สังคมในปัจจุบันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างกำลังสร้างให้มนุษย์ทุกคนเต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ ต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย หรือที่เรียกว่า Perfectionist ที่แม้ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่คล้ายกับบาดแผลที่ไม่มีวันจางหายไปจากชีวิต เหมือนกับว่าชีวิตนี้จะไม่สามารถเดินออกนอกกรอบแห่งความสมบูรณ์แบบที่ตั้งเอาไว้
— หลุมพรางของความสมบูรณ์แบบ —
แม้อาการของมนุษย์สมบูรณ์แบบจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็เป็นอันตรายไม่เบา เพราะจากผลการศึกษาของโทมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) และคณะจากมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า การยึดติดในความสมบูรณ์แบบคือปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งความกังวล ความกดดัน ความเครียด ที่ส่งผลให้เหล่า Perfectionist มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า มีโอกาสทำร้ายตัวเอง หรือถึงกับฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไป นี่จึงนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า คินสึงิ (Kintsugi) ศิลปะเยียวยาบาดแผลที่เรากำลังจะพูดถึง
— คินสึงิ (Kintsugi) คือศิลปะการซ่อมแซมด้วยทองและยางไม้ —
หากทุกคนรู้จักยอมรับ ความผิดพลาดก็เป็นส่วนหนึ่ง
ที่ขับเคลื่อนชีวิตให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ
เราได้ครูคนใหม่ที่สอนให้เรารู้จักเรียนรู้และปรับตัว
ให้เราเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้น
คล้ายคลึงกับแนวความคิดที่ได้มาจากศิลปะซ่อมแซมถ้วยชามแตกด้วยรักทองที่ชื่อว่า ‘คินสึงิ’ (Kintsugi) หนึ่งในงานฝีมือสัญชาติญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน กลายเป็นปรัชญาและความเชื่อที่ว่า ถ้วยชามที่แตกบิ่นนั้นไม่ควรทิ้งขว้าง แต่ควรซ่อมเพื่อให้พวกมันกลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนนั้น ล้วนหลีกหนีความเจ็บปวดไปไม่พ้นทั้งทางกายและทางใจ ซึ่งบาดแผลทางใจเหล่านี้ควรได้รับการเยียวยาให้กลับมาดีดังเดิม ดังนั้นปรัชญา ‘คินสึงิ’ จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อซ่อมแซมบาดแผลทางใจที่หนักหนาและค้างคา เพื่อที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและเข้มแข็งมากขึ้น
โดยศาสตร์นี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 สมัยโชกุนคนที่ 8 แห่งโชกุนตระกูลอาชิกางะ ได้ส่งถ้วยชาที่เสียหายไปยังประเทศจีนเพื่อซ่อมแซม และมันก็ถูกส่งกลับมาในสภาพที่มีตัวเย็บเหล็กที่ไม่สวยงาม จึงทำให้เกิดการคิดค้นหาวิธีที่ดีกว่าอย่าง ‘คินสึงิ’ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายดังนี้ คิน แปลว่าทอง และ สึงิ แปลว่าต่อ เชื่อม ส่วนวิธีการนั้นคือการซ่อมแซมภาชนะด้วยการนำ รัก หรือ อุรุชิ (Urushi) ที่สกัดมาจากยางของต้นอุรุชิของญี่ปุ่น ผสมเข้ากับ ทอง แล้วนำมาซ่อมแซมภาชนะส่วนที่แตกหรือบิ่นให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม ส่วนเหตุผลที่นำยางรักมาใช้ก็เพราะว่ายางรักมีความทนทานและปลอดภัยในการใช้งานเกี่ยวกับอาหารนั่นเอง
— Kintsugi = Wabi-Sabi ปรัชญาแห่งการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ —
“ไม่มีอะไรคงอยู่ยืนยาว และไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ”
ประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในชีวิตว่าไม่มีอะไรแน่นอนของหลักศาสนานิกายเซ็น ที่เรียกว่า Wabi-Sabi (วาบิ ซาบิ) เป็นการค้นหาความงามของความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่สมมาตร ความเรียบง่าย รู้จักพอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ Kintsugi จึงกลายเป็นแนวคิดที่ชาวญี่ปุ่นนับถือกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคำว่า Wabi-Sabi คือการรู้จักยอมรับและเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี เรื่องร้าย การเริ่มต้น เติบโต และจางหายไป ทั้งหมดมันคือวัฏจักรของชีวิต จงยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง
ซึ่งการเลือกใช้ชีวิตโดยยึดหลัก Wabi-Sabi แบบฉบับชาวญี่ปุ่นเป็นการเลือกที่มีสติ และเลือกใช้ชีวิตเรียบง่าย เหมือนกับคำที่คนเคยบอกไว้ว่า “ชีวิตเรามีสองช่วง ช่วงแรกจะเป็นการกอบโกย การสรรหา และครอบครอง ชีวิตช่วงหลังเป็นการแก้ไขและปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่เรามีอยู่นั้น แก้ไขทำให้มันดีขึ้น” เปรียบได้กับชีวิตของคนเราแม้วันที่ล้มลง จิตใจแตกสลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็สามารถถูกซ่อมแซมให้ลุกขึ้นมาใหม่ พร้อมกับร่องแห่งบาดแผลที่ยังคงอยู่เป็นบทเรียนให้กับเรา
ปรัชญาญี่ปุ่นทำให้เราสนใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน และยินดีกับหนทางของสิ่งที่มันเป็น ดังเช่นศิลปะแบบ Kintsugi ที่ซ่อมแซมภาชนะโดยเอาทองมาปิดรอยแตก แทนที่จะซ่อนรอยแตกรอยตำหนิ แต่กลับทำให้มันโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง
________________________________________________________________________________________
Sources :
Artsy | bit.ly/2YI7kVa
Bareo & Isyss | bit.ly/36yQ7QJ
GaijinPot | bit.ly/2LNZTGr
Lifegate | bit.ly/2rHOIbF
MarketingOops | bit.ly/2RLXjEK
Nice to Fit | bit.ly/2E76zv8
The School of Life | bit.ly/2rsrl5T
Wikipedia | bit.ly/2YDrn72