KongGreenGreen อินฟลูฯ ไลฟ์สไตล์สายกรีน - Urban Creature

บ้านของ ‘ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ’ หรือ ‘ก้องกรีนกรีน’ เป็นทั้งบ้านและออฟฟิศที่กรีนสมชื่อ

หลังจากเปิดประตูบ้านต้อนรับ ก้องพาเราเข้าห้องทำงานของเขาที่เต็มไปด้วยไอเทมที่เราคุ้นเคยแต่กลับแปลกตา

“โคมไฟนี่ทำมาจากพลาสติกที่เคยเป็นกล่องข้าว บ้านแมวอันนั้นทำมาจากฝาขวด” ก้องแนะนำ

“เมื่อก่อนออฟฟิศอยู่แถวเลียบด่วน แต่บ้านเราอยู่แถวแจ้งวัฒนะ เราขับรถไปก็เปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ ทั้งพลังงานคนและพลังงานโลก เราเลยย้ายมาอยู่ที่นี่”

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์  tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

บทสนทนาประมาณนี้เป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้ฟังจากปากก้องอยู่แล้ว เพราะอย่างที่หลายคนรู้กันดี ก้องเคยเป็นพิธีกรรายการเปิดโลกอย่างกบนอกกะลา ก่อนจะผันตัวมาเปิดแชนเนล ‘KongGreenGreen’ เพื่อรณรงค์ให้คนแยกขยะกันมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน

วันนี้ก้องกรีนกรีนเติบโตจนมีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กเกือบ 3 แสนคน มีหลายคลิปใน TikTok กลายเป็นไวรัลที่มียอดวิวเป็นล้าน พูดได้เต็มปากว่าเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายกรีนแนวหน้า แนวทางของคอนเทนต์ในเพจยังขยับขยายไปเล่ามากกว่าเรื่องขยะ แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ก้องย้ำหลายรอบว่าใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

ในวาระที่ก้องเพิ่งได้รับเลือกเป็น 1 ใน 50 ครีเอเตอร์ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากโครงการ TikTok Change Makers เราถือโอกาสนี้มานั่งคุยกับก้องถึงความเชื่อเบื้องหลังการทำช่อง ล้วงเคล็ดลับการทำคอนเทนต์สิ่งแวดล้อมที่ขึ้นชื่อว่าเข้าใจยากให้สนุก เข้าถึงง่าย และไม่ทำให้ใครหลายคนเบือนหน้าหนี

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์  tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

คิดว่าเป็นเพราะอะไรที่คุณถูกเลือกเป็น 1 ใน 50 ครีเอเตอร์ของโครงการ TikTok Change Makers 

อาจเป็นเพราะคอนเทนต์ของเราน่าจะตรงกับแคมเปญที่เขาตั้ง นั่นคือ Change Makers หรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ก้องกรีนกรีนทำมาตั้งแต่ Day 1 คือเราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราเริ่มทำคนเดียวกับมือถือหนึ่งเครื่องในครัวที่บ้าน เพื่อที่จะเล่าเรื่องการแยกขยะ จะทิ้งไม้เสียบลูกชิ้นยังไงไม่ให้ไปตำมือพี่คนเก็บขยะ ถ้าแยกเศษอาหารแบบไหนจะจัดการง่ายขึ้น มันเริ่มจากสิ่งเล็กๆ แต่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้นเลย

คนที่เข้ามาดูเราต่างเป็นคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง หลายคนคอมเมนต์บอกว่าหนูเริ่มแยกขยะก็เพราะพี่ จากเรื่องที่เคยคิดว่าซับซ้อน มันเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ แล้วพอเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น เราก็เริ่มพูดถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น ทั้งเรื่องระบบ ธรรมชาติ พลังงานสะอาด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยการให้ความรู้และทักษะการเล่าเรื่อง เพราะเราเชื่อว่าความรู้จะเปลี่ยนแปลงคนได้

