คลองแม่ข่า สายน้ำที่กำลังถูกเปลี่ยนของเชียงใหม่ - Urban Creature

หากเอ่ยถึง ‘คลองแม่ข่า’ ในปัจจุบัน หลายคนน่าจะนึกถึงทางเดินเลียบคลองสวยๆ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในตัวเมืองเชียงใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ขณะนี้ และเพิ่งได้รับสมญาใหม่ว่าเป็น ‘คลองโอตารุ’ ของจังหวัดเชียงใหม่ แต่หากย้อนกลับไปถามคนเชียงใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ทุกคนจะนึกถึงคลองแม่ข่าว่าเป็นแหล่งน้ำเน่าเสีย นั่นคือภาพลักษณ์ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาสำหรับคนเชียงใหม่ 

เพราะตลอดหลายปีนั้น ชาวเชียงใหม่ต่างคุ้นเคยกับการได้เห็นและได้ยินการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ที่ทุกครั้งจะต้องมีนโยบายทำคลองแม่ข่าให้กลับมาใสอยู่ด้วยเสมอ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม หลายคนจึงอดไม่ได้ที่จะหมดหวังได้เห็นคลองแม่ข่ากลับมาใส จนกระทั่งปีที่แล้วที่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองแม่ข่าใหม่ให้สวยงาม

ด้วยภาพสะอาดสะอ้านแปลกใหม่ที่ถูกนำเสนอออกมา ทำให้คลองแห่งนี้กลับมาได้รับความสนใจจากคนเชียงใหม่จำนวนมาก ก่อนจะขยายไปถึงคนจังหวัดอื่นๆ ที่เดินทางมาเที่ยวเดินถ่ายรูปเล่นที่คลองแห่งนี้ ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่เองก็พยายามจัดให้มีกิจกรรมภายในพื้นที่แห่งนี้อยู่สม่ำเสมอ

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

ชาวเชียงใหม่หลายคนที่ได้มาเดินเล่นที่นี่ ต่างแสดงความยินดีที่คลองแม่ข่ากลับมาเป็นคลองน้ำใส ไม่เน่าเสียอีกแล้ว…แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะพื้นที่ที่มีการปรับภูมิทัศน์ให้เดินเล่นกันนั้นเป็นเพียงแค่ระยะ 756 เมตร จากระยะทั้งหมด 11 กิโลเมตรของคลองแม่ข่าในเขตเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงเน่าเสีย มีปัญหา และรอคอยการแก้ไขพัฒนาต่อไป จึงทำให้มีเสียงค่อนขอดขึ้นมา ตั้งแต่ความพยายามเป็นญี่ปุ่นทั้งที่เชียงใหม่ก็มีวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของตนเอง จังหวัดพยายามนำเสนอแต่ภาพลักษณ์ดีๆ ของพื้นที่คลองบริเวณนี้เพื่อซุกปัญหาคลองแม่ข่าในส่วนอื่นๆ อีกจำนวนมากไว้ใต้ภาพสวยงาม หรือแม้แต่ตำหนิว่านี่เป็นการถอยหลังลงคลอง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะ 756 เมตรของคลองแม่ข่าครั้งนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป และเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าแม่ข่าเกี่ยวโยงกับผู้คน และมีคนจำนวนไม่น้อยกำลังให้ความสนใจกับลำน้ำสายนี้

คลองแห่งนี้มีความสำคัญต่อเชียงใหม่อย่างไร ทำไมถึงมีหลายองค์กรหลายผู้คนพยายามปรับปรุงให้มันกลับมาดีอีกครั้งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา 

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแม่น้ำสายนี้ คอลัมน์ Report ขอนำเสนอเรื่องราวหลากหลายมิติที่สายน้ำนี้ได้ไปเกี่ยวโยง โดยลองถอยออกจากความเป็นคลองโอตารุ ไม่ต้องถึงกับถอยลงคลอง แค่ถอยมามองและทำความรู้จักกับน้ำแม่ข่า เรียนรู้ปัญหา และมองดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับเมืองเชียงใหม่จากการพัฒนาลำน้ำสายนี้

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

น้ำแม่ข่า 1 ใน 7 เหตุผลที่ทำให้เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่ตรงนี้

