ลำกระโดงสโมสร พายเรือไปรู้จักแม่กลอง - Urban Creature

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว วันเดียวกับที่กรมอุตุฯ ประกาศว่าฤดูหนาวมาถึงแล้ว อากาศยามเย็นของแม่กลองพอจะกล่าวได้ว่าเย็นสบาย มีสายลมอ่อนโบกโบยเป็นระยะ และฝนเจ้ากรรมทำท่าว่าจะยังไม่หนีหายไปไหน ส่อเค้าลางเป็นเมฆสีดำที่ลอยอยู่ไกลๆ และเรดาร์น้ำฝนจากแอปพลิเคชันก็การันตีเลยว่าราตรีนี้ไม่รอดแน่ 

“โห กำลังมาเลย” ก๊อก-กึกก้อง เสือดี ชายหนุ่มเจ้าของคลับลำกระโดงสโมสรกล่าวก่อนเดินไปที่ท่าน้ำของ อบต.แหลมใหญ่ เพื่อยกเรือคายัคสีสดลงจากหลังคารถเอสยูวี ก่อนจะอธิบายทีมงานผู้ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับการคมนาคมทางน้ำที่คราวนี้ต้องรับบทเป็นฝีพายถึงเทคนิคในการพายเรือให้ได้แรงดี กฎความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน พร้อมอธิบายเส้นทางคร่าวๆ ให้ฟัง

เริ่มต้นด้วยเลาะไปตามท่าเรือที่สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยเรือหาปลาลำใหญ่ ต้านทางน้ำขึ้นดูประวัติศาสตร์ชุมชนแม่กลอง หยุดอยู่ริมฝั่งนั่งบนเรือเพื่อขอผูกมิตรกับหิ่งห้อยที่วิบวับราวกับแสงไฟจากงานเทศกาล ก่อนจะไหลตามสายน้ำกลับสู่จุดเริ่มต้น ทั้งหมดนี้คือน้ำจิ้มจากลำกระโดงสโมสรที่เราจะได้เจอกันในวันนี้ 

“เราอธิบายความเป็นแม่กลองจากการพายเรือร่วมกัน วันนี้เรามาที่แหลมใหญ่ก็เลยชวนเป้ (ชาวแม่กลองอดีตนักกีฬาคายัคที่วันนี้เป็นไกด์กิตติมศักดิ์) มาด้วย อยากให้เป้ได้เห็นศักยภาพของบ้านตัวเองว่าเราตื่นเต้นกับสิ่งที่เขามีนะ (ยิ้ม) มันเป็นโอกาส เป็นอนาคต แล้วเราจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไรจากสิ่งที่เรามีอยู่ เราจะพามันไปด้วยได้อย่างไร”

ตะวันทำท่าจะคล้อยต่ำ เรากระชับเสื้อชูชีพสีส้มก้าวลงบันไดอย่างมั่นคง แล้วขึ้นเรืออย่างโคลงเคลงตามประสาคนไม่คุ้นเคย เมื่อจำนวนสมาชิกครบถ้วนไม้พายก็เริ่มออกแรงต้านสู้กับสายน้ำ เรือคายัคทั้งแบบสมัครเล่น มืออาชีพ และกระดานซัปบอร์ดไหลไปข้างหน้าทีละนิด เมื่ออยู่ติดผิวน้ำเรือแต่ละลำใหญ่ขึ้นถนัดตา และหนึ่งวันกับลำกระโดงสโมสรก็เริ่มต้นขึ้น…

01 ปฐมบทลำกระโดง

เราเดินทางกันอย่างไม่เร่งรีบ เสียงพายกระทบน้ำ ควบคู่ไปกับเสียงสนทนาที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของผู้มาเยือน หากฟังจากที่พี่ก๊อกเล่า เรารู้สึกได้ว่าแม่กลองเป็นเมืองที่เต็มไปด้วย Active Citizen ที่พยายามทำสิ่งที่ตัวเองถนัดในการพัฒนาให้เมืองดีขึ้น แน่นอนว่าลำกระโดงสโมสรก็เป็นหนึ่งในนั้น 