ทำไมคุณถึงเชื่อว่าความรู้จะเปลี่ยนแปลงคนได้

เราคิดว่าที่หลายคนไม่ทำ ไม่ใช่เพราะเขาไม่รักโลก ไม่แคร์สังคมนะ แต่จริงๆ คือเขาไม่รู้

คนที่ไม่ทำเพราะไม่รู้เยอะ เช่น เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องแยกขยะยังไง ไม่เคยมีใครบอกเรา แม้แต่ถังขยะก็ไม่บอก มีแค่สีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงิน แต่พอเปิดดูทุกอย่างก็ทิ้งรวมกันในนั้น เราไม่เคยถูกทำให้รู้ แต่พอมีช่องทางที่ให้ความรู้ เช่น ช่องหนึ่งที่เราชอบมากและเป็นเหมือนอาจารย์ของเราเลยคือ เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป พอมีเขาแล้วอยู่ๆ ก็เหมือนมีคนมาบอกว่าควรแยกขยะยังไง ต่อให้ต้องเสียเวลากว่าเดิมแต่มันมีคนทำตามนะ เราเลยเชื่อว่าความรู้ทำให้คนเปลี่ยนแปลงได้

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์  tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น คุณอยากรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบรักษ์โลกตั้งแต่ตอนไหน

เราเคยทำรายการสิ่งแวดล้อมที่พาให้ไปเจอคนสายกรีนหลายคน ทำให้เราได้รับแรงบันดาลใจมาและตั้งคำถามว่า เราเป็นคนทำรายการที่บอกคนอื่นให้รักษ์โลก ทำไมเราไม่ทำเองบ้าง แยกขยะยังไม่เคยแยกเลย มันก็ไม่ใช่คนเล่าเรื่องที่ดี

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลหลัก เหตุผลหลักคือ 2 – 3 ปีที่แล้ว ตอนเราไปเห็นบ่อขยะครั้งแรกในชีวิตตอนไปถ่ายรายการ เราเรียกมันว่าบ่อ แต่จริงๆ มันคือภูเขาขยะขนาดใหญ่โต ทำให้เห็นว่าขยะทุกชิ้นที่เราทิ้งออกจากบ้านกลายเป็นปัญหาให้กับโลก ภูเขาขยะนี้อาจจะไม่ได้อยู่ใกล้บ้านเรา แต่มันใกล้โรงเรียน ชุมชน แหล่งน้ำ แหล่งอาหารต่างๆ

เราช็อกเลยตอนเห็น พอขับรถเข้าไปแล้วได้กลิ่นโชยเข้ามา เราสงสัยว่าคนเหล่านั้นจะอยู่กันยังไง เขาต้องตื่นมาเจออะไรแบบนี้ทุกวัน มากกว่านั้น เราเชื่อว่าภูเขาขยะนี้ไม่ได้อยู่ที่นี่ไปตลอด เพราะเราสร้างขยะทุกวัน เมื่อมันเต็มภูเขาขยะก็ต้องหาที่ใหม่ไปเรื่อยๆ ภูเขาแบบนี้มันจะหมดไปเมื่อไหร่เราก็นึกภาพไม่ออก

ภาพนั้นทำให้เราสัญญากับตัวเองว่าจะไม่สร้างขยะมาสะสมที่นี่อีก และจะพยายามบอกคนอื่นให้ทำเหมือนกัน

สิ่งที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดเกี่ยวกับปัญหาขยะคืออะไร

คนชอบคิดว่าเป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง คนทิ้งชอบบอกว่าจะแยกทำไม สุดท้ายพี่รถเก็บขยะก็มาเทรวมกันอยู่ดี คนเก็บขยะก็จะบอกว่า ก็พี่ไม่แยก แล้วผมจะแยกยังไง คนที่กองขยะก็จะบอกว่าต้นทางไม่แยกมา ไปกันใหญ่

