการตัดสินคนที่ภายนอกของคน
“งานชิ้นแรกในฐานะนักวาดเมื่อ 11 ปีที่แล้วด้วยสีน้ำมันครั้งนั้น ทำให้เราค้นพบความชอบ และมุ่งวาดการ์ตูนหัวโตเสียดสีสังคมมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเรารู้สึกคลิกในใจว่า เนี่ย คนก็เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ อยากเชื่ออะไรก็เชื่อ แม้สิ่งที่เชื่ออาจจะไม่เป็นจริง และทั้งหมดทั้งมวลก็กลายเป็นโจทย์ในนิทรรศการนี้ด้วย”
02 อะคริลิกบนลินิน หน้าชาวบ้านบนภาพวาด
แม้ลำพูจะวาดการ์ตูนเสียดสีสังคม และการเมืองมาหลายปี แต่สิ่งที่เธอหลงลืมไป และไม่เคยนำกลับมาวาดจริงๆ จังๆ สักทีคือ ‘การ์ตูนช่อง’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเธอ
“ตอนเราตั้งใจจะโชว์ผลงานในนิทรรศการของตัวเอง Curator บอกเราว่าอยากได้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นจากลำพูมาก่อน เราใช้เวลาคิดเดือนหนึ่งเต็มๆ อย่างแรกเลยต้องสนุกและเสียดสีประเด็นบ้านเมือง แต่เราจะทำยังไงให้ไม่เหมือนที่เคยทำ
“จนเราคิดถึงสมัยก่อนที่เราวาดการ์ตูนช่องๆ (แต่ละช่องจะเล่าเรื่องต่อกัน) แล้วแม็กกระดาษติดกันเก็บไว้ ถ้ามันมาอยู่เฟรมใหญ่ๆ คงจะเจ๋งไม่เบา และไหนๆ จะทำให้มันป็อปแล้ว ก็เลยท้าทายตัวเองด้วยการเปลี่ยนจากสีน้ำมันที่เราทำเป็นประจำ มาเป็นอะคริลิกที่ให้สีที่สดมากขึ้นครั้งแรก เพื่อเพิ่มความสนุกให้เรื่องซีเรียสที่เล่ามันดูไม่เครียดจนเกินไป”
“พอมาลองอะคริลิก เราพบว่าวิธีการระบายมันเหมือนกันแหละ แต่ต่างกันที่ผลลัพธ์ที่สีน้ำมันให้เราไม่ได้ นั่นคือสีที่เรียบแบน สดแบบไร้แสงสะท้อน เพราะการใช้สีน้ำมันในภาพวาดการ์ตูนที่เราต้องการความป็อป ความสว่าง มันยาก แต่อะคริลิกทำได้
“ซึ่งเราพยายามขบถกรอบความคิดของคนที่เชื่อว่าสีน้ำมันคือสีที่หากลูกค้าซื้อผลงานไป จะอยู่ได้ร้อยๆ ปี ทำให้มองว่ามันมีคุณค่ามากที่สุด แต่เราเชื่อว่าภาพวาดสีอะคริลิกก็มีคุณค่าเหมือนกัน ยิ่งเราตั้งไว้ภายในอาคาร ไม่ได้ตากแดด ตากฝน ทำไมมันจะอยู่ได้ไม่นาน
“อีกอย่างเนื่องจากที่อัมพวาความชื้นสูงมาก เต็มไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ ถ้าใช้แคนวาสราจะขึ้นง่าย และเก็บรักษายากมาก เลยลองเปลี่ยนมาเป็นลินิน และใช้วิธีเก็บที่หลีกเลี่ยงความชื้น เก็บไว้ชั้นสูงๆ มีแดด โปร่ง ต้นไม้ไม่เยอะ เวลาวางงานก็ตั้งไว้เหนือปูนนิดหนึ่ง เนื่องจากปูนจะระเหยน้ำ ทำให้งานเราชื้นและเกิดรา หลังจากลองเทคนิคนี้ ราก็ไม่ขึ้นอีกเลย”