“แม่กลองเรามีฐานเป็นคนขับเคลื่อนเมืองอยู่แล้ว ตั้งแต่ประชาคมคนรักแม่กลองที่รวมตัวกันทำเรื่องสิ่งแวดล้อม มนต์รักแม่กลองที่เป็นสื่อที่อยากเล่าเรื่องบ้านเมืองและอาหารซึ่งผมก็อยู่ในนั้นด้วย เรายังมีคนที่ขายน้ำปลาแล้วเล่าเรื่องป่าชายเลน มีชาวนาเกลือที่เล่าเรื่องการทำนาเกลือบนที่ดินริมถนนพระราม 2 ซึ่งกำลังถูกคุกคามหลายด้าน

“เราเป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องคลองเรื่องเส้นทางน้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรายังรู้สึกว่าแม่น้ำลำคลอง แพรก ลำราง และลำกระโดงมันเป็นทั้งประวัติศาสตร์ระดับชาติ ประวัติศาสตร์ระดับท้องถิ่น ประวัติบุคคล และเป็นการหาอยู่หากินของคนแม่กลอง  หลายเรื่องที่เราเคยได้ยิน เคยเห็นแต่ในหน้าหนังสือ ก็ได้มาทำความเข้าใจอีกครั้งผ่านการพายเรือ ซีนต่างๆ ที่ประวัติศาสตร์เล่าถึงเราก็เห็นมันได้จากกลางน้ำ นอกจากนั้นเรายังคิดว่านอกจากอดีต ทางน้ำที่เชื่อมโยงเป็นไยแมงมุมทั้งหมดนี้ยังเป็นอนาคตของเมืองด้วย”

นอกจากชื่อสโมสร  ลำกระโดงที่พี่ก๊อกพูดถึงก็คือระบบนิเวศบริเวณปากแม่น้ำ ลำน้ำที่เล็กที่สุดจะถูกเรียกว่าลำกระโดงที่เป็นเส้นทางสัญจรขนาดเล็ก และมีหน้าที่หลักคือผันน้ำจากแม่น้ำหรือคลองหลักเข้าไปยังสวน และประสานเมืองทั้งเมืองให้เชื่อมถึงกันหมด ในฐานะคนที่อยากจะเชื่อมเมืองแต่ละส่วนแต่ละมิติเข้าด้วยกัน ก็คงไม่มีชื่อไหนเหมาะสมกว่านี้อีกแล้ว 

02 พลบค่ำ จิบน้ำตาลสด

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นครับว่าลำกระโดงสโมสรคือวันแมนคลับ ที่เมื่อถึงเวลาลงสนามก็จะอาศัยการยืมตัวผู้เล่นท้องถิ่นที่มีความชำนิชำนาญเส้นทาง และคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดีเพราะเกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ริมฝั่งมาโดยตลอด 

โป๊ะเก่า แพปลา กระชังเลี้ยงกะพง เรื่องราวมากมายไหลผ่านไปกับสายน้ำ เราพายเรือล่องไปตามพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีพี่เป้ที่เป็นชาวแหลมใหญ่โดยกำเนิดเล่าเรื่องราวที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษคลอไปตลอดทาง ตะวันเกือบลับขอบฟ้าเมื่อเรามาถึงทางแยก หัวเรือเอกอย่างพี่เป้พายนำหน้าไปทางซ้ายก่อนจะหยุดพักที่เท้ง (คนแม่กลองเรียกโป๊ะแบบที่คนเมืองอื่นเข้าใจว่า เท้ง) ใกล้สะพาน ระหว่างที่สายตาเริ่มทำความคุ้นชินกับความมืด ไกด์ของเราหยิบน้ำตาลมะพร้าวสดที่ต้มใส่ขวดแก้วมาแจกจ่ายให้ชื่นใจระหว่างพักเอาแรง