แม้จะถูกเรียกว่า ‘คลองแม่ข่า’ จนคุ้นชินโดยทั่วไป แต่ความจริงแล้วแม่ข่านั้นถือว่าเป็นสายน้ำจากธรรมชาติ ไม่ใช่คลองที่เกิดขึ้นจากฝีมือการขุดลอกของมนุษย์ คนเชียงใหม่ในอดีตจึงเรียกสายน้ำแห่งนี้ว่า ‘น้ำแม่ข่า’

แม่ข่าเป็นสายน้ำที่มีมาก่อนการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่เมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว ลำน้ำสายนี้คือหนึ่งในหลัก ‘ชัยมงคลเจ็ดประการ’ หรือในความเข้าใจปัจจุบันก็คือมีฮวงจุ้ยที่ดี ทำให้พญามังรายตัดสินใจเลือกตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นที่บริเวณแห่งนี้

น้ำแม่ข่านั้นไหลโอบตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมาถึงบริเวณป้อมหายยา แจ่งกู่เฮือง หรือมุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งต่อมามีการขุดลำน้ำแม่ข่าเอาดินขึ้นมาก่อเป็นแนวกำแพงดินโบราณ ซึ่งเป็นกำแพงเมืองชั้นนอกของเชียงใหม่ที่ยังมีร่องรอยให้เห็นถึงปัจจุบัน

หากตีความจากหลักชัยมงคลเจ็ดประการ เหตุผลที่น้ำแม่ข่าสำคัญนั้นเป็นเพราะเรื่องการบริหารจัดการน้ำของตัวเมืองเชียงใหม่ตามสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ในอดีตเมืองเชียงใหม่จะรับน้ำมาจากสายน้ำที่ไหลจากดอยสุเทพลงมาที่บริเวณแจ่งหัวลินทางมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคูเมือง เพื่อนำน้ำนั้นมาเลี้ยงเมือง หลังจากนั้นจึงระบายสู่น้ำแม่ข่าที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มกว่า และผันน้ำที่ไหลสู่ลำน้ำแม่ข่ามาใช้หล่อเลี้ยงนาข้าว ทำให้มีการทำฝายและเกิดเป็นชุมชนหัวฝายดั่งที่มีชื่อปรากฏอยู่ในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ไหลตามลำน้ำสาขาสู่แม่น้ำปิงต่อไป นี่คือบทบาทของน้ำแม่ข่าในอดีต ซึ่งเป็นการวางแผนจัดการบริหารน้ำของคนโบราณ

คลองแม่ข่า เชียงใหม่
คลองแม่ข่า เชียงใหม่

เมืองเปลี่ยนไป สายน้ำก็เปลี่ยนแปลง

หลังจากมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว เชียงใหม่ที่กลายเป็นหัวเมืองเหนือและจุดหมายของนักท่องเที่ยวก็เริ่มทำให้ผู้คนเห็นโอกาสและหลั่งไหลเข้ามาสู่ตัวเมืองเชียงใหม่จำนวนมาก ตัวเมืองจึงเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในเวลานั้นเชียงใหม่ไม่มีแผนรองรับกับการเติบโตที่เกิดขึ้น ไม่มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่มีระบบพื้นที่อยู่อาศัย และไม่มีการวางระบบบำบัดน้ำเสีย 

ปัญหาขยะ ชุมชนแออัด หรือน้ำเสีย จึงเป็นปัญหาที่ทุกเมืองของไทยที่มีการเติบโตแบบนี้ต่างก็ประสบ เพราะไม่มีใครรับรู้มาก่อน และค่อยมาทยอยแก้ไขกันภายหลัง

การโทษชาวบ้านริมน้ำแม่ข่าว่าเป็นต้นเหตุของการทำให้น้ำแม่ข่าเน่าเสียอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีคือสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะนี่คือปัญหาของการวางระบบเมือง และแม้ว่าจะมีการออกมาพูดถึงเหตุผลของปัญหาน้ำเสียในเมืองแล้วก็ตาม ปัจจุบันชุมชนริมคลองแม่ข่าก็ยังต้องต่อสู้กับข้อกล่าวหานี้อยู่ ทั้งที่ชุมชนริมน้ำมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย แบ่งหน้าที่กันคอยช่วยดูแลน้ำแม่ข่า และต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการดูแลลำน้ำสายนี้มาตลอดสิบๆ ปี