ชุดภาพวาดครั้งนี้ยังพิเศษกว่าครั้งอื่น ตรงที่แบบวาดรูป ตั้งแต่เด็กยันคนแก่ เป็นเพื่อนบ้านละแวกอัมพวา ที่เธออยากเพิ่มรายได้ในวันที่ไร้การเยียวยาจากภาครัฐ
“เพื่อนบ้านเราที่ทำงานอยู่โรงมะพร้าว พวกแกน่าสงสารมาก โควิด-19 ทำให้ขาดรายได้ เนื่องจากเจ้าของติดโควิด-19 ที กิจการปิด รายได้แต่ละวันก็หายไปเลย ผลกระทบทั้งหมดตกอยู่ที่คนจน รัฐบาลไม่ได้เข้ามาจัดการหรือเยียวยาอะไรเลย เราเลยเลือกจ้างชาวบ้านกว่า 20 คนเป็นแบบผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการ
“อีกทั้งเรายังทำหนังสือเล่มที่ปกเป็นรูปเพนต์สดหน้าชาวบ้านทุกคนอยู่ และด้านในเป็นรูปถ่ายชาวบ้านทุกคนที่ผ่านการบรีฟจากเราว่า ป้าทำหน้ามีความสุขหน่อย เด็กทำหน้างงๆ และสีหน้าอื่นๆ ของชาวบ้าน”
03 เน็ตไอดอล คนดี และบุญทิพย์
การช่วยเหลือชาวบ้านเล็กๆ น้อยครั้งนี้ของลำพู ทำให้เธอนึกถึงเน็ตไอดอลและแม่ค้าออนไลน์ท่านหนึ่งที่เลื่องชื่อเรื่องการทำบุญ บริจาคให้คนยากไร้ด้วยเงินของตัวเอง จนลำพูบอกว่าหลายคน (รวมถึงเธอ) ถ้าวันหนึ่งมีเงินเท่าเขา อาจจะทำคอนเทนต์แบบนี้ก็ได้ แต่ตอนนี้อยู่ในสถานะที่ทำไม่ได้ งั้นทำอะไรได้ล่ะ ทำหน้าให้เหมือนไปเลยได้ไหม จนเกิดเป็นผลงาน ‘ทำบุญสวยชาติหน้า ทำหน้าสวยชาตินี้ (Make it happen 2021)’
“สมัยนี้ผู้คนมองการทำดีเป็นเรื่องยากกว่าการทำหน้ามาก (หัวเราะ) เน็ตไอดอลบางคนเป็นไอคอนที่จะสื่อได้ว่าเขาทำศัลยกรรม แล้วก็ทำความดีด้วย ซึ่งในยุคนี้หลายคนแสวงหาการทำความดีเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่า ‘ดู’ เป็นคนดี แม้ในใจจะคิดว่ามีอุปสรรคมากมายที่ทำให้ทำความดีไม่ได้ เลยอยากจิกกัดความมักง่ายของคนไปว่า ถ้าความดีมันทำยาก งั้นทำหน้าเหมือนเน็ตไอดอลไปเลยละกัน เพราะแค่หน้าเหมือน สังคมก็คงมองว่าเป็นคนดีแล้วมั้ง”
และทำให้เกิด ‘เธอคือผู้หญิงคนนั้น ที่ทำให้ชีวิตฉันมีความหมาย (You are the one 2021)’ ผลงานภาคต่อ ที่คนในสังคมกลายเป็นเน็ตไอดอลเหมือนกันหมด คำถามคือใครคือเน็ตไอดอลที่คุณชื่นชอบกันแน่ และเน็ตไอดอลที่คุณรู้จักคือคนแบบไหนกันแน่
04 ฟ้าเดียวกัน เห็นต่างกัน
3 ผลงานต่อไปนี้ หัวใจหลักคือ ‘การมองฟ้าเดียวกัน’ เนื้อหาที่สำคัญคือ ‘การมองต่างกัน’
