แม้จะไม่ได้ใหญ่และมีมากเหมือนในกรุงเทพฯ แต่การกระจายตัวของพื้นที่แสดงศิลปะในต่างจังหวัดนั้นถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีและน่าจับตามอง
ดังจะเห็นได้จากทางภาคใต้ที่มี ปัตตานี อาร์ตสเปซ และ หอศิลป์เดอลาแปร์ นราธิวาส ส่วนภาคเหนือมีพื้นที่ศิลปะกระจายตัวทั่วสารทิศทั้งเชียงใหม่และเชียงราย หรือจังหวัดเล็กๆ อย่างพะเยาก็มี ARTCADE
ฝั่งอีสานก็เป็นที่เลื่องชื่อในด้านการผลักดันศิลปะไม่แพ้กัน อย่างที่โคราชมีเทศกาลศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale ขณะเดียวกัน ขอนแก่นก็มีนิทรรศการศิลปะโด่งดังชื่อ มานิเฟสโต้ (KhonKaen Manifesto) ยังไม่นับรวมพื้นที่แสดงศิลปะ ทั้งหอศิลป์มหาวิทยาลัย แกลเลอรีอย่าง ใหม่อีหลี และ YMD Art Space อันเกิดจากการผลักดันของกลุ่มเพื่อนศิลปินที่ช่วยกันสร้างพื้นที่ศิลปะ จนแตกกิ่งก้านเป็นเทศกาลศิลปะ S.O.E Our City Old Town แก่น เก่า เก๋า ที่เลือกใช้พื้นที่ในเมืองและชุมชนเก่าแก่ฝั่งทิศตะวันตกของบึงแก่นนคร ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในการจัดงาน
ในวันเวลาที่เมืองขอนแก่นกำลังเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง เราขอชวนไปฟังเสียงของสองศิลปินตัวแทนกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ที่ร่วมด้วยช่วยกันผลักดัน และขับเคลื่อนให้ขอนแก่นได้มีพื้นที่ทางศิลปะ นั่นคือ ‘ต้อง-อุกฤษฏ์ จอมยิ้ม’ อาจารย์ประจำสาขาศิลปะภาพถ่าย จากวิทยาลัยการออกแบบ ม.รังสิต และ ‘ตั้ม-มนพร รอบรู้’ ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวขอนแก่น ที่ยังคงนำทัพทำงานสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชนกับโปรเจกต์ล่าสุดชื่อ ‘KULTX Collaborative Space’
จาก YMD ถึง KULTX (ฆัลX)
“ทำไมในเมืองใหญ่อย่างขอนแก่นถึงมีพื้นที่การแสดงศิลปะ หรือการแสดงออกทางความคิดน้อยเหลือเกิน”
เพื่อตอบคำถามนี้ ตั้มและกลุ่มเพื่อน จึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะแบบกองโจรไปยังสถานที่ต่างๆในขอนแก่น จนเมื่อถึงจังหวะที่ลงตัว กองโจรก็จัดตั้งฐานทัพทางศิลปะชื่อ YMD (Your Mother Die) Art Space ขึ้นในปี 2017
หลังจากนั้น กลุ่มเพื่อนและเครือข่ายศิลปินก็ร่วมกันแชร์ไอเดียแลกเปลี่ยนวางแผนกัน จนเกิดมูฟเมนต์ของพื้นที่ศิลปะทางฝั่งอีสาน โดยก่อร่างสร้างพื้นที่แห่งนี้จนมีงานนิทรรศการของนักศึกษาและศิลปินหลากหลายรูปแบบ รวมถึงงานใหญ่อย่างเทศกาลศิลปะ S.O.E Our City Old Town 2021 แก่น เก่า เก๋า ที่ทำให้ชุมชนเมืองเก่าขอนแก่นมีสีสัน และเป็นส่วนหนึ่งของแรงกระเพื่อมต่อการเติบโตของแวดวงศิลปะในขอนแก่นอย่างที่ทุกคนวาดหวัง
เป็นเวลากว่า 5 ปีที่พวกเขาได้ลงทุนลงแรงร่วมกัน ในที่สุดพื้นที่ศิลปะในจังหวัดขอนแก่นแห่งนี้ก็ประกาศปิดตัวลง
“หลังจบเทศกาล S.O.E YMD มีความจำเป็นต้องปิด แต่พวกเราคนทำงานยังรู้สึกสนุกกันอยู่ เลยคิดว่าจะเปิดพื้นที่ศิลปะในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้มีพื้นที่ศิลปะมากขึ้น ลองทำงานรูปแบบอื่นที่แตกต่างไปจากที่เคยทำ” ตั้มบอกเล่าที่มาที่ไปของโปรเจกต์ที่กำลังทำ
“จากเทศกาล S.O.E มีข้อผิดพลาดที่ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าเราไม่สามารถดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างที่ต้องการ” ต้องเสริมถึงการจัดงานครั้งที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19