จริงๆ ปัญหาขยะเกี่ยวข้องกับทุกคน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค คนทิ้ง คนเก็บ คนที่ดูแลทั้งหมดนี้คือผู้ออกกฎหมาย คนที่จัดระบบในการจัดการขยะของแต่ละเมือง ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเห็นและจับมือกันแก้

ทีนี้กลับมาที่ว่า ปัญหาขยะทุกวันนี้เกิดจากอะไร อย่างแรกคือ ระบบจัดการขยะของไทย เราเลือกวิธีจัดการหลักโดยการเทกองฝังกลบ ซึ่งมีมากกว่า 2,000 แห่ง และในจำนวนนั้นมี 90 เปอร์เซ็นต์ที่จัดการได้แบบไม่ถูกต้อง เราไม่รู้ว่าทำไมบ้านเราถึงเลือกวิธีนั้น เคยไปดูต้นทุนก็ไม่ได้ถูก หรือเพราะมันง่าย หรือเพราะอะไร

พอไม่มีวิธีการปลายทางที่ชัดเจน คนเก็บขยะเขาก็ไม่รู้ว่าจะแยกขยะไปเพื่ออะไร เพราะสุดท้ายก็ไปเทลงภูเขาอยู่ดี แต่จริงๆ พี่รถขยะหลายคันเขาก็แยกนะ หลักๆ แยกวัสดุรีไซเคิลเพื่อเอาไปสร้างรายได้เสริม แต่ไม่ได้มีกฎที่บังคับให้แยกขยะทุกคัน

พอไม่มีกฎ คนทิ้งก็ไม่ต้องแยกและทิ้งรวมไปอยู่อย่างนั้น สุดท้ายย้อนกลับไปที่ต้นน้ำ บ้านเราไม่ได้มีกฎหมายที่จะควบคุมการออกแบบ ผลิต และขายสินค้าให้ลดขยะให้เหลือน้อยที่สุด หรือเลือกวัสดุที่จัดการยากมาใช้ เช่น แก้วกาแฟพลาสติกที่แต่ละร้านก็ใช้พลาสติกหลายชนิด ทุกคนต่างมีอิสระในการผลิตขยะ และไม่มีใครเริ่มแก้ที่ตัวเองเลย แต่การแก้ไขมันต้องไปพร้อมกันทั้งระบบ

หลังจากเจอภาพภูเขาขยะ ไลฟ์สไตล์ของคุณเปลี่ยนไปยังไง

เราเข้าใกล้คำว่ามนุษย์ที่เป็น Zero Waste to Landfill (ขยะสู่แหล่งฝังกลบเป็นศูนย์) เราจะไม่ส่งขยะในชีวิตประจำวันไปที่หลุมฝังกลบ โดยเราแยกขยะได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ รถยนต์ก็เปลี่ยนมาใช้รถ EV ส่วนออฟฟิศก็ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ คือทำให้คลีนที่สุด

เรื่องไม่รับถุงก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ถ้าวันไหนออกไปข้างนอกโดยใช้รถ จะเห็นได้ว่าหลังรถเรามีปิ่นโต ถุงผ้าช้อปปิงขนาดใหญ่เล็ก กระบอกน้ำ หรือวันไหนที่ไม่ได้เอารถไป ในกระเป๋าก็จะมีถุงผ้าเล็กๆ แก้ว หลอด และช้อนส้อมพกพา ถ้ารู้ว่าวันไหนต้องไปซื้อของกินจะเตรียมกล่องพับได้ไปด้วย เตรียมพร้อมตั้งแต่แรก

แต่ถ้าวันไหนต้องมีขยะจริงๆ เราจะเก็บมาทิ้งที่ออฟฟิศ พยายามไม่ทิ้งขยะเพื่อให้ไปกองอยู่กับหลุมฝังกลบ เพราะเรารู้ว่าขยะในออฟฟิศของเราจะไปไหนต่อ

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์  tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