“เพิ่งต้มมาเลยครับ” จริงอย่างที่พี่เป้ว่า ขวดน้ำตาลสดยังอุ่น ส่งกลิ่นหอมเตะจมูกเมื่อคลายฝาเกลียว เมื่อชิมดูก็พบว่ามีความเค็มแฝงตามลักษณะพืชผลที่ปลูกใกล้กับทะเล ยอมรับแต่โดยดีว่าน้ำตาลโหลนี้หวานชื่นใจและพอจะเรียกได้ว่าอร่อยที่สุดที่เคยลิ้มลอง พักไม่นานเราผลักเรือออกจากเท้ง ล่องไปตามเส้นทางน้ำที่ต้นโกงกางเริ่มกินพื้นที่สองฝั่ง และนอกจากเสียงรถที่วิ่งสวนไปมา เราแทบจะลืมไปแล้วว่าอยู่ใกล้ถนนพระราม 2 มากแค่ไหน 

“เมืองที่มันก้ำกึ่งระหว่างชนบทกับความเจริญมันเหมือนอยู่บนทาง 2 แพร่ง ว่าจะเอายังไงดี เราคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมากว่าเขาจะอยู่กับสิ่งที่ตัวเองมีได้อย่างไร จะมีอนาคตแบบไหน จะพาดอนหอยหลอด พาหิ่งห้อย พาลำกระโดง หรือสิ่งที่คนคิดว่าเก่าเหล่านี้ไปด้วยได้ไหม เพราะมันก็คืออนาคตของเมือง จะเอาน้ำท่วมไปไว้ตรงไหนถ้าไม่มีคลอง ภัยพิบัติจากทะเลจะทำอย่างไรถ้าไม่มีพื้นที่รับน้ำ นอกจากการท่องเที่ยวเราก็อยากจะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้คนคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีค่า การท่องเที่ยวเป็นแค่เครื่องมือเดียวเท่านั้น” พี่ก๊อกเล่า 

ลำกระโดงสโมสรใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือเพื่อการสื่อสาร อย่างแรกคือบอกให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสแม่กลองในอีกมิติหนึ่ง และอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันและอาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำคือการทำให้คนแม่กลองรู้ว่าพวกเขามีของดีอยู่ในมือ 

“เราไปบางคนทีก็ต้องชวนคนสวนมะพร้าวมาพาไป ให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มีคนสนใจ อีกทางหนึ่งเราก็อยากให้คนที่ไปพายเรือด้วยกันรู้ว่ามีคนเล็กคนน้อยทำอะไรแบบนี้อยู่เต็มบ้านเต็มเมืองเลยนะ ถ้าได้เห็นสิ่งเหล่านี้วันหนึ่งเขาอาจจะเป็นคนที่เข้าไปกำหนดนโยบายระดับประเทศก็ได้ วันหนึ่งอาจจะเป็นกรมชลประทาน เป็นคนสร้างประตูน้ำ ก็จะได้รู้ว่าระบบนิเวศกับคนมันซับซ้อนกว่าที่คนข้างบนคิด

“เมื่อก่อนเราอยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วๆ เรามุทะลุ คิดใหญ่ แต่เรารู้สึกว่าพอมันโตมันแก่ขึ้นมาแล้วเนี่ย (หัวเราะ) ก็คิดใหญ่เหมือนเดิมแต่ว่าทำเล็กๆ ที่มันอยู่ในมือเราดีกว่า ชวนคนมาสนุกสนานกันแล้วก็สอดแทรกประเด็นเหล่านี้เข้าไป”

03 อุโมงค์ต้นไม้และสายฝน

ภูเขากับต้นไม้ ท้องฟ้ากับเมฆสีขาว พระจันทร์กับดวงดาวคู่กันฉันใด อัมพวากับหิ่งห้อยก็คงผูกมิตรกันฉันนั้น ในอดีตหิ่งห้อยถูกพบได้ง่ายและมีจำนวนเยอะกว่านี้มาก แต่ปัจจุบันประชากรหิ่งห้อยมีจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเต็มไปหมด ทั้งจากยาฆ่าแมลงหรือแสงไฟที่ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ อย่างผมเองที่เป็นคนสมุทรปราการก็เคยมีหิ่งห้อยวนเวียนอยู่แถวบ้านในวัยเด็ก แต่ก็ไม่ได้มีให้เห็นมานานมากๆ แล้ว 