ถึงฐานทัพจะปิดตัวลง แต่หัวใจในการทำงานยังสว่างอยู่เช่นเดิม ฉากเริ่มต้นของเฟรมใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ขนาดเล็กตรงสี่แยกในเมืองขอนแก่น ที่เคยใช้เป็นหนึ่งในจุดแสดงงานศิลปะของเทศกาลศิลปะ S.O.E ที่ผ่านมา
เจ้าของพื้นที่อย่าง ใหม่อีหลี อาร์ตสเปซสำคัญอีกแห่งหนึ่งในขอนแก่นที่ช่วยสนับสนุนทุนให้ทาง YMD ด้วยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าสนใจที่จะต่อยอดทำโปรเจกต์อื่นๆ ได้ จึงปรึกษาหารือกับตั้มและเพื่อนๆ ให้เดินหน้าทำโปรเจกต์ใหม่ ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นพื้นที่แสดงศิลปะชื่อ ‘KULTX Collaborative Space’ เพื่อขยายเรื่องราวของชุมชนและบริบทยิบย่อยให้มีเสียงดังขึ้น
ทำไมต้อง KULTX
จากข้อผิดพลาดครั้งเก่า ทำให้ KULTX แก้เกมด้วยการจัดโครงการ Open Calls โดยมีเป้าหมายที่จะเชิญศิลปินมาพำนักในพื้นที่เป็นช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้ศิลปินและชาวชุมชนได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยที่จะเข้ามาเป็นความปกติในวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งท้ายที่สุดศิลปินและชุมชนจะร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อจัดแสดงผลงานหรือทำบางอย่างเป็นอาชีพได้
“ศิลปินคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มองว่าศิลปะเป็นสิ่งเลิศเลอ แตะต้องไม่ได้ เมื่อพวกเขาลงพื้นที่ จะทำให้เข้าถึงและสัมผัสกับชุมชนง่ายขึ้น ได้ข้อมูลจากพื้นที่จริงมาประยุกต์และพัฒนางานศิลปะของพวกเขาต่อไป โดยมี KULTX ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ดึงศิลปินกับชาวบ้านเข้าหากัน” ต้องเล่า
อนุรักษ์ ธันยะปะลิต, อาทิตยาภรณ์ แสนโพธิ์, พรเทพ เพชรสัมฤทธิ์ และ วรัญยา ทองบ่อ คือ 4 ศิลปินที่มีแนวทางและการนำเสนอที่แตกต่างกัน ซึ่งวันนี้ KULTX ได้คัดเลือกศิลปินมาพำนักที่เมืองหมอแคนแล้วเรียบร้อย
“ตอนนี้จัดนิทรรศการแรกผ่านไปแล้วคืองานของ อนุรักษ์ ธันยะปะลิต เป็นโปรเจกต์ต่อเนื่องมาจากงานที่ศิลปินสนใจและทำอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับหัวข้อของ KULTX พอดี
“ตัวศิลปินมีความต้องการที่จะพูดเรื่องของการกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง ส่วนคนที่สองที่กำลังแสดงอยู่ตอนนี้ก็มีเนื้อหาคล้ายๆ และต่อเนื่องกัน แต่เป็นเรื่องของอำนาจกับความเจริญที่ไหลมาพร้อมกับพื้นที่รางรถไฟ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนตัวเล็กตัวน้อยริมทางที่ถูกมองข้าม ทั้งที่คนกลุ่มนี้ก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองเช่นเดียวกับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม อีกสองศิลปินที่เหลือเป็นเรื่องการเก็บข้อมูลพื้นที่ในเชิง Archive สำหรับแลกเปลี่ยนเทียบเคียงกับพื้นที่ต่างๆ ในเชิงประวัติศาสตร์
“KULTX เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของพื้นที่ศิลปะที่ขาดหายไป ทำให้มีโอกาสหาศิลปินหน้าใหม่ สร้างเครือข่าย และยังเป็นส่วนเชื่อมไม่ให้กระแสของศิลปะร่วมสมัยในขอนแก่นหายไป” ต้องสรุปวัตถุประสงค์
ฆัลXชุมชน
แม้ฟังดูเป็นโครงการที่ดี น่าส่งเสริม แต่ระหว่างทางการดำเนินงานไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะการทำงานกับชุมชนที่มีพื้นเพความสนใจต่างกันล้วนต้องใช้เวลากับแรงกายแรงใจที่มหาศาล