มีวันที่คุณหลุดหรือเผลอไปทำอะไรบางอย่างที่ขัดกับความเชื่อและทำร้ายโลกบ้างไหม

มีแหละ เพราะมันทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เกิดในกรณีขยะของคนรอบตัวด้วย เช่น สมมติว่าเราไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้สนิทกันหรือญาติผู้ใหญ่ แล้วเขาสั่งอาหารใส่กล่องโฟมมา เราก็ไม่สามารถไปควบคุมเขาได้ แต่เราจะพยายามรับผิดชอบส่วนของเราให้ได้มากที่สุด

แต่ถามว่าเคยมีหลุดไหม บางครั้งอาจจะมีใช้ช้อนส้อมพลาสติกบ้าง หรือบางครั้งเจอแม่ค้าที่คะยั้นคะยอให้เอาอาหารใส่ถุงพลาสติกเพราะไม่อยากให้เลอะ แต่สุดท้ายเราก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำยังไงกับขยะชิ้นนั้นต่อ จะเก็บกลับมาไหม ไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่รวมถึงน้องๆ ในออฟฟิศด้วย

คุณใช้แนวคิดไหนในการผลักดันให้ตัวเองมีไลฟ์สไตล์แบบกรีนๆ ได้ทุกวัน

บางคนบอกว่าเขาจะ ‘กรีนเท่าที่คุณทำได้’ ซึ่งถูกแล้ว เพราะจะทำให้เขาไม่กดดันกับความกรีน แต่สำหรับเรา คำว่าทำได้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เราจะทำอีก 1 สเต็ปได้ไหม’ อยู่ตลอด

ยกตัวอย่าง เดินมาเจอร้านขายน้ำลำไยที่ใช้แก้วพลาสติก แต่มีแก้วพกพาของเราอยู่ในรถซึ่งจอดห่างออกไป 200 เมตร เราจะเลือกเดินตากแดดไปไหม หลายคนอาจจะบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เราทำได้เท่านี้ รับแก้วพลาสติกมาก่อน แต่ถ้าเราตั้งโจทย์ไว้ว่าขอไปอีกสเต็ปได้ไหม ไปอีกขั้นของเรา เราจะบอกคนขายว่าแป๊บหนึ่งนะ ขอเดินไปเอาแก้วที่รถแล้วเดินกลับมา และกลับไปแบบ Zero Waste

รู้ว่ามันยากนะ แต่มันคือการเอาชนะ มันคือการเดิมพันกับตัวเองว่าเราจะเอาชนะตัวเองได้ไหม หลายครั้งเรารู้ว่าเข้าร้านข้าวแล้วจะได้ถุงพลาสติกกลับมามากมาย แต่เราขอ 1 สเต็ป คิดก่อนว่าจะซื้ออะไรแล้วเตรียมอุปกรณ์ไว้ล่วงหน้า

เราคิดว่าความกรีนอยู่ที่ความยืดหยุ่นและความพร้อมของคนนะ เราไม่ควรไปชี้หน้าใครว่าคุณไม่กรีนเลย คุณไม่ช่วยโลกเลย คุณทำร้ายโลก เราว่าความกรีนมันยืดหยุ่นและหลากหลาย แต่คนที่ตัดสินได้คือตัวเราเองว่าเราจะเอาชนะด่านนี้หรือยัง ขอแค่ One More Step ได้หรือยัง

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์  tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

คุณไม่ได้มีปัญหากับคนที่ไม่กรีน?