คลองแม่ข่า เชียงใหม่
สุดารัตน์ ไชยรังษี

“ป้าอยู่ริมคลองนี้มาตั้งแต่เกิด พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็อยู่มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ก่อนหน้านี้คลองแม่ข่ายังเป็นคลองธรรมชาติ แต่ปัจจุบันกลายเป็นคลองดาดคอนกรีตไปแล้วบางส่วน…เมื่อก่อนตอนที่ป้ายังเด็กน้ำยังใส สามารถซักผ้า อาบน้ำได้ แต่พ่อกับแม่ป้าก็ไม่ให้อาบหรอกเพราะกลัวจะจมน้ำ เราอาศัยอยู่ริมคลองนี้มานานมากแล้ว

“ในสายตาคนข้างนอกมักมองมาว่า คนริมคลองทำให้แม่ข่าสกปรก ไม่ใช่นะ เราทำความสะอาดตลอด ไม่ว่าจะวันงานสิ่งแวดล้อมโลก วันแม่ วันพ่อ หรือวันสำคัญอะไรก็ตาม เราจะรวมตัวกันทำความสะอาดคลองแม่ข่ามาตลอด เรามีการทำพิธีสืบชะตาคลองแม่ข่ากับเครือข่าย เราช่วยกันดูแลคลองด้วยตัวเอง ไม่มีภาครัฐยื่นมือหรือให้ทุนกับเราสักบาท เราทำกันด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นในสายตาคนข้างนอกอย่าว่าคนริมคลองทำให้สกปรก เพราะความจริงแล้วเราช่วยกันดูแลคลองมาโดยตลอด

“ในอดีตช่วงหน้าหนาวเราสามารถใช้ฉมวกหาปลาในคลองแม่ข่าได้ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้เพราะโดนดาดเป็นคอนกรีตไปแล้ว วันที่มีหน่วยงานเริ่มเข้ามาช่วยขุดลอกคลอง สิ่งที่เราได้จากน้ำแม่ข่ามีแต่ตู้เย็น ที่นอน แม้แต่แผ่นฟิล์มเอกซเรย์ นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับคลองแม่ข่าของเรา…เราก็รักแม่ข่าเหมือนพ่อเหมือนแม่เรา เพราะแม่ข่ามีมาตั้งแต่เราเกิด ตอนนี้ป้าอายุเจ็ดสิบเอ็ดปีแล้ว บางครั้งก็อยากปล่อยมือแล้ว แต่มันไม่สบายใจ อยากทำให้ดีที่สุด ถ้ามันจะไม่สำเร็จในรุ่นของป้าก็อยากฝากให้รุ่นลูกรุ่นหลานช่วยกันดูแลคลองแม่ข่าต่อไป ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ แม่ข่าที่เป็นหนึ่งในเจ็ดชัยมงคลของเชียงใหม่จะต้องกลับมาใสเหมือนสมัยโบราณได้อย่างแน่นอน” ‘สุดารัตน์ ไชยรังษี’ ตัวแทนจากชุมชนระแกงริมคลองแม่ข่าสะท้อนสิ่งที่ชาวบ้านเผชิญ

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

สายน้ำแห่งชีวิต ที่มีหลายชีวิตเกี่ยวโยงกับสายน้ำ

ตลอด 11 กิโลเมตรของสายน้ำแม่ข่าที่ไหลผ่านพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เกี่ยวโยงกับผู้คนมากกว่า 20 ชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ริมคลองแม่ข่าซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของชุมชนคนจนเมือง และผู้คนที่เข้ามารับจ้างทำงานใช้แรงงานหรืองานบริการต่างๆ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคธุรกิจต่างๆ ของเชียงใหม่ คนจนเมืองเหล่านี้ย้ายเข้ามาหาโอกาส หางานทำในช่วงที่เศรษฐกิจในตัวเมืองเชียงใหม่กำลังขยายตัว การที่เมืองไม่มีแผนที่อยู่อาศัยรองรับในขณะนั้น ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เลือกมาจับจองที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลองสายนี้ ด้วยเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างย่านธุรกิจสำคัญต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ 