‘ฟ้ายังฟ้าอยู่ (Blue Sky 2021)’ – “เราแทนอนาคตคือท้องฟ้า การที่เด็กมองเห็นฟ้าที่มืดครึ้ม แต่ผู้ใหญ่มองเป็นสายรุ้งสดใส มันเปรียบได้ว่า ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ อนาคตของเด็กคงมืดมนมาก เพราะคนที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปคือเด็กรุ่นหลังนี่แหละ แต่ผู้ใหญ่บางคนกลับเลือกจะปิดตาข้างหนึ่ง เห็นปัญหา แต่เลือกจะไม่มอง เหมือนเรามีข่าวสองฝั่งให้เสพ แล้วเขาเลือกจะเสพฝั่งที่เขาพอใจเฉยๆ
“เช่น คนเชียร์รัฐบาล ก็คงขุดคุ้ยหาข้อดีมาพูดจนได้ ว่าที่รัฐจัดหาวัคซีนไม่ได้ เพราะเขาทำได้เท่านี้ พยายามจนเหนื่อยแล้ว ฝั่งนี้จะโตมากับการชินที่จะก้มหน้าใช้ชีวิตต่อไป แต่อีกฝ่ายก็ตั้งคำถามว่า ที่ประชาชนจ่ายภาษีไป หรืองบประมาณเยอะแยะขนาดนั้น ทำไมทำได้แค่นี้ จึงไม่แปลกที่คนรุ่นนี้จะโตมากับการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม”
‘เธอเห็นท้องฟ้านั้นไหม (Do you see the sky? 2021)’ – “เช่นเดียวกับผลงานชิ้นนี้ที่ผู้ใหญ่มองฟ้าแล้วเห็นเทวดา นางฟ้า บนสวรรค์ ล้อไปถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยก่อนที่คนศรัทธา หลงใหลในศิลปะแบบเดิมๆ ส่วนเด็กมองฟ้าขึ้นไป แน่นอนไม่เห็นอะไร เห็นแต่แม่มด ผีสิง”
‘ใต้ฟ้าเดียวกัน (At the moment 2021)’ – “ภาพนี้เราจะเห็นว่า เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนกำลังมองผู้ชมนิทรรศการอยู่ พวกเขากำลังส่งเสียงว่าเขาไม่โอเคผ่านการร้องไห้ โมโห ในขณะที่ผู้ใหญ่ยิ้มร่าและหัวเราะ
“อย่างว่าเด็กๆ จะไม่ร้องไห้ยังไงไหว ก็เขาไม่ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีพอแม้พ่อแม่จะเสียภาษี และอนาคตพวกเขาก็ต้องเสียภาษี เราทราบกันดีว่าถ้าให้ทุกคนรวยเท่ากันหมด คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยประชาชนทุกชนชั้นต้องเข้าถึงความสะดวกสบายพื้นฐาน
“ตอนนี้คนที่สบายคือคนรวย มีรถใช้ คนต่างจังหวัดบางคน สมมติอยากดูนิทรรศการเราวันนี้ เขาก็มาไม่ได้แล้ว มันเสียดสีตั้งแต่ตรงนี้แล้ว”
05 การเมือง การละคร
ฉันสะดุดตากับภาพวาด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ลำพูวาดให้ทั้งคู่เป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย กำลังจะจุมพิตกัน โดยมีคนดู (ประชาชน) แสดงอารมณ์ต่อภาพตรงหน้าต่างกัน บางคนตกใจ โกรธ และขำ
‘ฉายแล้ววันนี้ (Horror Comedy 2021)’ ลำพูตั้งใจสื่อสารว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้ เหมือนเรากำลังดูภาพยนตร์กันอยู่ ที่แต่ละวัยจะรู้สึกไม่เหมือนกัน ผู้สูงอายุบางคนอาจจะหัวเราะ เด็กอาจจะร้องไห้ หรือผ่านไปสักครึ่งเรื่อง เด็กอาจจะหัวเราะ และผู้สูงอายุแปรเปลี่ยนมาร้องไห้ก็ได้