ไม่ เพราะเราก็เพิ่งมาเปลี่ยน ที่ผ่านมาเราไม่ได้ถูกปลูกฝังให้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลย ทุกๆ คนเขาทำมาหากิน ระบบไม่ได้เอื้อให้เขากรีน เราจึงไม่ไปตัดสินคนเรื่องพฤติกรรมเท่าไหร่ แต่ถ้าเขามาถามเดี๋ยวเราอธิบายให้

อย่างไรก็ตาม เราจะมีปัญหากับคนที่ไม่กรีนและมาตัดสินคนที่กรีนอีกที สมมติพี่คนหนึ่งเขามาโพสต์ระบายในกลุ่มว่า บอกพนักงานร้านสะดวกซื้อแล้วว่าไม่เอาหลอด เขายังจะใส่มาให้อีก คอมเมนต์ก็จะด่าเจ้าของโพสต์ บางคนเขาแคร์เรื่องพวกนี้นะ เขารู้ว่า Single-use Plastic เป็นปัญหามากสำหรับโลกนี้ เขาแค่เสียใจเลยต้องมาระบาย เราไม่ค่อยชอบคนที่ไปขัดขวางคนที่พยายามจะเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว

รวมถึงเราจะมีปัญหากับธุรกิจที่รู้ว่าตัวเองทำได้ดีกว่านี้แต่ไม่ทำ พูดถึงธุรกิจนะ ไม่ใช่บุคคล เช่น คุณรู้อยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการคุณสร้างขยะ ย่อยสลายไม่ได้ แต่คุณก็พยายามยิงแอด ทำโฆษณาออกมาเป็นแก้วรักษ์โลก

จนถึงวันนี้ ความตั้งใจในการทำคอนเทนต์ของคุณยังเหมือนเดิมหรือเปล่า

ความตั้งใจยังเหมือนเดิม แต่เราทำงานหนักขึ้น เราทำคลิปทุกวันเลยนะ น้องๆ ในทีมก็เหนื่อยมาก แต่ก็คาดหวังว่าคลิปที่เราทำทุกวันจะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในใจคน

การเปลี่ยนแปลงในช่องเราคือ เราเริ่มพูดเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องขยะ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องนั้น ปลาหมอคางดำ เซฟทับลาน PM 2.5 ทุกอย่างอยู่ในเทรนด์ทวิตเตอร์หมดเลย เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันเป็นไวรัลและมีเรื่องให้พูดอีกมากมาย มีเรื่องอีกเยอะมากที่เราอยากเล่าแต่ยังไม่มีแรงทำ ไม่มีสล็อตจะลง หรือไม่ก็หาวิธีการเล่าให้คนสนใจยังไม่ได้

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์ tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

เคล็ดลับการทำคอนเทนต์ให้คนสนใจแบบก้องกรีนกรีนเป็นอย่างไร

สูตรก็เหมือนกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วๆ ไป เปิดคลิปมาต้องมีหัวข้อโดนใจ วิธีเล่า ตัดต่อ ครีเอทีฟคล้ายๆ กัน แต่คอนเทนต์อาจจะไม่เหมือนกัน

ถ้าให้วิเคราะห์จากคอมเมนต์ที่ได้รับมา หลายคนบอกว่าจุดเด่นของช่องเราคือ เล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย อะไรที่เป็นวิชาการจ๋าๆ เราก็แปลงมาให้เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน นอกจากนั้น เราไม่ใช่ช่องสายกรีนที่ชิลๆ ไลฟ์สไตล์ แต่เป็นกรีนแบบลุยๆ พาไปดูสิ่งที่เป็น Unseen เช่น ไปคุ้ยขยะกัน ไปเก็บขยะในแม่น้ำกัน ไปปีนหลังคาดูโซลาร์เซลล์ ไปดูเยาวราชแยกขยะกันยังไง ดูจากหัวข้ออาจจะไม่ค่อยน่าสนใจ เพราะฉะนั้นในคลิปเราจะทำให้สั้น กระชับ น่าสนใจขึ้น

มากกว่านั้นคือ เราจะใส่ Call to Action คือบอกทุกคนว่าตัวเขาทำอะไรได้บ้างแบบไม่กดดัน ทำให้มันง่าย ทำให้เขาอยากเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่าทำแล้วมันจะดียังไง เพราะถ้าเราบอกว่าจงแยกขยะๆ แต่เขาไม่รู้เหตุผล เขาก็อาจจะไม่แยก