ในเวลาต่อมา ทางรัฐก็ได้มีการปล่อยเช่าให้ผู้มีรายได้ต่ำได้อยู่อาศัย ต่อมาเมื่อเกิดกระแสปัญหาน้ำแม่ข่าเน่าเสีย ผู้คนริมคลองเหล่านี้ก็ตกเป็นจำเลยว่าเป็นต้นเหตุของน้ำเน่าเสีย ทำให้เริ่มมีกระแสความคิดที่จะไล่ผู้คนเหล่านี้ให้ออกจากพื้นที่ ส่งผลให้ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยของผู้คนริมคลองเริ่มย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ

แน่นอนว่าทางภาครัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่ย่อมมีสิทธิ์ในการยุติปล่อยเช่าพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน หากแต่ถอยออกมามองในมุมกว้างของระบบเมือง การขับไล่ชุมชนที่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและงานบริการซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเมืองออกไป ย่อมส่งผลเสียในระยะยาวให้กับเมือง เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าที่ดินในตัวเมืองเชียงใหม่มีแต่จะพุ่งสูงขึ้น การที่เมืองไม่ได้วางแผนจัดสรรให้มีพื้นที่อยู่อาศัยที่มีราคาเช่าเหมาะสมกับกลุ่มคนจนเมืองที่มีรายได้น้อย ย่อมทำให้ต่อไปเมืองเชียงใหม่จะขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก และการนำผู้คนออกจากสถานที่ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา

คลองแม่ข่า เชียงใหม่
คลองแม่ข่า เชียงใหม่

เจน เจคอบส์ (Jane Jacobs) นักคิด นักเขียน ผู้ทรงอิทธิพลต่อการออกแบบย่านในมหานครนิวยอร์ก เคยกล่าวถึงความสำคัญของการมีอยู่ของผู้คนในย่านเอาไว้ในหนังสือ The Story of the Death and Life of Great American Cities อย่างน่าสนใจว่า ย่านที่มีประสิทธิภาพคือย่านที่มีการใช้พื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed-uses) พื้นที่ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า ตลาด และอื่นๆ อยู่ร่วมกัน การที่ในย่านมีกิจกรรมหลากหลายอยู่ตลอดเวลาจะทำให้เกิด ‘บัลเลต์บนทางเท้า’ นั่นคือมีผู้คนจำนวนมากเดินอยู่บนทางเท้าตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้ย่านมีชีวิตชีวา การมีผู้คนอยู่บนทางเดินในช่วงเวลาต่างๆ ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยภายในย่านด้วยสายตาของผู้คนที่คอยช่วยสอดส่องอยู่ตลอดเวลา 

แนวคิดนี้ของเธอได้รับการยอมรับในวงกว้าง เมื่อเทียบตัวเลขสถิติของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างย่านที่มีผู้คนใช้ชีวิตอย่างหลากหลายอยู่ตลอดเวลาในพื้นที่ กับย่านที่ถูกปรับเปลี่ยนให้มีฟังก์ชันเฉพาะเพียงอย่างเดียว ในเวลาต่อมา แนวคิดนี้ของเธอก็ปฏิวัติการออกแบบเมืองของนักผังเมืองทั่วโลกให้มองเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตผู้คนภายในย่านเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับพื้นที่ริมน้ำแม่ข่า ทิศทางการพัฒนาโดยไล่ชุมชนออกจากพื้นที่จึงรังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา นั่นทำให้นักวิชาการ นักออกแบบ กลุ่มภาคประชาสังคมหลายกลุ่มของเชียงใหม่ อาสาลงมาเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนริมคลองแม่ข่า เพื่อมองหาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ร่วมกับชุมชนและภาครัฐ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของเมือง และยังเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเมืองเชียงใหม่ต่อไป

