หลายคนคงเคยได้เห็นและได้ยินกับประโยคที่ว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ในตอนนั้นคงไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ในตอนนี้ สิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำมาตลอด 70 ปีที่ครองราชย์คงเป็นคำตอบที่ทำให้เราเชื่ออย่างสุดใจว่าพระองค์ไม่เคยละทิ้งประชาชนจริงๆ
วันนี้เราจะชวนทุกคนมาดูสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคิดค้น ที่ได้เปลี่ยนชีวิตคนไทยไปตลอดกาล
ฝนหลวง
“แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝนก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้”
กว่า 60 ปีมาแล้ว ที่พสกนิกรชาวไทยในพื้นที่ทุรกันดารได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ แล้วทรงเห็นความยากลำบากของประชาชนที่ประสบกับภาวะแล้ง ขาดแคลนน้ำ จนทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริฝนหลวง ที่ทรงใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหา และยังทรงทำการวิจัยและค้นคว้าทดลองด้วยตัวพระองค์เองอย่างต่อเนื่อง
เมื่อมีฝน ชาวบ้านในพื้นที่แห้งแล้งก็สามารถทำมาหากินได้ ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน รวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นพลังงานจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของทุกๆ คน
เกษตรทฤษฎีใหม่
“…ทฤษฎีใหม่นี้ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะคนที่ทำนี้ ต้องไม่ฟุ้งซ่าน
ผู้ที่ปฏิบัติต้องมีความเพียรและต้องอดทน ไม่ใช่ว่าทำง่ายๆ …ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกแห่ง ต้องเลือกที่
แต่ค่อยๆ ทำไป ก็จะสามารถที่จะขยายความคิดของทฤษฎีนี้ไปได้ โดยดัดแปลงทฤษฎีนี้แล้วแต่สถานที่ แล้วแต่สภาพภูมิประเทศ”
เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคอีสาน ได้ทรงเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรที่ปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝนเท่านั้น บางคนปลูกพืชเพียงชนิดเดียว บ่อน้ำที่ขุดไว้ก็ไม่มีน้ำเพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศ พระองค์จึงได้พระราชทานแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างพอเพียง โดยใช้หลักการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดินและน้ำที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ที่เหลือก็นำไปขาย เป็นการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้
จากแนวคิดการทำทฤษฎีใหม่ถือเป็นการพลิกชีวิตเกษตรกรที่เคยประสบปัญหาการทำเกษตรให้สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียง ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์เงินเดือนในเมืองจำนวนไม่น้อยที่เลือกทิ้งความเจริญในเมืองแล้วหันไปทำเกษตรตามแบบฉบับของพ่อหลวง แล้วชีวิตมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นชีวิตที่มีคามพอดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
แก้มลิง
“ตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง เขาเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บในแก้มน้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ โครงการแก้มลิง น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำ “แก้มลิง” เพื่อที่จะเอาน้ำปีนี้ไปเก็บไว้”
จากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2538 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงลงพื้นที่สำรวจ วางแผนควบคุมน้ำ และทรงพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการทำพื้นที่หน่วงน้ำที่มีชื่อว่า ‘โครงการแก้มลิง’ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยที่แก้มลิงจะมีหน้าที่รองรับน้ำฝนและค่อยปล่อยน้ำออกไปเมื่อคลองระบายน้ำจะสามารถระบายน้ำได้ เหมือนกับลิงเมื่อได้รับอาหารมากๆ ก็จะนำไปเก็บไว้ที่แก้ม แล้วค่อยนำออกมาเคี้ยว ซึ่งแก้มลิงนี้จะช่วยป้องกันทั้งปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนน้ำ และยังช่วยบำบัดน้ำเสียในคลองต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ทะเลอีกด้วย
ในปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแก้มลิงเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่ว กรุงเทพฯ กว่า 20 จุด
โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
“…การรักษาความสมบูรณ์ แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือเป็นผู้แต่งสร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ…”
ด้วยความที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงสุขภาพของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รับการรักษา ไม่มีเงิน หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงได้มีโครงการพระราชดำริ ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขเกิดขึ้นมามากมาย และเมื่อ พ.ศ. 2512 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหน่วยงานแพทย์พระราชทานขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า หน่วยแพทย์ตามเสด็จ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หมอหลวง’ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และแพทย์อาสาสมัคร พร้อมเครื่องมือแพทย์ เข้าไปรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยตามพื้นที่ที่พระองค์ได้เสด็จไปทรงเยี่ยม
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการอย่างหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน และโครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ ที่จะคัดเลือกคนในหมู่บ้านมาฝึกอบรมการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของราษฎรของพระองค์ ที่พระองค์ทรงเห็นว่า ถ้ามีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ก็จะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
โครงการหลวง
“เรื่องที่จะช่วยชาวเขา และโครงการของชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ให้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญได้…”
เมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนชาวเขาบนดอยปุย และได้ทอดพระเนตรเห็นว่า ชาวเขาส่วนใหญนิยมปลูกฝิ่น และเก็บท้อพื้นเมืองขาย แต่ยังมีรายได้น้อยไม่พอกินพอใช้ นับตั้งแต่นั้นมาก็ ‘โครงการหลวง’ ก็ได้กำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กำจัดการปลูกฝิ่น และลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
จนปี พ.ศ.2513 ‘สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง’ ก็ได้เป็นโครงการหลวงแห่งแรก ซึ่งเป็นการทดลองปลูกพืชเขตหนาวชนิดต่างๆ และก็ได้ถ่ายทอความรู้ต่อไปยังเกษตรกร และทำให้เกษตรกรชาวเขาได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จากปลูกฝิ่นก็หันมาปลูกพืช ทั้งกินเอง และนำไปขายสร้างรายได้ และหลังจากนั้นก็ได้มีสถานีวิจัยโครงการหลวง เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย
กังหันน้ำชัยพัฒนา
“ในกรุงเทพฯ ต้องมีพื้นที่หายใจ แต่ที่นี่ เราถือว่าเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรค สวนสาธารณะถือว่าเป็นปอด แต่นี่เหมือนไตฟอกเลือด ถ้าไตทำงานไม่ดีเราตายอยากให้เข้าใจหลักของความคิดอันนี้”
จากปัญหาน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ พระองค์ทรงคิดค้นหาวิธีแก้ปัญหา จนได้ออกมาเป็น ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ที่ช่วยหมุนเติมอากาศให้กับน้ำเสีย เพื่อฟื้นฟูสภาพแม่น้ำลำคลองหนองบึงที่เน่าเสียจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ให้กลายเป็นน้ำดี ด้วยเทคโนโลยีที่เรียบง่าย แต่ผลที่ได้กลับยิ่งใหญ่ เพราะกังหันน้ำของพระองค์ไม่ได้เพียงแต่ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณริมแหล่งน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้บรรดาสัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อคนไทย และคงจะทำให้เราได้เห็นแล้วว่า คำกล่าวที่ว่า “พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ไม่ว่าจะเป็นใคร จะอยู่ห่างไกลสักเพียงใด น้ำพระทัยของพระองค์ก็ไปถึง” นั้นเป็นความจริงเพียงใด