กระแสน้ำเบาลงเริ่มจะนิ่ง เวลาหัวค่ำ ณ เมืองแม่กลอง มีแสงไฟวิบวับโผล่มาให้เห็นจากต้นลำพู จุดที่เมื่อวันก่อนพี่เป้และพี่ก๊อกได้พายเรือสำรวจเส้นทางก่อนจะพาพวกเรามาถึง ชาวแหลมใหญ่อย่างพี่เป้เล่าว่าคุ้นเคยกับหิ่งห้อยมาตั้งแต่เด็ก และการพายเรือมาดูจะทำให้เราเข้าใกล้ได้มากกว่าเพราะไม่มีเสียงเครื่องยนต์รบกวนเหมือนการนั่งเรือมาดู 

“เขาอยู่ต้นไหนก็จะอยู่ต้นนั้นตลอดเลยครับ ถ้าเราเจอแล้วว่าอยู่ต้นไหนก็พามาดูได้ตลอด” พี่เป้เล่า

ท่ามกลางความมืดมิดที่พายกันออกมาห่างจากบ้านเรือน แสงของหิ่งห้อยค่อนข้างจะโดดเด่น ต้นไหนที่มีประชากรหิ่งห้อยเยอะเป็นพิเศษก็มองเห็นกันตั้งแต่ไกล แต่ชมแสงสีได้ไม่ทันไรฝนก็ค่อยๆ โปรยลงมา ระลอกแรกก็ยังเบาพอให้เย็นสบาย แต่ผ่านไปนานเข้าชักเริ่มหนักจนต้องไปอาศัยหลบอยู่ตามไม้ใหญ่ 

พายไปหลบไปกันได้สักระยะฝนก็เริ่มเบาเม็ด ประธานสโมสรก็ขนาบข้างมาถามความสมัครใจว่าอยากเข้าอุโมงค์ต้นไม้หรือเปล่า เพราะเส้นทางที่จะพายเรือกันไปถ้าให้เปรียบกับถนนก็เหมือนกับทางลูกรัง อาจจะมีโคลนบ้างเป็นบางจุด มั่นใจได้ว่าทุลักทุเลกว่าถนนใหญ่แน่นอน แต่ว่าไหนๆ ก็มากันแล้ว ฝนก็เปียกไปทั่วทั้งตัวแล้ว เจอทางลำบากอีกหน่อยจะเป็นอะไรใช่ไหมครับ 

แล้วก็เข้าใจถึงคำเตือน… 

เราเจอทางเข้าที่ไม่เหมือนทางเข้า (ฮา) เพราะต้นไม้ขึ้นค่อนข้างหนาแน่น แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวหรอกครับเพราะมีพี่เป้คนท้องถิ่นมาด้วยแถมเบิกทางไปก่อนเรียบร้อย ทางในอุโมงค์ต้นไม้นี้จะแคบสักหน่อย มีบางช่วงที่ค่อนข้างตื้นอาจจะพายไม่ถนัด ต้องอาศัยดึงต้นไม้ไปข้างหน้าบ้าง ดันตัวเองออกจากฝั่งบ้างก็ว่ากันไป ว่ากันตามตรงคือสนุกใช้ได้เลย เราใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็พ้นมาออกอีกฝั่งพร้อมกับฝนที่หยุดเม็ดให้ความรู้สึกราวกับหลุดมาอีกโลกหนึ่ง สิ่งที่สายฝนทิ้งไว้ให้คือความเย็นจนเราพายเรือได้อย่างสบายและประชากรหิ่งห้อยของคลองฝั่งนี้ก็ถือว่ามากเป็นพิเศษ มีให้ชมกันจนหนำใจ

04 พายเรือตามฤดูกาล

เวลาผ่านไปแบบไม่ทันตั้งตัว เส้นทางดูหิ่งห้อยสายนี้เป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายเส้นทางที่ลำกระโดงสโมสรตั้งใจทำออกมาเพื่อให้พวกเรารู้จักและใกล้ชิดแม่กลองมากขึ้น ตัวพี่ก๊อกเองก็อาศัยการศึกษาดูเส้นทางจากหลายแหล่ง มีตั้งแต่เปิด Google Maps ไปจนถึงค้นคว้าจากแผนที่เก่าหลายฉบับ