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

ฟื้นพื้นที่ริมคลองแม่ข่า

จากการลงพื้นที่ชุมชนริมคลองแม่ข่าของภาคประชาสังคมเชียงใหม่ เพื่อทำความรู้จักกับชุมชน สร้างความเข้าใจให้ชุมชน และศึกษาความเป็นไปได้ ทำให้ในที่สุดเกิดเป็นผังแม่บทการพัฒนาคลองแม่ข่าขึ้นมา ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาที่ภาคประชาสังคมและชุมชนริมคลองเห็นพ้องร่วมกัน ก่อนจะยื่นให้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้ดูแลการพัฒนา โดยเริ่มนำร่องจากโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองแม่ข่าบริเวณชุมชนหัวฝายกำแพงงามเป็นระยะทาง 756 เมตร ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพคลองแม่ข่าที่สวยงามในปัจจุบัน และกำลังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ภาพความสวยงามที่ถูกนำเสนอออกสื่อไปจำนวนมากนั้นยังเป็นเพียงการเปลี่ยนโฉมของน้ำแม่ข่าบริเวณสั้นๆ ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขต่อไป ซึ่งสิ่งที่คนเชียงใหม่รวมถึงชุมชนริมคลองแม่ข่าเกิดความกังวลขึ้นคือ การปรับภูมิทัศน์ที่กำลังได้รับเสียงตอบรับที่ดีอยู่ขณะนี้อาจกำลังทำให้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่หลงทาง และติดอยู่กับภาพสวยงามที่นำเสนอออกไป เพราะนอกจากการนำเสนอภาพความสวยงาม แทบจะไม่มีการพูดให้ข้อมูลเรื่องการจัดการปัญหาน้ำเสีย การต่อสู้ของชุมชน การจัดการที่อยู่อาศัย และอีกหลายประเด็นที่ทางชุมชนและภาคประชาสังคมเรียกร้อง

จะเห็นได้ว่าคลองแม่ข่าบริเวณนั้นเริ่มถูกปรับเปลี่ยนให้คล้ายเมืองญี่ปุ่นมากขึ้นทุกที จนได้รับสมญาว่าเป็นคลองโอตารุของจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มมีการใช้ท่อสูบน้ำจากแม่น้ำปิงขึ้นมาใส่คลองแม่ข่าบริเวณนี้ เพื่อให้มีน้ำไหลและใสอยู่ตลอดเวลาดึงดูดคนมาเที่ยวหรือจัดกิจกรรมต่างๆ และในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีการปรับภูมิทัศน์เพิ่มเติมจากพื้นที่นำร่องแรก

ตอนนี้สิ่งที่คนเชียงใหม่รวมถึงคนในชุมชนริมคลองเริ่มเป็นกังวลและตั้งคำถามคือ โครงการพัฒนาฟื้นฟูน้ำแม่ข่ากำลังจะกลายเป็นเพียงโครงการสร้างภาพสวยงามด้วยการทำแค่ปรับภูมิทัศน์หรือไม่

คลองแม่ข่า เชียงใหม่
คลองแม่ข่า เชียงใหม่

แม่ข่าที่ไหลไปข้างหน้าหรือถอยหลังลงคลอง

เมื่อดูในรายละเอียดแนวทางการพัฒนาคลองแม่ข่าที่ทางภาคประชาสังคมและเครือข่ายชุมชนริมคลองแม่ข่าเสนอให้กับทางเทศบาลและจังหวัดเชียงใหม่ได้ดูแลต่อ จะพบว่ามีการระบุหัวข้อการพัฒนาหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาเส้นทางน้ำแม่ข่าให้กลายเป็นทางสัญจรเชื่อมโยงย่านเศรษฐกิจต่างๆ ของเชียงใหม่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง จัดการปัญหาน้ำเสีย ฟื้นฟูโบราณสถานและวัฒนธรรม รวมถึงการจัดการที่อยู่อาศัย ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชน

แน่นอนว่าทุกฝ่ายล้วนยินดีที่คลองแม่ข่าหรือเมืองเชียงใหม่จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าวิธีการพัฒนานั้นกำลังจะมุ่งไปในทางที่ไม่ควร เมื่อหลังจากที่ภาคประชาชนและชุมชนนำเสนอแนวทางพัฒนาคลองแม่ข่าให้กับเทศบาล หลังจากนั้นเทศบาลก็แทบจะเป็นผู้ถือการจัดการพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่าแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีการให้ชุมชนในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญ หรือภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบรับแบบ ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ต้นไม้ดั้งเดิมที่ชุมชนอยากเก็บไว้ หรือแม้แต่ลำน้ำน้อยสายเล็กๆ ที่แยกออกจากแม่ข่าถูกถมและตัดทิ้งหายไปอย่างน่าเสียดาย