“เราหมั่นเข้าไปจัดกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้และบอกเล่าวิถีชีวิตของเขา โดยเอาออกมาแสดงให้คนภายนอกได้รับรู้ เราเข้าไปเชื่อมชุมชนด้วยความรู้ทางศิลปะที่มี เพื่อทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้และพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพได้
“แต่ด้วยความเป็นชุมชนที่ค่อนข้างเป็นสังคมเมือง จึงเป็นความยากลำบากที่จะเข้าไปสื่อสารและขอมีส่วนร่วม เพราะคนในชุมชนมีกิจกรรมส่วนตัวที่ต้องจัดการเยอะแยะไปหมด แต่เราก็ยังคงอาศัยตีมึนเข้าไปหาบ่อยๆ ไปคุย ไปเล่าให้ฟัง เพราะเราอยากให้เกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกันมากกว่านี้
“ในอนาคตเราอยากเรียบเรียงข้อมูลที่ได้รับเป็นหลักสูตร หรือชุดข้อมูลที่สามารถนำไปใช้งานเชิงปฏิบัติได้จริง เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่สนใจทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนแบบนี้ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด กลายเป็นเครือข่ายให้เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนหมุนเวียนองค์ความรู้กันได้ ระหว่างนี้ก็มีการเตรียมพร้อม เก็บข้อมูล และประสานงานต่างๆ สำหรับโครงการเทศกาลศิลปะ S.O.E ครั้งที่สองที่จะจัดในช่วงปลายเดือนมกราคมปีหน้าด้วย” ตั้มบอกเล่าความตั้งใจของเขา
ส่วนคอนเซปต์เทศกาลศิลปะ S.O.E ครั้งที่สองนั้น ต้องเล่าถึงภาพร่างให้เราฟังว่าจะพยายามทำให้เป็นเทศกาลศิลปะที่เชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ให้มากขึ้น
“เราจะพูดถึงความเฉพาะตัวของท้องถิ่นในเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น พูดถึงอีสานที่เคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาในแต่ละท้องถิ่น ผ่านการนำเสนอในรูปแบบของนายฮ้อย หรือคนที่คุมคาราวานวัวไปค้าขายต่างถิ่น เป็นการสื่อสารถึงวัฒนธรรมอีสานที่ขับเคลื่อนทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง และอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งขณะเดียวกันศิลปินเองก็เป็นเช่นนั้น แต่เป็นคนที่ขับเคลื่อนวัฒนธรรมทางศิลปะให้แต่ละพื้นที่”
ปัจจุบัน KULTX Collaborative Space พื้นที่แสดงศิลปะแห่งใหม่ในเมืองขอนแก่นกำลังเดินหน้าเปิดพื้นที่แสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ หมุนเวียนผลงานจากผู้คนทั้งในและนอกชุมชนมาให้ได้ชมกันอยู่ตลอด ทั้งยังมีกิจกรรมร่วมกับชุมชน วงเสวนาประเด็นที่น่าสนใจ ฉายภาพยนตร์ รวมถึงรวมกลุ่มทำอาหาร และแจมดนตรีกันด้วย
“หากเทียบกับพื้นที่ศิลปะอื่นๆ ที่มีชื่อของจังหวัด การสร้างซีนศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่ KULTX แม้จะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ แต่โดยรวมแล้วสิ่งที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ ทำให้คนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ทั้งคนทำงานศิลปะและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายเริ่มรับรู้ และนั่นคือเป้าหมายที่เราพยายามเชื่อมทุกฝ่ายให้เข้าถึงกันได้” ตั้มทิ้งท้าย
ในเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ของศิลปะกับชุมชนที่เหล่าคนทำงานสร้างสรรค์พยายามช่วยกันผลักดันอยู่นั้นจะเป็นไปได้ไหม ภาพเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเป็นความงามแบบไหนในอนาคตของเมืองใหญ่แห่งนี้ ลองไปสำรวจด้วยตาตัวเองได้ที่ KULTX Collaborative Space จังหวัดขอนแก่น
ขอขอบคุณภาพกิจกรรมและสถานที่จาก ฆัลX สามารถติดตามข่าวคราวต่างๆ ได้ที่ KULTX