“เราว่าทริปแบบนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน คงต้องเป็นคนที่แสวงหาการท่องเที่ยวแบบทางเลือก อยากที่จะใช้เวลากับอะไรบางอย่างโดยที่ไม่ต้องรีบไปไหน มาถึงก็ต้องยอมที่จะเปียก (หัวเราะ) ยอมที่จะเรียนรู้และเหนื่อย เราก็ยืนบนมาตรฐานความปลอดภัยอยู่แล้ว มีเซฟตี้พื้นฐานรองรับ

“อย่างวันนี้น้ำขึ้นตอนเย็นและนิ่งพอที่เราจะพายกันได้ ถึงเวลาที่เราเข้าไปในคลองน้ำจะลง หรือจะลงก่อนเราไปถึงก็จะพายต้านน้ำหน่อยหนึ่ง แต่ว่าขากลับเราจะไม่เหนื่อยเพราะไหลตามน้ำกลับมาพอดี ระบบน้ำขึ้นน้ำลงนี่สำคัญมากเวลาจะทำทริป มาแม่กลองจะพายเรือทุกเวลาไม่ได้ ป่าชายเลนจะพามาทุกฤดูไม่ได้ ก่อนหน้านี้น้ำก็ลงตอนกลางวันถ้าจะลงไปพายมันก็แห้ง ก่อนหน้านี้จะเป็นฤดูทะเล ตอนนี้เป็นฤดูสวน เราว่าการท่องเที่ยวตามฤดูกาลก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน ที่อยากให้คนเข้าใจตั้งแต่ยังไม่ได้มาด้วยซ้ำ เป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้”

ตอนนี้ผมเริ่มเข้าใจคำว่าลำกระโดงทั้งในเชิงของกายภาพและวัฒนธรรม และแม่กลองยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้เราได้ค้นหา เราโดนป้ายยากันยกใหญ่เกี่ยวกับป่าของผู้ใหญ่แดง การพายเรือบนแม่น้ำเรืองแสง หรือทริปชมทางช้างเผือกก็มีให้คุณเช่นกันที่สมุทรสงคราม 

05 นครที่ควรจะหลับใหล

“เมื่อก่อนจะมีคำว่านครที่ไม่เคยหลับใหล แต่เราว่ามันเชยไปแล้ว” 

นครที่ไม่หลับใหลคือสัญลักษณ์ของความเจริญจากหัวเมืองใหญ่และประเทศชั้นนำทั่วโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแสงนีออนกลับเป็นมลภาวะที่ทำร้ายระบบนิเวศของเมืองมากกว่า ไม่ใช่แค่ผู้นำเที่ยวเพราะตลอดทางที่คุยกันมาตั้งแต่ทักทายกันบนบกจนถึงผจญภัยร่วมกันบนสายน้ำ เราไม่ได้มองเห็นไกด์แต่มองเห็นพลเมืองที่อยากเปลี่ยนบ้านเกิดของตัวเองให้ดีขึ้น 

“เรามีเป้าหมายหลายอย่าง อย่างแรกเรามีความตั้งใจเป็นของตัวเองว่าอยากอัปเดตแผนที่เส้นทางน้ำในสมุทรสงครามให้เสร็จเร็วๆ นี้ อีกอย่างหนึ่งก็อยากให้เป็นธุรกิจเหมือนกันนะ เพราะการที่จะทำให้มันอยู่รอดได้ หรือจะชวนให้คนอื่นเข้ามาร่วมด้วยมันก็ต้องเป็นธุรกิจ ถ้าวันหนึ่งเรามีพาร์ตเนอร์มีเรือเยอะเราก็จะไปไหนก็ได้ 

“อย่างผู้ใหญ่แดงมีเรืออยู่แล้วเราก็ไปดูแลให้ หรือที่นี่ยังไม่มีเรือเราก็หาให้ เราอยากให้มันเป็นธุรกิจเพื่อรันวงการนี่แหละ แต่ว่าเรือลำละเท่าไหร่เหรอถึงจะทำได้ (หัวเราะ)”

ขอบคุณ : เรือคายัคจากโรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลน กลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลนบางแก้ว

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.