จากความดีใจที่ได้เห็นพื้นที่อยู่อาศัยของตนเองได้รับการปรับปรุงให้สวยงาม ซึ่งชาวบ้านยอมตัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของที่อยู่อาศัยตนเองเพื่อสร้างทางเดินริมน้ำ ในระยะแรกที่ปรับปรุงเสร็จ ชาวบ้านต่างก็ยินดี มีการนำต้นไม้ดอกไม้ต่างๆ ไปปลูกตลอดเส้นทางเดินที่ถูกปรับปรุงเพื่อสร้างความสวยงาม แต่กลายเป็นว่าต่อมาทางเทศบาลนำต้นไม้ดอกไม้เหล่านั้นออกเกือบหมด แล้วเอาต้นดาวเรืองมาปลูกตลอดแนวเพื่อให้ดูเป็นระเบียบแทน มีการจ้างเจ้าหน้าที่เทศกิจให้คอยเดินตรวจตราความเรียบร้อยของทางเดินริมคลองตลอดทั้งวัน ราวกับหวงแหนผลงานดูดีของตนเอง ทั้งที่แผนการพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มต้นจากการร่วมมือกันของชุมชนและภาคประชาสังคม หากให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าขณะนี้ชุมชนริมคลองกำลังถูกผลักออกให้เป็นอื่น ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขาอีกต่อไป จากความดีใจเริ่มเปลี่ยนไปเป็นความกังวล

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

“การที่คลองแม่ข่าสวยงามขนาดนี้ เป็นผลสำเร็จที่ทำให้ทุกคนเริ่มเดินเข้ามาในที่แห่งนี้ เมื่อมาแล้วเราไม่อยากให้เห็นแค่วิวที่สวยงาม แค่เห็นคลองแม่ข่าที่น้ำไหลสะอาด แต่ชาวบ้านคือใคร การที่จะได้คลองแม่ข่าที่สวยงามขนาดนี้ มันมีทั้งน้ำตา ทั้งคนที่ตายไปแล้ว คนที่ยังอยู่และกำลังต่อสู้ต่อไป ป้าเองอายุขนาดนี้ก็เป็นรุ่นที่ห้าที่หกแล้วที่ต่อสู้เรื่องคลองแม่ข่า ข้อมูลที่ท่านได้ไป ท่านได้ไปแต่แบบที่สวยหรู แต่มันไม่ได้สวยหรู มันเป็นความเก่งความกล้าของคนที่อยู่ คนที่ถูกกระทำมาตลอดหลายสิบปี ความสำเร็จของคลองแม่ข่าครั้งนี้ เราไม่อยากให้เห็นแค่ความสวยงาม เราอยากให้คนที่เข้ามาได้มารับรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน รับรู้เรื่องราวของผู้คนที่อยู่ตรงนี้ เราอยากให้คนที่มาประทับใจกับเรื่องเหล่านี้ นี่สิคือสิ่งที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว

“เราอยากให้คุณได้เห็นความพยายามของชาวบ้านที่นี่ ที่เขาช่วยกันทำ ช่วยกันดูแลลำน้ำสายนี้ เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ยังไงเราก็ต้องดูแลรักษาที่แห่งนี้ไว้ เราต่างก็รักบ้านเกิด อยากให้ลูกหลานได้มีบ้านอยู่ นี่คือที่ที่เราเกิด ที่ที่ทำให้เรามีคุณค่า เราอยู่ตรงนี้เราพัฒนา เราอยู่ตรงนี้เราสร้างสรรค์ คนในชุมชนเป็นแหล่งทรัพยากร เป็นแรงงานของเมือง แทบทุกอาชีพอยู่ในชุมชนเหล่านี้หมด แต่อย่ามองว่าชุมชนเราเป็นแค่คนใช้แรงงาน เราก็เป็นคนที่ต้องมีชีวิต ที่ต้องการความเป็นอยู่ที่ดี เราอยากจะอยู่ในที่ที่มันมั่นคง แต่ตอนนี้ความมั่นคงมันไม่มีให้กับเราเลย 