พอเป็นคอนเทนต์สิ่งแวดล้อม หลายคนจะเบือนหน้าหนีเพราะดูเครียด ดูเข้าใจยาก มายาคติเหล่านี้ทำให้การทำคอนเทนต์ของคุณยากขึ้นไหม

ยากแน่นอน พูดตรงๆ ว่าตอนแรกที่ทำไม่ได้คิดว่าช่องจะไปรอด ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพหลักได้ แต่เราทำเพราะอยากเล่าเรื่องนี้

ย้อนกลับไปสมัยที่เราทำรายการโทรทัศน์ รายการที่ขึ้นชื่อว่ารายการสิ่งแวดล้อมเป็นรายการที่เรตติ้งไม่ค่อยดี ฉายตอนตีห้า (หัวเราะ) คนมักติดภาพว่าเป็นรายการสารคดี ปลูกต้นไม้ แต่จริงๆ แล้วมันมีอีกหลายท่วงท่าในการเล่า และอย่างที่บอก สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว จะทิ้งโทรศัพท์มือถือต้องทิ้งยังไง เรื่อง PM 2.5 เรื่องฟุตพาทในเมือง ธุรกิจ ร้านอาหาร คาเฟ่ แพ็กเกจจิ้ง นี่คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเราหมดเลย

คุณเชื่อไหมว่าคอนเทนต์เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องสื่อสารแบบประนีประนอม คนถึงจะได้ฟัง

แล้วแต่หัวข้อ แล้วแต่ว่าเราจะพูดถึงใคร บางคนก็ต้องการการสะกิดแรงๆ อย่างคนที่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนได้แต่ไม่เปลี่ยน แต่ถ้าตาสีตาสา คุณลุงคุณป้า มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเรา เราจะไปตีเขาทำไม เพราะเขารับผิดชอบชีวิตตัวเองก็เหนื่อยอยู่แล้ว แค่เขาไถมาดูคอนเทนต์เราแล้วเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ในใจก็ถือเป็นสิ่งที่ดีแล้วนะ ช่องเราจึงพยายามพูดด้วยน้ำเสียงที่โพสิทีฟ จะไม่บังคับใคร เพราะถ้าไปบังคับหรือตราหน้าใคร เขาอาจจะไม่เปลี่ยนก็ได้

อีกอย่างหนึ่งคือ เราจะไม่ค่อยเล่าเรื่องที่นำไปสู่ดราม่าหรือกระทบใครเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยชอบอ่านคอมเมนต์แง่ลบด้วย คิดดูสิว่าแต่ละวันเราจะหลับไปพร้อมกับคำพูดเหล่านี้ ตื่นนอนก็ต้องมาเจออีก เรารู้สึกว่าไม่คุ้มเลย มันเลยเป็นคอนเซปต์ในการทำคอนเทนต์ตอนนี้ว่าเราจะเล่า Good Story เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะมันดีกับเราด้วย

แน่นอนว่าหนึ่งในหนทางการเลี้ยงชีพของคอนเทนต์ครีเอเตอร์คือลูกค้า คุณเคยเจอลูกค้าที่มีความเชื่อไม่ตรงกันบ้างไหม แล้วรับมืออย่างไร

พอช่องกลายเป็นอาชีพ เราจำเป็นต้องทำงานกับแบรนด์อยู่แล้ว เพราะเรารักในอาชีพนี้ อยากตื่นมาเล่าเรื่องนี้ ฉะนั้นมันต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่เงื่อนไขในการรับงานก็อาจจะมากกว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายอื่นๆ เพราะเราไม่อยากเป็นเครื่องมือในการฟอกเขียว (Greenwashing) ให้ใคร