“ที่เราเลือกการจุมพิตกัน ซึ่งการ์ตูนเจ้าหญิงมักจะมี เพราะเรามองว่าการเมืองเป็นเรื่องฉาบฉวย คนที่บอกว่าจะทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนี้ สัญญากับประชาชนไว้ว่าจะทำให้ได้ แต่พอได้อำนาจไป ก็ไม่ทำ มันเหมือนนิทานหลอกเด็ก ก็ต้องรอดูว่าในอนาคตนิทานเรื่องใหม่ๆ จะเกิดขึ้นแบบไหน แต่ที่แน่ๆ นิทานเรื่องปัจจุบัน เพ้อฝันไปแล้ว” ลำพูอธิบายยิ้มๆ
06 คุณพระ! (Holy shit 2021)
หลังจากเราทั้งคู่เดินชมนิทรรศการมาสักพัก ลำพูบอกว่างานของเธออาจชวนตั้งคำถามกับพ่อแม่บางครอบครัวได้ว่า ถ้าลูกคิดต่าง ก็ไม่ควรก้าวล้ำลูก และเปิดใจมองมุมที่ลูกรู้สึกได้บ้างว่าพวกเขาเห็นอะไร (ถ้าเป็นไปได้)
ลำพูหยุดเดินและชี้ไปทางภาพ ‘คุณพระ! (Holy shit 2021)’ ที่เป็นภาพพระกำลังกรวดน้ำในพิธีงานแต่งของบ่าวสาวคู่หนึ่ง ซึ่งเจ้าบ่าวกำลังจะโดนผู้หญิง (เมียหลวง) เตะเข้าให้!
“เรื่องตลกคือสังคมไทยที่นับถือพุทธเป็นส่วนใหญ่ จะเลือกเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อจริงๆ นะ อย่างภาพสถานการณ์การคบซ้อนในไทย มันเกิดขึ้นบ่อย ที่ผู้ชายแอบไปแต่งงานอีกรอบกับเมียอีกคน ซึ่งในภาพจะเห็นว่าเมียยกมือไหว้พระก่อนเลย เพราะเชื่อว่าจะได้บุญ แต่เท้ากลับกระทืบผัวตัวเอง มันมีความงงๆ อยู่นะกับสังคมเมืองพุทธ (หัวเราะ)”
ถ้าต่างคนเลือกที่จะต่างคนต่างเชื่อในสิ่งที่เฮ็ดแบบนี้ จุดจบจะเป็นยังไง ลำพูก็ยังไม่รู้ เธอเพียงบอกว่าให้คนดูนิทรรศการ เป็นคนเดาคำตอบกันเอง แต่จงจำไว้ว่าเห็นต่างกันไม่ผิด แต่การทำร้ายกันน่ะ ผิด
“ประชาธิปไตยไม่ได้มาแค่วันสองวัน แต่สิ่งสำคัญคือ เราควรมุ่งมั่นในสิ่งที่เราตั้งใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อยากไปม็อบ เรียกร้องความยุติธรรม เราก็ไป อยากพูดถึงปัญหา เราก็พูด ส่วนคนที่อยู่อีกฝั่งก็ควรเคารพความเห็นต่าง ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน” ลำพูฝาก
เข้าชมผลงานชิ้นอื่นๆ เพิ่มเติมในนิทรรศการ ‘เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ’ ฟรี ได้ตั้งแต่วันนี้ – 25 กรกฎาคม 2564
วันอังคารถึงอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.
ชั้น 3 เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์