คลองแม่ข่า เชียงใหม่
น้ำทิพย์ เปาป้อ

“เพราะตอนนี้หน่วยงานเล็งเห็นว่ามันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นที่สร้างรายได้ เป็นที่เกิดประโยชน์ แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ถามจริงๆ ว่าเป็นเพราะชาวบ้านที่ทำอยู่ตรงนี้ เขาช่วยกันทำ ช่วยกันดูแล ทำให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานที่เข้ามาไม่ใช่เหรอ เราไม่อยากถูกมองว่าเป็นชาวบ้านที่บุกรุก เราอยากเห็นว่าวันนี้ชาวบ้านยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง และสามารถดูแลรักษาทรัพยากรของเมือง ของบ้านพวกเขาได้” ‘น้ำทิพย์ เปาป้อ’ ตัวแทนจากชุมชนกำแพงงามกล่าวถึงความกังวลของชุมชน

“หลังจากนี้เขาจะพัฒนาทางเดินริมคลองมาทางชุมชนระแกง ต่อเนื่องจากที่ปรับตรงชุมชนหัวฝายกำแพงงามไปแล้ว เรากังวล เราทราบว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่ผ่านมา เราก็พยายามแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหานั้น เราอยากขอฝากให้หน่วยงานที่เข้ามาทำอย่างตรงไปตรงมา ผลกระทบมันมีแน่นอนอยู่แล้ว แต่อยากขอทางหน่วยงานว่า จะทำอะไรก็ขอให้ลงมาหาชาวบ้านก่อน ลงมาคุยกันก่อน มาพูดกันดีๆ ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน เราขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งนี้ เราขอเข้าไปรวมในคณะกรรมการการพัฒนา จะได้หาจุดกึ่งกลางที่ทุกฝ่ายพอใจกันได้ นี่เป็นวิธีที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาในอนาคต” ‘สุดารัตน์ ไชยรังษี’ ตัวแทนจากชุมชนระแกงแสดงถึงความกังวลของชุมชนตัวเองที่กำลังเป็นพื้นที่พัฒนาต่อไป

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

แม่น้ำแห่งอนาคตของเชียงใหม่ที่เกิดจากจินตภาพร่วมกัน

ไม่มีชาวบ้านหรือคนเชียงใหม่คนไหนปฏิเสธการพัฒนาของเมืองที่กำลังเกิดขึ้น การพัฒนาย่อมเป็นเรื่องดีต่อเมืองเสมอ ทว่าวิธีการในการพัฒนาต่างหากที่เป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะเมืองเชียงใหม่เป็นของผู้คนเชียงใหม่ทุกคน ไม่ใช่ขององค์กรหรือหน่วยงานไหน การที่หน่วยงานใดจะตัดสินใจพัฒนาอะไรควรมีการถามความเห็น หาจุดหมาย หาความฝันของผู้คนที่มีร่วมกัน เป็นฉันทามติของคนเชียงใหม่ เพื่อหาจุดที่ทุกฝ่ายพอใจ เป็นจินตภาพของเมืองในอนาคตร่วมกัน และช่วยกันพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน 

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับน้ำแม่ข่าขณะนี้คือแนวโน้มที่ดีต่อไปในอนาคตของจังหวัดเชียงใหม่ ผู้คนเชียงใหม่จำนวนมากต่างดีใจที่ได้เห็นลำน้ำสายสำคัญของบ้านเมืองพวกเขาได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในช่วงจังหวะเวลาที่ผู้คนจำนวนมากสนใจสายน้ำแม่ข่า คือโอกาสดีที่หน่วยงานของจังหวัดควรนำมาใช้หาแนวทางพัฒนาต่อไปร่วมกันกับประชาชนเชียงใหม่ทุกคน ซึ่งจะกลายเป็นตัวอย่างสำคัญของการพัฒนาสายน้ำในเมืองต่อไปของประเทศ

ลำน้ำสายนี้ยังมีความหวัง และไม่ใช่แค่กลับมาเป็นแหล่งน้ำใส แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อเมืองเชียงใหม่ในหลายมิติ ความเป็นไปได้เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างหนักตลอดหลายปีของเครือข่ายชุมชนริมน้ำ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ประชาชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปมีดังนี้

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

สายน้ำแม่ข่าสามารถพัฒนาไปเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจุดหนึ่งที่เราต้องพูดถึงซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเจ็ดชัยมงคลคือ หนองบัวเจ็ดกอ หนองป่าแพ่ง หรือหนองเขียว หนองน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ที่เป็นพื้นที่คอยรับน้ำจำนวนมากของเมือง เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพญามังรายเคยประสบภัยมาเมื่อครั้งสร้างเวียงกุมกามก่อนหน้าเชียงใหม่