ส่วนมากเราจะพิจารณาเป็นงานไป และดูความตั้งใจของเขาว่าเขาต้องการจะพูดเรื่องนี้ เขาคิดจริงจังหรือเปล่า แก้ปัญหาจริงไหม หรือทำขึ้นมาเพื่อพีอาร์เฉยๆ ถ้าเราคุยกับเขาแล้วเราเชื่อว่าเขาทำจริง สร้างอิมแพกต์ได้จริงๆ เราก็จะพิจารณารับงาน

อาจจะดูเรื่องมากนิดหนึ่ง แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับเราคือคนดูที่กดติดตามเราไว้ เพราะฉะนั้นเราจะพยายามคัดให้ได้มากที่สุด แต่ขอรีมาร์กตรงนี้ไว้ว่า เราไม่ได้เป็นกระทรวงหรือหน่วยงานอะไรที่จะกรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น เราคิดว่าคนเราก็มีขาวมีดำ คนทำธุรกิจล้วนทำสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อโลกหมด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงยังไง

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์  tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

ทำคอนเทนต์มาจนถึงตอนนี้ คุณมองเห็นว่าคอนเทนต์ของก้องกรีนกรีนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมบ้าง

มองในแว่นตาเรา เราเห็นว่าวันนี้การแยกขยะง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป ถ้าเราไปห้างฯ ห้างฯ แบ่งปันพื้นที่บางส่วนเป็นจุดรับขยะจากผู้บริโภคมาเพื่อแยกต่อ และเราเป็นส่วนหนึ่งในคนเล่าเรื่องที่จะกระจายข่าว

ไม่ใช่เป็นเพราะเราทั้งหมดหรอกที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ แต่มีสื่อสายกรีนคนอื่นๆ ด้วย เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้รันต่อได้ ทำแล้วมีคนมองเห็น ช่วยกระตุ้นให้คนตัวใหญ่ๆ ได้เปลี่ยนแปลง และเริ่มเข้าใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร มากกว่านั้นคือ ดีใจที่ได้เห็นคนทั่วไปตระหนักรู้กันมากขึ้น อย่างกลุ่มแยกขยะกันเถอะในเฟซบุ๊กตอนนี้คึกคักมาก เขาจะคุยกันทุกวันว่าอันนี้แยกยังไง คุยกันเรื่องโปรฯ ส่งขยะฟรี (หัวเราะ) ไปงานอีเวนต์ก็มีการแยกขยะมากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงแล้วสำหรับเรา

ภาพการเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากเห็นที่สุดคืออะไร

สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมากๆ คือคุณภาพประชากร ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น ถ้าไปเที่ยว ทุกคนบ่นว่าหาถังขยะยาก ไม่สามารถเอาขยะไปทิ้งที่หน้าบ้านคนอื่นได้ ทุกคนต้องเก็บกลับไปทิ้งที่บ้านตัวเอง แต่คนญี่ปุ่นเขาทำทุกวันด้วยความเข้าใจ หรืออย่างคนยุโรปที่แยกขยะกันจนติดเป็นนิสัย พอเขามาเที่ยวเมืองไทย คนไทยบอกว่าไม่ต้องแยกหรอก สุดท้ายก็เทรวมกันอยู่ดี หลายคนจะบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ไม่สำคัญเลยว่าขยะจะไปไหนต่อ เขาแยกขยะเพราะเขาอยากทำหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด

เราอยากเห็นสิ่งนี้นะ บางคนบอกว่า คำว่า ‘เริ่มต้นที่เรา’ เป็นมายาคติ เป็นคำสวยหรูเกินไป มันต้องไปเริ่มที่ระบบ ทำไมต้องมาเริ่มที่เรา แต่เราคิดว่ามันไปด้วยกันได้ ถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มันต้องเริ่มที่ระบบ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มต้นที่เราด้วย เราต้องให้ความร่วมมือและปรับวิถีชีวิตตัวเอง มันถึงจะยั่งยืน

ก้องกรีนกรีน kong green green อินฟลูเอนเซอร์  tiktok สิ่งแวดล้อม แยกขยะ จัดการขยะ เศษอาหาร

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.