ในเวลาต่อมา หนองบัวแห่งนี้ถูกถมเพื่อออกโฉนดเป็นที่ดินและขายแก่เอกชนไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีพื้นที่เดิมขนาดใหญ่ของหนองบัวที่ยังไม่ถูกพัฒนาไปเป็นอาคารหลงเหลืออยู่อีกหนึ่งที่ โดยปัจจุบันถูกทำเป็นที่จอดรถของตลาดจริงใจมาร์เก็ต

หนองบัวแห่งนี้เชื่อมต่อเข้ากับน้ำแม่ข่า การที่เมืองสามารถฟื้นหนองน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ให้กลับมาได้อีกครั้ง จะทำให้ที่ตรงนี้มีประโยชน์ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และระบบนิเวศทางธรรมชาติของเมืองเป็นอย่างมาก และเมื่อเชื่อมกับน้ำแม่ข่าแล้ว ก็จะทำให้เกิดเป็นสะพานนิเวศ เป็นพื้นที่สีเขียวที่โอบล้อมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันเจ้าของที่ดินแห่งนี้มีแนวโน้มที่อยากช่วยฟื้นหนองบัวให้กลับมา

ปัจจุบันทางเดินริมน้ำแม่ข่าตลอดระยะ 11 กิโลเมตรยังไม่มีการเชื่อมต่อกันที่ดีพอให้สามารถเดินได้ตลอดสาย เมื่อถูกพัฒนาให้เชื่อมเป็นทางเดินต่อกันทั้งหมด เชียงใหม่จะได้เส้นทางสัญจรใหม่ที่สวยด้วยธรรมชาติ และยังเป็นทางสัญจรที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะด้วยการเดิน ขี่จักรยาน หรือใช้เรือในการสัญจร อีกทั้งยังเป็นทางที่เชื่อมต่อกับย่านเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงย่านที่ยังไม่ได้รับโอกาสพัฒนาของเชียงใหม่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงลำน้ำสาขาเล็กๆ ที่แยกออกมาจากน้ำแม่ข่า

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

การปรับภูมิทัศน์น้ำแม่ข่าขณะนี้ นอกจากการทำให้สวยงาม ยังได้มีการทยอยวางท่อร่วมน้ำเสียที่ส่งต่อไปยังสถานีบำบัดน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างระบบการจัดการน้ำที่ดีให้กับเมืองที่กำลังเติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเริ่มมีความพยายามประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่เลียบคลองแม่ข่าต่างๆ เพื่อนำมาออกแบบระบบการจัดการที่อยู่อาศัยใหม่ให้สามารถรองรับประชาชนที่มีรายได้น้อยให้ได้อยู่อาศัย สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนผู้ใช้แรงงานของเชียงใหม่ และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลทางเดินริมน้ำ นี่คือโครงการที่ชุมชนริมน้ำคาดหวังที่สุด หลังจากที่พวกเขายอมสละพื้นที่บางส่วนของบ้านให้โดนตัดทำเป็นทางเดินริมน้ำแม่ข่า โดยปัจจุบันชุมชนริมน้ำยังคงรอคอยโครงการนำร่องที่อยู่อาศัยนี้อยู่

เมื่อมีการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ หลังจากนั้นเราก็จะสามารถทำการฟื้นฟูกำแพงดินโบราณที่เป็นโบราณสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ ให้เผยเสน่ห์ออกมาและทำให้ผู้คนมาเยี่ยมชมศึกษาได้

ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอคร่าวๆ ที่ทางชุมชนและภาคประชาสังคมได้ยื่นเป็นแนวทางให้ทางจังหวัดนำไปพัฒนาสายน้ำแม่ข่าต่อไปอย่างที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าแม่น้ำสายนี้ถูกพัฒนาจนสำเร็จทั้งหมดอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองแบบไหน นี่ไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือจินตนาการหรือเกินความเป็นไปได้เลย 

เมืองเชียงใหม่ยังไม่สายเกินแก้ แต่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ยังสามารถพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ หากเราทุกคนช่วยกัน

คลองแม่ข่า เชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลจากชุมชนริมน้ำแม่ข่าและภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.